ปัจจุบันท่านผู้อ่านอาจไม่ได้ยินโรคหิดในชีวิตประจำวันมากเท่าไร เนื่องจากโดยรวม ประชาชนมีการสาธารณสุขที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้ก็ยังไม่ได้หมดไป การติดต่อเกิดจากการสัมผัสคนที่เป็นโรค มักพบได้บ่อยในบริเวณชุมชนที่อยู่กันหนาแน่น เช่น ในเรือนจำ ชุมชนแออัด สถานรับเลี้ยงเด็ก

อาการคันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน เกิดจากการที่ตัวหิดขุดเจาะผิวหนังชั้นบนสุดจนเป็นโพรง ส่งผลถึงระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immune system) ของร่างกายมีการหลั่งสารเคมี ทำให้เกิดอาการขึ้นมา ซึ่งมักพบตุ่มขึ้นที่ข้อมือ ง่ามนิ้วมือ ข้อศอก ท้อง เอว เมื่อให้การรักษา ควรรักษาผู้เป็นหิดพร้อมผู้ใกล้ชิด หรืออาศัยบ้านเดียวกัน แม้ว่าจะไม่มีอาการ รวมทั้งต้องกำจัดหิดในสภาพแวดล้อม เช่น เสื้อผ้า ผ้าปู และที่นอน

ยาที่ใช้รักษามีทั้งแบบยากินและยาทาใช้ภายนอก โดยจะใช้เวลารักษาประมาณ 4 สัปดาห์ ปัจจุบันได้มีการวิจัยฤทธิ์ของว่านหางจระเข้ ที่นำมาสกัดแล้วทำเป็นเจลทาภายนอก ความเข้มข้น 25 เปอร์เซ็นต์ และ 12.5 เปอร์เซ็นต์ ทดสอบในผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นโรคหิด โดยให้ทาเจลว่านหางจระเข้ติดต่อกันนาน 3 วัน ตั้งแต่บริเวณลำคอลงมาถึงเท้า และทาซ้ำอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป

ผลปรากฏว่า อาการคันลดลง ตุ่ม ผื่นลดลง รอยแผลแห้งและจางลง ซึ่งมีประสิทธิภาพดีใกล้เคียง เมื่อเปรียบเทียบกับยาทาแผนปัจจุบัน (benzyl benzoate lotion) โดยไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรง

คาดว่าเป็นผลจากสารกลุ่มแอนทราควิโนนที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ ข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนภูมิปัญญานานนับพันปีในตำราสมุนไพรโบราณว่า มีการนำสมุนไพรว่านหางจระเข้มารักษาคันที่ผิวหนัง โรคผิวหนังพอง ผิวด่างดำ ช่วยบำรุงผิวหนังได้

การรักษาโรคหิด อาจจะใช้ระยะเวลานานเกิน 2-3 สัปดาห์ ทำให้คนไข้ใช้ยาไม่ครบกำหนดอยู่บ่อยๆ ส่งผลทำให้เป็นโรคอีกครั้ง ดังนั้น ควรใช้ยาให้ครบตามคำแนะนำของผู้ให้การรักษา ซักทำความสะอาดและตากแดด ที่นอน หมอน เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัวที่อาจมีตัวหิดเกาะอยู่ เพื่อป้องกันการกลับมาของโรคนี้

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ ในคอลัมน์พืชใกล้ตัว อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 16 ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน 2561

ชื่อสามัญ : หางตะเข้, ว่านไฟไหม้, Star cactus, aloe

เป็นไม้ล้มลุก รูปร่างหน้าตาประหลาด ชื่อน่าฉงนนี้ มีประโยชน์เหลือคณานับ คำว่า Aloe นี้ มาจาก “allal” ภาษากรีกโบราณ หมายถึงว่า มีรสขมและฝาด จากคัมภีร์ไบเบิ้ล (JOHN 19:39) ได้จารึกไว้ว่า น้ำสำหรับชโลมพระศพของพระเยซูนั้นมีส่วนผสมของว่านหางจระเข้เป็นส่วนประกอบ แสดงว่าผู้คนในยุคสมัยนั้นย่อมรู้คุณค่า ประโยชน์มากมายหลายด้านของว่านชนิดนี้เป็นอย่างดี

ว่านหางจระเข้ มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่แถบเมดิเตอร์เรเนียนและทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา แพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วโลก พบว่ามีมากมายกว่า 300 สายพันธุ์ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลำต้นมักเป็นกอเตี้ยๆ ใบรูปร่างคล้ายหางจระเข้ อวบน้ำสีเขียวหรือเทา บางพันธุ์อาจมีลายจุดขาวประปราย บางพันธุ์ก็ไม่มี ขนาดของใบก็ต่างกันไป ขอบใบมีหนามแหลมแข็งสั้นๆ ภายในกาบใบมีลักษณะเป็นวุ้นสีเขียวใส เย็น ดอกออกเป็นช่อตั้งตรงขึ้นมาระหว่างซอกใบก้านช่อดอกยาว ตัวดอกดูคล้ายหลอดยาวสีส้มอมเหลือง พอดอกแก่ก็จะกลายเป็นต้นอ่อน เรียกว่า ตะเกียง สามารถนำไปเพาะเป็นต้นใหม่ได้

สรรพคุณและการใช้ประโยชน์…ว่านหางจระเข้ จัดเป็นพวกสมุนไพรครอบจักรวาลตัวหนึ่งเลยก็ว่าได้ คนไทยเราใช้ประกอบเข้าเป็นยาดำ แก้ไข้ได้สารพัดโรค จนมีคำกล่าวว่า “แทรก เป็นยาดำ” ไงครับ นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น สมองไวได้จดสิทธิบัตรการค้นพบสาร Aloctin A ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจน บำบัดรอยแผลจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ไว้เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2521

เนื้อเจลสีเขียวใส ภายในมีคุณสมบัตินานัปการ เช่น นำมาขยำชโลมเส้นผม บำรุงหนังศีรษะและรากผม ใช้ทาลดความมันบนใบหน้า ลดรอยขูดขีด จุด สิว ฝ้า กระ ลดอาการปวดแสบปวดร้อนจากการฉายรังสีเอ็กซเรย์ หรือถูกแดดเผา เพิ่มความชุ่มชื้น ความยืดหยุ่นให้เซลล์ผิวหนัง จึงมีการนำวุ้นจากว่านหางจระเข้ไปสกัดทำเป็นเครื่องสำอางราคาแพงๆ หลายยี่ห้อในขณะนี้ หรือยังใช้ทาแผลสด จากรอยถูกของมีคมบาด รักษาน้ำกัดเท้า ทาส่วนที่หยาบแข็งกระด้าง เช่น บริเวณข้อศอก หัวเข่า ส้นเท้า ฯลฯ จะทำให้คลายตัวนุ่มเนียนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ การดื่มน้ำสกัดจากว่านหางจระเข้ ยังมีสรรพคุณดีต่อร่างกายมากมาย เช่น

– รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เคลือบลำไส้

– ช่วยหล่อลื่นข้อต่อกระดูก

– เสริมสร้างการทำงานของระบบเมตาโบลิซึ่ม

– กระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ใหม่ ซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอของร่างกาย

– ป้องกันและลดการเสี่ยงของอาการเส้นเลือดฝอยในสมองแตก

– ช่วยผลักดันการสร้างคอลลาเจน, อีลาสติน กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว

– มีสารแอนทราควิโนน (anthraquinone) ที่ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ฯลฯ

ปก

วิธีการปลูก…ว่านหางจระเข้ ขยายพันธุ์โดยการใช้ ตะเกียง หรือต้นอ่อนที่เกิดจากปลายช่อดอก หรือแยกหน่อ ที่บริเวณโคนต้นไปปลูก เมื่ออายุได้ถึงระยะขยายพันธุ์ ก็จะมีหน่อเล็กๆ โผล่ขึ้นมารอบๆ ต้นแม่ รอให้มีขนาดโตสักหน่อย มีใบ 5 ใบ หรือ 6 ใบ จึงตัดไปชำลงในถุง กระถาง หรือลงแปลงเลย ให้ขุดหลุมไม่ต้องลึกนัก เพราะว่านชนิดนี้มีระบบรากตื้นๆ เท่านั้น ความลึกของหลุมแค่ 20 เซนติเมตร ก็น่าจะพอ กว้าง 30×30 เซนติเมตร โรยปุ๋ยคอก แกลบดิบ กาบมะพร้าวสับ ใบไม้แห้งลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันดี ปลูกต้นกล้าลงไป กลบดินให้แน่น รดน้ำแต่พอดีๆ อย่าให้แฉะเกิน เพราะปกติเจ้านี่เขาไม่ค่อยชอบน้ำมากอยู่แล้ว เดี๋ยวรากจะเน่าเสียก่อน

