เรื่อง-ภาพ : กนกวรรณ มากเมฆ
ากพูดถึง “เทศกาลสงกรานต์” สิ่งแรกที่หลายๆ คนนึกถึงคงเป็นการเล่นสาดน้ำ จนหลายคนอาจจินตนาการภาพไม่ออกว่า จริงๆ แล้วสงกรานต์ในยุคโบราณนั้นเป็นอย่างไร?

“มติชน อคาเดมี” พาไปสัมผัสพิธีรดน้ำดำหัวตามแบบฉบับล้านนาโบราณที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง หรือที่เรียกกันว่า “ไร่แม่ฟ้าหลวง” จ.เชียงราย

ประเพณีรดน้ำดำหัวแบบล้านนาโบราณครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 20 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ตามแบบประเพณีโบราณที่ให้จัดพิธีรดน้ำดำหัวขึ้นหลังวันพญาวัน วันใดก็ได้ไปจนถึงสิ้นเดือน

บริเวณหอคำในไร่แม่ฟ้าหลวงมีการประดับตกแต่งด้วยตุงและดอกไม้ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวล ผู้เข้าร่วมพิธีนอกจากแขกผู้มีเกียรติแล้ว ที่สำคัญคือคณะสงฆ์ และผู้อาวุโสจาก 18 อำเภอของ จ.เชียงราย อำเภอละ 2 คน นอกจากนี้ยังมีลูกหลาน และเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกันอย่างคึกคัก

นคร พงษ์น้อย

“นคร พงษ์น้อย” กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของงานครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นจากความต้องการของชาวเชียงรายที่เห็นว่าประเพณีสงกรานต์ไม่ใช่แค่การเล่นสาดน้ำ แต่เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อผู้ใหญ่ มีการทำบุญทางศาสนา ซึ่งคนเชียงรายคิดว่าควรจะทำให้มีพิธีที่ดูเป็นเรื่องเป็นราว เพราะที่ผ่านมีเพียงจัดกันเล็กๆ ตามบ้านเท่านั้น โดยผู้อาวุโสที่มารับการรดน้ำดำหัวครั้งนี้ เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีคุณภาพ และมีการดำเนินชีวิตที่เป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคม ซึ่งการเชิญมารับรดน้ำดำหัวอย่างเป็นพิธีการ ก็เพื่อจะได้เป็นกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุทั้งหลายว่า หากดำเนินชีวิตดี ก็จะมีคนเห็นคุณค่า

พิธีเริ่มขึ้นเมื่อคณะสงฆ์นำผู้อาวุโสเข้าสู่การสรงน้ำ “พระเจ้าไม้” หรือพระพุทธรูปไม้โบราณจำนวน 16 องค์ จากรางพญานาค ซึ่งการสรงน้ำพระเป็นพิธีที่คนโบราณเชื่อว่าพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงอิฐหรือไม้ การสรงน้ำหมายถึงการให้ความเคารพนบนอบแก่พระพุทธเจ้านั่นเอง นอกจากนี้ คนโบราณยังคิดว่าในช่วงหน้าร้อน พระพุทธเจ้าคงจะร้อน จึงมีการสรงน้ำเพื่อให้ท่านได้คลายร้อน

ส่วนที่ต้องสรงผ่านรางพญานาค เพราะคนโบราณคิดว่ามนุษย์เรานั้นต่ำต้อยเหลือเกิน จะเอาน้ำไปสาดไม่ได้ จึงให้พญานาคนำน้ำไป ซึ่งน้ำนี้จะไหลไปตกที่ขันเงินที่มีสายสิญจน์โยงขึ้นไปที่พระพุทธรูป ให้น้ำซึมผ่านสายสิญจน์นี้ไปถึงพระพุทธรูป แสดงถึงความเคารพสูงสุด

“อย่างไรก็ตาม การที่เราทำแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าการสรงน้ำพระพุทธรูปด้วยการสาดน้ำใส่นั้นไม่ดี แต่ความรู้สึกของเรานั้นอยากจะให้นุ่มนวล และแสดงถึงการคารวะสูงสุด” นายนครกล่าว

