ผมชอบเก็บลูกมะเดื่อดิบจากต้นมะเดื่อที่ขึ้นอยู่ตามริมห้วย ริมทางหลวงชนบท แม้แต่ตามตรอกซอกซอยหลายแห่งในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ มาแกงเขียวหวานกิน ตั้งแต่ก่อนจะมาเห็นว่า ใน ตำรับสายเยาวภาฯ (พ.ศ.2478) ตำรากับข้าวเก่าของ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท มีระบุวิธีกินมะเดื่อว่า “ผลมะเดื่อ ใช้ผลอ่อนกินดิบ” และในตำราอาหารชุดประจำวัน ของคุณ จิตต์สมาน โกมลฐิติ (พ.ศ.2516) ก็มีสูตร “แกงเนื้อมะเดื่ออ่อน” ด้วย แถมผมทั้งเขียน ทั้งพูดชักชวนผู้คนให้ทำกินบ้างมานานนับสิบปีเห็นจะได้ ก็ไม่รู้ว่ามีคนลองทำหรือไม่อย่างไรนะครับ แต่สถานการณ์ที่ต้นมะเดื่อริมทางถูกตัดโค่น ถูกฟันทิ้งง่ายๆ ต้นแล้วต้นเล่า ก็คงพอบ่งบอกความสำเร็จหรือล้มเหลวของภารกิจผมได้บ้างกระมัง

ภายในปีเศษๆ ที่ผ่านมา ต้นมะเดื่ออุทุมพร (Ficus racemosa) แถบริมคลองภาษีเจริญ ฝั่งธนบุรี แถวบ้านของผมยังคงถูกตัดโค่นอย่างต่อเนื่องไปหลายต้น เมื่อวันก่อน ผมผ่านไปเห็นต้นหนึ่งออกลูกดิบสีเขียวสะพรั่งกำลังน่ากิน เลยเด็ดมาถุงหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ต้นนี้เองก็มีร่องรอยถูกตัดฟันกิ่งไปกว่าครึ่งต้นแล้วครับ จึงน่าสงสัยว่ามนุษย์ฝั่งธนฯ จะยอมปล่อยให้มันมีชีวิตต่อไปอีกนานเพียงใด

มะเดื่อนั้นมีหลายพันธุ์ ที่เห็นบ่อยๆ คือมะเดื่อปล้อง มะเดื่อฉิ่ง มะเดื่อน้ำ และก็มะเดื่ออุทุมพร ซึ่งผมคิดว่าเหมาะจะเอามาแกง มาผัดเผ็ดที่สุด เพราะเนื้อมันแน่น ไม่เละ รสมัน หวานอร่อย มีเมล็ดมากพอๆ กับเนื้อ จึงมีกากใย (fiber) ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมาก

ผมเคยแกงเขียวหวานมะเดื่อใส่เนื้อวัวติดมัน พริกขี้หนูสวนทั้งเม็ดทั้งก้านกินบ่อยๆ ครั้งนี้เลยคิดจะลองเปลี่ยนสูตรเป็นผัดเผ็ดดูบ้าง

ก่อนอื่น เราเอาลูกมะเดื่อมาล้างฝุ่น เด็ดขั้ว ให้ยางขาวๆ ไหลออกจนหมด แล้วเอาไปต้มจนสุกนุ่ม จะให้นุ่มมากนุ่มน้อยขนาดไหนก็แล้วแต่ชอบนะครับ แล้วอาจผ่าครึ่ง หรือถ้าลูกไม่ใหญ่นัก จะผัดไปทั้งลูกเลยก็ได้

กระทะนี้ผมจะผัดเผ็ดหมูย่าง ดังนั้น ใครชอบหมูย่างแบบไหน ก็หามาหั่นเตรียมไว้ ผมใช้ส่วนน่องหมู ถามหาได้ตามเขียงหมูที่คุ้นเคยกันนะครับ ผมเอาจี่ในกระทะจนผิวนอกแห้งเกรียม น่องหมูนี้นิ่มมากๆ ต่อให้ย่างให้จี่จนแห้งยังไงก็ไม่เหนียวแน่นอนครับ เสร็จแล้วหั่นเป็นชิ้นๆ ไว้

เตรียมพริกแกงเผ็ดที่ชอบ กะทิ พริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบ และใบโหระพาสด

เครื่องปรุงรสใช้น้ำปลาและน้ำตาลปี๊บตามปกติ

เริ่มทำโดยคั่วหัวหรือหางกะทิในกระทะจนกระทั่งแตกมันเยิ้ม ใส่พริกแกงเผ็ดลงผัดจนหอม เติมกะทิพอให้เป็นน้ำแกงขลุกขลิกๆ

ใส่ลูกมะเดื่อต้มลงไป เพื่อให้ซึมซาบน้ำแกง เคี่ยวจนเริ่มงวด ใส่ชิ้นหมูย่าง พริกชี้ฟ้าหั่น ปรุงรสเค็มด้วยน้ำปลา ตัดหวานนิดๆ ด้วยน้ำตาลปี๊บ แล้วก็เติมกะทิให้ได้ความข้นมันตามชอบ

สุดท้ายคือโรยใบโหระพาลงไปคลุกจนใบสลดก็ใช้ได้ครับ ปิดไฟ ตักใส่จาน

อนึ่ง มะเดื่ออุทุมพรนี้เนื้อแน่น ไม่เละง่าย ดังนั้น เราควรต้มจนนุ่ม เคี่ยวในน้ำแกงให้รสของพริกแกงและกะทิซึมเข้าเนื้อ เพราะกระทะนี้เรา “ผัด” ไม่ใช่แกงเขียวหวานหรือแกงเผ็ด ที่ถ้ายิ่งอุ่น มะเดื่อจะยิ่งเอิบอิ่มน้ำแกงในหม้อได้เรื่อยๆ เรียกว่าถ้าแกงไว้ค้างคืน จะกินอร่อยกว่าแกงเสร็จใหม่ๆ มากเลยแหละ

ถ้าใครหาต้นมะเดื่อจนเจอ (ซึ่งไม่ยากเลยครับ) ทำใจกล้า เด็ดมาปรุงจนสำเร็จอย่างที่ผมชวนทำ แล้วรู้สึกว่าอร่อยดี ก็เท่ากับว่าท่านเป็นเสียงเงียบๆ อีกเสียงหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสถานะของมะเดื่อ จาก (วัช) พืชยืนต้น มาเป็นพืชอาหาร ซึ่งผลิตวัตถุดิบชั้นดี ปลอดภัย เป็นโอชะของไม้ริมทางให้ครัวไทยมาตั้งแต่เมื่อเกือบร้อยปีก่อน

เรื่องเก่าๆ ไม่เล่า มันลืม ของอร่อยๆ พอไม่ได้กินบ่อยๆ ก็พลอยลืมเลือนไปได้เช่นกัน

ในกรณีมะเดื่อนี้ การอนุรักษ์พันธุ์ของมันจึงคือการ “รู้จักกิน” นั่นเองครับ

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไปทำธุระกึ่งๆ เที่ยวที่ตลาดโพธิ์พระยา ตลาดริมน้ำท่าจีนแห่งใหญ่ในเขตตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ตลาดนี้ติดทุกวัน ช่วงตั้งแต่ราวบ่าย 3 โมงไปจนถึง 6 โมงเย็น

หากจะย้อนอดีตของพื้นที่แถบนี้ สองฝั่งน้ำท่าจีนเขตเมืองสุพรรณเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้วคงมีสวนผัก ถั่ว พริก ขิง มะเขือ ฯลฯ เยอะแยะไปหมด เพราะในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ได้เขียนพรรณนาไว้มาก ช่วงที่เรือของท่านผ่านบางปลาม้า โคกคราม สวนขิง ทับขี้เหล็ก ท่าโขลง โพคลาน บางมดแดง ตาลเสี้ยน ฯลฯ และตอนผ่านโพธิ์พระยานั้น ท่านแต่งโคลงไว้ว่า

โพธิ์พระยาท่าตลิ่งล้วน ล้อเกวียน

โพไผ่ไม้เต็งตะเคียน ตะขบบ้างฯ”

เรียกว่าสุนทรภู่ฉายภาพความเป็นชุมทางการค้าขายพบปะกันของพ่อค้าเกวียนและพ่อค้าเรือ จากทางบกและทางน้ำในช่วงนั้น ผ่านสัญลักษณ์คำกวีได้อย่างมีชั้นเชิงทีเดียว

ตลาดโพธิ์พระยาในบ่ายวันนั้น แม้แม่ค้าปลาจะพากันออกตัวว่า ปลาสดมีน้อย เพราะว่า “มันแล้งมากค่าปีนี้ ปลาหายากจริงๆ” แต่ก็ยังได้เห็นปลาสังกะวาด ปลาเทโพ ปลาแดง ปลากราย และปลาเบี้ยวตัวยาวเกือบวา ผมนั้นอดไม่ได้ เผลอซื้อเนื้อปลากรายขูดสดๆ มา 3 ขีด ทั้งที่ยังไม่รู้จะเอาไปทำอะไรกินด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี เดินไปอีกไม่กี่แผงถัดจากนั้น ผมก็รู้เป้าหมายล่ะครับ เพราะมีแม่ค้าสาวเก็บลูกตำลึงดิบมาขาย ถุงละ 10 บาทเท่านั้นเอง สบายแล้วทีนี้ ไม่ต้องตะลอนปั่นจักรยานไปหาเก็บตามข้างทางเหมือนแต่ก่อน

ผมคิดจะทำ “แกงคั่วปลากรายใส่ลูกตำลึง” ครับ

ลูกตำลึงดิบรสจะขมเฝื่อนหน่อยๆ มันมีสำหรับที่เอาไปแกงคั่วใส่กะทิในหลายพื้นที่ อย่างเช่นที่เพชรบุรีแกงใส่กุ้งทะเลตัวเล็กๆ ทีนี้ผมต้องใช้อะไรอีกบ้างล่ะ ก็มีพริกแกงเผ็ดครับ แล้วต้องเพิ่มรากกระชาย ผมซื้อทั้งสองอย่างนี้จากร้านขายพริกแกงในตลาดเลยแหละ กลิ่นพริกแกงเผ็ดโพธิ์พระยาเขาหอมฉุนดีจริงๆ

แกงคั่วตามขนบครัวภาคกลางนั้น ถ้าไม่ใส่เนื้อปลาต้มโขลกไปกับพริกแกง ก็มักใช้ปลาย่างป่นแทน ผมชอบปลาย่างมากกว่า มันมีกลิ่นเฉพาะตัวดีครับ เลยซื้อปลาสร้อยย่างป่นมาอีกหนึ่งกระปุกเล็ก ราคา 30 บาท

เป็นอันว่า ปฏิบัติการจ่ายของที่เริ่มจากเนื้อปลากราย 3 ขีดนี้ จะจบลงที่แกงคั่วลูกตำลึงแบบบ้านๆ 1 หม้อ แถมยังอัดแน่นไปด้วยจิตวิญญาณแบบโพธิ์พระยาล้วนๆ เลยแหละ

ขั้นตอนการทำอาจซับซ้อนหน่อย ลองดูไปทีละอย่างนะครับ

เริ่มด้วยผ่าลูกตำลึงดิบเป็นสองซีกตามยาว แช่น้ำเกลือ แล้วค่อยๆ บีบๆ บี้ๆ อย่างมีศิลปะ จนเมล็ดหลุดออกไปหมด เหลือแต่เนื้อและไส้ สรงขึ้นมาขยำเคล้าเกลือป่นเบาๆ ทิ้งไว้ก่อน

เนื้อปลากรายเอาลงโขลกในครกไม้ หรือครกดินเผา ตำด้วยสากไม้ สลับกับทยอยหยอดน้ำเกลือลงไปสักถ้วยเล็กๆ หยอดไปตำไป ราว 15-20 นาที จะรู้สึกว่าเนื้อมันหนึบแน่นขึ้น ทีนี้เอาน้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชชโลมมือไม่ต้องมาก แล้วปั้นเนื้อปลาที่เราเอาช้อนตักควักขึ้นมาเป็นก้อนๆ ปั้นตะล่อมไปจนเป็นลูกกลมๆ แน่นๆ เอาลงต้มในหม้อหางกะทิจนสุก ช้อนขึ้นใส่ชามไว้

หั่นรากกระชายมากน้อยตามชอบ โขลกกับพริกแกงและปลาป่นจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน

ติดไฟตั้งหม้อหางกะทิที่ลวกปลากรายนั้นอีกครั้ง ตักพริกแกงใส่ไป พอเดือดจนเริ่มหอม เติมเกลือ น้ำปลา น้ำตาล ใส่ลูกตำลึงที่บีบเอาน้ำขมเฝื่อนออกบ้าง เมื่อลูกตำลึงเริ่มจะสุก ก็เติมหัวและหางกะทิให้ได้ความข้นใสอย่างที่ต้องการ ตามด้วยลูกชิ้นปลากรายแท้ๆ เหนียวหนึบหนับของเรา

อนึ่ง หากจะให้ครบเครื่องแกงคั่วกะทิภาคกลางสูตรบ้านๆ ก็เติมน้ำปลาร้าปนลงไปบ้าง หรือจะใช้น้ำปลาร้าแทนน้ำปลาไปเลยแบบหม้อนี้ของผม ก็ไม่มีใครว่าหรอกครับ

กลิ่นแกงคั่วปลากรายใส่ลูกตำลึงหม้อนี้ เมื่อสุกแล้วหอมกระชายและปลาร้า กลิ่นขมจางๆ จะอ่อนกว่าแกงมะระ เราอาจเคี่ยวให้กะทิแตกมันได้บ้างครับ แต่อย่ามาก โดยรวมๆ แล้วจะคล้ายน้ำยากะทิที่ขมนัวๆ แถมมีลูกชิ้นปลากรายเนื้อหนึบๆ ลอยเต็มหม้อ

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย

“หมูสะดุ้งแจ่ว” เมนูสุดแซ่บทำกินกับเพื่อนๆ สมาชิกในบ้านเพลินๆ ว่าแต่จะทำอย่างไร ให้รสแซ่บถึงใจ

สูตรหมูสะดุ้งแจ่ว

วัตถุดิบ
– เนื้อหมูสันคอนอก
– น้ำปลา
– น้ำตาลปี๊บ
– น้ำตาลทราย
– ข้าวคั่ว
– พริกป่น
– น้ำมะนาว
– สุราผสม
– น้ำเปล่า
– เนย
– กระเทียม
– ใบโหระพา
– พริกชี้ฟ้าแดง

 

    

วิธีทำ

เริ่มต้นจากทำน้ำยำใสก่อน

หาถ้วยขนาดพอประมาณให้สามารถคนเครื่องปรุงได้
โดยเริ่มจากใส่น้ำตาลทราย ตามด้วยน้ำปลา คนให้เข้ากัน ตามด้วยบีบมะนาวลงไป คนต่ออีกสักนิด

–พักไว้ก่อน–

จากนั้นตั้งเตา หาหม้อขนาดพอดี เติมน้ำเปล่า ใส่น้ำตาลปี๊บตามลงไป โดยคนให้น้ำตาลปี๊บละลายแตกตัวเป็นน้ำเชื่อมเคี่ยวจนเดือด

จากนั้นนำเครื่องปรุงรสชามแรกกับน้ำเชื่อมที่ได้จากละลายน้ำตาลปี๊บ มาผสมกันจะได้ “น้ำยำใส”

จากนั้นนำเนื้อหมูสันนอก มาหั่นให้เป็นลูกเต๋า
ตั้งเตาวางกระทะ ใส่เนยลงไปอย่างแรก ตามด้วยเนื้อหมูลงตามผัดจนเนื้อหมูสุก
ตามด้วยใส่สุราผสม น้ำยำใส(ที่ได้ทำเตรียมไว้แล้ว)
คนให้เข้ากัน จากนั้นใส่พริกป่น ข้าวคั่ว กระเทียม พริกชีฟ้าแดง ใบโหระพา

ผัดไปให้เข้ากันจนระอุ หอมได้ที่ ยกกระทะขึ้นจัดใส่จาน

เป็นอันได้เมนู หมูสะดุ้งแจ่ว แซ่บจี๊ดถึงใจ
ลองไปทำกันดูนะคะ

"หมูสะดุ้งแจ่ว" ทำอย่างไร? ถึงจะรสแซ่บถึงใจ

Happy Dish: "หมูสะดุ้งแจ่ว" ทำอย่างไร? ถึงจะรสแซ่บถึงใจMatichon Academy – ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน

โพสต์โดย Khaosod – ข่าวสด เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2018

สนใจเรียนทำอาหาร
ดูได้ที่ www.matichonacademy.com
หรือดูตารางเรียนประจำเดือนได้ที่นี่ >ตารางเรียน

หรือติดตามอัพเดทเรื่องราวอาหารและไลฟ์สไตล์สนุกๆได้ที่
Facebook : MatichonAcademy