“ไวไว” ร่วมสนับสนุนโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปีที่ 10

นายยศสรัล แต้มคงคา ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด     ผู้ผลิตและจำหน่าย “เส้นหมี่อบแห้งไวไว” ร่วมงานแถลงข่าว “โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปีที่ 10” พร้อมนำผลิตภัณฑ์ไปมอบแก่แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน โดยมี   ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านความเป็นเลิศทางธุรกิจ และการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และผู้อำนวยการผลิตโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม พร้อมด้วย นางสาวกรกช นาวานุเคราะห์ รองผู้อำนวยการด้านการศึกษา และนายยุคนธร แก้วทอง ผู้จัดการโครงการฯ ผู้ควบคุมการผลิตรายการ

สำหรับโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปีที่ 10 นั้น ได้ทำการคัดเลือกยุวชน จำนวน 12 จากผู้สมัครกว่า 5,800 คนทั่วประเทศ  เพื่อเข้าร่วมบรรพชาร่วมเรียนรู้ปฏิบัติธรรมเป็นระยะเวลา 1 เดือน    ณ สถานปฏิบัติธรรมธวีธรรม (ไร่แสงงาม)  อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยตลอด 4 สัปดาห์ สามเณรน้อย จะได้เรียนรู้ บารมี 10 หรือ ทศบารมี  ภายใต้แนวคิด  “รัก เรียน เพียร” ให้ โดยมีเป้าหมายสู่คุณค่าความรักอันยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ “ความรักจักรวาล”

เรื่อง-ภาพ : ภัทรสุดา พิบูลย์

อาหารพื้นบ้าน อย่างเช่น “ห่อหมก” ที่หลายคนรู้จักกันมานาน เป็นเมนูไทยเดิมที่ปัจจุบันยังได้รับความนิยม ซึ่งแต่ละพื้นที่มีวัตถุดิบ และรสชาติที่แตกต่างกันไป

หากอยากลิ้มลองห่อหมกแบบไทยภาคกลางสูตรโบราณ มติชนอคาเดมีไม่พลาดที่จะแนะนำร้าน “ห่อหมกพ่อบัว” ให้กับนักชิมทั้งหลายได้ไปลองสักครั้ง ทำเลที่ตั้งก็ไม่ไกลสำหรับคนรักความอร่อยที่ไปให้ได้ ร้านตั้งอยู่ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ถึงแม้จะอยู่นอกเมืองแต่บอกได้เลยว่าเป็นเจ้าเด็ดที่ขึ้นชื่อ ไม่ว่าใครต่อใครที่ได้ลิ้มลองรสชาติเป็นต้องติดใจการันตีได้เลย

“ห่อหมกพ่อบัว” เป็นร้านอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล เปิดร้านมานานกว่า 20 ปี สูตรอาหารทั้งหลายเป็นสูตรต้นตำรับมาตั้งแต่รุ่นคุณยาย ถ่ายทอดมาสู่คุณพ่อบัวซึ่งเป็นลูก และเป็นพ่อของ “โต้ง-เจริญ กลิ่นหอม” ที่นำสูตรเก่าแก่นี้มาปรุงและเปิดเป็นร้านอาหาร

โต้ง-เจริญ กลิ่นหอม

เมนูไฮลไท์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เพราะเป็นชื่อร้านเลยก็คือ “ห่อหมก” เป็นห่อหมกปลาช่อนห่อในใบตองกล้วยน้ำว้า กลัดด้วยไม้ นึ่งในซึ้งน้ำร้อนเดือดๆ แค่เห็นก็น้ำลายสอขึ้นมาเชียวแหละ

ไม่พูดพร่ำทำเพลงขอสั่ง “ห่อหมกปลาช่อนใบยอ” มาชิมให้ชื่นใจ สิ่งที่สัมผัสได้เลยคือความหอมของเครื่องแกงที่เป็นสูตรเด็ดสูตรพิเศษ และเนื้อปลาช่อนชิ้นโต นุ่มละมุนลิ้น แนะนำว่าให้กินคู่กับข้าวสวยร้อนๆ หากอยากเพิ่มความอร่อยก็เหยาะน้ำปลาลงบนข้าวสวยเล็กน้อย จากนั้นนำห่อหมกมาคลุกเคล้ากับข้าวสวยให้เข้ากัน ด้วยวิธีแบบบ้านๆ ก็ทำให้ชวนติดใจ

แต่สำหรับใครที่ไม่ชอบใบยอเพราะเป็นผักที่ให้รสออกขมเล็กน้อย ร้านห่อหมกพ่อบัวก็มีผักรองอย่างอื่นให้เลือกอีกคือ โหระพา และกะหล่ำปลี ใครขอบแบบไหนก็เลือกได้ตามสะดวก

นอกจากห่อหมกก็มีเมนูข้าวราดแกงที่หลากหลายให้ชวนชิม เช่น แกงส้มไข่ปลาสลิด พะโล้ขาหมู แกงเขียวหวานไก่ และยังมีเมนูอีกเพียบเลือกกินได้ตามใจชอบ

ส่วนที่ชอบมากที่สุดก็คือเมนู “ต้มข่าไก่” แม้เป็นเมนูอาหารสุดคลาสสิก แต่ขอบอกเลยว่าไม่ธรรมดา เพราะเป็นต้มข่าไก่แบบพื้นบ้านที่ใส่ “หัวปลี” แทนเห็ดนางฟ้าและกะหล่ำปลีแบบที่สมัยนี้เขานิยม รสชาติน้ำแกงมีความหวานอมเปรี้ยวผสมผสานรสที่จัดจ้าน มีกลิ่นไอของสมุนไพร ถ้าซดน้ำแกงร้อนๆ เนื้อไก่นุ่มๆ กินคู่กับข้าวสวยเป็นอะไรที่เข้ากันสุดๆ

ต้มข่าไก่

มาต่อกันอีกจานที่ข้าวราดแกงทุกร้านจะต้องมีนั้นก็คือเมนู “แกงเขียวหวาน” ที่จริงเขาเด็ดทั้งแกงเขียวหวานเนื้อและไก่ แต่เมื่อสมาชิกร่วมมื้อเลือกเขียวหวานไก่ก็เลยขอชิมเขียวหวานไก่ไปด้วย พริกแกงร้านนี้ขอบอกว่าจัดเต็มจริงๆ ด้วยรสชาติที่เผ็ดอมหวาน ทีเด็ดอยู่ตรงที่น้ำแกงบวกกับกลิ่นของพริกแกงที่ชวนเรียกน้ำย่อย สาวกข้าวราดแกงจะพลาดแกงเขียวหวานไก่ของร้านนี้ไม่ได้เชียว

แกงเขียวหวานไก่

นอกจากเมนูเครื่องแกง ทางร้านยังมีเมนูอาหารประเภทผัดอีกด้วย เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสกับเมนูอาหารที่หลากหลายประเภท เชื่อว่าเมนูนี้ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีนั้นก็คือเมนู “กะเพราทะเลรวมมิตร”

กะเพราะทะเลรวมมิตร

กะเพราทะเลรวมมิตรร้านนี้จะแตกต่างจากร้านอื่น เพราะทางร้านเน้นเครื่องเคียง กับเนื้อสัตว์ที่มีความสด สะอาด เป็นเมนูที่กินได้เรื่อยๆ ไม่มีเบื่อ กินคู่กับพริกน้ำปลาและข้าวสวยร้อนๆ สาวกกะเพราทั้งหลายห้ามพลาดเมนูร้านนี้ เพราะทางร้านจัดเต็มเรื่องวัตถุดิบสุดๆ

สาวกนักชิมอาหารรสจัดทั้งหลาย หากมาสัมผัสความจัดจ้านของเครื่องแกงต้องมาร้าน “พ่อบัวห่อหมก” เพราะร้านไม่หวงพริกแกง เน้นคุณภาพรสชาติอาหาร ซึ่งร้านจะเปิดให้บริการทุกวัน หยุดทุกวันพุธ ติดต่อสอบถามได้ 081-405-2132

แกงบวนตำรับมาตรฐานในตำราอาหารทั่วไปมีลักษณะเป็นแกงน้ำข้น ทั้งจากการเคี่ยวเครื่องในกับน้ำคั้นใบไม้เขียวนานร่วมชั่วโมง และทั้งจากการที่ผสมปลาเค็ม กะปิ หรือกุ้งแห้ง ปลาย่างป่นเข้าไปในพริกแกง ความหอมได้จากน้ำคั้นที่เลือกใช้ได้ตามชอบ และตะไคร้ซอย ตลอดจนผักชีหั่นที่ใส่เพิ่มในภายหลัง

คำถามตรงๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนแบบนี้ ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมต้องตอบได้ทันทีเลยแหละครับ

เพราะทั้งในตำรากับข้าวเก่าอย่างแม่ครัวหัวป่าก์ (ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์, ๒๔๕๑) หรือตำราร่วมสมัย เช่น อร่อยต้นตำรับ (ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, ๒๕๔๗) ตำรับอาหารวิทยาลัยในวัง (คณาจารย์จากวิทยาลัยในวัง, ๒๕๓๖) บอกสูตรไว้เกือบจะเหมือนกัน จนใครที่เคยอ่านผ่านตามาบ้าง ก็ย่อมจะนึกออกว่า แกงบวนเป็นแกงแบบโบราณ ทำโดยตำเครื่องแกงอันมีกะปิเผา หอมเผา กระเทียมเผา ข่าเผา ตะไคร้ พริกไทย ปลาสลาดแห้งป่นให้ละเอียด เอาละลายในน้ำคั้นใบมะตูม ใบตะไคร้ และใบผักชีผสมกัน ตั้งไฟจนเดือด ใส่หมูสามชั้น และเครื่องในหมูต้มหั่นชิ้นใหญ่ๆ เคี่ยวไปจนนุ่ม ปรุงรสให้หวานนำเค็มตาม พอเปื่อยได้ที่ น้ำข้นดีแล้ว จึงเติมใบมะกรูดฉีก ตะไคร้ซอย พริกชี้ฟ้าหั่นแว่น จากนั้นก็ตักใส่ชาม โรยผักชี


เครื่องเคราแกงบวนมีหลายอย่าง หลักๆ เป็นเครื่องในหมู พริกแกงที่ต้องเผาคั่วเครื่องตำเกือบทั้งหมดก่อน ที่สำคัญคือมักไม่ใส่พริก ปรุงรสเค็มด้วยปลาเค็มหรือกะปิ หวานด้วยน้ำตาลปี๊บ (หม้อนี้ผมใช้น้ำตาลมะพร้าวสดๆ) และน้ำคั้นใบไม้ ที่อาจใช้ใบมะตูม มะขวิด ย่านาง ตะไคร้ ผักชีรวมกัน หรือใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เพิ่มกลิ่นหอมด้วยใบมะกรูด พริกชี้ฟ้า ผักชี และตะไคร้ซอยที่ใส่เพิ่มในตอนท้ายเมื่อเครื่องในเปื่อยนุ่มดีแล้ว

หลายคนแม้ไม่เคยกิน แต่ก็คงจินตนาการรสชาติได้ และย่อมตระหนักดีว่า แกงแบบนี้ไม่ได้ทำกินกันเป็นปรกติสามัญ เพราะสำหรับชาวบ้าน การจะได้กินหมูในสมัยก่อนเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก นอกจากจะมีงานบุญในวาระต่างๆ หรือช่วงเทศกาลสำคัญ ที่มีการล้มสัตว์ใหญ่เพื่อทำอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงคนจำนวนมากเท่านั้น

นอกจากนี้ การเตรียมเครื่องในหมูให้สามารถเอามาปรุงกับข้าวได้ ตั้งแต่ล้างอย่างมีขั้นตอนกระบวนการอันซับซ้อน จนถึงต้มตุ๋นให้เปื่อย ก็ไม่ใช่เรื่องหมูๆ จำต้องมีเคล็ดลับ ฝีมือ และมีลูกมือมากพอ การปรุงแกงบวนแต่ละครั้งในสมัยก่อนจึงไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ เสียเมื่อไร

งานวิจัยเรื่องอาหารชาติพันธุ์ชาวไทยเขมรจังหวัดสุรินทร์ ของ คุณสมนึก รัตนกำเนิด (สถาบันราชภัฏสุรินทร์, ๒๕๔๒) ถึงกับระบุว่า “…หากงานแต่งงานรายใดมีแกงบวนเป็นอาหารคาว จะถือว่าเป็นงานแต่งงานที่ยิ่งใหญ่มาก เนื่องจากแกงบวนมีวิธีการทำที่ยุ่งยากซับซ้อน…”

…………..

คำตอบมาตรฐานต่อคำถามที่ว่าอะไรคือแกงบวน มาถูกเขย่าอย่างแรงด้วยนิยามแกงบวนสายเพชรบุรีแบบหนึ่ง

คุณวริทธิ์ แจ่มใส ช่างภาพอิสระชาวเมืองเพชรบุรี เล่าให้ผมฟังว่า แกงบวนสำหรับคนเพชรบุรีแถบอำเภอเมืองฯ และอำเภอบ้านแหลม คือการเอาภัตตาหารคาวของพระที่เหลือหลายๆ ชนิด มาเทรวมกันแล้วเอาไปอุ่นให้เดือดอีกครั้ง หรือเรียกว่าเอาไป “บวน” กระบวนการนี้ต้องทำทันทีหลังเทรวมกันเพื่อไม่ให้บูดเสีย โดยหลักๆ แล้วก็มักมีแกงเผ็ด จะเข้ากะทิหรือไม่กะทิก็ได้ แต่ถ้ามีหน่อไม้จะอร่อยเป็นพิเศษ นอกนั้นก็อาจเป็นผัดพริก ผัดจืด ไข่เจียว ไข่พะโล้ แต่ต้องดูให้หน้าตาไปในทิศทางเดียวกัน

“ผมเคยเจอคนที่อยากกินแกงบวนนอกพรรษา เขาไปซื้อกับข้าวถุงมาสี่อย่าง คือ แกงหน่อไม้ไก่ แกงป่าหมู ไข่พะโล้ และผัดอะไรอีกอย่างหนึ่ง มาถึงก็แกะทุกอย่างรวมกันแล้วเอาไป ‘บวน’ คือตั้งไฟจนเดือด กลิ่นแกงบวนนี้จะหอมมากๆ ครับ” คุณวริทธิ์ยังบอกอีกว่า “เคยคุยกับญาติที่ไปทำงานภาคใต้ เขาบอกทางนั้นไม่รู้จักหรอกแกงบวนเขาเรียกกันว่าแกงสำรวม หรือแกงสมรม”


ผัดพริกแกงบวนในน้ำมันหมูก่อนให้หอม จึงค่อยละลายใส่ในหม้อต้มเครื่องใน

ในแง่นี้ แกงบวนเพชรบุรีสูตรนี้จึงเหมือน “แกงสำรวม” ที่เด็กวัดไทยสมัยก่อนรู้จักกันดี มันคือการจัดการกับข้าวถวายพระหลังวันพระใหญ่ได้อย่างน่าประทับใจ คุณวริทธิ์ยังบอกว่า ในทางพระนั้นมีคำว่า “เอาภัตต์มาสำรวมกัน” หมายถึงเอามารวบรวมไว้ที่เดียวกันนั่นเอง

ผมคิดว่า ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของคุณวริทธิ์นั้นสำคัญมากๆ คือเป็นไปได้ไหมที่การใส่ผักหลายๆ ชนิดใน “แกงสมรม” ของคนภาคใต้นั้นมีฐานคิด (หรือการระลึกถึง) มาจากการ “สมรม/สำรวม” แบบมหกรรมจัดการอาหารเหลือหลังวันพระนี้เอง จนแม้ในวันธรรมดา ก็ยังทำกินกันเองที่บ้าน และเมื่อเวลาได้ผ่านไปนานเข้า ก็เหลือเพียงชื่อและลักษณะแกงที่รวมผักหลายๆ ชนิดไว้ในหม้อเดียวกัน
ให้พอเห็นเค้าเดิมเท่านั้น

พยุง วงษ์น้อย เพื่อนชาวเพชร บุรีอีกคนหนึ่งของผมเล่าว่า เธอได้คุยกับคนพื้นเพอยุธยาที่มาอยู่อำเภอบ้านลาด เพชรบุรีแล้วเขาทำแกงอย่างหนึ่งกิน วิธีคือเอาแกงเผ็ดจากหลายๆ เจ้า ที่เอาไปทำบุญมาอุ่นรวมกัน เรียก “แกงสำรวม” แต่พยุงบอกว่า เขาต้อง “เอาต้มรวมต้ม แกงรวมแกง ไม่เอาปนกัน” ขั้นตอนวิธีการนี้เหมือนกันเกือบเปี๊ยบกับแกงบวนแบบที่คุณวริทธิ์อธิบาย

แต่ผมยังค้นไม่พบ สอบถามคนเพชรบุรีคนอื่นๆ ก็ยังไม่ได้ข้อมูลเพิ่มเติมนะครับว่า นอกจากเขตอำเภอเมืองฯ และบ้านแหลมแล้ว คำว่า “บวน” ถูกใช้เป็นกิริยาทำนองว่าเอาแกงเก่ามาปรุงใหม่แบบนี้ที่ไหนอีกบ้าง

คงต้องช่วยกันสืบค้นต่อไปล่ะครับ

……………..


เคี่ยวไฟอ่อนนานจนเครื่องในเปื่อยนุ่ม พริกแกงและน้ำคั้นใบไม้เขียวซึมเข้าในเนื้อ

อย่างไรก็ดี ผมนึกขึ้นมาได้ว่า เพื่อนชาวสุรินทร์เคยเล่าเกร็ดเรื่องแกงบวนให้ฟังเมื่อนานมาแล้ว เขาบอกว่า “บวน” นั้นเป็นภาษาเขมร แปลว่า “สี่” (๔) แกงบวนสุรินทร์คือแกงที่ต้องกินในงานมงคล (ตรงข้ามกับแกงกล้วย ที่แกงกินในงานอวมงคล) เท่านั้น โดยประกอบด้วยเครื่องในหมู ๔ อย่าง ตอนที่เล่านั้น เขาเองก็ระบุชัดๆ ไม่ได้ว่าคืออะไรบ้าง แต่จากสูตรแกงบวนเก่าๆ ที่มักบอกคล้ายๆ กันให้ใช้หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ก็อาจส่อเค้าให้เราเห็นร่องรอยที่ว่านี้บ้างก็เป็นได้

คำอธิบายนี้นับว่าฟังดูมีน้ำหนักให้ค้นต่อนะครับ เพราะอย่างน้อยก็พอฟังขึ้น ว่าทำไมถึงเรียกแกง “บวน” ซึ่งผมคิดว่าคำอธิบายภาษาไทยเท่าที่ผ่านมายังทำได้ไม่จุใจพอ

………………

สำหรับผม แกงบวนมีนัยสำคัญอยู่อย่างน้อย ๒ เรื่อง คือ หนึ่ง มันดูเป็นกับข้าวโบราณสมัยก่อนที่สยามจะมีพริก (Chilli) กินมากๆ ค่าที่ว่าน้ำพริกแกงบวนแทบทุกสูตรจะแค่เผ็ดร้อนพริกไทย ไม่ใส่พริก และสอง การรื้อฟื้นแกงบวนให้กลับมาแพร่หลายอีกครั้งต้องเป็นเรื่อง “หิน” เอาการทีเดียว

มันไม่ใช่แค่เรื่องรสชาติ ที่คงยากจะสร้างความคุ้นเคยให้ลิ้นคนปัจจุบัน แต่รวมถึงปัญหาเรื่องวัตถุดิบ เช่น ใบมะตูม ใบมะขวิด ใบตะไคร้ ที่น่าจะหายากมากๆ แล้วด้วย อย่างไรก็ดี ความที่มันยากนี่แหละครับ มันจึงเป็นเรื่องท้าทาย ว่าถ้าทำได้สำเร็จ ย่อมไม่ใช่แค่สูตรอาหารเท่านั้น ทว่าคือสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช ที่จะถูกคำนึงถึงคุณประโยชน์และการคงอยู่ แบบที่ไม่เคยมีใครมองเห็นมาก่อนหน้า

กับข้าวบางสำรับจึงอาจส่งผลเกี่ยวเนื่องไปถึงนโยบายการจัดสรรพื้นที่สาธารณะ ด้วยประการฉะนี้

 

 


ที่มา ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กุมภาพันธ์ 2560
ผู้เขียน กฤช เหลือลมัย

Go Pink with Chef Nooror Menu 2018 เมนูสุขภาพร้านอาหารไทย “Blue Elephant” ปรุงด้วยใจ ชูวัตถุดิบท้องถิ่นสู่อาหารไทยระดับพรีเมี่ยม

“อาหารคือยา ยาคืออาหาร” เพราะอาหารนอกจากจะสร้างความสุขให้กับเราตอนกินแล้ว ยังเป็นยารักษาสุขภาพร่างกายของเราให้แข็งแรงไปด้วย โดยเฉพาะอาหารไทย ที่ประกอบด้วยผักและเครื่องเทศ หลายชนิดเป็นสมุนไพรชั้นดี มีสรรพคุณในการรักษาโรค อาหารไทยจึงไม่เพียงแต่อร่อย แต่ยังช่วยบำรุงร่างกายของเราอีกด้วย

หนึ่งในอาหารไทยกินแล้วดีต่อร่างกายที่อยากแนะนำคือเมนูสุขภาพภายใต้ชื่อ “Go Pink with Chef Nooror Menu 2018” ที่รังสรรค์ขึ้นโดย “เชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนทำอาหารและเชฟของภัตตาคารบลู เอเลเฟ่นท์ (Blue Elephant) ภัตตาคารไทยที่โด่งดังในต่างประเทศมาเกือบ 4 ทศวรรษ ซึ่งนอกจากจะมีสาขาในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น บรัสเซลส์ ปารีส บลู เอเลเฟ่นท์ ยังมีสาขาที่กรุงเทพฯและภูเก็ตด้วย

ไม่เพียงสอนทำอาหารและเป็นเชฟที่ปรุงทุกเมนูด้วยใจและความรักในการทำอาหาร แต่เชฟนูรอยังเป็นทูตกิตติมศักดิ์ของโครงการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมอีกด้วย ซึ่งเชฟจะจัดทำเมนูอาหารไทยเพื่อสุขภาพ เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งหลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนกับมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว

เชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้

ในแต่ละปี เมนูอาหารเชฟนูรอ หรือที่ใครๆ ก็เรียกเธอว่า “มาดาม” จัดทำขึ้นสำหรับโครงการนี้จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งในปีนี้ มาดามเล่าให้ฟังว่า แต่ละจานนอกจากจะเน้นไปที่ดีต่อสุขภาพของผู้หญิง ยังมีการนำวัตถุดิบท้องถิ่นของหลายพื้นที่ในประเทศไทยมาใช้ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ได้รับมาจากการลงพื้นที่ชุมชนผ่านโครงการ “เชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน” หรือ Local Chef Thailand โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และเชฟชุมพล แจ้งไพร

สำหรับเมนูอาหารใน “Go Pink with Chef Nooror Menu 2018” จะเสิร์ฟแบบ Fine Dining โดยแบ่งออกเป็น เมนูสตาร์ตเตอร์ อาหารจานหลัก และของหวาน จะน่ากินขนาดไหน ลองไปดูกัน

สมูทตี้มะม่วงหาวมะนาวโห่

เริ่มด้วยเมนูเครื่องดื่มสมูทตี้เปรี้ยวชื่นใจ ใช้วัตถุดิบพื้นบ้านอย่าง “มะม่วงหาวมะนาวโห่” ที่เก็บมาจากสวนสมุนไพรที่บ้านของมาดามที่ จ.ฉะเชิงเทรา ตัวสมูทตี้เปรี้ยวกำลังดี รสไม่ฝาด มีการผสมมะนาวเพื่อช่วยให้กินง่าย ช่วยตัดมันตัดเลี่ยน กินแล้วรู้สึกอยากกินอาหารอีก

หอยเชลล์กอและ

ส่วนเมนูสตาร์ตเตอร์ประเดิมด้วย “หอยเชลล์กอและ” ใช้หอยเชลล์ย่างเนยเสียบมาบนตะไคร้ ราดด้วยน้ำราดที่มีส่วนผสมของขมิ้น เวลากินให้กินครบทั้งหอยเชลล์ตัวอวบๆ น้ำราดแบบเยอะๆ หน่อย และผักด้านล่างรวมไปถึงพริกไทยเม็ดด้วย จะได้รสกลมกล่อมลงตัว ยิ่งเวลาที่กัดไปโดนเม็ดพริกไทยจนแตกออกมา ให้กลิ่นฉุน หอม เข้ากันดีกับเนื้อหอยเชลล์

ช่อชมพู

สวยหวานมาแต่ไกลต้องยกให้สตาร์ตเตอร์จานที่ 2 อย่าง “ช่อชมพู” หน้าตาและชื่อนั้นละม้ายคล้ายขนมช่อม่วง เพียงแต่ช่อชมพูนั้นเป็นสีชมพูตามชื่อ ซึ่งมาดามบอกว่าสีชมพูได้มาจากแก้วมังกร ตัวแป้งออกหนาไปนิดแต่นุ่ม ไม่เหนียว เพราะใช้น้ำกะทิในการผัดแป้งนั่นเอง

ส่วนไส้ข้างในเป็นปลาแซลม่อน ที่มีประโยชน์คือนอกจากมีสารต้านอนุมูลอิสระแล้วยังมีโอเมก้า 3 ผัดกับรากผักชี กระเทียม พริกไทย และถั่วแมคคาเดเมียจากโครงการหลวง

ตำแก่นตะวันลูกยอกับกุ้งแม่น้ำย่าง

เมนูสตาร์ตเตอร์ทีเด็ดพลาดไม่ได้ ใครได้กินเป็นต้องติดใจ ขอยกให้ “ตำแก่นตะวันลูกยอกับกุ้งแม่น้ำย่าง” ฟังชื่อแล้วหลายคนอาจไม่คุ้นหูเท่าไหร่สำหรับพืชอย่าง “แก่นตะวัน” ลักษณะเป็นหัว รสชาติออกมัน เนื้อสัมผัสกรอบ คล้ายมันแกว มีสรรพคุณในการต้านสารอนุมูลอิสระ ช่วยลดความดัน เบาหวาน ดีขนาดที่มาดามเองยังกินแก่นตะวันทุกวัน

จานนี้มาดามเอาแก่นตะวันมาตำกับกะปิภูเก็ต ใส่มะนาวหั่นพร้อมเปลือกชิ้นเล็กๆ ชวนน้ำลายไหลแบบไม่ต้องบรรยายมาก กินคู่กับกุ้งแม่น้ำไซซ์กำลังพอเหมาะย่างมาหอมๆ อร่อยอย่าบอกใครเลยทีเดียว

ขอบอกว่าอย่าเพิ่งอิ่มเพราะที่พูดไปเป็นเพียงสตาร์ตเตอร์ แต่ยังมีเมนคอร์สจานเด็ดอีก 3 เมนู เริ่มที่ “ไก่ผัดกะลามะพร้าวอ่อนใบกระเพรา” รสชาติเผ็ดร้อนถึงขนาดที่ในเมนูให้ระดับความเผ็ดไว้ที่ช้าง 3 ตัวเลยทีเดียว

ไก่ผัดกะลามะพร้าวอ่อนใบกระเพรา

เมนูนี้ความพิเศษอยู่ที่การใช้วัตถุดิบพื้นบ้านอย่างกะลามะพร้าวอ่อน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หน่อกะลา” ซึ่งเป็นกะลามะพร้าวอ่อนๆ นั่นเอง โดยได้มาจากชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี นำมาผัดกับเครื่องแกงที่เต็มไปด้วยสมุนไพรหลากชนิด เด่นๆ เลยคือใบกระเพรา ขมิ้น พริกขี้หนู นอกจากนี้ยังมีรากผักชี ตะไคร้ กระเทียม ข่า หัวหอมแดง กระชาย พริกชี้ฟ้าแห้ง ผักชีใบเลื่อย เป็นต้น ผัดกับไก่บ้าน เนื้อติดหนังให้ความรู้สึกเหมือนกินอาหารป่า เสิร์ฟมาในลูกมะพร้าวอ่อน ความเผ็ดร้อนผสมกับรสชาติเค็มนวลกลมกล่อม ได้รสอร่อยจนกินกับข้าวสวยแล้วไม่อยากวางช้อนเลย

จานถัดมานี่ดีงามและถูกอกถูกใจใครต่อใครได้ง่ายๆ คือ “แกงกะทิน้ำยาปลาหิมะกับข้าวปุ้น” หรือขนมจีนน้ำยากะทิปลาหิมะนั่นเอง ความน่าสนใจของเมนูนี้คือนอกจากจะใช้ปลาหิมะมาทำน้ำยากะทิสุดเข้มข้น รสชาติเค็มหวานกลมกล่อมแล้ว ยังมีปลาหิมะชุบไข่ทอดชิ้นกำลังดีเสิร์ฟมาในจานด้วย

แกงกะทิน้ำยาปลาหิมะกับข้าวปุ้น

ตัวเส้นขนมจีนก็มีความพิเศษ คือ ทำมาจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ออร์แกนิค ให้สีม่วงอ่อนสวยงาม ตัวเส้นนุ่มกำลังดี ในจานยังเสิร์ฟหัวปลี และโรยหน้าด้วยใบแมงลัก ให้ความรู้สึกกินอาหารไทยพื้นบ้านจริงๆ

ความเก๋ของจานนี้ยังอยู่ที่การตกแต่งที่ใช้น้ำกะทิมาเข้าเครื่องตีจนขึ้นฟอง แล้วราดตกแต่งมาด้านบน เรียกได้ว่าเป็นไอเดียการตกแต่งที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร

เมนคอร์สจานสุดท้ายคือเมนูโบราณอย่าง “แกงสิงหลเนื้อ” ซึ่งเป็นเมนูที่สันนิษฐานว่าเข้ามาในแผ่นดินสยามโดยชาวสิงหลที่อพยพมาจากประเทศศรีลังกา มาตั้งรกรากในไทยเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 2

แกงสิงหลเนื้อ

ความที่ว่าน่าจะมาจากศรีลังกาทำให้อาหารจานนี้รสชาติและกลิ่นออกแนวอาหารแขก ตัวน้ำแกงประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด เช่น อบเชย ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด, ขมิ้น และสมุนไพรอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นออร์แกนิค

ส่วนเนื้อวัวที่ใช้ในแกงสิงหล เป็นเนื้อวัวชั้นดีจาก จ.นครราชสีมา หั่นมาเป็นชิ้นพอดีคำ โดยใช้เวลาในการเคี่ยวเนื้อกับน้ำแกงถึง 2 ชั่วโมง ได้เนื้อไม่เปื่อยจนเกินไป มีรสสัมผัสให้ต้องเคี้ยว กินกับโรตีแป้งนุ่มที่เสิร์ฟมาด้วยก็เข้ากันดีทีเดียว

สาคูรังนกแปะก๊วย นมอัลมอนด์

ปิดท้ายด้วยเมนูของหวานที่ดีต่อสุขภาพอย่าง “สาคูรังนกแปะก๊วย นมอัลมอนด์” ซึ่งนอกจากจะมีสาคูเม็ดใส รังนกชั้นดี แปะก๊วยทำดีไม่มีขม ยังมีเนื้อมะพร้าวอ่อนมาด้วย กินกับนมอัลมอนด์รสชาติไม่หวาน ออกนวลๆ กำลังดี ประโยชน์เพียบ ดีต่อคนทุกเพศทุกวัยเลย

สำหรับใครที่สนใจอยากชิมอาหารไทยโบราณ ปรุงด้วยความพิถีพิถันในเซตเมนู “Go Pink with Chef Nooror Menu 2018” ที่นอกจากจะอร่อย ดีต่อสุขภาพแล้ว ยังได้บุญไปด้วย สามารถแวะไปชิมกันได้ที่ร้านบลู เอเลเฟ่นท์ ติดบีทีเอสสุรศักดิ์ เฉพาะมื้อกลางวันและมื้อเย็น ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ตุลาคมนี้ ส่วนใครที่พลาดหรือไปไม่ทันในเดือนตุลาคมนี้ ภัตตาคารบลู เอเลเฟ่นท์ ยังคง 3 เมนู คือ แกงสิงหลเนื้อ, ไก่ผัดกะลามะพร้าวอ่อนใบกระเพรา และตำแก่นตะวันลูกยอกับกุ้งแม่น้ำย่าง ไว้ให้ได้ชิมกัน!

“ตัวอักษร ฆ.ระฆัง ตอนนี้ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว เป็นสิ่งที่ถูกลืม มีเพียงคำว่าระฆังคำเดียวที่ยังใช้อักษรนี้อยู่ เราจึงไม่อยากให้คนลืมตัวนี้ไป ทั้งที่คำว่า ระฆัง มีความเป็นมงคลและความมีชื่อเสียง โด่งดังกังวาน จึงนำมารวมกับคำว่า คอ ที่สื่อถึงคอที่เราทานอาหารลงไป พอทานแล้วชอบ รสชาติดี ก็ใช้คอนี่แหละบอกต่อๆกัน” ศุทธดา เนติภานนท์​ เจ้าของร้าน คอระฆัง ย่านประตูผี บอกเรา

ดูจากทำเลก็บอกได้เลยว่า ร้านอาหารใต้ร้านนี้ไม่ธรรมดา แม้จะเปิดได้เพียงไม่นาน และอยู่ใกล้ร้านผัดไทยชื่อดังรวมทั้งร้านดังติดดาวระดับโลก ก็ยังมีทั้งลูกค้าประจำและหน้าใหม่ ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติแวะเวียนมาอุดหนุนอย่างไม่ขาดสาย