พระพุทธรูปไม้ทั้ง 16 องค์ ที่อัญเชิญมาในพิธีนี้ เป็นพระพุทธรูปที่งามที่สุดที่เก็บอยู่ในไร่แม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นความตั้งใจของมูลนิธิฯที่ต้องการนำออกมาให้ประชาชนได้กราบไว้บูชา โดยแต่ละองค์ทำจากไม้ และมีความงามทางพุทธศิลป์ตามศิลปะล้านนาที่แตกต่างกัน

ในน้ำขมิ้นส้มป่อยยังใส่เกสรดอกสารภีและน้ำอบเพื่อความหอมอีกด้วย

ขณะที่น้ำที่ใช้สรงน้ำพระนั้นเป็น “น้ำขมิ้นส้มป่อย” เนื่องจากมีความเชื่อว่าส้มป่อยมีคุณสมบัติที่ชำระล้างสิ่งสกปรกได้ การนำส้มป่อยมาผสมน้ำจึงเปรียบเสมือนการชำระสิ่งสกปรกในน้ำ เพราะต้องการถวายของดี ของสะอาดบริสุทธิ์แด่พระพุทธเจ้า

ระหว่างพิธีสรงน้ำ จะมีการบรรเลงเพลงพื้นเมือง และมีสาวสงกรานต์รำประกอบพิธีด้วย

บริเวณพิธีนอกจากมีการประดับด้วยดอกไม้นานาพรรณแล้ว ยังมีการประดับตุง ซึ่งตุงนี้ทำมาจากดอกไม้แทนตุงผ้า ด้วยความเชื่อว่าจะได้ส่งความหอมไปได้ไกลขึ้น

เสร็จจากการสรงน้ำพระ ก็เข้าสู่พิธีรดน้ำดำหัว หรือที่ทางเหนือเรียกว่า “สระเกล้าดำหัว” ซึ่งเริ่มจากพิธีทางศาสนา และการถวายเครื่องสักการะน้ำขมิ้นส้มป่อยหน้าพระแท่นพระสาทิสลักษณ์แม่ฟ้าหลวง หรือสมเด็จย่าจากนั้นกวีล้านนาจะร่ายกะโลงล้านนา เพื่อแสดงความคารวะผู้อาวุโส

กวีล้านนาจะร่ายกะโลงล้านนา

จากนั้นขบวนสาวสงกรานต์เชิญเครื่องคำนับเข้าสู่บริเวณพิธี ก่อนที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จะมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้อาวุโส และท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะมอบน้ำขมิ้นส้มป่อยและเครื่องคำนับเพื่อคารวะผู้อาวุโส ตามด้วยผู้ร่วมงานเข้ารดน้ำผู้อาวุโส ซึ่งจะรดไปที่มือเท่านั้น แต่ในสมัยโบราณจะเป็นการนำน้ำส้มป่อยมาวาง แล้วผู้สูงวัยจะเอามือแตะที่น้ำมาลูบหัว

จากช่วงของการรดน้ำ เข้าสู่ช่วงการ “ดำหัว” ซึ่งในช่วงนี้ลูกๆ หลานๆ จะเข้าขอพรจากผู้อาวุโส ซึ่งผู้อาวุโสจะให้พร พร้อมเอามือแตะน้ำลูบที่หัวของผู้ขอพร แล้วใช้ “ดอกโชค” พรมน้ำไปที่หัวหรือมือของผู้ขอพรด้วย โดยดอกโชคก็หมายถึงให้มีโชคมีชัย เป็นอันเสร็จพิธี

ดอกโชค

นายนครกล่าวว่า สำหรับพิธีในครั้งนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก เพราะมูลนิธิฯเว้นว่างจากการจัดงานมาราว 30 ปี เพราะไปทำงานด้านพัฒนา จนลืมไปว่าคนในเมืองก็ต้องการการพัฒนาและการเอาใจใส่เช่นกัน ซึ่งเป็นนโยบายที่สมเด็จย่าต้องการให้ดูแลทั้งชาวเขาและชาวเมือง

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า มูลนิธิฯตั้งใจจะจัดประเพณีนี้ทุกปี ซึ่งจะไปได้ถึงไหนนั้นคงต้องดูกระแสตอบรับอีกครั้ง แต่ก็อยากให้มี เพื่อจะได้ฟื้นฟูสิ่งนี้ เพราะเป็นประเพณีที่ดีและมีความหมาย รวมถึงการใช้สถานที่ที่ไร่แม่ฟ้าหลวงก็ยังเป็นสืบสานปณิธานของสมเด็จย่า ที่ต้องการให้ใช้สถานที่นี้ให้เกิดประโยชน์ในด้านวัฒนธรรมและการศึกษา

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสานประเพณีล้านนาโบราณ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น และสืบทอด อนุรักษ์ไว้เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป


Content Team Matichon Academy
[email protected]
0-2954-3971 ต่อ 2111
ติดตามอ่านข่าวสารได้ที่ www.matichonacademy.com

ไม่พลาดข่าวสารอาหาร ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เกร็ดความรู้
คอร์สเรียนสนุกๆได้ประโยชน์-เสริมอาชีพ
คลิกติดตามเพจเฟซบุ๊ค MatichonAcademy

เทศกาลสงกรานต์กับวันหยุดยาว ที่สุดในรอบปี ในช่วงเทศกาลนี้หลายคนคงมีแพลนไปเที่ยวผ่อนคลายตามสไตล์ความชอบ ขณะที่หลายคนมีแพลนจะออกไปเล่นสาดน้ำให้เย็นชุ่มฉ่ำ แต่สำหรับใครที่ยังไม่มีแพลนไปไหนและกำลังคิดอยู่ว่าจะไปไหน ทำอะไรดีในวันหยุดยาวนี้ เรามีอีเวนต์มานำเสนอให้เป็นตัวเลือก มีหลากหลายคอนเซ็ปต์ กิน เล่น เที่ยว แต่สิ่งที่เหมือนกันคือได้เล่นน้ำคลายร้อนแน่นอน

สงกรานต์เมษาฯ ผ้าขาวม้า สยามสนุก

วัน : 13-15 เม.ย. เวลา : 12.00-19.00 น.

สถานที่ : ลานสยามสแควร์

ที่สยามสแควร์ ใจกลางเมือง กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนรมิตลานสยามสแควร์ให้เป็นงานสงกรานต์สีขาว ในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สรงน้ำพระ 4 ภาค, อร่อยลิ้มชิมอาหารเลิศรส, ช็อปสินค้าสุดแนวหลากสไตล์ และปีนี้ เป็นครั้งแรกในใจกลางกรุงเทพฯที่จะได้สนุกกับการเล่นสไลเดอร์ความยาวกว่า 48 เมตร สไลด์ลงมาแล้วเข้างานได้เลย

งานนี้รณรงค์ให้นุ่งผ้าไทย ชุดไทย ใส่ผ้าขาวม้า สร้างสรรค์ลานสยามสแควร์ให้เป็นสงกรานต์สีขาว ปลอดภัย ไร้โป๊ ไร้แป้ง ไร้แอลกอฮอล์

ปิดท้ายความสนุกด้วยการแสดงจากศิลปินชื่อดัง ทั้ง กัน นภัทร, โดม จารุวัฒน์, วง ROOM 39, วง POTATO, เอ๊ะ จิรากร, โจอี้ บอย, โต๋ ศักดิ์สิทธิ์, อะตอม ชนกันต์, ตู่ ภพธร, วง COCKTAIL และสามน้าจำอวด น้าโย่ง น้านงค์ น้าพวง

S2O Songkran Music Festival 2018

วัน : 13-15 เม.ย. (บัตรวันที่ 13-14 หมดแล้ว)

ปาร์ตี้สงกรานต์ที่คอ EDM รอคอย ปีนี้จัดบนพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม มาพร้อมโปรดักชั่นอลังการ ระบบแสง สี เสียง ตื่นตา 360 องศา และการเปิดตัวเทคนิคน้ำที่ยิ่งใหญ่และล้ำที่สุดครั้งแรกในเอเชีย ที่สำคัญคืออิมพอร์ต 15 ดีเจ.ชื่อดังระดับโลก หลากหลายแนวเพลง นำโดย DJ.Snake ดีเจ.แนว Trap ชื่อดังระดับโลก เจ้าของผลงานเพลงสุดฮิตที่ชาวไทยคุ้นหูอย่าง “Turn Down For What”, “Let Me Love You”, “Lean On” ตามด้วย Sick Individuals สองดีเจ.และโปรดิวเซอร์คู่หูจากเนเธอร์แลนด์ที่มาพร้อมดนตรีแนวอิเล็กโทรเฮา ส์, Mashd N Kutcher, Oliver Heldens, Ummet Ozcan, Ookay, Tujamo, TJR, Krewella, และ Tchami เรียกว่ามาครบ

หลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นแฟนอีดีเอ็มสายไหนก็ต้องมีที่ชอบสักชื่อสองชื่อแน่นอน

สงกรานต์งานกาด

วัน : 12-15 เม.ย. เวลา : 10.30-20.00 น.

สถานที่ : โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

สงกรานต์งานกาด นั่งแคร่ นั่งเสื่อ เปิบตามอัธยาศัย ยกครัวจากเชียงใหม่มาเสิร์ฟอาหารชาวเมืองและชาวดอยต้นตำรับโบราณกว่า 30 ชนิด โดย ป้า ตา-จำเนียร เอี่ยมเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและวัฒนธรรมล้านนา เพียงเมนูละ 50 บาท พร้อมการสาธิตหัตถกรรมพื้นบ้าน ทั้งตัดตุงไส้หมู เครื่องเขิน จักสานตอก และการแสดงฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม ที่จะทำให้ทุกคนได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวล้านนาแท้จริง ภายใต้ห้องแอร์เย็นฉ่ำ

ในงานมีสินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง ร้านผ้าไหม ผ้าฝ้าย จิวเวลรี่ กระเป๋าและเสื้อผ้าพื้นเมือง รวมถึงของตกแต่งบ้านกว่า 20 ร้าน ให้เลือกช็อปในราคาถนนคนเดิน ไฮไลต์อยู่ที่วันพฤหัสบดีที่ 12 เวลา 11.00 น.

มีนักแสดงละครบุพเพสันนิวาส มาเดินแฟชั่นโชว์ผ้าไทย ถ้าออเจ้าอยากเจอ ก็อต จิรายุ (หลวงสรศักดิ์), ซูซี่ สุษิรา (ท้าวทองกีบม้า), เอิร์ท วิศววิท (หลวงศรียศ), ครูหยา จรรยา (พี่ผิน) ไม่ต้องย้อนอดีตไปถึงกรุงศรีฯ ไปเจอที่งานนี้ก็ได้

คิง เพาเวอร์ สงกรานต์ รางน้ำนครา

วัน : 10-15 เม.ย. เวลา : 11.00-20.00 น.

สถานที่ : คิง เพาเวอร์ ถ.รางน้ำ

คิง เพาเวอร์ จัดงานสงกรานต์ รูปแบบงานจำลองวิถีชีวิตไทยในรูปแบบเมืองโบราณมาไว้ในใจกลางกรุงเทพฯที่ซอย รางน้ำ โดยเนรมิตพื้นที่จัดงานกว่า 3,000 ตารางเมตร สะท้อนอัตลักษณ์แห่งความเป็นไทย และคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยในรูปแบบร่วมสมัย นำเสนอในรูปแบบใหม่ 5 โซน ได้แก่ โซนวัด มีกิจกรรมสรงน้ำพระ การก่อเจดีย์ทราย, โซนตลาด รวบรวมร้านอาหารดังมาไว้ ทั้งตลาดบกและตลาดน้ำ, โซนทุ่ง ที่นำประเพณีไทยและพิธีการต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์มาไว้ในโซนนี้, โซนสวน เป็นโซนที่มีการแสดงต่าง ๆ สลับหมุนเวียนให้รับชม, โซนบ้าน ที่นำเอกลักษณ์ของรูปแบบวิถีไทยทั้ง 4 ภาค รวมทั้งอาหารดังประจำภาคมาไว้ที่เดียวกัน

ไฮไลต์ของงานคงเป็นขบวนแห่นางสงกรานต์ “มโหธรเทวี” ในชุดนกยูงสุดอลังการโดยดาราหญิงชั้นนำของประเทศสลับหมุนเวียนทั้ง 6 วัน ได้แก่ คิมเบอร์ลี่ (10 เม.ย.), แต้ว-ณฐพร (11 เม.ย.), ปู-ไปรยา (12 เม.ย.), เบลล่า-ราณี (13 เม.ย.), ขวัญ-อุษามณี (14 เม.ย.) และ มิ้นท์-ชาลิดา (15 เม.ย.) ใครชอบความหลากหลาย และอยากเจอดาราดัง ขอแนะนำไปงานนี้เลย

ยูดี ทาวน์ วันเดอร์ วอเตอร์ แลนด์ 2018

วัน-เวลา : 12-16 เม.ย. เวลา : 11.00-24.00 น.

สถานที่ : ศูนย์การค้ายูดี ทาวน์ จ.อุดรธานี

ใครที่อยู่ภาคอีสานตอนบน หรือใครอยากข้ามภาคไปสัมผัสบรรยากาศแปลกใหม่ แนะนำที่ศูนย์การค้ายูดี ทาวน์ จ.อุดรธานี ซึ่งจัดงานสงกรานต์ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสานต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 10 แล้ว ด้วยจุดเด่นด้านการผสมผสานวัฒนธรรมความสนุกแบบวิถีไทยผนวกเข้ากับความ บันเทิงระดับสากลอย่างลงตัว การันตีความสนุกด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่ต่ำกว่า ปีละ 350,000 คน

ปีนี้ ยูดี ทาวน์ เตรียมความยิ่งใหญ่เพื่อสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง ด้วยมหกรรมสงครามน้ำในคอนเซ็ปต์ “วอเตอร์ แกแล็กซี่” มหาสงครามการสาดน้ำที่มวลมนุษย์แห่งแกแล็กซี่ไม่ควรพลาด ส่วนแฟนละครบุพเพสันนิวาสที่อยากเจอหลวงสรศักดิ์ และหลวงศรียศ ก็ไปเจอกันได้วันที่ 12 เมษายน เวลา 18.00 น.

Songkran @ LHONG 1919

วัน : 11-15 เม.ย. เวลา : 10.00-20.00 น.

สถานที่ : โครงการล้ง 1919 เขตคลองสาน กรุงเทพฯ

ล้ง 1919 ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จัดสงกรานต์ครั้งแรกต่อเนื่องถึง 5 วัน มีกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งการสรงน้ำหลวงพ่อสมปรารถนา หรือ “พระสิทธารถ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย จากวัดพิชยญาติการามวรวิหาร, ลอดอุโมงค์ดอกมะลิ รับละอองน้ำพระพุทธมนต์จากพิธีเทวาภิเษกเหรียญเจ้าแม่หม่าโจ้ว ซึ่งสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เมตตาเป็นประธานสงฆ์, ชมพระเจดีย์ทรายแบบร่วมสมัย ออกแบบโดย แทน โฆษิตพิพัฒน์ มี 3 องค์ ความสูงกว่า 4 เมตร

ใครชอบกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม สงบ เรียบร้อย เนิบช้า และหาโลเกชั่นถ่ายรูปสวย ๆ ต้องงานนี้เลย ส่วนใครที่ชอบการสาดน้ำสนุกสะใจแบบเดิม แหล่งเล่นน้ำยอดนิยมอย่าง ถนนข้าวสาร, ถนนสีลม, ถนนข้าวเหนียวขอนแก่น, คูเมืองเชียงใหม่ และอีกหลาย ๆ ที่ ก็ยังคงพร้อมรองรับเช่นเคย

 


