ต้องเปลี่ยนทัศนคติกับเครื่องเงินไทยได้เลย เมื่อเห็นผลงานของ 12 ผู้ประกอบการและช่างฝีมือเครื่องเงินไทยที่ผ่านการอบรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์กับโครงการสืบสานงานเงิน ที่จัดขึ้นโดย สยามเจมส์ กรุ๊ป ซึ่งเปิดเวทีแฟชั่นโชว์ 12 คอลเลคชั่นเครื่องเงินที่แสดงอัตลักษณ์ของแต่ละภาคได้อย่างสวยงามและลงตัว เห็นแล้วอยากจะสนับสนุนงานฝีมือคนไทยทันที

1. “คันฉ่องดุนลายล้านนา”

ผลงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยนำลวดลายไทยล้านนามาผสมผสานกับรูปทรงขันโตกอันเป็นภาชนะสำคัญของภาคเหนือ ใช้เทคนิคดุนลายที่ช่างฝีมือมีความชำนาญการเป็นพิเศษ นำมาประกอบกับงานกระจก เพื่อส่องสะท้อนกลับให้เห็นถึงคุณค่าความงดงามแบบไทยล้านนา โดยคอลเลคชั่นนี้เป็นกระจกติดผนัง และกระจกสำหรับพกพา ได้รับการสร้างสรรค์จาก ร้านเครื่องเงินวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่

2. กระดิ่งนำโชคเผ่าเมี่ยน

สร้างสรรค์โดยร้านนำชัยเครื่องเงิน จังหวัดน่าน คอลเลคชั่นนี้ประกอบไปด้วย กระดิ่งประดับบ้าน ต่างหูทรงกระดิ่ง และพวงกุญแจสำหรับพกติดตัว ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความเชื่อโบราณของชาวเอเชีย เรื่องเสียงก้องกังวานของกระดิ่ง ที่สื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง โชคลาภ และยังเชื่อว่ากระดิ่งจะนำทางบรรพบุรุษกลับบ้านเพื่อคุ้มครองและให้พรเป็นมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย จึงเป็นการนำความเชื่อดังกล่าวมาผสมกับลวดลายช้าง โดยใช้เทคนิคด้านการตอกดุนแบบชนเผ่าเมี่ยน

3.เรื่องราวจากเมล็ดข้าวน่าน (Millions of Rice Fields Collection)

คอลเลคชั่นนี้ ประกอบไปด้วย กำไล ต่างหู แหวนคู่ ในแบบ Unisex สามารถใช้งานได้ทั้งชาย และหญิง ได้รับแรงบันดาลใจจาก “เมล็ดข้าว” ที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยจังหวัดน่าน ซึ่งผูกพันกับข้าวอย่างลึกซึ้งและยาวนาน จนก่อเกิดประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ เมล็ดข้าวหนึ่งเม็ดเรียงรายต่อยอด แสดงถึงชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ สะท้อนวิถีชีวิตชาวน่านได้เป็นอย่างดี จาก ร้านแอลฟ่าคราฟท์เวอร์ค จังหวัดน่าน

4.ชุดชามงคลสุโขทัย

สร้างสรรค์โดยร้านมนตรีเครื่องเงิน จังหวัดสุโขทัย คอลเลคชั่นนี้เป็น Tableware ประกอบด้วย ที่กรองชา แหวนผ้าเช็ดปาก และช้อนส้อม ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลวดลายซุ้ม ประตู หน้าต่าง และงานประติมากรรมปูนปั้นบนผนังวิหาร ของวัดนางพญา อำเภอศรีสัชนาลัย ที่มีลวดลายอ่อนช้อยวิจิตรบรรจง อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย

5. ชุดเครื่องประดับดอกพิกุลสุโขทัย

อีกหนึ่งผลงานจากจังหวัดสุโขทัยของร้านไหมเงิน คอลเลคชั่นนี้ประกอบไปด้วย กำไล ต่างหู และจี้ห้อยคอ ได้แรงบันดาลใจมาจากความงดงามของดอกพิกุล หนึ่งในดอกไม้มงคล หมายถึงความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ และอายุมั่นขวัญยืน ผู้ใดได้ครอบครองจะเกิดสิริมงคล ความงดงามของดอกพิกุลจึงถูกนำมาประยุกต์ให้มีดีไซน์ร่วมสมัย แต่ยังคงเอกลักษณ์ของเครื่องเงินสุโขทัยที่เน้นความประณีตไว้อย่างครบถ้วน

6. ลงยาผ้าไทยโบราณ

ผลงานคอลเลคชั่น “ลงยาผ้าไทยโบราณ” ประกอบไปด้วย แหวน และกระเป๋า ได้รับแรงบันดาลใจจากเสน่ห์เครื่องรางของนักรบไทยที่นิยมพกผ้าซิ่นแม่ไว้เพื่อเป็นสิริมงคลในยามออกรบ โดยออกแบบเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายตะกรุด มีลวดลายจากผ้าซิ่นของแม่ ประดับทับทิมที่มีความหมายถึงชัยชนะและความสำเร็จ เพิ่มลูกเล่นด้วยการใส่อัญมณีนพรัตน์ 9 อัญมณีมงคลของไทยไว้ข้างในแหวน รังสรรค์โดย ร้านปัณณะศรัล (Punnasarun ) จังหวัดนนทบุรี

7.ชุดเครื่องประดับดอกพุดตาน

คอลเลคชั่นนี้ ประกอบไปด้วย สร้อยคอ ต่างหู และสร้อยข้อมือ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความงดงามของดอกพุดตาน ที่มักปรากฏอยู่ในภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังของไทย โดยร้านแอท สยาม จิวเวลรี่ จังหวัดปทุมธานี ได้นำดอกพุดตานมาประยุกต์และออกแบบให้มีความชดช้อย อ่อนหวาน เน้นการใช้งานจริง ผสมผสานกับการนำคริสตัลคริสตัลของสวารอฟสกี้ มาประดับประดาเพิ่มมูลค่าให้ชิ้นงานโดดเด่นและสวยงาม

8. สายน้ำแห่งกาญจนบุรี

เมื่อเครื่องเงินผสมกับนิล ก็ได้ความงดงามที่โดดเด่นไปอีกแบบ ซึ่งสร้างสรรค์โดยร้านปัญพัท จังหวัดกาญจนบุรี คอลเลคชั่นนี้ ประกอบไปด้วย สร้อยคอ ต่างหู และกำไล ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความเชื่อของคนไทยโบราณเกี่ยวกับ “ปลายี่สก” ซึ่งเป็นปลาประจำจังหวัดกาญจนบุรี แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ มั่งมี มาผสมผสานกับ “นิล” ซึ่งเป็นอัญมณีประจำจังหวัด หมายถึงการคุ้มครอง และป้องกันภยันตราย

9.ราชินีแห่งผลไม้พลอยจันทบุรี

คอลเลคชั่นนี้ ประกอบไปด้วย กำไล ต่างหู แหวน และจี้สร้อยคอ โดยร้านธนาภรณ์จิวเวลรี่ จังหวัดจันทบุรี ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเอกลักษณ์ของจังหวัดซึ่งเป็นเมืองแห่งผลไม้ โดยใช้ “มังคุด” มาใช้ในการออกแบบ แทนด้วยพลอยอเมทิสต์สีม่วงน้ำงาม ล้อมรอบด้วยอัญมณีสีเขียว โดดเด่นอยู่บนตัวเรือนเงิน ซึ่งเป็นการผสมผสานอัญมณีและงานเงินได้อย่างลงตัว

10.ตะเกาโบราณสุรินทร์

ผลงานคอลเลคชั่น เข็มกลัดติดเสื้อแบบร่วมสมัย 3 รูปแบบนี้ได้แรงบันดาลใจจากการนำเอาเสน่ห์ของตะเกาโบราณ หนึ่งในศิลปะการทำเครื่องเงินของจังหวัดที่เป็นลวดลายเลียนแบบ ดอกตะเกา ที่คงอัตลักษณ์ของเครื่องเงินบ้านโชค จังหวัดสุรินทร์ได้เป็นอย่างดี สร้างสรรค์ขึ้นจาก กลุ่มหัตถกรรมศิลปาชีพอีสานใต้ จังหวัดสุรินทร์

11.ชุดเครื่องประดับ ขอช้างสุรินทร์

เครื่องประดับคอลเลคชั่นนี้ จาก ร้านรุ่งเรืองเครื่องประดับ จังหวัดสุรินทร์ ประกอบไปด้วย แหวน และสร้อยคอพร้อมจี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ช้าง” สัตว์มงคลของไทยและเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ โดยนำเอา ‘ขอช้าง’ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ควาญช้างใช้เพื่อบังคับและควบคุมช้าง สื่อถึง อำนาจ และบารมี ผสมผสานกับเทคนิคการฝังเพชรซีกแบบโบราณ ที่ควรค่าแก่การครอบครอง

12. เครื่องถมปักษาสิงห์

ผลงานคอลเลคชั่นนี้ เป็นกล่องไม้ประดับโลหะเงินดุนลายและถมเงิน 3 ขนาด ได้รับแรงบันดาลใจจากสัตว์ในวรรณคดีไทย “ปักษาสิงห์” สัตว์ป่าหิมพานต์ที่มีส่วนหัวเป็นนก ลำตัวเป็นสิงห์ ที่เชื่อว่าเป็นตัวแทนผู้ถือครองอาณาจักรอัญมณี ดูแลสมบัติให้แก่เจ้าของ โดยกล่องไม้ประดับนี้สร้างสรรค์จาก ร้านบุ ดุน โลหะ จังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้การผสมผสานเทคนิคแกะสลักดุน และการถมเงินซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด

ผลงานเครื่องเงินทั้ง 12 คอลเลคชั่นนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของสยามเจมส์ กรุ๊ป โดยผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิ์เซ็นสัญญาเพื่อผลิตและจำหน่ายตามแบบที่พัฒนากับทางสยามเจมส์ กรุ๊ปต่อไป หากใครสนใจสามารถเข้าชมผลงานจากฝีมือผู้ประกอบการและช่างฝีมือเครื่องเงินทั้ง 12 คอลเลคชั่นเพิ่มเติมได้ทาง Facebook : สืบสานงานเงิน ได้เลย

หลังจากที่เปิดตัวโครงการ “สืบสานงานเงิน” ไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทางสยามเจมส์ กรุ๊ป จึงได้จัดแสดง 12 ผลงานเครื่องเงินจากผู้ประกอบการและช่างฝีมือที่ผ่านการคัดเลือกและพัฒนาทักษะฝีมือในโครงการ โดยดึงอัตลักษณ์เครื่องเงินไทยในวิถีต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบ ที่เน้นการตอบโจทย์ตลาดท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมยกระดับเครื่องเงินไทยสู่สายตาชาวโลก โดยจัดแสดงขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา

นางสาวปนัสยา ทองจินดาวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวว่า โครงการสืบสานงานเงินนั้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการและช่างฝีมือทั่วประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมเสนอผลงานกับโครงการถึง 33 ราย และมีผู้ผ่านการคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 ราย และได้สร้างสรรค์ผลงานจนกลายเป็นเครื่องเงินไทยแบบร่วมสมัยมีอัตลักษณ์โดดเด่น ทางสยามเจมส์ กรุ๊ป รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยสังคมในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยของชุมชนท้องถิ่น ช่วยต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ และสามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน Local to Global

นายฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดแสดงผลงานของโครงการสืบสานงานเงินทั้ง 12 ผลงาน สะท้อนถึงอัตลักษณ์เครื่องเงินในวิถีพื้นเมืองแต่ละภาคได้อย่างชัดเจน ซึ่งสามารถแสดงถึงศักยภาพของผู้ประกอบการและช่างฝีมือ ในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จนได้ชิ้นงานที่สวยงามร่วมสมัย และสามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยทั้ง 12 ผลงาน แบ่งออกเป็นเครื่องประดับ 8 ผลงาน และสินค้าไลฟ์สไตล์ 4 ผลงาน ได้แก่ ชุดอุปกรณ์โต๊ะอาหาร กระดิ่งประดับบ้าน กระเป๋า และกล่องเก็บเครื่องประดับ

“ตอนนี้มาถึงจุดสุดท้ายของโครงการแล้ว เพราะเราเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ช่วงกลางปี ถือว่าประสบความสำเร็จ เราได้ผลงานชิ้นสุดท้ายหลังจากที่ผู้ประกอบการได้มาเรียนออกแบบ มาอบรมความรู้ทางด้านการตลาดกับเรา ซึ่งได้นำผลงานออกมาโชว์ให้เห็นกันในวันนี้ ซึ่งก็เป็นที่น่าพอใจ ตอนแรกค่อนข้างกังวลใจว่าจะไม่มีคนเข้าร่วม แต่พอเห็นแบบนี้ก็ค่อนข้างชื่นใจว่าโครงการนี้สามารถช่วยเหลือชุมชนในด้านการพัฒนาตัวเองให้ไปสู่ระดับสากล เป็นไปตามแผน 100% ชุมชนเองก็ตื่นตัวให้ความร่วมมือค่อนข้างดีด้วย” นายฐวัฒน์กล่าว

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์

ด้านนางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้น เครื่องประดับเงินถือเป็นกลุ่มสินค้าที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ ปีละประมาณ 1,790 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 58,530 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ โดยประเทศที่เป็นอันดับต้นๆ ที่ไทยส่งออกเครื่องเงินไปนั้น ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี ประเทศจีน

“กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายการส่งเสริมการค้าในด้านต่างๆ ทั้งงานแสดงสินค้า บางกอกเจมส์ แอนด์จิวเวอร์รี่ มีการจัดการเจรจาธุรกิจ Business Matching โดยนำผู้ประกอบการของไทยไปต่างประเทศ เพื่อไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของทั่วโลก โดยที่เรามีโครงการ SMEs Pro-active และในส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการ เรามีหน่วยงานที่ดูแลสินค้า นวัตกรรม และดูแลพัฒนาผู้ประกอบการด้านธุรกิจโดยเฉพาะ”

นายมนตรี นนทธิ จากร้านมนตรีเครื่องเงินสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย หนึ่งในผู้ประกอบการโครงการ “สืบสานงานเงิน” กล่าวว่า ตนนั้นทำเครื่องเงินมาประมาณ 20 กว่าปีแล้ว ก่อนที่จะมาเป็นช่างทำเครื่องเงินเคยทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงกลับไปอยู่บ้าน มีญาติมาสอนให้ทำเครื่องเงิน และคิดได้ว่าของดีมีอยู่บ้าน ทำไมไม่ทำ จึงหันมาทำเครื่องเงินเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้

มนตรี นนทธิ

“หลังจากเข้าโครงการกับบริษัทสยามเจมส์ กรุ๊ป แล้วมีคนรู้จักมากขึ้น ได้ไอเดียใหม่ ๆ แนวคิดที่จะพัฒนาไปสู่สากล อย่างเมื่อก่อนทำสร้อยคอ กำไล ยังไม่เกิดแนวคิดที่จะสร้างผลงานชิ้นใหม่ที่เป็นของใช้ในบ้าน แต่หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ จึงได้คำแนะนำให้ลองมาทำเป็นของใช้ดูบ้าง โดยการนำลวดลายเครื่องเงินที่เป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยมาติดบนชิ้นงาน” นายมนตรีกล่าว

ขณะที่นายดรณ์ สุทธิภิบาล จากร้านเครื่องเงินวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ อีกหนึ่งผู้ประกอบการโครงการ “สืบสานงานเงิน” กล่าวว่า ร้านเครื่องเงินวัวลายที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นเปิดมาได้ 20 ปี โดยที่ร้านแบ่งผลิตภัณฑ์เป็น 3 ประเภท คือ เครื่องประดับ เครื่องใช้ และของตกแต่ง นอกจากงานเครื่องเงินแล้วที่ร้านยังมีงานเครื่องโลหะ งานทองและงานเพชรพลอยอีกด้วย

ดรณ์ สุทธิภิบาล

“หลังจากที่เข้าร่วมโครงการสืบสานงานเงินจากการที่ทางสยามเจมส์ กรุ๊ป และผ่านการคัดเลือกเข้ามาสู่รอบจัดแสดงที่สยามพารากอน ในส่วนผลการตอบรับนั้นคิดว่ายังไม่สามารถชี้วัดทางด้านยอดขายได้ แต่การได้เข้าร่วมโครงการทำให้ได้รับการพัฒนาในเรื่องของกระบวนการต่าง ๆ ทั้งเรื่อง แนวคิดการนำอัตลักษณ์มาใช้ในการออกแบบการผลิต และแนวคิดเรื่องทางด้านการตลาด ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะนำไปสู่ของการชี้วัดยอดขายแน่นอน” นายดรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการ “สืบสานงานเงิน” จะเดินมาถึงจุดสุดท้ายแล้ว แต่สำหรับในปีหน้า ทางสยามเจมส์ กรุ๊ป มีแผนที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการในปีนี้ไปต่อยอดในระดับอุดมศึกษา คือการนำความรู้ในเรื่องของการออกแบบ อัตลักษณ์ชุมชน ไปถ่ายทอดต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาได้ต่อยอดในชิ้นงานของตนเองต่อไป

สยามเจมส์ กรุ๊ป จัดทำโครงการ “สืบสานงานเงิน” เชิญชวนผู้ประกอบการ และช่างฝีมือเครื่องเงินทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ และต่อยอดในการสร้างโอกาสในการขายระดับสากล ตลอดจนมุ่งยกระดับสินค้าไทยให้ตรงความต้องการของตลาดเป้าหมาย ตามนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยสู่เครื่องประดับร่วมสมัย คอยให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วม ตลอดทั้งโครงการ

นายฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการการตลาด สยามเจมส์ กรุ๊ป ได้กล่าวว่า “กว่า 56 ปี ที่สยามเจมส์ กรุ๊ป ได้ดำเนินธุรกิจ ให้บริการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ของการท่องเที่ยวได้อย่างครบครัน กอปรกับการยึดมั่นในหลักจริยธรรมควบคู่ไปกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ที่มุ่งเน้นการสร้างรากฐาน อนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชุมชนท้องถิ่น ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำโครงการ “สืบสานงานเงิน” เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ และช่างฝีมือเครื่องเงินทั่วประเทศ ให้ได้รับการยอมรับในมาตรฐานโลก และยังช่วยขยายผลในระยะยาวต่อระบบการท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ ให้เกิดการพัฒนาสู่ระดับสากลอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน พร้อมเล็งเห็นความสำคัญของผู้ประกอบการท้องถิ่น”

นายณัฐพล ปฐมกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า สยามเจมส์ กรุ๊ป ยังได้กล่าวเสริมว่า “ด้วยเครื่องเงินของไทยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ถือว่าเป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า ต้องใช้ฝีมือ มีความประณีตสูง และเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาแต่โบราณ สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เลือนหายไป โครงการ “สืบสานงานเงิน” เป็นโครงการที่จะช่วยส่งเสริม และยกระดับเครื่องเงินไทยให้เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ด้วยการเปิดตลาดใหม่ และพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น”

สำหรับโครงการ “สืบสานงานเงิน” เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ และช่างฝีมือเครื่องเงินไทย รายย่อยที่ยังขาดความรู้ด้านการพัฒนาสินค้าและการสร้างแบรนด์ ได้มาเข้าร่วมเสนอผลิตภัณฑ์กับโครงการฯ และเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบสินค้าที่สอดรับกับความชื่นชอบ และพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยว โดยโครงการฯ จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยสู่เครื่องประดับร่วมสมัย คอยให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วม ตลอดทั้งโครงการ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาสินค้า 50,000 บาทต่อรายอีกด้วย

“สยามเจมส์ กรุ๊ป หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะช่วยต่อยอด และพัฒนาสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง พร้อมทั้งให้คนไทยเกิดความตระหนักถึงคุณค่าของเครื่องเงิน ที่เป็นงานศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยที่ควรค่าแก่การสืบทอดนี้ให้ยังคงอยู่ยันรุ่นลูก และรุ่นหลานต่อไป” นายฐวัฒน์ กล่าวในตอนท้าย

ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยผลักดันงานฝีมือของไทยให้ก้าวไปสู่เวทีโลก สำหรับโครงการ “สืบสานงานเงิน” จากสยามเจมส์ กรุ๊ป โครงการที่จะพัฒนาทักษะฝีมือ และต่อยอดการขายระดับสากลแก่ผู้ประกอบการและช่างฝีมือเครื่องเงินไทยทั่วประเทศ โดยมีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่สยามเจมส์ เฮอริเทจ

นายฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการการตลาด สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวว่า กว่า 56 ปีที่สยามเจมส์ กรุ๊ป ได้ดำเนินธุรกิจมา ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมา จึงอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ แล้วยังสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อย

“เราเล็งเห็นว่าช่างฝีมือไทยเรามีฝีมือไม่ด้อยไปกว่าใคร แต่ที่ด้อยเป็นเรื่องของช่องทางการตลาด เราจึงพัฒนาเครื่องเงิน โดยพัฒนาให้กับผู้ประกอบการให้มีช่องทางในการขาย เราสามารถช่วยผู้ประกอบการในการขยายตลาดได้ ซึ่งตรงนี้เราได้ร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานการศึกษา เพื่อช่วยให้ศักยภาพตรงนี้แข็งแรงมากขึ้น” นายฐวัฒน์กล่าว

นายณัฐพล ปฐมกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวเสริมว่า เครื่องเงินไทยเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก เนื่องจากช่างไทยมีความรู้ ความชำนาญ ความประณีต และเอกลักษณ์ต่างๆ สะท้อนถึงวัฒนธรรมไทยที่ชัดเจน นักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกก็ชื่นชอบ เนื่องจากรูปแบบเครื่องเงินไทยมีการประยุกต์ความเป็นไทยกับความเป็นสากลได้อย่างลงตัว ขณะเดียวกันยังคงความละเอียดละออ ความประณีตไว้อยู่ โดยตอนนี้เครื่องเงินยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในทั่วโลก เนื่องจากเครื่องเงินสามารถสร้างสรรค์ให้เข้ากับแฟชั่นของแต่ละบุคคลได้ ผู้ประกอบการเองต้องลงลึกถึงวัฒนธรรมกลุ่มลูกค้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สยามเจมส์จะมาแนะนำผู้ประกอบการในโครงการนี้

ม.ล.ภาสกร อาภากร นักออกแบบผลิตภัณฑ์ชำนาญการพิเศษ เปิดเผยว่า การออกแบบสามารถช่วยในเรื่องของการค้าได้อย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันการค้าเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ถ้าสร้างสินค้าแบบเดิมๆ แน่นอนว่าลูกค้าจะย้ายไปผลิตที่มีค่าแรงถูกกว่า อีกทั้งรัฐบาลเองก็กำลังเน้นเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งหนึ่งในไทยแลนด์ 4.0 มีเรื่องของการนำความคิดสร้างสรรค์ การนำนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย ไม่เฉพาะเรื่องการออกแบบ ผู้ประกอบการยังต้องหานวัตกรรมของตัวเอง เพื่อให้สินค้าตัวเองโดดเด่น และต้องสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง มิฉะนั้นผู้บริโภคจะไม่จดจำว่าสินค้านี้เป็นของใคร ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้คำแนะนำในเรื่องของการออกแบบและการขยายตลาดต่างๆ

รศ.ดร.สุภาวี ศิรินคราภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยสู่เครื่องประดับร่วมสมัย กล่าวว่า สิ่งที่จะทำคือต้องทำให้การอนุรักษ์เกิดขึ้นจริง โดยการอนุรักษ์ที่สำคัญมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1.คงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจที่มาผลิตภัณฑ์ และยังแสดงให้เห็นถึงความชำนาญด้วย 2.ต้องร่วมสมัย ให้เข้ากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ถ้าคิดว่าการอนุรักษ์คือการปรับเปลี่ยนอย่างเดียว โดยที่ไม่คงรากเง้าไว้ สายใยจะไม่สามารถส่งต่อหากันได้ ดังนั้นต้องทำ 2 แนวทางควบคู่กัน ทิ้งแนวทางใดแนวทางหนึ่งไม่ได้

ด้านนายไตร เขื่อนธะนะ ตัวแทนผู้ประกอบการเครื่องเงินร้านสล่าเงินรายใหญ่ในจังหวัดน่าน กล่าวว่า ที่ร้านมีลูกค้าเป็นกลุ่มคนญี่ปุ่นที่เชื่อมั่นสินค้าเรามานานกว่า 20 ปี เนื่องจากการทำงานตรงต่อเวลา และสินค้ามีคุณภาพ แต่ส่วนตัวมองว่ายังมีการพัฒนาการออกแบบที่ช้า และยังมีปัญหาเรื่องการตลาด เมื่อมีโครงการนี้ก็ทำให้รู้สึกมีความหวังมากขึ้น เพราะคาดว่าโครงการนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้หลากหลาย ทันสมัยมากขึ้น และยังแนะนำช่องทางการตลาดอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการเครื่องเงิน