ถามเด็กรุ่นใหม่ที่แม้จะเกิดและโตตามชนบทไม่ว่าจะภาคเหนือ หรืออีสาน หลายคนสั่นหัวไม่รู้จัก”เทา” อาจด้วยความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงพฤติกรรมการกินที่ไหลไปตามกระแสนิยมใหม่ๆ

เทาในภาษาอีสาน ก็คือ สาหร่ายน้ำจืด ที่ขึ้นตามแหล่งน้ำทั้งน้ำนิ่ง และ น้ำไหล คนสมัยก่อนจะนำมาล้างทำความสะอาดแล้วทำลาบเทา ที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์

ตามตลาดต่างจังหวัดจะมีการนำเทามาปั้นวางขายเป็นก้อนๆ ก้อนละ 10 บาท 20 บาท หรือ กิโลกรัมละ 60 บาท

“ลาบเทา” ในอดีตนิยมกินดิบๆ แต่สมัยใหม่ที่แหล่งน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิดของเทามีสิ่งปนเปื้อนมากขึ้น ทำให้ต้องหันมาทำแบบสุกกินกัน สีสันอาจดร็อปลงไปบ้าง ไม่เขียวสดเหมือนกินดิบๆ

อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็เป็นอีกพื้นที่ที่นิยมกินลาบเทากัน วิธีทำก็แล้วแต่บ้าน

หนึ่งในสูตรที่นิยมในอำเภอหล่มสัก คือ นำเทาที่ได้มาล้างให้สะอาดรอไว้ จากนั้นต้มน้ำปลาร้า กรองเอาแต่น้ำ แล้วนำน้ำปลาร้าไปต้มกับเนื้อปลาแล้วแต่ชอบไม่ว่าจะเป็นปลาดุก ปลาช่อน ปลาทู หรือ ปลานิล ได้ทั้งนั้น

นำเนื้อปลาที่สุกแล้วมาตำแจ่ว ใส่พริกสด หอม กระเทียมเผา จากนั้นนำปลาร้าที่ต้มไว้มาเทใส่ในแจ่ว แล้วนำเทาที่เตรียมไว้มาคลุกให้เข้ากัน ส่วนนี้ถ้าใครจะกินสุก ต้องนำเทาไปต้มกับน้ำปลาร้าก่อน ให้น้ำเดือดก็แปลว่าสุกแล้ว

คนแจ่วปลากับเทาและน้ำปลาร้าให้เข้่ากัน แล้วใส่หอยขมที่ต้มสุก จิ้มเนื้อหอยออกมาทำความสะอาดใส่คลุกไปด้วยกัน แล้วหั่นผักเช่น ผักบุ้งนา ถั่วฝักยาว หรือ มะเขือขื่น เป็นชิ้นเล็กๆ ไม่ต้องเยอะมาก ใส่ในลาบ ตามด้วยสมุนไพร ตะไคร้หั่นฝอย ข่าอ่อนหั่นเป็นเส้นเล็กๆ ต้นหอมสดซอย แล้วตามด้วยข้าวคั่วเพิ่มความหอม

ผสมกันเสร็จสรรก็ชิมรส ถ้ายังไม่เค็มก็เติมน้ำปลาได้ มีผักกินแกล้ม คือ ถั่วฝักยาว ผักแว่น ผักบุ้งนา รสชาติโดยรวมจะออกเค็ม หอมสมุนไพร ล้อมวงปั้นข้าวเหนียวกินกันเป็นที่สนุกสนานอย่างมาก

ใครยังไม่เคยชิมต้องลอง แล้วจะตกใจว่าของแซ่บขนาดนี้ทำไมเพิ่งเคยได้กิน