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เผยผลสำรวจ การใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,200 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 16,500 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3,970 บาท โดยปัจจัยสนับสนุนที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ส่วนหนึ่งส่งผลมาจากการที่รัฐบาลประกาศเพิ่มวันหยุดต่อเนื่อง 5 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 12-16 เม.ย. 2561 เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางกลับภูมิลำเนา และกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั่วประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์กับปีก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 43.6 มีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ในขณะที่ ร้อยละ 31.7 คิดว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการวางแผนที่จะเดินทางไปต่างจังหวัด และรู้สึกว่าราคาสินค้าบางส่วนมีการปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าน้ำมัน ขณะที่ ร้อยละ 20.6 มีค่าใช้จ่ายน้อยลง เนื่องจากต้องประหยัดและใช้จ่าย เท่าที่จำเป็น

สำหรับแหล่งที่มาของเงิน ที่นำมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ส่วนใหญ่เกินครึ่ง มาจากรายได้ (ร้อยละ 71.8) เงินออม (ร้อยละ 14.1) เงินจากคนในครอบครัว (ร้อยละ 9.0) เงินกู้ยืม ซึ่งมีทั้งเงินกู้นอกระบบและในระบบ (ร้อยละ 4.3) และเงินสวัสดิการจากภาครัฐ (ร้อยละ 0.8)

เมื่อสำรวจลักษณะการทำกิจกรรม และคาดการณ์ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กิจกรรม 3 อันดับแรกที่ประชาชนฐานรากนิยม คือ (1) ทำบุญ/สรงน้ำพระ/รดน้ำ ขอพรผู้ใหญ่ ร้อยละ 86.0 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 445 บาท (2) สังสรรค์ เลี้ยงฉลอง ร้อยละ 61.4 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 980 บาท (3) ให้เงินพ่อ แม่ และคนในครอบครัว ร้อยละ 56.3 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,770 บาท ทั้งนี้ โดยภาพรวมประชาชนฐานรากมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เช่น ลดการสังสรรค์ เลี้ยงฉลอง ลดการซื้อของฝาก ขณะที่มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นจากการเดินทางพักผ่อน เล่นน้ำ ตามประเพณี และกลับภูมิลำเนา/เยี่ยมญาติ

สำหรับของซื้อ /ของฝากที่ประชาชนฐานรากคาดว่าจะซื้อให้กับตนเองและผู้อื่น พบว่า 3 อันดับแรก คือ อาหาร/ขนม (ร้อยละ 75.1) ผัก/ผลไม้ (ร้อยละ 58.0) และเสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่ม (ร้อยละ 55.1) โดยบุคคลที่ต้องการให้ คือ คนในครอบครัว (ร้อยละ 93.2) ผู้ใหญ่ ที่เคารพ (ร้อยละ 30.9) ตนเอง (ร้อยละ 12.4) และเพื่อน (ร้อยละ 9.8)

เมื่อสอบถามถึงความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อใช้จ่าย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 15.4 มีความต้องการสินเชื่อ โดยต้องการใช้สินเชื่อบัตรกดเงินสดมากที่สุด (ร้อยละ59.3) และยังคงมีความต้องการใช้บริการผ่านช่องทาง สาขามากที่สุด (ร้อยละ 57.8)” นายชาติชายฯ กล่าว

การจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมมีความคึกคัก เนื่องจาก เป็นช่วงวันหยุดราชการต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าประชาชนฐานรากมีความระมัดระวัง ลดการจับจ่ายใช้สอยที่ไม่จำเป็นลงในเรื่องการสังสรรค์ เลี้ยงฉลอง และการซื้อของฝาก ในขณะที่เพิ่มกิจกรรมที่ให้คุณค่ากับตนเอง และคนในครอบครัว รวมทั้งรักษาวัฒนธรรมและประเพณีไทย

ทั้งนี้พบว่าประชาชนฐานรากบางส่วนมีความต้องการสินเชื่อระยะสั้นที่มีความสะดวก รวดเร็ว ทันใช้ เพื่อใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และยังมีความเชื่อมั่นต่อการใช้บริการผ่านตัวบุคคลมากกว่าการใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งธนาคารออมสินจะยังคงประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมให้ประชาชนฐานรากใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการและลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงิน