ส่งท้ายปีจอต้อนรับปีหมู จะ “หมูเลือด” หรือ “หมูทอง” คงต้องรอลุ้นดูสถานการณ์กันต่อไป จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับเรื่องท่องเที่ยวเดินทางแล้ว ไม่ต้องรอลุ้น!! เพราะมีสิ่งน่าสนใจรอคอยอยู่แล้ว ช่วงต้นปีนี้ชวนเที่ยว “จังหวัดนครพนม” ตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นอกจากเป็นเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง มีภูมิทัศน์สวยงาม อากาศดีแล้ว “นครพนม” ยังเป็นจังหวัดเก่าแก่จังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน ที่มีประวัติศาสตร์เรื่องราวความเป็นมาแต่ครั้งโบราณหลายร้อยปีสืบเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน ต้องบอกว่า “นครพนม” มีความเป็นมาอันน่าทึ่งอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของไทย เพราะในอดีตเป็นศูนย์กลางของ “อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์” อันรุ่งเรือง

จากอดีตกาลตัวเมืองเดิมของนครพนมตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง หรือฝั่งประเทศลาว บริเวณทางใต้ปากเซบั้งไฟ ตรงข้ามกับ อ.พระธาตุพนม ในปัจจุบัน ส่วนตามอุรังคนิทานหรือตำนานพระธาตุพนม (พิสดาร) ของพระธรรมราชานุวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมนั้น มีบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า ประมาณ พ.ศ.500 สมัยพญาสุมิตรธรรม ผู้ครองเมืองมรุกขนคร ได้บูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยก่อพระลานอูบมุงชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แล้วสร้างกำแพงล้อมรอบองค์พระธาตุพนม เสร็จแล้วมีงานสมโภชอย่างมโหฬาร พญาสุมิตรธรรมเองมีความศรัทธาอย่างเหลือล้น ได้ถวายทรัพย์สินมีค่ามากมายเป็นพุทธบูชา และยังมอบหมายให้หมู่บ้าน 7 แห่งที่อยู่ล้อมรอบพระธาตุพนมดูแลรักษาองค์พระธาตุ

พระธาตุพนมรูปแบบเดิม

หลังจากรัชสมัยของพญาสุมิตรธรรมแล้ว ต่อมามีผู้ครองนครอีก 2 พระองค์ ก็เกิดเหตุอาเพศแก่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์จนกลายเป็นเมืองร้าง กระทั่งถึง พ.ศ.1800 เจ้าศรีโคตรบูรณ์ ได้สร้างเมืองขึ้นมาใหม่ให้ชื่อว่า “มรุกขนคร” อยู่ใต้เมืองท่าแขกลงมา แต่ยังคงอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มาใน พ.ศ. 2057 พระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิศราชธานีศรีโคตรบูรณ์ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองมรุกขนครกลับมาเป็น “ศรีโคตรบรูณ์” ตามชื่ออาณาจักรเดิม

กระทั่ง พ.ศ.2280 พระธรรมราชา เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์องค์สุดท้าย ได้โยกย้ายเมืองจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาตั้งบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง หรือฝั่งไทย เยื้องเมืองเก่าไปทางเหนือ เรียกเมืองใหม่ว่า “เมืองนคร” จนมาถึง พ.ศ.2321 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีการย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ห่างขึ้นไปทางเหนือ 52 กิโลเมตร และในปี พ.ศ.2333 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองนครได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงพระราชทานนามใหม่ ว่า “นครพนม”

จังหวัดนครพนม มีองค์ “พระธาตุพนม” เป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ และเป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว ทั้งยังเป็นเสมือนตัวแทนของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหลายกลุ่ม หลายวัฒนธรรม เรื่องราวขององค์พระธาตุพนมและเมืองศรีโคตรบูรณ์ แสดงให้เห็นว่าชุมชนในแถบนี้ต่างมีเจ้าเมืองปกครองเป็นอิสระ เป็นบ้านเล็กเมืองน้อยกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี ผู้คนจากทั่วสารทิศแว่นแคว้นจะเดินทางมาร่วมเฉลิมฉลององค์พระธาตุพนมอย่างยิ่งใหญ่ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้เป็นมหาราชแห่งนครเวียงจันทน์ ก็ได้เสด็จมานมัสการองค์พระธาตุพนมเช่นกัน และทรงปฏิบัติตามที่พระโพธิสาร ราชบุตรเจ้าพระยานครฯ ได้วางกฎไว้ว่าเจ้าเมืองต้องมาทอดกฐินที่วัดพระธาตุพนมทุกปี ถือเป็นธรรมเนียมสืบมาจนถึงเจ้าเมืองรุ่นหลัง

 

จากบันทึกของชาวฝรั่งเศส กล่าวไว้ว่า “ธาตุพนม” เป็นหมู่บ้านสำคัญริมฝั่งขวาของแม่น้ำโขง มีบ้านร้อยกว่าหลัง มีพระพิทักษ์เจดีย์เป็นหัวหน้า ขึ้นตรงกับเจ้าเมืองละคอน หมู่บ้านโดยรอบมีหน้าที่ดูแลรักษาพระธาตุพนม คือ หมู่บ้านหนองปิง บ้านดงภู บ้านปากคำ บ้านหัวดอน ผู้คนที่มีหน้าที่ดูแลรักษาวัดพระธาตุพนมมีอยู่ประมาณ 2,000 คน ทำกิจวัตรตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินสยาม มีการบูชาพระธาตุทุกวันด้วยน้ำและข้าวปลาอาหาร มีคณะมโหรีสยามบรรเลงเพลงถวายพระธาตุทุกวัน พิธีไหว้พระธาตุมีขบวนฆ้องนำหน้า วางดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระธาตุทั้งสี่ด้าน พระภิกษุสวดมนต์ถวายเครื่องไทยทาน ประกอบด้วย มะพร้าว กล้วย อ้อย น้ำผึ้ง ฝ้ายเส้น หมาก และพลู

พระธาตุพนมในปัจจุบัน

อาณาบริเวณโดยรอบองค์พระธาตุพนม ต่างก็เป็นชุมชนที่นับถือพระพุทธศาสนา หลักฐานที่ปรากฏคือที่บ้านโปร่ง บ้านทู้ อยู่ห่างจากองค์พระธาตุลงมาทางทิศใต้ มีใบเสมาจำนวนหนึ่ง มีลวดลายสลักเป็นรูปสถูป เช่นเดียวกับที่พบในเขตลุ่มน้ำมูล-ชี ส่วนด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุ ที่บ้านหลักศิลา พบใบเสมาหินทราย มีลายสลักรูปสถูปบริเวณกึ่งกลางใบ เช่นเดียวกับใบเสมาที่พบอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน

สิ่งที่น่าทึ่งของชุมชนแถบนี้ หากยังไม่เคยทราบมาก่อนจะเห็นได้จากลำดับการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีเรื่องราวชวนติดตามราวกับอ่านนวนิยาย ขอตัดตอนมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองมรุกขนคร” เป็น “เมืองนครพนม” ต่อมาปี พ.ศ.2336 พระบรมราชา (พรหมา) เจ้าเมืองนครพนมถูกกล่าวหาว่าคบคิดกับ “พระเจ้านันทเสน” แห่งนครเวียงจันทน์ เป็นกบฏต่อกรุงเทพฯ โดยมีหนังสือไปชักชวนพระเจ้าเวียดนามพญาลอง พระเจ้าแผ่นดินญวน ให้ยกทัพมาช่วยรบ ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ รัชกาลที่ 1 จึงให้พระเจ้านันทเสนและพระบรมราชา ลงมาแก้คดีที่กรุงเทพฯ ซึ่งฝ่ายพระเจ้านันทเสนแพ้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทรวงศ์ ไปครองเมืองเวียงจันทน์ต่อ ส่วนเจ้าเมืองนครพนมต่อมาได้ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระศรีเชียงใหม่ (สุดตา) ซึ่งเป็นพี่ภรรยาของพระบรมราชา เป็นเจ้าเมืองนครพนมแทน

ฝ่าย “ท้าวกิ่งหงสา” บุตรพระบรมราชา (พรหมา) เจ้าเมืองคนเก่า และ “ท้าวคำสาย” บุตรของอุปราชท้าวจุลณี ไม่พอใจที่พระศรีเชียงใหม่ (สุดตา) ได้เป็นเจ้าเมือง จึงพาผู้คนข้ามแม่น้ำโขงอพยพไปตั้งเมืองใหม่ที่บ้านกวนกู่ กวนงัว แขวงเมืองมหาชัยเดิม และไม่ยอมขึ้นกับเมืองนครพนม พระบรมราชา (สุดตา) หรือชื่อเดิมพระศรีเชียงใหม่ เจ้าเมืองคนใหม่ จึงมีใบบอกไปยังกรุงเทพ ฯ และทางเวียงจันทน์ ขอกำลังไปช่วยปราบปราม ทางกรุงเทพ ฯ มีพระยามหาอำมาตย์เป็นแม่ทัพยกกำลังมาสมทบกับกำลังจากเมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด และเมืองกาฬสินธุ์ ยกกำลังมาตั้งอยู่ที่บ้านโพธิคำ พระยามหาอำมาตย์ให้กองทัพจากเวียงจันทน์ ยกกำลังเข้าตีเมืองแตกพ่ายไป กองทัพไทยและกองทัพเวียงจันทน์ได้กวาดต้อนผู้คนกลับมานครพนม จากนั้นพระยามหาอำมาตย์ได้ย้ายที่ตั้งเมืองนครพนมจากบ้านหนองจันทน์ มาตั้งใหม่ที่บ้านโพธิคำ ซึ่งก็คือที่ตั้งตัวเมืองนครพนมปัจจุบัน

เมื่อกองทัพไทยและกองทัพเวียงจันทน์ยกกลับไปแล้ว ท้าวกิ่งหงสาได้รวบรวมผู้คนมาตั้งกองกำลังที่บ้านช้างราช ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แล้วยกกำลังเข้าตีเมืองนครพนมแตก พระบรมราชา (สุดตา) เจ้าเมือง จึงไปขอกำลังจากนครเวียงจันทน์และนครจำปาศักดิ์มาช่วยตีฝ่ายตรงข้ามแตกไป มีการเจรจาของทั้งสองฝ่ายเพื่อยุติการรบราฆ่าฟันกัน ฝ่ายท้าวกิ่งหงสาจึงขอตั้งเมืองใหม่ไม่ยอมขึ้นกับเมืองนครพนม แล้วอพยพผู้คนกลับไปอยู่ที่เมืองมหาชัยก่องแก้วตามเดิม

ต่อมาพระยาสุโพ แม่ทัพเวียงจันทน์ พร้อมด้วยอุปราชเมืองนครพนม ได้นัดให้พวกเมืองมหาชัยก่องแก้วมาพบเจรจาและดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา ต่อหน้าองค์พระธาตุโคตรบอง ว่าจะจงรักภักดีต่อกรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯ จึงตั้งให้ท้าวจุลณีเป็นพระพรหมอาสา เจ้าเมืองมหาชัย

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ลูกหลานเจ้าเมืองมหาชัย ได้อพยพแยกออกไปตั้งเป็นเมืองสกลนคร ต่อมาในปี พ.ศ.2349 ราชวังศ์ (มัง) บุตรพระบรมราชา (สุดตา) ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระบรมราชา เจ้าเมืองนครพนม พอมาถึงปี พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ คิดการณ์เป็นกบฎต่อกรุงเทพฯ ได้กวาดต้อนผู้คนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงจนถึงเมืองนครราชสีมาไปเป็นกำลัง ทางกรุงเทพฯ ยกกำลังมาปราบ โดยมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพหน้า ยกกำลังมาตั้งที่เมืองนครพนม ส่วนพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนม ถูกเจ้าอนุวงศ์ฯ พาหนีกองทัพไทยไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองมหาชัยก่องแก้ว เมื่อกองทัพไทยยกกำลังมาถึงก็พากันหนีเข้าไปในแดนญวน การศึกครั้งนี้ทำให้ชุมชนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงระส่ำระสาย ส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนมากรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่งหนีเข้าป่า บรรดาผู้ที่ทำหน้าที่บำรุงดูแลวัดพระธาตุพนมขาดจำนวนไปมาก องค์พระธาตุและศาสนสถานต่าง ๆ จึงทรุดโทรมลง

กระทั่งมาถึงปี พ.ศ. 2378 อุปราช (คำสาย) และราชวงศ์ (คำ) ได้นำชาวเมืองมหาชัยก่องแก้ว ข้ามแม่น้ำโขงกลับคืนมาสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ พระยามหาอำมาตย์ จึงให้ไปตั้งเมืองอยู่ที่ริมหนองหาน บริเวณเมืองสกลวาปีเก่า และเมื่ออุปราช(คำสาย) ถึงแก่กรรม ได้โปรดเกล้าฯ ให้ราชวงศ์ (คำ) เมืองมหาชัยก่องแก้ว เป็นพระยาประจันตเขตธานี เจ้าเมือง และพระราชทานชื่อเมืองว่า “สกลนคร” ส่วนเมืองนครพนม หลังจากที่พระบรมราชา (มัง) เจ้าเมือง หลบหนีไปกับเจ้าอนุวงศ์ฯ แล้ว พระยามหาอำมาตย์จึงได้มอบให้พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธร ว่าราชการเมืองนครพนมอีกตำแหน่งหนึ่ง

ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครพนม ได้ยกกำลังออกไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้มาตั้งขึ้นเป็นเมืองต่าง ๆ ในเขตนครพนม อาทิ เมืองมุกดาหาร เมืองกาฬสินธุ์ มีชาวผู้ไทยจากเมืองวังมาตั้งเมืองขึ้นที่บ้านดงหวาย ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็น “เมืองเรณูนคร” ให้ขึ้นกับเมืองนครพนม และให้ท้าวสายนายครัวเป็นพระแก้วโกมล เจ้าเมืองเรณูนครคนแรก เมื่อปี พ.ศ.2387

พระธาตุเรณู รูปแบบพระธาตุจำลองจากพระธาตุพนมองค์เดิม

ให้ “ชาวแสก” ซึ่งอพยพจากเมืองแสก ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านนาลาดควาย ต่อมาให้ตั้งขึ้นเป็นกองอาทมาต คอยลาดตระเวนชายแดน หลังจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็น “เมืองอาทมาต” ขึ้นกับนครพนม ให้ฆานบุดดีเป็นหลวงเอกสาร เจ้าเมืองอาทมาต จนถึงปี พ.ศ.2450 จึงยุบลงเป็นตำบลอาจสามารถ อยู่ในอำเภอเมือง ให้พวก “ชาวกะโซ่” จากเมืองฮ่ม เมืองผาบัง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มาตั้งเป็นเมืองที่บ้านเมืองราม และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็น “เมืองรามราช” ขึ้นกับเมืองนครพนม ให้ท้าวบัวจากเมืองเชียงฮ่ม เป็น พระอุทัยประเทศ เจ้าเมืองรามราช ต่อมาในปี พ.ศ.2450 ได้ยุบลงเป็นตำบลรามราช อยู่ในอำเภอท่าอุเทน

ให้ “ชาวโย้ย” จากบ้านหอมท้าว ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตั้งเมืองอยู่ที่บ้านม่วง ริมน้ำยาม ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็น “เมืองอากาศอำนวย” ขึ้นกับนครพนม และให้ท้าวศรีนุราช เป็นหลวงพลานุกูล เป็นเจ้าเมือง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2457 ได้โอนไปขึ้นกับเมืองสกลนคร คือ ท้องที่อำเภออากาศอำนวย จ.สกลนคร และอำเภอศรีสงคราม จ.นครพนม

พวก “ไทยย้อ” เดิมอยู่ที่ปากน้ำสงคราม ริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง ต่อมาได้อพยพหลบหนีไปกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ฯ ไปตั้งอยู่ที่เมืองหลวงปุเลง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองนครพนมได้เกลี้ยกล่อมให้กลับมาตั้งเมืองอยู่ที่บ้านท่าอุเทนร้าง และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองท่าอุเทน ขึ้นกับเมืองนครพนมในปีเดียวกัน และตั้งให้ท้าวพระปทุม เป็นพระศรีวรราช เจ้าเมืองคนแรก ในการปราบปรามเจ้าอนุวงศ์ฯ ราชวงศ์ (แสน) เมืองเขมราฐได้คุมกำลังตั้งอยู่ปากน้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง มีความดีความชอบจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองไชยบุรี โดยให้อพยพครอบครัวชาวเขมราฐและยโสธร มาอยู่ที่เมืองไชยบุรี โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งราชวงศ์ (แสน) เมืองเขมราฐเป็นพระไชยราชวงศา เจ้าเมืองไชยบุรี

ในปี พ.ศ. 2418 พวกจีนฮ่อได้ยกกำลังมาตีเมืองเวียงจันทน์ และหนองคาย ทางกรุงเทพฯ ได้ให้พระยามหาอำมาตย์ ข้าหลวงใหญ่ซึ่งขึ้นมาจัดราชการอยู่ที่เมืองอุบลฯ เกณฑ์กองทัพหัวเมืองต่างๆ คือ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองกาฬสินธุ์ เมืองอุบลฯ เมืองยโสธร เมืองมุกดาหาร เมืองนครพนม ฯลฯ ไว้สมทบกองทัพใหญ่ แล้วให้เมืองนครพนมเตรียมปลูกฉางข้าวขึ้นไว้ และจัดซื้อข้าวขึ้นฉางสำหรับเลี้ยงกองทัพ ให้เมืองต่างๆ เตรียมตัดไม้มาถากเพื่อขุดเรือให้ยาวลำละ 4 วา 5 ศอก 6 คืบ เมืองนครพนม 50 ลำ เมืองหนองคาย 50 ลำ เมืองโพนพิสัย 30 ลำ เมืองไชยบุรี 20 ลำ เมืองท่าอุเทน 15 ลำ เมืองมุกดาหาร 50 ลำ รวม 245 ลำ

ปี พ.ศ.2424 องค์การศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ได้เริ่มส่งบาทหลวงเข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนาในภาคอีสานเป็นครั้งแรก โดยส่งมายังเมืองอุบล ฯ และตั้งโบสถ์เผยแพร่ศาสนาอยู่ที่บ้านบุ่งกระแทง เป็นแห่งแรก ต่อมาในปี พ.ศ.2426 ก็ได้เริ่มแพร่ขยายขึ้นมาตามหัวเมืองริมลำแม่น้ำ แล้วตั้งโบสถ์ที่บ้านท่าแร่ ริมหนองหานเมืองสกลนคร พ.ศ.2428 ได้ตั้งโบสถ์ที่บ้านสองคอน เขตเมืองมุกดาหาร และต่อมาได้ตั้งโบสถ์ที่เกาะดอนโด ซึ่งอยู่กลางแม่น้ำหน้าเมืองนครพนม และที่บ้านหนองแสง เขตเมืองนครพนม เกิดมีทาสที่หลบหนีเจ้าขุนมูลนายไปหลบซ่อนอยู่กับบาทหลวง และเข้ารีตนับถือคริสตศาสนา เป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อกรมการเมืองจะเข้าไปเกณฑ์แรงงาน หรือเก็บส่วย พวกที่เข้ารีตศาสนาคริสต์ก็เกิดบาดหมางกับบาทหลวงอยู่เนืองๆ มีการฟ้องร้องกันลงไปถึงกรุงเทพฯ จนต้องส่งตุลาการมาตัดสินที่เมืองนครพนม

ในปี พ.ศ.2429 หลังจากที่ญวนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิงแล้ว พระเจ้าแผ่นดินเวียดนามได้หลบหนีเข้ามาในชายแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เขตแดนเมืองมุกดาหารและเมืองนครพนมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทางแขวงสุวรรณเขต และแขวงคำม่วน พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ ข้าหลวงใหญ่ออกมาจัดราชการอยู่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ จึงย้ายกองบัญชาการมาตั้งอยู่ที่เมืองเขมราฐชั่วคราว และแต่งตั้งให้จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ชม สุนทราชุน) และหลวงเสนีย์พิทักษ์ (พร ศรีเพ็ญ) เป็นข้าหลวง ขึ้นมาตั้งอยู่ที่เมืองนครพนม และเมืองมุกดาหาร เพื่อเกณฑ์กำลังจากเมืองสกลนคร เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี และเมืองมุกดาหาร ออกไปตระเวนรักษาด่าน คอยขับไล่พวกญวน มิให้ล่วงล้ำเข้ามาในชายแดนไทย

พระยามหาอำมาตย์ข้าหลวงใหญ่ และพระยาราชเสนา ข้าหลวงประจำหัวเมืองลาวตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ขอพระบรมราชานุญาตตั้ง “องบิงญวน” เป็นหลวงจำนงค์บริรักษ์ เป็นนายกองญวน และนายหวา เป็นขุนพิทักษ์โยธี ปลัดกองญวน ตั้งอยู่ที่บ้านโพนบก และบ้านนาคู แขวงเมืองนครพนม

ลุถึงปี 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ออกมาเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการในหัวเมืองภาคอีสาน ทางด้านอีสานเหนือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงสำเร็จราชการหัวเมืองลาวพวน ทางด้านอีสานใต้มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร สำเร็จราชการหัวเมืองลาวกาว ประทับอยู่ที่เมืองอุบลฯ กองบัญชาการหัวเมืองลาวพวน มีอำนาจปกครองเมืองนครพนม หนองคาย มุกดาหาร ไชยบุรี ท่าอุเทน หนองหาน สกลนคร โพนพิสัย กมุทาลัย(หนองบัวลำภู) ขอนแก่น เชียงขวาง คำเกิด คำม่วน บริคัณฑนิคม และในปี 2435 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ (กาจ สิงหเสนี ) เป็นข้าหลวงประจำเมืองสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ซึ่งเป็นเมืองชายแดน เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาของเจ้าเมือง มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองสกลนคร

ในปี 2536 ไทยเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ดินแดนของเมืองนครพนมทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือ แขวงคำม่วนต้องสูญเสียไปด้วย ข้าหลวงไทยที่ประจำอยู่ที่เมืองคำม่วน คือพระยอดเมืองขวาง ได้ต่อสู้ขัดขวางฝรั่งเศสจนถึงวาระสุดท้าย ถือได้ว่าเป็นวีรบุรุษคนสำคัญคนหนึ่งของไทย ปี พ.ศ.2437 โปรดเกล้าฯ ให้พระพิทักษ์ยุทธภัณฑ์(เทศ) เป็นข้าหลวงประจำเมืองนครพนม ปี 2438 ฝรั่งเศสขอตั้งเอเย่นต์ทางการค้าให้มาประจำอยู่ตามหัวเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง คือ เมืองเขมราฐ เมืองมุกดาหาร เมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี และเมืองหนองคาย แต่เอเย่นต์ดังกล่าวทำหน้าที่เสมือนกงสุล หรือสายลับ คอยสังเกตการณ์ว่าฝ่ายไทยละเมิดสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสหรือไม่

ปี 2443 ได้เปลี่ยนนามมณฑลลาวพวน เป็นมณฑลฝ่ายเหนือและเป็นมณฑลอุดร เมืองนครพนมจึงอยู่ในเขตการปกครองของมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลอุดร ต่อมามณฑลอุดรแบ่งการปกครองเป็น 12 เมือง คือ เมืองหนองคาย (เมืองเอก) เมืองท่าอุเทน (เมืองจัตวา) เมืองไชยบุรี (เมืองจัตวา) เมืองนครพนม (เมืองตรี) เมืองท่าบ่อ (เมืองตรี ) เมืองมุกดาหาร (เมืองตรี) เมืองสกลนคร (เมืองโท) เมืองขอนแก่น (เมืองตรี) เมืองกมุทาลัย (หนองบัวลำภู) เมืองโพนพิสัย (เมืองตรี) เมืองชนบท (เมืองจัตวา) เมืองหนองหาน (เมืองตรี) ในปี 2446 มณฑลอุดรแบ่งการปกครองออกเป็น 5 บริเวณ แต่ละบริเวณแบ่งออกเป็นเมือง เมืองแบ่งออกเป็นอำเภอ และได้ยุบเมืองเล็ก ๆ ลงเป็นตำบล แต่ละบริเวณมีข้าหลวงประจำบริเวณรับผิดชอบ และมีข้าหลวงประจำเมืองพร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมือง ดังนี้

บริเวณหมากแข้ง (อุดรธานี) มี 6 เมือง คือ เมืองหนองคาย เมืองโพพิสัย เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาลัย และเมืองท่าบ่อ, บริเวณสกลนคร มี 6 เมือง คือ เมืองสกลนคร เมืองวาริชภูมิ เมืองพรรณานิคม เมืองสว่างแดนดิน เมืองวานรนิวาส และเมืองจัมปาชนบท (พังโคน), บริเวณพาชี (ขอนแก่น) มี 3 เมืองคือ เมืองขอนแก่น เมืองภูเวียง และเมืองชนบท, บริเวณน้ำเหือง (เมืองเลย) มี 3 เมือง คือ เมืองเลย เมืองด่านซ้าย เมืองเชียงคาน, บริเวณธาตุพนม มี 4 เมือง มีเมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี และเมืองมุกดาหาร ต่อมาในปี 2450 ให้ยุบเลิกบริเวณลงเป็นเมืองทั้งหมด คงมีมณฑล เมือง และอำเภอ เท่านั้น

ดังนั้น การปกครองมณฑล จึงแบ่งออกเป็น 5 เมือง คือบริเวณหมากแข้ง เปลี่ยนเป็นเมืองอุดรธานี บริเวณพาชี เปลี่ยนเป็นเมืองขอนแก่น บริเวณสกลนคร เปลี่ยนเป็นเมืองสกลนคร บริเวณน้ำเหือง เปลี่ยนเป็นเมืองเลย บริเวณธาตุพนม เปลี่ยนเป็นเมืองนครพนม และได้แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ โดยยุบเมืองต่างๆ คือ เมืองมุกดาหาร เมืองท่าอุเทน และเมืองไชยบุรี ลงเป็นอำเภอ ดังนั้น อำเภอทั้งหมดจึงประกอบด้วย อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเมืองไชยบุรี อำเภอเมืองท่าอุเทน อำเภอเมืองอากาศอำนวย อำเภอเมืองกสุมาลย์ อำเภอเมืองเรณูนคร (ย้ายไปตั้งอยู่บ้านธาตุพนม) อำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอหนองสูง

ในปี 2457 กระทรวงมหาดไทย ประกาศยุบอำเภอเมืองกุสุมาลย์ ไปรวมกับอำเภอเมืองนครพนม ยุบอำเภอเมืองอากาศอำนวยไปรวมกับท้องที่อำเภอท่าอุเทน ตัดท้องที่บางส่วนของอำเภอโพนพิสัย มารวมกับท้องที่อำเภอไชยบุรี ย้ายที่ตั้งอำเภอไชยบุรีไปตั้งที่บ้านบึงกาฬ ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นอำเภอบึงกาฬ ปี พ.ศ.2459 มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนคำว่าเมือง เป็น “จังหวัด” และคำว่า “ผู้ว่าราชการเมือง” เปลี่ยนเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด” และเปลี่ยนชื่ออำเภอในจังหวัดนครพนม คือ อำเภอเมืองนครพนม เป็นอำเภอหนองบึก อำเภอเรณูนคร เป็นอำเภอธาตุพนม โดยย้ายที่ตั้งไปตั้งที่บ้านธาตุพนม อำเภอหนองสูง ซึ่งย้ายที่ตั้งไปอยู่ที่บ้านนาแก เป็นอำเภอนาแก

กระทั่งปี พ.ศ.2465 มีประกาศรวมมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล มณฑลอุดร ตั้งขึ้นเป็นภาคอีสาน มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองอุดรธานี อุปราชภาคอีสาน คือ พระยาราชนิกุลวิบูลยภักดิ์ ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ จังหวัดนครพนม จึงขึ้นอยู่กับมณฑลอุดร และภาคอีสาน กลายมาเป็นจังหวัดนครพนมในปัจจุบัน