ถ้าหากเป็นการปลูกด้วยตะเกียง ก็ทำเหมือนกัน แต่ปลูกด้วยตะเกียงอาจต้องรอนานกว่าปลูกด้วยวิธีแยกหน่อ

ว่านห่างจระเข้ ที่มายาดำ ยาระบายระดับโลก

ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรเก่าแก่ที่มีการใช้กันมานานกว่าสามพันปี มีถิ่นกำเนิดอยู่แถวประเทศเยเมนในตะวันออกกลาง แล้วแพร่กระจายไปทั่วโลก เป็นสมุนไพรที่คนรู้จักกันทั่วไปจนไม่รู้สึกตื่นเต้น แต่แท้ที่จริงแล้วว่านหางจระเข้เป็นยาวิเศษจากสวรรค์แท้ๆ พวกอินเดียนแดงถึงกับเรียกว่านหางจระเข้ว่า ไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์จากสวรรค์ ซึ่งก็คงเป็นเพราะเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาอวัยวะได้แทบทุกส่วน ทั้งรักษาแผล ฆ่าเชื้อ แก้ปวด แก้อักเสบ รักษาโรคท้องไส้ ใช้คุมเบาหวาน และยังใช้เป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวและผมได้เป็นอย่างดี

ในประเทศไทยเองเริ่มให้ความสนใจว่านหางจระเข้เมื่อประมาณปี 2526 เมื่อเภสัชกรสุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกูล ได้นำประสบการณ์การใช้ของชาวบ้านและงานวิจัยจากต่างประเทศมาเผยแพร่ให้คนรู้ผ่านวารสารข่าวสารสมุนไพร หลังจากนั้นก็เกิดผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม แชมพู ครีมนวดผม สบู่อาบน้ำที่ใช้ว่านหางจระเข้เป็นส่วนผสมขึ้นมากมาย แต่ที่ไม่ค่อยรู้กันคือ คนไทยใช้ว่านหางจระเข้มานานในรูปแบบของยาดำ

ยาดำนั้นได้จากการเคี่ยวน้ำยางสีเหลืองจากใบว่านหางจระเข้ น้ำยางนี้อยู่ระหว่างผิวนอกของใบกับเนื้อวุ้น เมื่อตัดใบว่านหางจระเข้ยางจะไหลออกมา เมื่อนำน้ำยางสีเหลืองที่ได้ไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ จนข้นเหนียว นำไปผึ่งแดดให้แห้งจะแข็งกลายเป็นก้อนสีน้ำตาลจนถึงดำ เปราะทึบแสง มันแวววาว รสขมเหม็นเบื่อ กลิ่นชวนคลื่นไส้อาเจียน คนไทยคงใช้ยาดำมานานจนมีสำนวนว่า “แทรกเป็นยาดำ” หมายถึงคนที่ชอบไปวุ่นวายเรื่องของคนอื่นทุกเรื่องจนน่ารำคาญน่าเวียนหัว

ในยาไทยมักจะมียาดำอยู่ด้วยเสมอโดยเฉพาะยาหม้อแรกๆ ที่ใช้ในการรักษา เพื่อถ่ายของเสียที่หมักหมมออกจากร่างกายเสียก่อน ในตำรายาไทยกล่าวถึงสรรพคุณของยาดำว่า ถ่ายลมเบื้องสูงลงสู่เบื้องต่ำ กัดฟอกเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษไข้ ถ่ายพยาธิตัวตืด ไส้เดือน ขับน้ำดี มีฤทธิ์ไซ้ท้อง ฝนกับเหล้าขาวทาหัวฝี ทาแก้ฟกบวม ยาดำเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครทราบ รู้แต่ว่ามีปรากฏในตำราโอสถพระนารายณ์ ในตำรับทาพระเส้น และปรากฏในคัมภีร์แพทย์แผนไทยในฐานะยาระบายอยู่หลายคัมภีร์ ได้แก่ ฉันทศาสตร์ ปฐมจินดา ธาตุวิภังค์ สรรพคุณยา มหาโชตรัตน์ ชวดาร โรคนิทาน ธาตุวิวรณ์ ธาตุบรรจบ มุจฉาปักขันทิกา กษัย ส่วนตัวว่านหางจระเข้ปรากฏในคัมภีร์ตักศิลา

ยาดำนั้นมีสารกลุ่มแอนทราควิโนนพวกบาร์บาโลอิน (barbaloin) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้คล้ายๆ กับมะขามแขก มีการยอมรับว่าเป็นยาถ่ายที่ปลอดภัยในเภสัชตำรับของประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ปกติแล้วคนไทยจะไม่กินยาดำเป็นยาถ่ายตัวเดียว แต่ถ้าจะกินก็กินเท่าเม็ดถั่วเขียวแต่จะไซ้ท้องพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในวุ้นของว่านหางจระเข้ก็มีสารยาร์บาโลอินอยู่บ้าง ท่านที่มีอาการท้องผูกจะเริ่มจากกินวุ้นว่านหางจระเข้สักครึ่งแก้วก่อน ถ้ายังไม่ได้ผลจึงค่อยใช้ใบว่านหางจระเข้โดยหั่นทั้งเปลือกและวุ้นตากแห้งเก็บไว้ใช้ชงกินแบบชา รสชาติไม่เลวกินได้ไม่ยาก ช่วยให้ระบายอ่อนๆ และยังได้สารเมือกจากว่านหางจระเข้ช่วยหล่อลื่นผนังลำไส้อีกด้วย

ดับร้อนแผลไหม้ไปจนถึงแผลในกระเพาะ

สรรพคุณที่โด่งดังของวุ้นว่านหางจระเข้เห็นจะไม่พ้นการรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ทำให้ชาวบ้านหลายแห่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ว่านไฟไหม้ เมื่อถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกคราวใด ให้นึกถึงว่านหางจระเข้ไว้ก่อน แต่จะต้องรู้จักใช้ให้เป็น คือ ใช้ในปริมาณที่มากพอ โดยให้สังเกตว่าความปวดแสบปวดร้อนจะหายไป นอกจากนี้ แผลอื่นๆ วุ้นว่านหางจระเข้ก็ช่วยได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกยางสีเหลือง เพราะมีฤทธิ์ระคายเคือง มีงานศึกษาวิจัยทั้งในห้องทดลองและในคนว่า วุ้นว่านหางจระเข้ช่วยรักษาแผลให้หายเร็วได้ เนื่องจากมีสารอัลล็อคซิน (alloctin) สารอโลอิน (aloin) และอโลอิโมดิน (aloemodin) ซึ่งช่วยลดการอักเสบ และสารอัลลอคตินจะช่วยให้แผลตื้นและหายเร็วขึ้น เพาะไปกระตุ้นการเกิดใหม่ของเนื้อเยื่อ

ในหมู่หมอยาพื้นบ้านเป็นที่รู้กันดีว่า ถ้ามีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ก็ให้กินวุ้นว่านหางจระเข้ ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า วุ้นว่านหางจระเข้ช่วยลดการหลั่งของน้ำย่อยในกระเพาะและป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะ รวมทั้งทำให้การหายของแผลดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในการรักษาโรคกระเพาะนั้นต้องมองเป็นองค์รวม ซึ่งจะต้องดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดด้วย โดยเฉพาะที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุ แต่วุ้นว่านหางจระเข้ก็สามารถใช้เป็นยาเสริมได้

วุ้นว่านหางจระเข้ เครื่องสำอางข้างบ้าน

ในการใช้เป็นเครื่องสำอาง วุ้นว่านหางจระเข้มีสรรพคุณในการบำรุงผิว ป้องกันสิวฝ้า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและบำรุงผมจำนวนมากในปัจจุบันมีสารสกัดจากวุ้นว่านหางจระเข้อยู่ แต่ทุกคนสามารถใช้วุ้นว่านหางจระเข้สดได้ด้วยตนเอง ถ้าเป็นวัยรุ่นหน้าค่อนข้างมัน จะใช้วุ้นว่านหางจระเข้เป็นรองพื้นก่อนแต่งหน้าเลยก็ได้ แต่ถ้าสูงอายุขึ้นมาหน่อย หากใช้วุ้นว่านหางจระเข้อย่างเดียวจะทำให้หน้าตึงไปสักหน่อย ให้ผสมครีมทาหน้าสักเล้กน้อย ว่านหางจระเข้ยังเป็นสมุนไพรที่ดีมากสำหรับเส้นผมช่วยทำให้ผมงอก ลดการหลุดร่วงของเส้นผม ตัววุ้นยังใช้แทนเจลใส่ผมได้ สำหรับคนผมเสีย ผมแตกปลาย ผมไม่มีน้ำหนัก แห้งกรอบ ก็สามารถใช้วุ้นว่านหางจระเข้ได้ ไข่แดง น้ำมันมะกอก หมักผมก่อนสระอาทิตย์ละครั้ง จะดูแลรักษาเส้นผมให้ดกดำ มีน้ำหนัก มีชีวิตชีวา มีน้ำหนัก

วุ้นว่านหางจระเข้ยังใช้เป็นยาภายในรักษาบางโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตับอักเสบ ไข้หวัด หอบหืด การใช้กับโรคเบาหวานนั้นให้รับประทานวุ้นจากท่อนใบสดยาวประมาณสามถึงสี่เซนติเมตรทุกวัน ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า วุ้นสดจากว่านหางจระเข้ช่วยลดการใช้ยาเบาหวานได้ นอกจากนี้ ยังแก้เมารถหรือเมาเรือได้ โดยให้กินวุ้นว่านหางจระเข้ยาวประมาณสองถึงสามเซนติเมตรก่อนออกเดินทาง

ตำรับยา

ยาโรคกระเพาะ

วุ้นจากใบสดกว้างประมาณ 3 นิ้ว ยาว 4 เซนติเมตร แบ่งรับประทานเป็นสองครั้ง นอกจากรักษาโรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย ลำไส้อักเสบแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงสุขภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรงสดชื่น มีภูมิต้านทานดี

ยาบำรุงร่างกาย

ว่านหางจระเข้ทั้งเปลือก หั่นตากแดดให้แห้ง ชงกินแบบชา ช่วยบำรุงร่างกายให้ขับถ่ายสะดวก

ยารักษาไฟไหม้น้ำร้อนลวก

เตรียมวุ้นใบว่านหางจระเข้ให้พอที่จะใช้กับบริเวณแผล ล้างน้ำเอายางสีเหลืองออกให้หมด แล้วฝานเนื้อวุ้นเป็นแผ่นบางๆ นำไปวางบนแผลให้ปริมาณมากพอ จะรู้สึกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนหายไป เปลี่ยนตัวยาเมื่อรุ้สึกร้อน อาจนำวุ้นว่านหางจระเข้ไปแช่น้ำแข็งก่อนก็ได้

ยาบำรุงผม

ให้ใช้ไข่แดง น้ำมันมะกอก วุ้นว่านหางจระเข้อย่างละหนึ่งส่วน ใส่น้ำเล็กน้อย ปั่นให้เข้ากัน นำไปหมักผมที่เปียกชุ่มด้วยน้ำ ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วล้างออก สัปดาห์ละครั้ง สักสองครั้งก็เห็นผล วุ้นว่านหางจระเข้ยังใช้ทาบริเวณที่ผมน้อยหรือผมร่วงเพื่อให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ได้

ข้อควรระวัง

-การใช้ว่านหางจระเข้เป็นเครื่องสำอางต้องล้างยางสีเหลืองออกให้หมดจริงเพราะอาจทำให้ระคายผิว

-การใช้ยาดำเป็นยาระบายมีข้อควรระวังเช่นเดียวกับมะขามแขก


ที่มา หนังสือบันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร