สสว. หนุนขับเคลื่อนสหกรณ์ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานรากจับมือ 4 พันธมิตร พลิกสหกรณ์ไทย สู่ สหกรณ์ 4.0” เต็มรูปแบบ

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ด้วยการให้ชุมชนได้เรียนรู้ และเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจ ด้วยนโยบายดังกล่าว สสว. จึงจัดทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 ภายใต้แนวคิด “พลิกสหกรณ์ไทยสู่สหกรณ์ 4.0” แบบเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

ผอ.สสว. เผยว่า ปีนี้ สสว. ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร โดยมีเป้าหมายสหกรณ์ 100 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สหกรณ์ภาคการเกษตร ที่มีความพร้อมพัฒนาตนเอง เตรียมตัวเข้าสู่แพลทฟอร์มใหม่ ในยุค 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ และเป็นสหกรณ์ต้นแบบที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่เป็นแหล่งเรียนรู้ระหว่างสมาชิกสหกรณ์ต่อไปในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าว บูรณาการความร่วมมือผ่าน 4 พันธมิตร ได้แก่ สสว. กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ

(องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยแต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ดังนี้

สสว. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการ และได้มอบให้สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เป็นหน่วยร่วมดำเนินการ โดยมี กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมคัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อมระดับปานกลางและทั่วไปที่มีศักยภาพจำนวนกว่า 100 แห่ง เพื่อเข้าร่วมโครงการ ทีเส็บ ร่วมผลักดันแหล่งผลิตและสินค้าสหกรณ์พร้อมสู่การออกตลาดในประเทศและต่างประเทศ และ บมจ.บางจาก ที่พร้อมร่วมพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ให้กับสหกรณ์เพื่อต่อยอดสินค้าเกษตรให้มีนวัตกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกระจายสินค้าสู่ช่องทางเครือข่ายของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการสร้างสหกรณ์ 4.0

“สสว. มอบหมายให้ ISMED เป็นหน่วยร่วมดำเนินการในการพัฒนาสหกรณ์ ด้วยกระบวนการอบรมและเพิ่มเติมองค์ความรู้ผ่านการศึกษาดูงานที่สามารถนำไปปรับใช้กับสหกรณ์ได้ พร้อมการนำอัตลักษณ์ของตนเองมาสร้าง หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสอดคล้องกับยุคปัจจุบัน โดยมีทีมที่ปรึกษาให้คำแนะนำเชิงลึก เพื่อให้สหกรณ์สามารถจัดทำแผนธุรกิจหรือโมเดลธุรกิจใหม่ที่ปฎิบัติได้จริง โดยสหกรณ์ที่มีผลงานโดดเด่นจะได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอดสหกรณ์ต้นแบบ หรือ COOP Select ที่พร้อมเข้าสู่การต่อยอดทางการตลาดแพลทฟอร์มต่างๆ จากทาง สสว. และเครือข่ายพันธมิตร” นายวีระพงศ์ กล่าว

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันเกษตรกร ทั้งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของมวลสมาชิกและชุมชน ในปีนี้กรมฯ มีโครงการและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน สหกรณ์รวบรวมสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมการตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภค โดยความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับ

สสว. ในครั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ร่วมคัดเลือกสหกรณ์ภาคการเกษตรที่มีศักยภาพในการแปรรูปสินค้าเกษตร จำนวน 100 แห่ง เข้าสู่กระบวนการพัฒนาตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 เพื่อให้สหกรณ์เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิด ด้วยวิธีดำเนินการแบบโมเดลธุรกิจยุคใหม่ สามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมเผชิญความเปลี่ยนแปลง สนับสนุนให้สหกรณ์มีช่องทางและโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ต่อไป

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เผยว่า ปัจจุบันกลุ่มสหกรณ์เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเพื่อพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ดังนั้นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 ที่จัดโดย สสว. และเครือข่ายพันธมิตร จึงเป็นการทำงานที่ช่วยเติมเต็มภารกิจของโครงการฯ และเป้าหมายของทีเส็บอย่างเหมาะสม โดยสหกรณ์ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพสู่สหกรณ์ 4.0 ทีเส็บ จะทำหน้าที่ต่อยอดสินค้าและบริการให้มีความเหมาะสมพร้อมต้อนรับและบริการนักธุรกิจที่เข้ามาศึกษาดูงานหรือเยี่ยมชม ตามภารกิจของทีเส็บที่จะนำไปต่อยอดสร้างช่องทางการตลาดการขายใหม่สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศต่อไป

กระทรวงอุตสาหกรรม สานพลังชุมชนโชว์ผลสำเร็จ ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก สร้างความยั่งยืนสู่ชุมชน พร้อมจับมือเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และบริการชุมชน โดยส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี หวังยกระดับเชื่อมโยงสู่สากล พร้อมทั้งเปิดตัวตราสัญลักษณ์ CIV MARK เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้และประชาสัมพันธ์โครงการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป

ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลตามแนวทางประชารัฐภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” คือ มุ่งเน้นการพัฒนาโดยตั้งอยู่บนฐานของความได้เปรียบเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม นำมาต่อยอดด้วยองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยวซึ่งจะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนเพิ่มขึ้นที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมมีมาตรการต่างๆ ในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนทุกระดับ ตั้งแต่เศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ให้สามารถก้าวไปสู่ระดับSMEsเพื่อรองรับตลาดการท่องเที่ยวชุมชน จึงได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) หรือหมู่บ้าน CIV แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบันโดยมีหมู่บ้านที่ผ่านการพัฒนาแล้วกว่า 107 หมู่บ้าน และหมู่บ้านที่จะเข้ารับการพัฒนาอีกกว่า 215 หมู่บ้าน ซึ่งแนวคิดหลักของหมู่บ้าน CIV คือ หมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรมวิถีชีวิต และอัตลักษณ์ชุมชน มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของชุมชน เชื่อมโยงกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งความสำเร็จของชุมชนจะขึ้นอยู่กับความสามัคคีและความเข้มแข็งในการรวมพลังกัน เพื่อสร้างให้ชุมชนค้นพบเสน่ห์แห่งวิถีที่น่าสนใจ ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์เท่านั้นยังขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์ชุมชนหลายๆ ด้านที่เป็นของดีของเด่นในชุมชน

โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะเข้ามาช่วยเติมเต็มให้ชุมชนค้นพบช่องทางในการสร้างจุดขาย และสร้างพลังให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีหมู่บ้าน CIV ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยภายในระยะเวลา ๕ ปีนอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งโครงการซึ่งถือได้ว่าเป็นการเชื่อมโยง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ได้แก่ โครงการสร้างสรรค์อัตลักษณ์สินค้าอุตสาหกรรมชุมชนสู่สากลหรือ “โครงการไทยเด่น” Product Hero ประจำจังหวัด 77 ผลิตภัณฑ์ 77 จังหวัด ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจชุมชน โดยนำวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ผสมผสานกับแนวคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดผ่านสินค้าของแต่ละชุมชนออกมาเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึกที่มีศักยภาพ มีความโดดเด่นของแต่ละชุมชนหรือหมู่บ้านนั้นๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านวิถีชีวิตของชุมชน ที่มีเสน่ห์ทางประเพณีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับต้นทุน ทั้งวัตถุดิบและบริการด้านท่องเที่ยวของหมู่บ้าน ให้สามารถดึงเม็ดเงินจากภายนอกเข้าสู่ชุมชน สร้างความยั่งยืนและสามารถพึ่งพาตนเองผ่านสินค้าเด่นประจำชุมชนอย่างแท้จริง

ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินงานโครงการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village : CIV) ภายใต้งบประมาณปี พ.ศ. 2562 และโครงการสร้างสรรค์อัตลักษณ์สินค้าอุตสาหกรรมชุมชนสู่สากล หรือที่เรียกว่า “โครงการไทยเด่น” ซึ่งดำเนินการภายใต้งบประมาณของกองทุนพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แนวทางที่ 3 นั้น ทั้ง 2 โครงการเป็นการดำเนินงานในรูปแบบของการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) ให้มีความเข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้ และความมั่นคงให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืนโดยในส่วนของการดำเนินโครงการ “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์Creative Industry Village : CIV” นั้น จากผลการดำเนินการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา พบว่า การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จำเป็นต้องมีการบูรณาการหลายภาคส่วน ภายใต้แนวคิดและการน้อมนำศาสตร์พระราชาที่เน้น “การระเบิดจากข้างใน” เป็นแนวทางในการพัฒนา สร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนมีความพร้อมที่จะรับและร่วมเป็นพลังในการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงดำเนินการพัฒนาในส่วนต่างๆ ที่จะเกื้อกูลให้เกิดการพัฒนาหมู่บ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่น และต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินงาน “โครงการไทยเด่น” โดย กสอ. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเป็นต้นแบบสินค้า พร้อมจัดทำบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงาม ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนารวม 77 ผลิตภัณฑ์ จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้มีการเสริมความรู้และช่องทางการตลาดออนไลน์ให้แก่ผู้ผลิตในชุมชน รวมถึงได้ดำเนินกิจกรรมสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สินค้าเด่นของแต่ละจังหวัดให้เป็นที่รู้จักทั้งแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) และสินค้าเด่นของพื้นที่นั้นๆ อย่างกว้างขวางผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ Facebook,Youtube และการจัดรายการเรียลลิตี้ทางทีวี เป็นต้น

พร้อมกันนี้ กสอ.ยังได้จัดกิจกรรมสัมมนาและจัดแสดงนิทรรศการหมู่บ้าน CIV และผลิตภัณฑ์ไทยเด่น 77 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้รับการพัฒนา เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) กับหน่วยงานร่วมดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีมุมมองและแนวคิดที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยกันบูรณาการและดำเนินงานอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของการพัฒนาหมู่บ้าน CIV ทั้ง 215 หมู่บ้าน นอกจากนี้ กสอ. ยังได้มีการจัดพิธีลงนามความร่วมมือในการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)(อพท.)และสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (TFOTPA) เพื่อเป็นการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ส่งเสริม และพัฒนาตามมาตรการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือSMEsพร้อมเปิดตราสัญลักษณ์ CIV MARK เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและประชาสัมพันธ์โครงการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย