ตั้งแต่ธนาคารเปิดให้บริการ Internet Banking จนถึง Mobile Banking ให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และจ่ายค่าบริการผ่านบัตรเครดิต การโอนเงินแบบ PromptPay ตลอดจนการจ่ายค่าบริการและสินค้าผ่าน QR Code คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยเองก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เข้าไปทีละน้อย สำหรับคนที่ปรับพฤติกรรมมาใช้บริการด้าน Digital Banking และ e-Payment คงรู้สึกได้ถึงข้อดีด้านความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพียงแต่ความคล่องตัวนี้ อาจทำให้เราใช้เงินเพลินจนเกลี้ยงบัญชีแบบไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน

 

คำถามคือ ทำอย่างไรให้เหลือเงินออมในสังคมไร้เงินสดแบบนี้?

 

นี่คือมาตรการรับมือเพื่อการออมเงินอย่างมีประสิทธิภาพ มีวิธีไหนบ้างไปดูกัน

  • จัดสรรบัญชี เนื่องจากลักษณะและรูปแบบการโอนเงิน รับเงิน และการใช้จ่ายในยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การไหลเข้าออกของเงินคล่องตัว ดังนั้นหากไม่มีการจัดสรรบัญชีแยกไว้สำหรับการใช้จ่ายและการเก็บออม อาจทำให้เงินส่วนต่างๆ ปะปนกันจนแยกไม่ออก แล้วก็ไม่เหลือเก็บ สำหรับคนที่ไม่เคยแยกบัญชีเงินเก็บสามารถลองจัดสรรบัญชีต่างๆ ได้ดังนี้
    • บัญชีสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยบัญชีนี้จะเป็นบัญชีที่ถอนมาใช้จ่ายแบบเป็นประจำ ทั้งรายวัน และรายเดือน อาทิ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายบิลต่างๆ ควรจะต้องมองหาบัญชีที่ปลอดค่าธรรมเนียมแบบ 100% ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการโอน การจ่าย การเปิดบัญชี หรือค่าธรรมเนียมบัตร เป็นต้น
    • บัญชีเงินเก็บสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน บัญชีนี้จะนำมาใช้เมื่อถึงเวลาจำเป็นจริงๆ เช่น ปรับเปลี่ยนงาน หรือเจ็บป่วย ดังนั้นควรตัดใจแน่วแน่ให้เป็นเงินเย็น เพื่อสำรองไว้สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่จะเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว ควรเลือกบัญชีที่คล่องตัว ฝาก-ถอนเมื่อไหร่ก็ได้ และที่สำคัญให้ผลตอบแทนสูง
    • บัญชีเงินออม ไม่สำคัญว่าจะมากหรือน้อยแค่เริ่มเร็วเท่าไรก็ยิ่งสะสมเพิ่มขึ้นเท่านั้น มีให้เลือกทั้งฝากประจำ และไม่ประจำ แต่สิ่งสำคัญจะต้องเป็นบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยสูง หนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างบัญชี ME SAVE ของ ME by TMB บัญชีเงินฝากที่มาพร้อมดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปถึง 4.5 เท่า สามารถฝากแบบไม่มีขั้นต่ำ ฝากถอนเท่าไหร่ก็ได้ แต่ยังคงให้ผลตอบแทนสูง
    • บัญชีสำหรับให้กำไรกับชีวิต อาจแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะยาวก็ได้ อาทิ เพื่อการท่องเที่ยว ซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่งงาน ฯลฯ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย และยังไม่ใช้เงินก็สามารถถอนไปรวมกับบัญชีเงินออม แล้วตั้งเป้าหมายใหม่ เพื่อให้ได้เงินเก็บมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้
    • บัญชีเพื่อการลงทุน หากรายได้เพียงพอก็สามารถจัดสรรสำหรับส่วนนี้เพิ่มเติมได้ แล้วนำไปต่อยอดเพื่อผลตอบแทนในอนาคต อาทิ ซื้อกองทุน สลากออมสิน ทองรูปพรรณ พันธบัตร หุ้น และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และสิ่งสำคัญ คือ การศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการลงทุน

  • ใช้ Application เป็นตัวช่วย ในเมื่อเงินเข้า เงินออก จับต้องไม่ได้ ก็ต้องหาเครื่องมือในการคำนวณให้เห็นสถานะทางการเงินของตัวเอง อย่างแอปพลิเคชันด้านการเงินที่เปิดให้บริการดาวน์โหลดทั้งแบบฟรีและมีค่าบริการ มีตั้งแต่การบันทึกรายรับ-รายจ่าย แบบที่คนไม่เคยทำบัญชีมาก่อนก็ทำได้ อย่าง Money Lover สามารถเลือกดูบัญชีการเงินได้ทั้งแบบรายวันและรายเดือน จำแนกค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท สามารถทบทวนการใช้จ่าย เพื่อตัดรายจ่ายแบ่งไปออมเพิ่ม หรือ Piggipo ก็มีฟังก์ชันจัดระเบียบบัตรเครดิตที่ถืออยู่ แจ้งเตือนเมื่อถึงกำหนดชำระบิล ป้องกันปัญหาการใช้จ่ายเกินตัวได้ด้วย ใครต้องการตัวช่วยแบบไหนลองศึกษาการใช้และเลือกโหลดตามที่เหมาะกับตัวเองได้

 

  • มองหาความคุ้มค่าจากสังคมไร้เงินสด ในยุคที่อยากรู้ข้อมูลอะไรก็หาได้แค่คลิกหรือนิ้วสัมผัส ดังนั้นเวลาจะใช้จ่ายรวมถึงการจ่ายค่าบริการต่างๆ ก็ควรเปรียบเทียบอย่างรอบคอบ และมองหาความคุ้มค่าก่อนตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกแหล่งซื้อของออนไลน์ ลองเปรียบเทียบราคาหรือโปรโมชั่นให้ถี่ถ้วน เงื่อนไขการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโอนต่างธนาคาร หรือการชำระค่าบริการต่างๆ หลายธนาคารต่างออกมาประกาศฟรีค่าธรรมเนียมกันหมดแล้ว การผูกบัญชี PromptPay เพื่อรับภาษีคืนอย่างรวดเร็วไม่ต้องรอรับเช็คทางไปรษณีย์เหมือนก่อน  ดังนั้นการอัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับการบริการด้านการเงินไว้บ้างก็จะช่วยให้เราได้รับรู้ถึงประโยชน์ต่างๆ ไว้มาปรับใช้กับตัวเองได้เช่นกัน

 

  • มีวินัยในการออม เพราะหากไม่มีวินัยในการออมแล้ว มาตรการไหนๆ ก็ไร้ผล สิ่งต่างๆที่วางแผนไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรบัญชี วางแผนเงินออมก็คงไม่มีความเคลื่อนไหว แอปพลิเคชันที่โหลดมาถ้าไม่เคยถูกใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์ เงินในกระเป๋าหรือตัวเลขในบัญชีก็คงไม่เหลือ ดังนั้นหากวางแผนในการออมเงินไว้แล้วก็ต้องมีวินัยที่จะทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องด้วย แล้วจะพบว่าเงินนั้นสามารถเพิ่มพูนได้อย่างเป็นรูปธรรมจากตัวเลขในบัญชีที่จัดสรรไว้แล้ว

 

จะเห็นได้ว่าความคุ้มค่าจากสังคมไร้เงินสดนั้นก็นับว่ามีไม่น้อย ลองปรับใช้ควบคู่ไปกับมาตรการเบื้องต้นที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ทันที แล้วค่อยๆ ปรับจนลงตัว ย่อมช่วยให้การออมในยุคสังคมไร้เงินสดมีความสะดวกสบาย และเหลือเงินออมเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

วันนี้ได้ยินคำว่ายุคสังคมไร้เงินสดกันมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ อี-เพยเมนท์ คิวอาร์โค้ด การทำธุรกรรมดิจิทัล แบงก์กิ้งต่างๆ แม้กระทั่งธุรกรรมจากสกุลเงินดิจิทัล ทั้งหมดคือการเดินหน้าเข้าสู่ยุคแรกของสังคมไร้เงินสดที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบสังคมในอนาคต

อันที่จริงโลกเริ่มพูดถึงสังคมไร้เงินสดตั้งแต่ทศวรรษ 90 แล้ว กระทั่งเริ่มใช้งานจริงจังราวๆ 10 กว่าปีมานี้ แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่า การย้ายไปสู่เศรษฐกิจแบบไร้เงินสดจะถูกถกเถียงมากมายหลายประเด็น

แต่หลายประเทศยังมองถึงทิศทางที่เป็นบวกและเป็นประโยชน์มากกว่า

ในแง่ประโยชน์ที่พูดถึง “มูลค่าทางเศรษฐกิจ” ที่ประเทศหนึ่งๆหรือเมืองหนึ่งๆจะได้รับเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีที่มากขึ้น ตรวจสอบภาษีได้ง่ายขึ้น อาชญากรรมที่น้อยลง ลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น แก้ปัญหาก่อการร้าย ลดการฟอกเงินผิดกฎหมาย การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ค่าจ้างที่สูงขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงประโยชน์ในการกำกับดูแลอัตราเงินเฟ้อ

มีงานวิจัยที่บอกว่า กรุงเทพมหานครจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.26 แสนล้านบาท เมื่อก้าวเป็นสังคมไร้เงินสด

นั่นจึงไม่แปลกที่ปีก่อนเราเห็นข่าวว่าขอทานที่ประเทศจีนติดคิวอาร์โค้ดไว้ข้างกระป๋องเพื่อให้คนที่จะบริจาคเงินสแกนส่งเงินให้ได้ทันที หรือเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนจับมือกับภาคเอกชนจากสวีเด่น เปิดตัวโครงการทดลองติดตั้งเครื่องอ่านบัตรให้บรรดานักแสดงดนตรีริมทางใช้เป็นอุปกรณ์รับบริจาคเงินจากผู้คน ซึ่งมีเป้าหมายจะพยายามทำให้ทั่วลอนดอน

ทุกสิ่งทุกอย่างจะไปสู่สังคมไร้เงินสด แล้วสำหรับคนที่ไม่ชอบ และรู้สึกว่าได้รับผลกระทบจะเป็นอย่างไร? สำนักข่าวบีบีซีเคยทำสกู๊ปถามถึงคนในสวีเดน ที่ยังเห็นต่าง แม้จะอยู่ในประเทศติดอันดับต้นๆของสังคมที่ไร้เงินสดมากที่สุดในโลก (อันดับหนึ่ง แคนาดา) กลุ่มที่ยังกังวล คือกลุ่มผู้สูงวัย ที่มองว่าสังคมไร้เงินสดอาจไม่ใช่สังคมสำหรับพวกเขา

สวีเดน เดินหน้าสร้างสังคมไร้เงินสดให้สมบูรณ์แบบมาหลายปีแล้ว ผลคือมีการใช้เงินสดทำธุรกรรมตามร้านค้าลดน้อยลงเหลือเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ทั้งยังห้ามใช้ธนบัตรหรือเหรียญจ่ายค่ารถโดยสารสาธารณะ และตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

พ่วงด้วยมีกฎหมายที่ให้ร้านค้าสามารถปฏฺิเสธที่จะรับเงินสดได้

แน่นอนว่านี่อาจเป็นชีวิตที่ยุ่งยากสำหรับผู้ที่ไม่เต็มใจเข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ไม่ถนัดการชำระเงินแบบดิจิทัลหรือทำธุรกรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อจ่ายค่าบริการต่างๆ

ขณะที่ในกรุงสต๊อกโฮล์มตู้เอทีเอ็มก็กำลังจะเป็นสิ่งหายากขึ้นทุกทีเช่นเดียวกัน

เป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศที่ไปไกลในเรื่องสังคมไร้เงินสดแล้ว

ยังไม่วายมีประเด็นน่าห่วงว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไรกับประชากรอีกจำนวนหนึ่งที่กำลังรู้สึก…ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารพร้อมมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการกับธนาคารผ่านระบบ ธ.ก.ส. A-Mobile ซึ่งเป็นช่องทางในการให้บริการทางอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งของ ธ.ก.ส.โดยยกเว้นค่าธรรมเนียม สำหรับการโอนเงินข้ามเขต โอนเงินต่างธนาคารโดยไม่จำกัดจำนวน และการโอนเงินระบบพร้อมเพย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2561 เป็นต้นไป

นายอภิรมย์ กล่าวว่า การให้บริการฟรีค่าธรรมเนียมครั้งนี้ จะดำเนินการเฉพาะในส่วนของการทำธุรกรรมทางการเงินบน ธ.ก.ส. A-Mobile เท่านั้น ไม่รวมการให้บริการผ่านเครื่องเอทีเอ็มและบริการที่เคาน์เตอร์ของธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าเห็นประโยชน์จากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือที่มีทั้งความสะดวก รวดเร็ว และยังประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังสอดคล้องนโยบายรัฐบาลต้องการลดการใช้เงินสด เพื่อนำประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

 

ที่มา มติชนออนไลน์