ถามว่ามีเคล็ดลับมัดใจลูกค้าอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า เคล็ดลับอันดับหนึ่งคือความใส่ใจในคุณภาพอาหาร โดยทางร้านได้คัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งส่งคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อปูสด หรืออาหารทะเลทุกชนิด ถูกส่งตรงมาจากจังหวัดระยองหรือสุราษฎร์ธานี พร้อมรับประกันว่าไร้สารฟอร์มาลีนเจือปน แม้ทางร้านต้องแบกรับราคาต้นทุนที่สูงขึ้นไว้ แต่เพื่อให้ลูกค้าได้ทานอาหารที่มีคุณภาพ เจ้าของร้านคอระฆังก็ยืนยันว่าเต็มใจจะทำ

“ร้านเราใส่ใจรายละเอียด และมองว่าลูกค้าเป็นคนในครอบครัว จึงอยากให้ได้ทุกคนได้ทานอาหารสดใหม่ ที่เราออกไปจ่ายตลาดทุกเช้า ซึ่งอาหารทุกจานนั้น พ่อครัวแม่ครัวปรุงกันสดๆ จานต่อจาน ไม่เว้นแม้แต่ขนมจีนน้ำยาปู ก็ทำถ้วยต่อถ้วย ถ้าเราทำไว้เยอะ และอุ่นหลายครั้ง จะทำให้ความหวานของกะทิหายไป”

พูดจบ ก็เห็น ขนมจีนน้ำยาปู พระเอกของงาน ถูกเสิร์ฟบนโต๊ะพร้อมเครื่องเคียงอีก 1 สำรับ ประกอบไปด้วยขนมจีน ไข่ต้ม กะหล่ำปลีซอย แตงกวา ถั่วงอก ถั่วฝักยาว และลูกชิ้นปลากราย ที่ทานร้านทำเอง “ใช้พริกแกงใต้ โขลกผสมพริกขี้หนูเม็ดเล็ก ในขณะที่เคี่ยวกะทิด้วยไฟกลาง ไม่ให้กะทิแตกมัน” หากใครมีข้อกังขาในปริมาณของเนื้อปู​ ให้ลองมองหม้อทองเหลือง จะเห็นเนื้อปูที่ทับถมกันอยู่ เน้นว่าเป็นเนื้อปูที่ไม่ใช่เศษปูราคาถูก

เช่นเดียวกับ ไข่เจียวปู สีเหลืองอร่าม ก็อัดแน่นไปด้วยเนื้อปูภายใต้เนื้อไข่ชั้นบางๆ ที่ราคาคุ้มแสนคุ้มเพียง 550 บาทเท่านั้น ซึ่งไข่เจียวจานนี้เจ้าของร้านการันตีว่าไม่อมน้ำมัน สามารถสั่งกลับบ้านและนำไปทอดอุ่นได้อีกต่างหาก

จานต่อมาเป็น “คั่วกลิ้งกระดูกอ่อน” อาหารปักษ์ใต้ชื่อดัง ที่เรียกว่าเป็นอีกซิกเนเจอร์ของร้านนี้ โดยมีสูตรเด็ดอยู่ที่เลือกกระดูกใบพายของหมู ซึ่งค่อนข้างหายาก นำมาสับและผัดกับพริกแกงแดง ที่เข้ากันและให้ความหอมมากกว่า แตกต่างจากสูตรภาคใต้ที่ใช้พริกแกงเหลือง

ส่วน “หมูผัดเคยเค็ม” เป็นหมูสามชั้นติดมันผัดกับกะปิคุณภาพดีจากระนองหรือระยอง แล้วแต่ฤดูกาล ปรุงรสได้รสเค็มหวานกลมกล่อม เข้ากับหอมแดงซอยฝอยที่ช่วยลดกลิ่นกะปิได้อย่างลงตัว

นอกจากนี้ ร้านคอระฆังยังมีเมนูอาหารที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ใบเหลียงผัดไข่ ซึ่งมีจำหน่ายเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น ที่ร้านนี้แตกต่างจากร้านอื่นคือ ใส่กุ้งแห้งตัวโต เพื่อให้ความเค็มของตัวกุ้งตัดกับความมันของใบเหลียงได้อย่างลงตัว

แกงเหลืองปลากระพง ที่ทำจากเนื้อปลาสดชิ้นโต ตักราดบนข้าวสวยร้อนๆ หรือ หมูคั่วเกลือ เมนูธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ทำจากหมูสามชั้นหมักเกลือนำไปทอดให้เหลืองกรอบ ซึ่งแม้จะทิ้งไว้นานก็ยังคงความกรอบอร่อยอยู่

ถ้าใครคอแห้ง ก็สามารถสั่งเครื่องดื่มขึ้นชื่อของทางร้านอย่าง “coffee cube” กาแฟรสชาติเข้มข้นที่มาในรูปแบบของน้ำแข็งรูปดาวห้าแฉก ที่มีวิธีดื่มคือ ต้องราดนมเพียงเล็กน้อยลงบนน้ำแข็ง และคนอีกนิดหน่อย เพื่อให้น้ำแข็งกาแฟละลาย ก็จะได้กาแฟเย็นรสชาติเข้มข้น ที่ไม่สามารถหาทานจากร้านอื่นได้

ตบท้ายด้วยขนมหวานที่หลายคนติดใจอย่าง “โรตีทิชชู่ฝอยทอง” ที่ผสมผสานความกรอบของโรตีแผ่นบางเฉียบ ความหวานของฝอยทองคุณภาพดี และวิปครีมหวานกำลังดี เมื่อกัดเข้าไปแล้วส่วนผสมทุกอย่างจะละลายในปาก เข้ากันได้อย่างกลมกล่อม

สำหรับร้าน “คอระฆัง” สาขาประตูผี เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-23.00 น.​ โดยร้านตั้งอยู่บนถนนมหาไชย ตรงข้ามวัดเทพธิดาราม ย่านสำราญราษฎร์​

เชื่อว่าระฆังคุณภาพดีใบนี้ ต้องถูกบอกต่อผ่านคอ จนเสียงดังกังวานแน่นอน..

ความนิยมในรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาโดยตลอด เชื่อว่าหากหลายคนได้ลิ้มลองรสชาติของอาหารไทยสักครั้งแล้ว จะไม่มีวันหลงลืมความอร่อยแน่นอน เหมือนกับร้านอาหารไทย “คอ ระฆัง” (Kor Ra Kang) ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นจากความชื่นชอบในการสรรหาของอร่อย และหลงใหลในเสน่ห์ของอาหารไทยของเจ้าของร้านกับหุ้นส่วน เนย – โชติกา วงศ์วิลาศ คุณแม่มือใหม่ผู้มีความเชี่ยวชาญในการทำอาหารไทยสไตล์ปักษ์ใต้ ที่อยากแบ่งปันความสุขผ่านช่วงเวลาดี ๆ กับอาหาร
อร่อย ๆ จึงได้มีการนำสูตรอาหารใต้รสจัดจ้านจากภูเก็ตมาประยุกต์รสชาติให้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลิ้มรสอาหารพื้นบ้าน แต่ไม่สามารถทานอาหารที่มีรสเผ็ดได้มาก โดยยังคงความกลมกล่อมของรสชาติไว้อย่าง
ลงตัว

ชื่อร้าน “คอ ระฆัง” นั้น มาจากความรู้สึกในการกินอาหาร ถึงทุกคนจะมีความชอบต่างกัน แต่การจะทานอาหารใด ๆ ล้วนต้องผ่าน “คอ” และ “ฆ” เป็นหนึ่งในพยัญชนะที่ไม่อยากให้ถูกลืม บวกกับความรู้สึกที่อยากให้ความอร่อยส่งเสียงได้แบบ “ระฆัง” จึงเกิดเป็น “คอ ระฆัง” ร้านอาหารที่ทุกคนสามารถทานได้ รสชาติถูกปาก พร้อมบอกต่อความอร่อยดัง ๆ ให้กับคนที่คุณรัก ซึ่งร้านได้เน้นบรรยากาศสบาย ๆ จึงใช้การตกแต่งแบบเน้นความเป็นไทยประยุกต์ ใช้โทนสีขาวโทนสะอาดตา ให้ความรู้สึกความสะอาดสะอ้าน พร้อมใช้การวาดลวดลายลงบนผนัง ด้วยฝีมืออันเป็นเอกลักษณ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้พบเห็นที่ผ่านไปมา

โดยหัวใจของร้านคอระฆังนอกจากการบริการแล้ว “วัตถุดิบและรสชาติ” เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด วัตถุดิบต้องมีคุณภาพ ความสดของปู ปลา กุ้ง ฯลฯ ซึ่งทางร้านสั่งตรงมาจากทะเลระยอง ปริมาณอาหารต้องคุ้มค่ากับราคาที่ลูกค้าจ่าย และอีกหนึ่งสิ่งที่อยากให้ลูกค้าได้รับก็คือช่วงเวลาดี ๆ กับมื้อพิเศษ สามารถลิ้มลองเมนูแนะนำของทางร้าน อาทิ แกงเหลืองปลากะพง, หมูผัดเคยเค็ม, ขนมจีนน้ำยาปู, บีโกหมอย (ข้าวเหนียวดำราดน้ำกะทิ) และอีกหนึ่งซิกเนเจอร์อย่างโรตีฟิวชั่น สูตรต้นตำรับจาก บังหวัง บิลังโหลด เจ้าของแบรนด์กูโรตีชาชักชื่อดัง พร้อมด้วยเมนูขนมหวานสูตรพิเศษของทางร้าน ที่เน้นการใช้ส่วนผสมของกะทิแบบขนมไทย พร้อมเสิร์ฟเติมเต็มมื้อพิเศษของลูกค้าจากร้าน “คอ ระฆัง” ได้แล้ววันนี้ที่ สาขาประตูผี ตรงข้ามวัดเทพธิดาราม และสาขาใหม่ย่านใจกลางเมืองสาขาอารีย์ เร็ว ๆ นี้พบกับอีกหนึ่งสาขาเอาใจนักท่องเที่ยว ที่ต้องการลิ้มรสอาหารพื้นบ้านสไตล์ฟิวชั่น สาขาภูเก็ต Old town

เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11:00 – 24:00 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. : 088-1919991 , Facebook : www.facebook.com/korrakang IG : @korrakang

โดย กฤช เหลือลมัย

ที่มา นิตยสารศิลปวัฒนธรรม


ผมน่าจะเพิ่งมารู้ว่า “แกงแค” กับข้าวขึ้นชื่อของคนเหนือนั้นที่จริงไม่ใช่แกง “ดอกแค” เอาก็เมื่อไม่กี่ปีนี้เองกระมังครับ ค่าที่ว่า ตำราอาหารส่วนใหญ่เมื่อบอกสูตรแกงแค ก็มักจะมีภาพถ่ายประกอบเป็นแกงน้ำใสสีแดงๆ แล้วมีดอกแคประดับหน้าเป็นผักเด่นแทบทุกครั้ง แถมเวลาบอกว่าใส่ผักอะไรบ้าง ก็มักชอบเอาดอกแคขึ้นเป็นชื่อแรกเสียด้วย
ตอนหลังจึงรู้ว่า คนเหนือเรียกใบชะพลูว่าใบ “แค” ทั้งยังใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของแกงแคทุกหม้อก็ว่าได้

เพื่อนกินคนหนึ่งของผมอธิบายว่า นอกจากจะเรียกแกงนี้ว่าแกงแคตามชื่อใบแคหรือใบชะพลู และต้องใส่มากให้ออกกลิ่นหอมชัดๆ แล้ว ยังอาจมีแกงแค “อื่นๆ” ได้อีกตามแต่จะหาเก็บผักอะไรมาได้ เช่น แกงแคผักชะอม แกงแคยอดมะรุม ก็คือใส่ผักชนิดนั้นๆ ในปริมาณที่ให้กลิ่นอวลในหม้อรองลงมาจากกลิ่นใบชะพลู หรือถ้าแกงแคผักรวม ก็คือใส่ผักสารพันบรรดามีลงไปตามชอบ หากแต่ก็จะยังมีกลิ่นนำเป็นกลิ่นชะพลูอยู่

ภายหลังเมื่อผมได้พูดคุยเรื่องแกงแคกับเพื่อนคนเหนือหลายคนเข้า ก็ชักจะรู้สึกว่าแกงแคนี้เหมือนกับแกงไตปลาของคนใต้ตรงที่ว่า มีความหลากหลายของสูตรมากมายเหลือที่จะคณานับ จนผมคิดว่า ถ้าผมลุกขึ้นแกงแคสักหม้อหนึ่ง จะไม่ยอมตักไปให้เพื่อนคนเหนือกินเป็นเด็ดขาด กลัวเพื่อนจะบอกว่า “นี่บ่ไจ้แก๋งแคๆ” แล้วก็อาจสาธยายรายละเอียดแกงแคหม้อที่บ้านของเขาหรือหล่อนให้ผมฟังต่อไปอีก มาก

แต่อย่างไรก็ดี หลังจากฟัง คิด ถาม จด แถมอ่านสูตรในอินเตอร์เน็ตมาได้พักใหญ่ๆ ผมก็ริอ่านทำแกงแค ๑ หม้อ ด้วยความคิดที่ว่า อาหารนั้นคือบทสนทนาที่อาจสร้างคู่สนทนาได้หลากหลาย ซึ่งในกรณีนี้คือผู้ทำและตัวอาหารเอง
พูดง่ายๆ คือผมอยากลองรู้จักคนเหนือผ่านอาหารเหนือที่ผมปรุงเองดูสักครั้ง
……………………….

๒ พริกแกงและเถาจักค้านเนื้อฝานบาง ตัวชูรสและกลิ่นหลักๆ ในหม้อแกงแค
๒ พริกแกงและเถาจักค้านเนื้อฝานบาง ตัวชูรสและกลิ่นหลักๆ ในหม้อแกงแค

ผมตำเครื่องแกงอย่างระมัดระวัง (ก็นี่เป็นการสนทนาครั้งแรกนี่ครับ) โขลกรากผักชี เกลือ และเม็ดมะแขว่นคั่ว ตามด้วยพริกแห้งทั้งเม็ดใหญ่เม็ดเล็ก กระเทียม หอมแดง ข่า ตะไคร้ แล้วก็ปลาร้าสับ โขลกจนละเอียดทีเดียว
ผักที่ผมหามาได้ มีถั่วฝักยาว ผักขี้หูด มะเขือเปราะ มะเขือพวง ผักไผ่ ผักชีใบเลื่อย ชะอม และแน่นอน ใบชะพลูครับ
ที่ตั้งใจหา แต่ขาดตลาดไป ก็คือผักคราดหัวแหวน (ผักเผ็ด) และดอกงิ้วแห้ง ที่หลายคนบอกว่า “ขาดไม่ได้”
แต่ผมมีเถาจักค้านเนื้อ ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักแล้ว เลยคิดว่าคงไม่เป็นไรกระมัง

จักค้านเป็นไม้เถายืนต้น มีอย่างน้อย ๓ ชนิด คือ จักค้านแดง จักค้านดูก และจักค้านเนื้อ คนเหนือเชื่อว่าจักค้านเนื้อมีความนุ่ม ให้รสฉุนซ่า ใช้มากในแกงแคและเอาะหลามแบบหลวงพระบาง
เตรียมเครื่องครบแล้ว ผมก็เริ่มเจียวกระเทียมสับในกระทะน้ำมันหมู พอเริ่มเหลืองก็ควักเครื่องแกงจากครกลงผัด กลิ่นหอมดีก็ใส่ไก่บ้านสับชิ้นโตๆ ลงไปผัดให้เข้ากัน จนไก่เริ่มสุก จึงเติมน้ำเปล่าให้ท่วม แล้วถ่ายใส่หม้อแกงใบใหญ่

ทีนี้ก็ใส่ท่อนจักค้านเนื้อที่ฝานบางๆ ไว้ รุมไฟอ่อนๆ คะเนว่าไก่เริ่มเปื่อยดี จึงทยอยใส่ถั่วฝักยาว ผักขี้หูด มะเขือเปราะ มะเขือพวง ชะอม ผักชี ผักไผ่ และชะพลูตามลำดับ และความที่ดมดูแล้วกลิ่นมะแขว่นยังไม่สาแก่ใจ ผมเลยเด็ดเป็นช่อใส่เพิ่มไปอีก

๓ ถ้ามองผ่านคนภาคกลาง แกงแคของคนเหนือก็คือแกงป่าใส่ผักที่อาจจะเผ็ดร้อนน้อยกว่า แต่หอมกลิ่นสมุนไพรลึกๆ มากกว่านั่นเอง
๓ ถ้ามองผ่านคนภาคกลาง แกงแคของคนเหนือก็คือแกงป่าใส่ผักที่อาจจะเผ็ดร้อนน้อยกว่า แต่หอมกลิ่นสมุนไพรลึกๆ มากกว่านั่นเอง

ปรุงรสเค็มด้วยน้ำปลาร้านะครับ ทั้งหมดนี้จะผสมผสานกันจนเกิดรสและกลิ่นชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างจากแกงคั่ว แกงป่า หรือเลียงผักแบบที่ผมเคยทำ

เป็นอันว่าบทสนทนาแรกของผมค่อนข้างประสบความสำเร็จนะครับ คือสามารถสลัดตัวตนที่สถิตในรสมือออกไปได้ในระดับหนึ่ง
………………….
เมื่อลองเปรียบเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียงที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น ล้านช้าง หรืออีสาน ผมไม่พบสำรับอาหารที่เหมือนแกงแคเป๊ะๆ มีแต่ที่คล้ายๆ กัน เช่น “เอาะหลามแบบหลวงพระบาง” ที่ใส่จักค้านและผัก แต่ไม่ใช้เครื่องแกงพริกแห้ง “เอาะซดไก่” ในหนังสือตำรับอาหารพระราชวังหลวงพระบาง ของ เพียสิง ซึ่งใส่ใบแมงลักปรุงกลิ่น ชวนให้นึกว่าคงคล้ายแกงเลียงแบบมาตรฐานภาคกลาง “แกงอ่อม” ของคนอีสาน ที่ใส่ข้าวเบือคล้ายเอาะหลาม แต่ก็ไม่ใช้จักค้าน ฯลฯ

แกงแคของคนเหนือจึงน่าจะแสดงถึงตัวอย่างการเลือกใช้เครื่องปรุงใน วัฒนธรรมอาหารที่ต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เป็นการปรุงพืชผักในฤดูกาลที่ชุมชนเห็นว่ามีรสชาติเหมาะสม (เชื่อกันว่าผักหน้าแล้งรสชาติดีกว่าหน้าฝน) ด้วยเครื่องสมุนไพรที่นิยมในรสและกลิ่น (จักค้านและมะแขว่นที่ให้รสเผ็ดซ่า) แน่นอนว่า แต่ละชุมชนในภาคเหนือเองย่อมจะมีแกงแคแบบเฉพาะของตน ใส่พืชผักต่างกันไปบ้าง จนหลายแห่งถึงกับมี “คั่วแค” คือแกงแคแห้ง ปรุงรสชาติให้จัดจ้านกว่าแกงแคปรกติกันเลย

มีคำบอกเล่าของคนเหนือหลายประโยคที่ผมคิดว่าสำคัญ นั่นก็คือพวกเขาเหล่านั้นยังจำแนกรสชาติของผักแต่ละชนิดในช่วงต่างฤดูกาลได้ สามารถบอกความแตกต่างของความขมในใบชะพลูหน้าร้อนและหน้าฝนได้อย่างละเอียด ลิ้นและการรับรสแบบนี้ ผมเชื่อว่าคนที่ยังคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอาหารแบบเก่าในภูมิภาคอื่นๆ ก็คงมีเช่นกัน และผมคิดว่ามันเป็นความรู้สึกพื้นฐานอันแรกๆ ที่ผู้สนใจใคร่รู้เรื่องอาหารในเชิงวัฒนธรรมจำต้องมีไว้

เรามาลองฝึกประสาทลิ้นเพื่อรู้รสเขารสเรากันบ้างดีกว่าครับ

เริ่มตั้งต้นจากหม้อแกงแคสักหม้อหนึ่งก็ไม่เลวนะครับ…

จากคอลัมน์ “ต้นสายปลายจวัก” โดย กฤช เหลือลมัย ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