วันที่ 31 มีนาคม แบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) ของสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ตรวจสอบพบว่า ในวันที่ 31 มีนาคม ถึง 2 เมษายน บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนแล้ว
ทำให้ลมตะวันออกเฉียงเหนือเกิดการปะทะกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ส่วนลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานครที่ได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงกำลังอ่อนที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน แล้วมาปะทะกับอากาศร้อนชื้นที่สะสมในพื้นที่ และจะเกิดยกตัวขึ้นเป็นฝน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดคล้ายกับเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งเกิดฝนตกหนักที่บริเวณรังสิต จนทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด

วาฟแจ้งด้วยว่า หลังวันที่ 2 เมษายน ความกดอากาศสูงจะอ่อนกำลังลง ปริมาณฝนก็จะลดลง และช่วงวันที่ 6 เมษายน พบว่ามีแนวโน้มบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากแนวโน้มดังกล่าวเป็นไปตามความคาดหมาย จะทำให้บริเวณความกดอากาศสูงค่อนข้างแรงดังกล่าวเกิดการปะทะกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อนที่มีความรุนแรง และอาจจะเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บในบางพื้นที่ ประมาณวันที่ 6-7 เมษายน ปรากฏการณ์นี้จะเกิดไล่มาตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงสู่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ

“จากนั้นประมาณวันที่ 8-9 เมษายน อุณหภูมิจะลดต่ำลง โดยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจจะต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสอีกรอบ ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯก็จะมีลุ้นว่าอาจจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ดังนั้น ในช่วงวันที่ 6-7 เมษายน ขอเตือนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทั่วไปเตรียมการตรวจสอบความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ใหญ่ เพื่อเตรียมรับมือกับพายุฤดูร้อนในรอบนี้” วาฟระบุ