ร้อยเรื่องราว “ไปรษณียากรไทย” และเทรนด์สะสมแสตมป์ไทย-ทำไมจึงไปไม่รอด

“รู้หรือไม่ว่าหลายคนอาจเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการเก็บสะสมแสตมป์ โดยเฉพาะมือใหม่ ที่มักใช้วิธีเอาจดหมายไปแช่น้ำทั้งซอง หรือตัดมาจากซองจดหมาย!”

เป็นการเปิดบทสนทนาที่น่าสนใจไม่น้อยจาก “ชูเกียรติ ตลับเพ็ชร์” อดีตพนักงานการบินไทย ที่ใช้เวลาว่างเป็นนักสะสมแสตมป์ตัวยง จนมีรางวัลมากมายจากการเข้าประกวดแสตมป์ในโอกาสต่างๆ

และในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ.2561 หรือ Thailand 2018 World Stamp Exhibition ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2561 ณ ชั้น 5 สยามพารากอน “มติชนอคาเดมี” จึงไม่พลาดที่จะพาทุกคนไปรู้จักโลกของแสตมป์ให้มากขึ้นผ่านการพูดคุยกับนักสะสมแสตมป์อย่าง “ชูเกียรติ” ก่อนไปชมแสตมป์กันที่งานแสตมป์โลก

ก่อนจะไปถึงคำตอบของคำถามที่ว่า แล้วการเก็บแสตมป์ที่ถูกวิธีเขาเก็บกันแบบไหน? ขอปูพื้นฐานคร่าวๆ เกี่ยวกับแสตมป์ให้รู้กันสักนิด

“ชูเกียรติ” บอกว่า แสตมป์มี 2 ประเภท คือ แสตมป์ที่ระลึก หรือแสตมป์ที่ออกมาในโอกาสพิเศษ เช่น โอกาสที่การบินไทยอายุครบ 25 ปี ก็จะมีแสตมป์ออกมา โดยจะมีจำนวนพิมพ์ที่แน่นอน เมื่อพิมพ์หมดแล้วจะไม่พิมพ์เพิ่ม

ตัวอย่างแสตมป์ที่ระลึก

ส่วนแสตมป์อีกประเภทคือ แสตมป์ที่ใช้ประจำวัน เป็นแสตมป์ทั่วไปที่ใช้ติดจดหมาย มีการกำหนดราคาให้ใช้กับพัสดุที่น้ำหนักแตกต่างกัน เมื่อพิมพ์หมดแล้วก็พิมพ์เพิ่ม พิมพ์ซ้ำ ซึ่งบางครั้งในแต่ละรอบ บริษัทที่พิมพ์ก็เป็นคนละบริษัทกัน จึงทำให้เกิดรายละเอียดที่แตกต่างกันที่คนไม่เล่นแสตมป์จริงๆ อาจจะไม่รู้ หรือ

บางครั้งก็เกิดความผิดพลาด ซึ่งเรียกว่า แสตมป์ตลก แต่กลับเป็นแสตมป์ที่มีมูลค่าสูงมากเลยทีเดียว
อย่างเช่นแสตมป์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่การพิมพ์มีการเคลื่อนไปจากตำแหน่งปกติ ทำให้รอยปรุของฟันแสตมป์ผิดปกติ เช่น ไม่มีรอยปรุ หรือการปรุฟันของแสตมป์ไม่ลงตามสัดส่วนที่กำหนด  เป็นต้น

ตัวอย่างแสตมป์ที่เกิดความผิดพลาดในการพิมพ์

ที่โด่งดังเลยคือแสตมป์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผลิตขึ้นในปี พ.ศ.2517

พิมพ์ผิดจากคำว่า Baht เป็นคำว่า Bath 

เปรียบเทียบแสตมป์ที่สะกดถูกกับสะกดผิด

แต่ไฮไลต์ที่ใครๆ ต้องพูดถึง แสตมป์พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร ราคาดวงละ 2 บาท ที่มองเผินๆ อาจไม่เห็นว่ามีความแตกต่างกัน แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นเลยว่า ลายกนกที่ล้อมรอบหน้าของพระวรวงศ์เธออยู่นั้น มีการเวียนในทิศทางที่แตกต่างกัน

สังเกตลายกนก 2 ดวงทางซ้ายและ 2 ดวงทางขวา จะหมุนคนละทิศกัน

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ สาเหตุมาจากการที่ไทยเราส่งแสตมป์ไปพิมพ์ที่ต่างประเทศ เวลาไปทำเป็นเพลทพิมพ์ โรงพิมพ์นำรูปพระพักตร์ไปทำเพลทหนึ่ง และขอบลายกนกก็ทำอีกเพลทหนึ่ง พอเอามาขึ้นแท่นพิมพ์ก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องวางเพลทในทิศทางไหน จึงทำให้เกิดความผิดพลาด แต่ความผิดพลาดนี้เองที่ทำให้แสตมป์ชุดนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และจะมีราคาแพงยิ่งกว่า หากแสตมป์ที่ถูกกับแสตมป์ที่ผิดอยู่ติดกัน ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในวิธีการเก็บแสตมป์ให้ถูกวิธีนั่นเอง

ย้อนกลับมาสู่คำพูดเปิดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเก็บแสตมป์ให้ถูกวิธี สำหรับในมุมมองของนักสะสม วิธีที่มือใหม่ทั้งหลายใช้อย่างเช่นการไปละลายน้ำ หรือการตัดออกจากซองนั้นไม่ได้ผิดซะทีเดียว แต่เป็นการทำให้แสตมป์นั้นไม่มีมูลค่าต่อการนำไปใช้ประกวด จะเอาไปขายเก็งกำไรก็อาจจะได้ราคาน้อยกว่าที่ควรจะได้

ชูเกียรติ ตลับเพ็ชร์

วิธีการที่ดีในการเก็บแสตมป์สำหรับนักสะสม คือ ต้องเก็บทุกช่วงราคา เช่น หากแสตมป์ชุดนี้มีราคา 2 บาท, 7.50 บาท, 8.50 บาท และ 9.50 บาท ก็ต้องเก็บทุกราคาแบบที่ยังไม่ประทับตราด้วย หรือหากเก็บแสตมป์แบบที่มีการประทับตรา ก็ต้องเป็นตราประทับในวันแรกจำหน่าย ซึ่งจะมีค่ามากขึ้นหากเป็นตราประทับบนซองที่เกิดจากการส่งจริงในวันแรกจำหน่าย ดังนั้นวิธีการเก็บแสตมป์ที่มีตราประทับที่ถูกต้องก็คือ ต้องเก็บไว้ทั้งซองนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจคือซองจดหมายและการติดแสตมป์สมัยก่อน ที่ไม่ได้ติดด้านหน้าซองกันอย่างเราๆ แต่จะไปติดไว้ที่ด้านหลัง ปิดทับจุดเปิด-ปิดซองจดหมาย เพราะกลัวจะถูกเปิดซองจดหมาย ซองจดหมายในสมัยก่อนจึงเป็นสิ่งที่นักสะสมชื่นชอบ

การติดแสตมป์ของคนสมัยก่อน ปิดด้านหลังซองเพราะกลัวถูกเปิดอ่าน

โดยนอกจากแสตมป์แล้ว ตราประทับเองก็สำคัญมาก บางครั้งซองจดหมายที่มีมูลค่าสูง กลับกลายเป็นซองที่ถูกประทับตราจากที่ทำการไปรษณีย์ที่มีความพิเศษของตัวเอง เช่น มีตราสวยๆ หรือเป็นที่ทำการที่อยู่ไกลมากๆ หรือเป็นวันที่เลขสวย เช่น 09-09-09 เป็นต้น

“แต่ที่น่าเสียดายคือ ไปรษณีย์ไทยยิ่งพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่งานสะสมกลับยิ่งหายหมด เมื่อก่อนการประทับตราตั้งแต่ต้นทางนั้นจะประทับตราให้อ่านได้ชัดเจน ตราประทับก็สวยงาม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีอีกแล้ว” ชูเกียรติบอก

พระราชสาส์น ลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

นักสะสมแสตมป์ตัวยงยังบอกอีกว่า สิ่งที่น่าเก็บอีกอย่างในวงการนี้คือ Royal Mail หรือจดหมายราชสำนัก โดยเฉพาะในยุครัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นยุคที่ยังไม่มีการใช้ตราไปรษณียากร ของพวกนี้นักสะสมจะต้องไปตามหาจากตลาดยุโรป ซึ่งมีราคาแพงมาก บางครั้งมูลค่าอาจถึงหลักล้าน เพราะบางฉบับจะมีลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 4 ด้วย

ความลับหลังแสตมป์การบินไทย

สำหรับคนที่สะสมแสตมป์อาจจะเคยเห็นแสตมป์ที่ระลึกชุด 25 ปีการบินไทย และ 50 ปี การบินไทยกันมาบ้าง แต่เชื่อว่าที่หลายคนยังไม่รู้คือ “ชูเกียรติ” คือผู้ที่ผลักดันให้การบินไทยทำแสตมป์ออกมาเป็นที่ระลึกในวาระพิเศษนี้

เขาเล่าถึงเรื่องนี้ให้ฟังว่า จากที่เป็นคนสะสมแสตมป์อยู่แล้ว และบังเอิญทำงานอยู่ที่การบินไทย จึงพอจะรู้วาระที่สำคัญต่างๆ ขององค์กร เมื่อการบินไทยอายุใกล้ครบ 25 ปีในปี 2528 ซึ่งการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้เอารูปเครื่องบินของการบินไทยไปทำเป็นแอโรแกรม เขาจึงถือโอกาสเอาไอเดียนี้มาเขียนโปรเจ็กต์ทำแสตมป์การบินไทยเสนอหัวหน้าในปี 2526

เซตเรื่องราวแสตมป์การบินไทย ที่ชูเกียรติส่งเข้าประกวด

จนระยะเวลา 6 เดือนผ่านไปก็ไม่ได้รับความสนใจ จนปี 2527 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องเริ่มพิมพ์แสตมป์ได้แล้ว (แสตมป์ใช้เวลาพิมพ์ประมาณ 1 ปี) เขาจึงค่อยๆ ทำไปด้วยตัวเอง อาศัยความรู้และผู้ใหญ่ที่อยู่ในสมาคมสะสมแสตมป์แห่งประเทศไทย ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่ในสมาคมทำงานอยู่ที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย จนเดินเอกสารต่างๆ เองทั้งหมด ติดต่อให้ “ประวัติ พิพิธปิยะปกรณ์” ออกแบบ จนสำเร็จและวางจำหน่ายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2528

“ชูเกียรติ ตลับเพ็ชร์” นักสะสมผู้ปลุกปั้นแสตมป์การบินไทย

ความพิเศษของแสตมป์ 25 ปีการบินไทยคือ “ทริค” ที่นักออกแบบได้ซ่อนไว้ในแสตมป์ โดยแสตมป์ชุดนี้ผลิตออกมา 4 ราคาด้วยกัน คือ 2 บาท, 7.50 บาท, 8.50 บาท และ 9.50 บาท แต่ทุกราคามีสีเดียวกันหมด ไม่เหมือนกับแสตมป์ที่ระลึกอื่นๆ ที่มีหลายสี หรือลายไม่เหมือนกัน โดยเป็นความตั้งใจของนักออกแบบที่ต้องการให้ออกมาเป็นสีเดียวกัน เพราะเมื่อนำมาวางต่อกันแล้ว ก้อนเมฆทั้งหมดจะเรียงต่อกันสวยงาม ซึ่งเป็นความเชื่อว่า เหมือนเวลาบินไป เครื่องบินก็จะบินไปข้างหน้า แสดงถึงความก้าวหน้านั่นเอง

แสตมป์ชุด 25 ปี การบินไทย

นอกจากแสตมป์แล้ว สิ่งที่น่าเก็บสะสมเกี่ยวกับการบินไทยยังมีอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ซองเที่ยวบินแรก (First Flight Discovers) หรือซองจดหมายพิเศษที่สายการบินจัดทำขึ้นเพื่อมอบให้ผู้โดยสารเป็นที่ระลึก และเพื่อยืนยันการเปิดบินเที่ยวบินแรกจากเมืองต้นทางไปยังเมืองปลายทาง ซึ่งจะมีการประทับตราบนดวงแสตมป์ที่ติดบนซองด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ชูเกียรติได้ซองเหล่านี้มาจากการประมูลบ้าง ซื้อทางอีเบย์บ้างก็มี บางชิ้นราคาหลักพันเลยทีเดียว

ตัวอย่างซองเที่ยวบินแรกของการบินไทย ไปกรุงนิวเดลี

ส่วนของสะสมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการบินไทยที่ชูเกียรติสะสม ยังมีซองใส่ตั๋ว โปสการ์ดบนเครื่อง รวมไปถึงหนังสือสวัสดี โฆษณาต่างๆ จนทำให้ชุดสะสมที่มีมูลค่ามากที่สุดของชูเกียรติ ก็คือชุดของการบินไทย เพราะสามารถจัดเป็น Private Collection ได้ โดยมีผู้สนใจติดต่อประมูลเข้ามา เป็นชุด 25 ปี รวมกับชุด 50 ปี ราคาน่าจะราวๆ 400,000 บาท

เทรนด์สะสมแสตมป์ไทย-ไปไม่รอด

“ไปไม่รอด” คือคำตอบของชูเกียรติ เมื่อถามถึงเทรนด์การสะสมแสตมป์ในไทยในอนาคต

ชูเกียรติให้เหตุผลว่า เพราะสมัยก่อนแสตมป์จะออกแบบมาอย่างสวยงาม มีวิธีการพิมพ์ที่ดี แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ความน่าสนใจสำหรับนักสะสมแสตมป์ก็ลดลงเรื่อยๆ ตอนนี้ราคาก็ลดลงเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ

อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเรื่องของการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปมาก จากจดหมายมาเป็นอีเมล์ และตอนนี้ก็หันมาใช้การแชตติดต่อกันแทนด้วยซ้ำ

แม้แต่ชูเกียรติเอง ปัจุบันเขาก็เลิกเล่นแสตมป์แล้ว แต่หันมาสะสมเหรียญและธนบัตรแทน ซึ่งเก็บง่ายกว่า ซื้อง่ายขายคล่อง แม้ผ่านไปนาน แต่มูลค่าอย่างน้อยที่สุดที่จะได้ก็คือมูลค่าเงินจริงๆ บนนั้น ไม่ลดลงแบบของสะสมประเภทอื่น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีเทรนด์สะสมอื่นเข้ามา แต่ชูเกียรติยังย้ำว่า “ไปรษณียากร” หรือ “แสตมป์” ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรค่าและน่าเก็บสะสมอยู่เสมอ ด้วยเพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่บันทึกเรื่องราว ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ที่บางครั้งหลายคนอาจลืมเลือนไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

และหากอยากสัมผัสความงดงาม เรื่องราวที่ถักทออยู่บนไปรษณียากรที่หาชมได้ยาก อย่าพลาดที่จะไปชมงานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ.2561 หรือ Thailand 2018 World Stamp Exhibition ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2561 ณ ชั้น 5 สยามพารากอน

แล้วคุณจะหลงรัก!

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึก ชุด “วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาล ที่ 9” ซึ่งได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดสร้างขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา ในปี 2561 นี้ แสตมป์เป็นพระฉายาลักษณ์ ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน โดยทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ทรงฉลองพระองค์งามที่สุดในโลก และทรงเผยแพร่ความงดงามแบบไทยให้ชาวโลกได้รับรู้และชื่นชม สร้างความภาคภูมิใจแก่คนไทยทั้งชาติ

ทั้งนี้ แสตมป์ชุดดังกล่าว จำหน่ายในชนิดราคาดวงละ 9 บาท (เต็มแผ่น 10 ดวง) และซองวันแรกจำหน่าย 18 บาท นักสะสมและผู้สนใจ สามารถหาซื้อตั้งแต่วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2561 เป็นต้นไป ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายการบริหารลูกค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โทร. 0-2831-3698

 

ที่มา มติชนออนไลน์

สมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกาศจับมือร่วมกับไปรษณีย์ไทย พร้อมด้วยพันธมิตรจากหลายภาคส่วน แถลงข่าวจัดงานงานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ. 2561 หรือ Thailand 2018 World Stamp Exhibition ซึ่งเป็นงานแสดงไปรษณียากรโลกครั้งยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยววิถีไทยในยุคดิจิทัล 4.0” โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2561 ณ พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน คาดว่าจะมีนักสะสมแสตมป์จากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ดร.ประกอบ จิรกิติ นายกสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า งานแสดงตราไปรษณียากรโลกประจำปี 2561 (Thailand 2018 World Stamp Exhibition) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ส่งเสริมและยกระดับการสะสมตราไปรษณียากรให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเปิดโอกาสให้นักสมแสตมป์ชาวไทยได้พบปะกับนักสะสมแสตมป์จากนานาประเทศทั่วโลกที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประกวดแสตมป์พร้อมชมงานในครั้งนี้ รวมทั้งเป็นการสร้างมิตรภาพและแลกเปลี่ยนความรู้ วัฒนธรรม รวมถึงแสดงเอกลักษณ์ของประเทศไทย รวมถึงช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศไทย

การจัดงานในครั้งนี้อยู่ภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยววิถีไทยในยุคดิจิทัล 4.0” ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผู้สนับสนุนหลักพร้อมด้วยพันธมิตรทุกภาคส่วน

สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร การจัดแสดงสิ่งสะสมส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แสตมป์และสิ่งสะสมที่หายากจากทั่วโลก โดยเฉพาะสิ่งสะสมไฮไลท์การจัดแสดงจดหมายจากตัวแทนการค้าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมถึงการตอบรับของนักสะสมแสตมป์ที่ส่งผลงานเข้าร่วมแสดงและประกวดกว่า 2,600 เฟรม หรือประมาณ 500 กว่าผลงาน โดยมีมูลค่ารวมกว่าหลายพันล้านบาท

ด้านนางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า การจัดงานงานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ. 2561 (Thailand 2018 World Stamp Exhibition) ครั้งนี้ เป็นการรวบรวมแสตมป์จากนานาประเทศทั่วโลกผลงานประกวดแสตมป์ระดับนานาชาติ แสตมป์และสิ่งสะสมที่หายากจากทั่วทุกมุมโลก จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่คนไทยทุกเพศทุกวัยจะได้มาชมตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นการเรียนรู้ถึงเรื่องราวของนานาประเทศผ่านไปรษณียากร รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและยกระดับกิจกรรมการสะสมตราไปรษณียากรในทุกรูปแบบให้เป็นที่แพร่หลายและกว้างขวางในระดับโลก

โดยทางไปรษณีย์ไทยผู้สนับสนุนหลัก ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการในหัวข้อ “ท่องเที่ยววิถีไทยในยุคดิจิทัล 4.0” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย พร้อมนำเสนอความสวยงามเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคของไทย นอกจากนิทรรศการดังกล่าวแล้ว ทางไปรษณีย์ไทยยังได้ออกแบบและจัดพิมพ์ตราไปรษณียากรที่ระลึกของงานทั้งหมด 5 แบบ โดยนำเสนอเรื่องราวของการท่องเที่ยวเมืองรอง ตามโครงการ 55 เมืองรองของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งได้คัดสรรแหล่งท่องเที่ยวจาก 5 จังหวัดใน 5 ภูมิภาค ทั้งหมด 5 แบบประกอบด้วย 1. สะพานทาชมพู จังหวัดลำพูน 2. อุทยานบัว จังหวัดสกลนคร 3. หาดทรายดำ จังหวัดตราด 4. หมู่บ้านทำกลอง จังหวัดอ่างทอง และ 5. ซุ้มประตูหิน จังหวัดสตูล ซึ่งแสตมป์แต่ละแบบจะแสดงถึงความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละภูมิประเทศที่แตกต่างกัน โดยจะจัดจำหน่ายครั้งแรกที่งาน Thailand 2018 World Stamp Exhibition

สำหรับงานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ. 2561 (Thailand 2018 World Stamp Exhibition) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2561 ณ พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมฟรี

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดตัวแสตมป์พระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สำหรับใช้งานทั่วไป 12 ชนิดราคา ประเดิมจองวันแรก ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ 29 มีนาคม 2561 พร้อมที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศและทางออนไลน์ โดยเปิดจองได้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2561

โดยรายการสั่งจอง จะมีให้เลือกทั้งแบบรวมชุดแสตมป์ เต็มแผ่น (20 ดวงต่อแผ่น) ราคา 4,400 บาท แสตมป์ดวงเดี่ยวครบชุด ราคา 220 บาท พร้อมสิ่งสะสมพิเศษซึ่งมีจำนวนจำ กัด คือ แผ่นชีทที่ระลึก (คละแบบในแผ่นเดียวกัน) ราคา 250 บาท และซองวันแรกจำหน่าย ราคา 265 บาท (3 ซอง) โดยจะจัดส่งให้ตามที่อยู่ที่ระบุ ไว้ในใบสั่งจองตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป ฟรีค่าฝากส่ง

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ นำพระฉายาลักษณ์ครึ่งพระองค์ ทรงประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ มาเป็นแบบตราไปรษณียากรสำหรับใช้งานทั่วไปชุดล่าสุด ซึ่งจะออกจำหน่ายในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 28 กรกฎาคม 2561 เป็นวันแรก


ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์