เมื่อ 15 มี.ค.65 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจค้าปลีกในเครือซีพี ประกอบ ด้วยบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) ได้จัดให้มีการปฐมนิเทศและเตรียมความพร้อมเข้าร่วมเจรจาธุรกิจ โครงการแพลตฟอร์มแห่งโอกาส “SME Online Business Matching ครั้งที่ 1/2565” ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีคุณสมบัติผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน 110 ราย ทั้งนี้โดยมีนายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนเครือฯเป็นประธานในการปฐมนิเทศและเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และมีผู้บริหารจาก 3 ธุรกิจค้าปลีกร่วมพบปะกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการเข้าร่วมเจรจาธุรกิจกับเครือซีพีผ่านแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ก่อนที่จะเปิดเวทีจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคมที่จะถึงนี้

นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจจำนวนมาก เครือเจริญโภคภัณฑ์โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือฯ จึงมีนโยบาย “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” เพื่อให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ในการช่วยฟื้นฟูประเทศไทย ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพัฒนาศักยภาพ พร้อมเปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะมีการแบ่งปันข้อมูลตลาดให้เอสเอ็มอี พัฒนาช่องทางขาย รวมไปถึงการสนับสนุนสร้างธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และมีการให้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพสินค้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด รวมถึงเครือซีพีพร้อมที่จะนำพาสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและเกษตรกรไทยไปสู่ตลาดอาเซียนและภูมิภาคเอเชียใต้ เพื่อสร้างระบบนิเวศให้กับกลุ่มผู้ประกอบการได้มีโอกาสในการแข่งขันบนเวทีโลก

ในการนี้ นายกมล พงษ์ประยูร ที่ปรึกษา บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เวทีจับคู่ธุรกิจ “SME Online Business Matching” เป็นหนึ่งในกิจกรรมนำร่องแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะได้เจรจาธุรกิจกับธุรกิจค้าปลีกในเครือซีพีพร้อมกันในคราวเดียวถึง 3 ราย ได้แก่ แม็คโคร , โลตัส และ 7 อีเลฟเว่น โดยสินค้าที่ผ่านการคัดเลือกสามารถจำหน่ายได้ทั้งช่องทาง Online และ On Shelf รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศ

ด้าน นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของแม็คโครมีแนวทางการทำงานสนับสนุนเอสเอ็มอีและเกษตรกรไทยร่วมกันแบบ “คู่ค้าพันธมิตร” เพื่อเติบโตไปด้วยกัน ฉะนั้นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทางธุรกิจ ทางแม็คโครพร้อมสนับสนุนเสริมสร้างศักยภาพในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค การให้โอกาสในการเข้าถึงช่องทางจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างยอดขายและทำกำไรให้ผู้ประกอบการมากขึ้น รวมไปถึงการจัดเตรียมทีมงานเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ และหากผู้ประกอบการที่มีความพร้อมจะขยายสินค้าเพื่อส่งออกทางแม็คโครพร้อมที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและเกษตรกรไทยสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในตลาดโลก

ขณะเดียวกัน นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืนและกฎหมาย บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) กล่าวว่า โลตัสมีความมุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการที่มีความพร้อมทางโลตัสจะมีทีมงานช่วยผลักดันและพัฒนาสินค้าเพื่อวางจำหน่ายในสาขากว่า 2,322 แห่งทั่วประเทศ รวมไปถึงการสนับสนุนช่องทางออนไลน์เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการในระดับเริ่มต้นทางโลตัส เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เปิดบูธจำหน่ายสินค้า ทดลองตลาด สร้างการรับรู้ และขยายฐานลูกค้าผ่านพื้นที่ศูนย์การค้าของโลตัสทั่วประเทศ นอกจากนี้ทางโลตัสพร้อมสนับสนุนทีมงานให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าและ มาตรฐานการผลิตอีกด้วย

ในการปฐมนิเทศครั้งนี้ถือเป็นการติวเข้มแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าใจถึงขั้นตอนและวิธีการเจรจาจับคู่ธุรกิจแบบออนไลน์ รวมถึงรายละเอียดที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมในการเจรจาจับคู่ธุรกิจที่จะมีขึ้น

เป็นครั้งแรกในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ โดยมีบริษัท ซีพี ออริจิน จำกัด เป็นผู้สร้างแพลตฟอร์มในการพัฒนาเอสเอ็มอี ภายใต้โครงการแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ให้ข้อแนะนำในการที่จะนำพาเอสเอ็มอีเข้ามาร่วมเป็นธุรกิจกับเครือซีพี ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะสนับสนุนองค์ความรู้ การจัดหาวัตถุดิบที่ดี ช่องทางการจัดจำหน่าย รวมถึงการให้คำแนะนำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นตำราสำคัญที่จะทำให้เอสเอ็มอีประสบความสำเร็จ พร้อมนำพาเอสเอ็มอีและเกษตรกรไทยเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดทั้งในไทยและต่างประเทศ

หนึ่งในผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าจะเข้าร่วมการเจรจาจับคู่ธุรกิจในโครงการนี้ คือ นายไพศาล กิตติฤดีกุล จาก บริษัท ไทยโคโค่ฟาร์ม จำกัด เปิดเผยว่า ขอบคุณทางเครือซีพีที่สร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสด้วยการจัดเวทีการเจรจาธุรกิจออนไลน์ครั้งนี้ขึ้นมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ประกอบการไทยที่ได้มีโอกาสในการนำเสนอสินค้ากับ 3 กลุ่มธุรกิจค้าปลีกใหญ่ทั้ง เซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร และโลตัสในครั้งเดียว ซึ่งเวทีนี้ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้รับองค์ความรู้นำไปต่อยอดพัฒนาสินค้าให้มาตรฐาน รวมไปถึงช่องทางจำหน่ายสินค้าที่มีความหลากหลายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากนี้เครือซีพียังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความพร้อมขยายตลาดไปต่างประเทศอีกด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของผู้ประกอบการที่จะเพิ่มยอดขายและมีโอกาสได้ฟื้นธุรกิจที่ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างมากให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

อีกหนึ่งเสียงจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือ นางสาวอมรรัตน์ อมรพิมล เจ้าของผลิตภัณฑ์ AVA Mineral Water Purifying OverNight Mask มาสก์สูตรน้ำแร่บริสุทธิ์ กล่าวว่า การที่เครือซีพีได้สร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาส เป็นช่องทางที่เป็นประโยชน์อย่างมากให้กับผู้ประกอบการไทย เพราะมีโอกาสไม่ง่ายนักที่จะได้เข้ามาเจรจาธุรกิจกับเครือข่ายค้าปลีกค้าส่งพร้อม ๆ กัน โดยมองว่าการได้เข้าร่วมเวทีครั้งนี้จะสามารถนำองค์ความรู้ รวมทั้งคำแนะนำในการทำการตลาดในแต่ละแพลตฟอร์มไปพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพตามมาตรฐานทางการผลิตที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

วันที่ 13 มีนาคม 2562 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือกับ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED), สถาบันอาหารแห่งชาติ (NFI) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัว 3 โครงการ เพื่อยกระดับความสามารถผู้ประกอบการ ให้ได้มาตรฐานไทยด้วยการจัดการและการตลาดแบบมืออาชีพ นำไปสู่มาตรฐานโลก

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า โครงการเพื่อยกระดับความสามารถผู้ประกอบการท้ง 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 (OTOP SMEs TRANFORMER 4.0) 2.โครงการยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และ 3.โครงการยกระดับผู้ประกอบการชุมชนต้นแบบที่มีศักยภาพก้าวสู่ SME (Micro to be SMEs) ทั้ง 3 โครงการมีเป้าหมายเพื่อต้องการยกระดับการทำงานเชิงลึกของภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยจะเน้นในเรื่องเครื่องมือหรือวิธีการที่จะพาผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน SMEs หรือแม้ OTOP ให้ได้มาตรฐานไทย เพื่อนำสู่มาตรฐานโลกต่อไปในอนาคต

“โดยโครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 (OTOP SMEs TRANFORMER 4.0) เป็นโครงการที่ สสว.ดำเนินการร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เน้นการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจและการตลาดให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ไทย ก้าวสู่มาตรฐานไทย ก่อนต่อยอดสู่มาตรฐานโลก ตามแนวคิด SME Standardization มาตรฐานไทย สู่มาตรฐานโลก” นายสุวรรณชัยกล่าว

นายธนนนท์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ แก้ปัญหาหลักซึ่งเป็นอุปสรรคการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะเรื่องการขาดความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่แข่งขันได้โดยคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยจะอาศัยโมเดล OTOP SMEs Transformer 4.0 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้แข่งขันด้วยปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ สามารถตอบสนองและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าแม่นยำด้วยระบบข้อมูลเชิงลึก และสร้างเครือข่ายได้รวดเร็วและกว้างไกลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

“โครงการนี้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 1,200 คน จากทั่วประเทศ ให้เหลือเพียง 100 คน เข้ารับการพัฒนาเชิงลึกและสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจ ก่อนนำสู่การทดสอบตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับนำไปต่อยอด ขยายผล สร้างเครือข่ายต้นแบบระดับจังหวัด และสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ใหม่ๆ สนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) โดยผู้ที่มีแนวคิดโดดเด่นที่สุดจะได้รับการสนับสนุนในการช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาเครือข่าย โดยผู้เชี่ยวชาญ ภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรหรือโล่รางวัลจาก สสว.” นายธนนนท์กล่าว

สำหรับ โครงการยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกับสถาบันอาหารแห่งชาติ (NFI) ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น ให้เกิดการสร้างอาชีพ ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหารแห่งชาติ (NFI) กล่าวว่า จุดประสงค์ของโครงการนี้คือเพื่อส่งเสริม ให้ความรู้ในการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น ด้วยการนำเครื่องมือด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต พร้อมการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ด้วยการให้คำปรึกษาในเชิงลึกด้วยกิจกรรมโฟกัสกรุ๊ป ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็นร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเชิงธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารและเครื่องดื่มในท้องถิ่นให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์

“ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้มีมาตรฐานสากล เพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ หลังจากที่อาหารไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย โดยมีการรับสมัครผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารและเครื่อมดื่มระดับ 3-5 ดาว จำนวน 500 รายทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม โฟกัสกรุ๊ป ระดมความคิดกับภาคเอกชนอีก 50 ราย โดยคาดว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับโครงการนี้ จะสามารถเพิ่มโอกาส ช่องทางการจำหน่าย และการขยายตัวทางธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท” นายยงยุทธกล่าว

สำหรับโครงการยกระดับชุมชนต้นแบบที่มีศักยภาพก้าวสู่ SMEs (Micro to be SMEs) เป็นโครงการที่ สสว.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการคัดเลือกชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านสินค้าอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ แต่ยังขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสม รวมถึงการต่อยอดและยกระดับความรู้ที่มีอัตลักษณ์เดิมที่กำลังจะหายไป ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ดร.เฉลิมพล คงจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการจัดความรู้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินกิจกรรมเพื่อยกระดับผู้ประกอบการในโครงการนี้ จะยังเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองรอง ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการ ศักยภาพความพร้อม และความโดดเด่นเชิงอัตลักษณ์ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว เพียงแต่ขาดการจัดการที่เหมาะสม โดยโครงการจะเน้นส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มสมาชิกและผู้เชี่ยวชาญ ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมและการทำงานร่วมกัน ผ่านมุมมองการวิเคราะห์และประเมินแบบ CIPP model (Context Input Process Product Model) ที่จะช่วยให้เข้าใจเข้าถึงบริบทชุมชน และทำให้ชุมชนมีความพร้อมที่จะยกระดับตนเอง ร่วมพัฒนาไปกับผู้เชี่ยวชาญ จนนำไปสู่การเกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

ยอดขายพุ่งทะลุเป้าหลายพันล้านบาท ในงาน Smart SME Expo 2018 SME แฟรนไชส์มาแรง มีคนเข้างาน 4 วัน กว่าแสนคน

ปิดฉากอย่างสวยงาม ยอดขายพุ่งทะลุเป้ากับงานใหญ่แห่งปี SMART SME EXPO 2018 ที่เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของบริษัท พีเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมด้วยภาครัฐ ภาคเอกชนเพื่อ SMEs ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ภายใต้แนวคิด “ชี้ช่องรวย ที่เดียวจบพบทางรวย” โดยปีนี้มีผู้ประกอบการ SMEs สนใจเข้าเยี่ยมชมงานตลอด 4 วันจัดงานกว่า 108,498 คน สร้างเม็ดเงินกระตุ้นในระบบเศรษฐกิจได้ราว 1,200 ล้านบาท และมีความต้องการสินเชื่อสำหรับ SME กว่า 2,335.90 ล้านบาท ตลอด 4 วันที่ผ่านมา (5 – 8 กรกฏาคม) ณ ฮอลล์ 3-4 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

นางสาวณรินณ์ทิพ วิริยะบัณฑิตกุล ประธานกรรมการ บริษัท พีเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้จัดงาน เผยว่า ในปีนี้งาน SMART SME EXPO 2018 มีผู้เข้าชมงานอย่างคึกคัก โดยมียอดผู้ชมงานตลอด 4 วานถึง 108,498 คน ซึ่งถือว่าได้รับความสนใจจากนักธุรกิจและประชาชนในการเข้ามาเลือกช็อปสินค้า ซื้อและเจรจาธุรกิจ รวมทั้งขอสินเชื่อหรือขอรับบริการต่างๆ ซึ่งภายในงานมีครบทุกด้านเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป

“เรายังมุ่งปั้นผู้ประกอบการใหม่ สร้างแต้มต่อผู้ประกอบการรายเดิมมาต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ได้มีโปรโมชั่นพิเศษและกิจกรรมดีๆ ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานมากมาย เรียกได้ว่ามางานเดียวจบครบทุกช่องทางของการทำธุรกิจ โดยปีนี้มียอดยื่นขอวงเงินสินเชื่อภายในงานกว่า ยอดการขอสินเชื่อภายในงานกว่า 2,335.90 ล้านบาท ธนาคารที่ได้รับคำขอสินเชื่อเพื่อ SME สูงสุดได้แก่ ธนาคารออมสิน (736 ล้านบาท), ธนาคารธนชาต (607 ล้านบาท), ธนาคารกรุงเทพ (343 ล้านบาท), SME Development Bank (241 ล้านบาท) ธนาคารกสิกรไทย (219.05 ล้านบาท)

ผู้ประกอบการที่สนใจในธุรกิจต่างๆ กว่า 12,780 ราย ซึ่งมาจากความสนใจซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ การขอรับคำปรึกษาและบริการจากรัฐ รวมถึงการขอสินเชื่อ ยอดเงินสดการซื้อสินค้าและธุรกิจภายในงาน 10,766,723 บาท และยอดเจรจาธุรกิจอีกไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท โดยเฉลี่ยการเจรจาซื้อขายและจองธุรกิจภายในงาน รายละ 100,000 บาท ส่วนการอบรมให้ความรู้ ในห้องสัมมนาและอบรมอาชีพต่างๆ ในแบบเวิร์คช็อปอาชีพ มีผู้เข้าอบรมกว่า 2,200 ราย โดยหัวข้อที่ได้รับความสนใจสูงสุด คือ การเวิร์คช็อปธุรกิจกาแฟ โดยมีผู้ให้ความสนใจลงทะเบียนล่วงหน้าเข้าอบรมจำนวนมาก จนทำให้ต้องเปิดรอบอบรมเพิ่ม ทั้งนี้ภาพรวมของธุรกิจกาแฟยังคงมาแรง ตลาดยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง” คุณณรินณ์ทิพกล่าว

Smart SME Expo เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในด้านการลงทุนและภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มที่จะกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะการเป็นเวทีสำคัญในการซื้อขายธุรกิจและเชื่อมโยงหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีให้กับนักธุรกิจและประชาชนได้มาพบเจอกัน ด้วยการให้ความสำคัญกับทั้งภาครัฐและเอกชนในบทบาทของการส่งเสริม พัฒนา หรือเปิดโอกาสสำหรับธุรกิจให้กับ SME หรือผู้สนใจที่กำลังจะเป็น SME ให้ตรงกับความต้องการ และเพื่อให้เกิดกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติหนึ่งจากภาคเอกชนที่มุ่งเน้นเป็นสื่อกลางให้กับผู้ประกอบการ SME

หาอาชีพก่อนเกษียณ

Human of Office ชีวิตมนุษย์เงินเดือน

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์


“นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด”

ผมไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กล่าวคำคำนี้ แต่คำพูดดังกล่าวทำให้เราเห็นภาพจริงว่านักการเมืองกับพระราชามีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนต่างกัน

ทั้ง ๆ ที่เป็นการช่วยเหลือเหมือนกัน

แต่ความยั่งยืนในระยะยาวกลับมีความต่างกัน

คำพูดดังกล่าวเบื้องต้น ทำให้ผมนึกถึงวิธีการบริหารจัดการของผู้นำบางองค์กร เพราะเขาคิดว่าสิ่งที่พนักงานทำอยู่ในปัจจุบัน นอกจากจะทำหน้าที่มนุษย์เงินเดือนของตัวเองอย่างไม่ขาดตกบกพร่องแล้ว เขากลับมีความคิดว่าหากเราติดอาวุธให้พนักงานเหล่านั้น มีอาชีพด้วยจะดีกว่าไหม

โดยเฉพาะพนักงานระดับปฏิบัติการที่มีรายได้น้อย มีภาระค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวค่อนข้างสูง มีพ่อแม่พี่น้องลูกเมียต้องดูแล และอื่น ๆ มากมาย กับพนักงานอีกบางส่วนที่จะเออร์ลี่รีไทร์ในอายุ 55 ปี หรือพนักงานที่จะเกษียณอายุ 60 ปี

ด้วยการจัดคอร์สอบรมวิชาชีพให้ฟรี โดยบริษัทเป็นผู้ออกภาระค่าใช้จ่ายให้ ซึ่งการอบรมวิชาชีพต่าง ๆ นอกจากเขาจะซาวเสียงพนักงานเหล่านั้นตรง ๆ ว่าต้องการฝึกอาชีพอะไร ?

อยากจะขายอะไร ?

และอยากจะมีอาชีพอะไรติดตัว ?

เขายังสอบถามพนักงานอีกว่าปีหนึ่ง ๆ ควรจะฝึกอาชีพทั้งหมดกี่ครั้ง เพราะเขาจะได้วางแผน และตั้งงบประมาณถูกว่าปีหนึ่ง ๆ เราควรจัดสรรงบประมาณสักเท่าไหร่ เพื่อให้พนักงานเหล่านั้นนำไปสร้างประโยชน์ต่อตนเอง และครอบครัว

นอกจากในฝั่งขององค์กร อีกส่วนหนึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับชุมชนต่าง ๆ โดยรอบบริษัท หรือโรงงานต่าง ๆ ที่เขาดำเนินธุรกิจอยู่ เพราะอย่าลืมว่าทุก ๆ บริษัทมีการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่แล้ว ดังนั้น หากเรานำอาชีพไปให้ชาวบ้านรอบ ๆ ชุมชน เขาจะมีอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวในระยะยาว

ทุกอย่างจะวิน วินเกม

เพราะนอกจากเราจะได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ชาวบ้านยังได้อาชีพต่าง ๆ เพื่อเลี้ยงปากท้องของตัวเองด้วย

เพียงแต่ช่วงผ่านมาหลาย ๆ บริษัทอาจไม่รู้ว่าถ้าจะติดต่อคนมาอบรมวิชาชีพต้องไปติดต่อที่ไหน ? ค่าอบรมเท่าไหร่ ? เขาจะมาไหม ? ถ้าบริษัทของเรา หรือชุมชนมีพนักงาน หรือคนเพียง 20-30 คนเท่านั้นเอง

ซึ่งปัญหาทุกอย่างจะหมดไป

ตอนนี้สำนักงานมติชน อคาเดมี หน่วยงานสร้างอาชีพภายใต้ชายคามติชน กรุ๊ป จัดทำคอร์สอบรมอาชีพให้กับพนักงานบริษัท และชุมชนต่าง ๆ หลายร้อยอาชีพด้วยกัน

พูดง่าย ๆ ว่าอาชีพที่เกี่ยวกับต้ม ผัด แกง ทอดมีหมด

ขนมไทย ขนมเทศมีหมด

ทั้งยังมีงานช่างฝีมือต่าง ๆ อีกเพียบ

ที่สำคัญ คนที่มาอบรมล้วนมาจากร้านอาหารดัง ๆ ทั่วประเทศทั้งสิ้น ผมลองยกตัวอย่างให้ฟังเกี่ยวกับอาชีพต้ม ผัด แกง ทอดสัก 2-3 ร้านนะครับ ไม่ทราบว่าใครเคยรู้จัก หรือเคยได้ยินร้านเฮียจกโต๊ะเดียวไหมครับ ร้านนี้นอกจากจะมีต้มเลือดหมู ราดหน้าหมูคะน้าฮ่องกงที่ขึ้นชื่อแล้ว เขายังมีเมนูปลาช่อนนานึ่งซีอิ๊ว และปวยเล้งผัดไฟแดงด้วย

สำหรับร้านนี้ “อาจารย์สมชาย ตั้งสินพูลชัย” จะเป็นคนสอน ทั้งยังสอนอย่างไม่มีการกั๊กเก็บเอาไว้เป็นอันขาด พูดกันให้ชัด ๆ คือสอนเพื่อให้ทุกคนนำไปขายได้เลย

หรืออย่างร้านเป็ดย่างแสงทอง ร้านนี้จะมีเมนูที่เกี่ยวกับเป็ดทุกอย่าง ไม่ว่าเป็ดย่าง, ข้าวหน้าเป็ดย่าง, น้ำราดเป็ด, เป็ดตุ๋นมะนาวดอง ก็จะได้ “ประพจน์ ตรีจันทร์ทอง” มาเป็นผู้สอน

หรือ ร้านครัวคุณจ๋า วัดเขายี่สาร เมนูเด็ดของร้านนี้คือน้ำพริกชะคราม, ต้มส้มปลากระบอก, หลนปูม้า, ปลาหมึกผัดกะปิ ก็จะมี “นิภาภัทร พยนต์ยิ้ม” เป็นผู้สอน พูดกันง่าย ๆ คือสอนเสร็จแล้วทำกินกันเองก่อนภายในครอบครัวได้เลย

เพื่อรอทุกคนบอกว่าอร่อยตรงกัน ค่อยเตรียมเปิดร้านต่อได้เลย

ส่วนขนมก็จะมีขนมถังแตกชาววัง, ขนมโตเกียวหลากไส้, ขนมครกสองแคว (นางเลิ้ง), ชาเขียวถั่วแดง, บลูเบอรี่ชีสเค้ก, พายไส้กรอก, พายไก่, แพนเค้กเยอรมัน และอื่น ๆ อีกกว่าร้อย ๆ ชนิด

ขณะที่ในส่วนของงานช่างฝีมือก็จะมีอบรมเกี่ยวกับการทำสวนจิ๋วในถาดแก้ว, ตัดเย็บเสื้อผ้าน้องหมา, แกะสลักเพื่อการจัดจาน, ต่อเล็บสวย 3 สไตล์, ต่อขนตาธรรมชาติ และอื่น ๆ อีกมากมายเช่นกัน

สำหรับการอบรมจะมี 2 ส่วนครับคือ จะให้ไปอบรมที่ออฟฟิศ หรือโรงงานก็ได้ หรือจะมาอบรมที่ สำนักงานมติชน อคาเดมี ก็ได้เช่นกัน ส่วนค่าอบรมจะแบ่งออกเป็นกลุ่ม กับส่วนตัว แต่ราคาเฉลี่ยโดยรวมน่าจะประมาณ 2 พันกว่าบาทขึ้นไปต่อคน ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับอาชีพที่จะอบรมด้วย ขณะที่เวลาอบรมก็จะใช้เพียง 1-2 วันเท่านั้นเอง

ถ้าสนใจลองโทร.ไปสอบถามดูนะครับที่เบอร์ 0-2954-3977-84 ต่อ 2104

เท่านั้นคุณก็จะรู้ซึ้งดีถึงคำว่า…นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ดเป็นอย่างไร

วันนี้ (23 เม.ย. 2561) นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. ร่วมงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ จับมือเอสเอ็มอี สร้างโอกาสบุกตลาดจีน ครั้งที่ 1 โดยความร่วมมือของ SME Development Bank ศูนย์สร้างโอกาสธุรกิจไทยสู่จีน (Thailand Smart Trade Center : TSTC) และบริษัท สินสิริบายดีช็อป จำกัด เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้พัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาสยกระดับให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงตลาดจีนได้อย่างแท้จริงและถูกวิธี ด้วยเทคนิคการเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค วิธีสร้างแรงจูงใจในการตัดสินใจซื้อสินค้า รวมถึงเคล็ดลับทางลัดบุกตลาดจีนในรูปแบบ Online & Offline ณ สำนักงานใหญ่ SME Bank Tower

สสว. ผนึกสถาบันอาหาร ขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 หนุนรวมกลุ่มธุรกิจเกษตรมะพร้าวต่อเนื่องจากปี 2560 หลังสร้างยอดขายได้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท เพิ่มเครือข่ายใหม่กลุ่มธุรกิจเกษตรกล้วย ตั้งเป้ารวม 17 เครือข่าย มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิต การแปรรูป การเก็บรักษา สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ มั่นใจ SME ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 2,300 ราย คาดเกิดการลงทุน และการจ้างงานเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 เชื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้ถึง 70 ล้านบาท และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ภายใต้วงเงินงบประมาณ 33 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายมะพร้าวและเครือข่ายกล้วย เน้นกระตุ้นและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยมุ่งสนับสนุนการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์

สำหรับกลุ่มเครือข่ายมะพร้าว เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปี 2560 ซึ่งมีเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว 3,300 ราย สร้างการรวมกลุ่มได้ 26 เครือข่าย พัฒนาผู้ประสานงานเครือข่าย 80 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ส่งเสริมการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างยอดขายเบื้องต้นได้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูป ซึ่งในปี 2561 นี้จะเป็นการต่อยอดขยายผล โดยการคัดเลือกเครือข่ายกลุ่มมะพร้าวเดิมบางส่วนมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายรายใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแผนต่อไป

ส่วนกลุ่มเครือข่ายกล้วย เป็นการดำเนินการปีแรก โดยกล้วยที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ กล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า มีผลผลิตรวมกันมากกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการบริโภคกล้วยสดของตลาดต่างประเทศ โดยพบว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าส่งออกกล้วยสดราว 467 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 41 เป็นการส่งออกไปจีนสูงสุดที่มูลค่า 340 ล้านบาท รองลงมาคือ ญี่ปุ่น 65 ล้านบาท และฮ่องกง 44 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกล้วยในลักษณะของสินค้าโอทอปประจำท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อการบริโภคในประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้โครงการฯ จะเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกกล้วย เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ตามมาตรฐานการส่งออก การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเก็บรักษา การยืดอายุ การดูแลบรรจุภัณฑ์ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกกล้วยโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม(GAP) มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์กล้วยให้ได้คุณภาพมากขึ้น ตลอดจนการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งในมิติของขนมขบเคี้ยว อาหารหวาน เป็นต้น

“สสว. ตั้งเป้าจะรวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วยรวม 17 เครือข่าย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 2,300 ราย แบ่งเป็นกลุ่มมะพร้าว 10 เครือข่าย ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายต่อเนื่อง ต่อยอดขยายผลตามแผนพัฒนาจากปี 2560 จำนวน 8 เครือข่าย และในปี 2561 นี้เป็นกลุ่มเครือข่ายใหม่อีก 2 เครือข่าย ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมกล้วย เป็นกลุ่มเครือข่ายใหม่ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการในปี 2561 นี้ จำนวน 7 เครือข่าย เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้นำเครือข่ายหรือผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent-CDA) จำนวนไม่น้อยกว่า 51 ราย เกิดการขยายการลงทุน และการจ้างงานเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจรวมกันได้ 70 ล้านบาท และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท” นายสุวรรณชัย กล่าว

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วย ปี 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 2,300 ราย เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม 17 เครือข่ายตามเป้าหมาย แบ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมะพร้าว 1,350 ราย และอุตสาหกรรมกล้วย 950 ราย โดยสถาบันอาหารจะนำผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องไปจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินการธุรกิจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ จัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาคลัสเตอร์ การตลาดและการสร้างแบรนด์เชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังให้การส่งเสริมขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ได้แก่ การนำสินค้าไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่างประเทศ หรือจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ เป็นต้น

 


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