หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า ในวงเหล้านั้นมีเรื่องเล่า แต่เรื่องเล่าของ “เหล้า” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อยู่กับมนุษย์มายาวนาน อาจเป็นสิ่งที่คนยังไม่รู้จักประวัติความเป็นมาเท่าไหร่นัก

เหล้าหรือวิสกี้ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดแรกที่เกิดขึ้นบนโลก และก็ไม่ใช่ไวน์เช่นกัน แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดแรกที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นคือ เบียร์ โดยจากหลักฐานจานชามต่างๆ ของมนุษย์โบราณพบว่ามีคราบเบียร์เกาะอยู่ โดยเบียร์เกิดขึ้นในช่วง 3,000 ปีก่อนคริสตศักราช ส่วนไวน์เกิดในยุค 2,000 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งสาเหตุที่เบียร์เกิดขึ้นก่อนเพราะข้าวเป็นพืชที่มีการปลูกก่อนนั่นเอง

ส่วนสุราเป็นเครื่องดื่มที่เกิดขึ้นทีหลัง โดยสุราที่เกิดขึ้นชนิดแรกคือ สุราหมัก เกิดจากการใช้วัตถุดิบที่มีน้ำตาลมาหมักกับยีสต์ ยีสต์จะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์และคาร์บอนไดออกไซด์ แต่สุราหมักมีข้อจำกัดที่ว่าได้ปริมาณแอลกอฮอล์ออกมาน้อย สูงสุดไม่เกิน 15%

สุราอีกประเภทหนึ่งคือสุรากลั่น เป็นการนำสุราหมักมากลั่นนั่นเอง โดยเกิดหลังจากที่โลกมีการคิดค้นนวัตกรรมการกลั่นและอุปกรณ์การกลั่นขึ้น ที่เหมือนกับสุราหมักคือวัตถุดิบที่ใช้จะต้องมีความหวาน เช่น ผลไม้, ข้าว, ธัญพืช, อ้อย, พืชผัก ซึ่งการกลั่นจะทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้น การกลั่น 1 รอบ จะได้แอลกอฮอล์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น 2-3 เท่า

กระบวนการกลั่นสุราเกิดจากการนำสิ่งที่หมักได้มาต้ม แต่แอลกอฮอล์มีจุดเดือดอยู่ที่ 78 องศาเซลเซียส ขณะที่น้ำมีจุดเดือดอยู่ที่ 100 องศาเซลเซียส เมื่อต้มที่อุณหภูมิไม่เกิน 80 องศาเซลเซียส สิ่งที่ระเหยออกมาเป็นไอจึงมีแต่แอลกอฮอล์ จากนั้นควบแน่นไอน้ำให้กลายออกมาเป็นหยดน้ำ ก็จะได้แอลกอฮอล์ที่รุนแรงขึ้นและบริสุทธิ์ขึ้น

การกลั่นสุราในรอบแรกมักจะได้แอลกอฮอล์ประมาณ 30-40% ซึ่งโดยทั่วไปการกลั่นสุราจะกลั่น 2 รอบ ทำให้สุรากลั่นที่ได้จะมีแอลกอฮอล์ประมาณ 70%

สุราที่ได้จากการกลั่นจะใส ไม่มีสี แต่ที่เราเห็นว่าเป็นสีอำพันอย่างทุกวันนี้เกิดจากการนำสุรากลั่นที่ได้ไปบ่มในถังไม้โอ๊ค เมื่อถึงขั้นตอนบรรจุขวดจะมีการเติมน้ำเพื่อลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงเพื่อให้สามารถดื่มได้ง่าย มีการเติมกลิ่น หรือเติมสีเพื่อให้สีของสุราในแต่ละล็อตเท่ากัน นอกจากนี้บางชนิดอาจจะมีการเติมน้ำตาลเพื่อเพิ่มความหวานด้วย

แอลกอฮอล์ที่ดื่มได้นี้มีสูตรทางเคมีเช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ที่ใช้ล้างแผล แต่แอลกอฮอล์ที่ใช้ล้างแผลจะมีการเติมสารสีฟ้าเพื่อทำให้ดื่มไม่ได้ แต่ความที่ยังเป็นแอลกอฮอล์ชนิดเดียวกัน ทำให้เรามักเห็นหนังบางเรื่องนำวอดก้ามาใช้ล้างแผล แต่ปริมาณแอลกอฮอล์ก็ยังน้อยกว่ายาล้างแผลอยู่ดี โดยวอดก้ามีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ที่ 40% แต่แอลกอฮอล์ล้างแผลมีปริมาณแอลกอฮอล์ 70%

มีคำกล่าวเรียกวิสกี้ว่าเป็น “น้ำแห่งชีวิต” ที่มาของคำว่าวิสกี้นั้นมาจากว่าคำว่า ยูส บีทธา (Uisge Bheatha) ซึ่งแปลว่า water of life เพราะการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สมัยก่อนเริ่มจากกลุ่มนักบวช ที่นำมาใช้เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค เพราะในอดีตน้ำสะอาดหายาก เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อได้ยามาก็เกรงว่านำไปผสมกับน้ำแล้วจะไม่สะอาด จึงนำไปผสมกับสุราแทน ผลที่ได้คือผู้ป่วยดูทรมานน้อยลง ทำให้การแพทย์นำแอลกอฮอล์มาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา ก่อนจะพัฒนามาเป็นรสชาติต่างๆ อย่างทุกวันนี้ ขณะที่คำว่า ยูส บีทธา ก็เพี้ยนกลายมาเป็นวิสกี้นั่นเอง

วิธีการดื่มวิสกี้ก็แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก ฝั่งยุโรปมักจะดื่มแบบเพียวๆ หรือไม่ก็ใส่น้ำแข็ง ที่เรียกว่า ออน เดอะ ร็อก (on the rock) ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้เกิดการปลดปล่อย fusil oil ของวิสกี้ ทำให้จะเห็นลักษณะเหมือนคราบน้ำเชื่อมในแก้ว โดยวิธีนี้จะทำให้กลิ่นลอยออกมามากขึ้น หวานลดลงนั่นเอง

ส่วนคนไทยมักกินแบบมิกเซอร์ คือ ใส่น้ำแข็งและโซดา สาเหตุอาจเป็นเพราะบ้านเราเมืองร้อน การผสมน้ำแข็งและโซดาก็อาจช่วยเพิ่มความเย็น ดับร้อนได้ หรือเลยไปจนถึงผสมน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ ก็มี เพื่อให้ดื่มง่ายขึ้นนั่นเอง

ปัจจุบันเริ่มเห็นการดื่มวิสกี้ที่ต่างออกไปมากขึ้น มีการจับคู่วิสกี้กับอาหาร เช่นเดียวกับการจับคู่อาหารกับไวน์ ซึ่งถือเป็นการสร้างสุนทรียะที่แปลกใหม่ให้นักดื่มเลยทีเดียว

“ปิ๊ก-ประวิทย์ บุญนิธิไพสิฐ” แบรนด์แอมบาสเดอร์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า เทรนด์อีกอย่างหนึ่งที่เห็นคือการกินดื่มที่มีร้านให้เลือกมากขึ้น จากเมื่อ 10-20 ปีที่แล้วหากอยากจะกินอะไรดีๆ หรูๆ หรือ fine dining รวมไปถึงจะดื่มค็อกเทลดีๆ ต้องเดินเข้าโรงแรมหรือภัตตาคารเท่านั้น แต่ปัจจุบันเราสามารถหาเครื่องดื่มดีๆ ได้จากร้านอาหารสแตนด์อโลน หรือบาร์ข้างนอก เห็นได้จากบาร์เทนเดอร์เก่งๆ เริ่มกระจายออกมาอยู่ข้างนอก หรือเปิดร้านของตัวเองมากขึ้น เพราะการอยู่ในโรงแรมนั้นมีกรอบ มีมาตรฐาน กฎเกณฑ์ เรตเงินเดือน และหลายปัจจัยที่ทำให้บาร์เทนเดอร์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างอยู่ลำบาก ไม่สามารถทำอะไรใหม่ๆ ได้ทันท่วงที ไม่เหมือนร้านข้างนอกหรือเป็นเจ้าของเอง ที่มีอิสระมากกว่า และง่ายต่อการเติบโตมากกว่าด้วย จนกลายเป็นว่าร้านอาหารในปัจจุบันโดยเฉพาะร้านลักชัวรี่และร้านระดับกลาง มักจะมีเมนูเครื่องดื่มแยกออกมาต่างหาก บางร้านเริ่มมีค็อกเทลบาร์ แทนที่ตะเป็นการสั่งแบบขวดมาผสมมิกเซอร์แบบเดิม

ขณะที่เทรนด์การกินอาหารนอกบ้านก็แตกต่างไปจากเดิมมาก จากสมัยก่อนที่เรามักกินข้าวนอกบ้านในโอกาสพิเศษหรือวันสำคัญ แต่ปัจจุบันแค่คิดอะไรไม่ออกก็ไปกินข้าวนอกบ้านแล้ว บวกกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การเดินทางเปลี่ยน ครอบครัวกลายเป็นครอบครัวเล็กๆ มากขึ้น และการกินดื่มที่สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ทำให้เกิดเทรนด์เรื่องการกินดื่มที่กว้างมากขึ้น จนมีร้านอาหารและเครื่องดื่มใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

สิ่งที่คงได้เห็นในอนาคตสำหรับ ”เหล้า” หรือ “วิสกี้” นั้น แน่นอนว่าคงเป็นเมนูใหม่ๆ ที่มีให้เลือกหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่เราอาจนึกไม่ออกเวลาต้องสั่งเครื่องดื่ม แต่ปัจจุบันมีเมนูใหม่ๆ เข้ามาตลอด ด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดียทำให้ข้อมูลข่าวสารไปได้เร็ว ไม่ต้องรอการปากต่อปาก แค่เห็นรูปที่แชร์กันมา ก็ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลมากขึ้นและกินอะไรที่แตกต่างมากขึ้น ขณะที่บาร์เองก็เปลี่ยนไป จากที่เคยกว้างขวาง ปัจจุบันบาร์เล็กๆ แคบๆ อยู่บนชั้น 3 ของอาคารพาณิชย์ก็ยังมี ซึ่งร้านเหล่านี้ก็ต้องพยายามหาเมนูใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ เพื่อดึงคนให้กลับมา


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111

หากพูดถึงการจับคู่เครื่องดื่มกับอาหาร เครื่องดื่มที่ใครๆ นึกถึงเป็นอย่างแรกเลยก็คือเครื่องดื่มที่มีอายุสองพันปีอย่าง “ไวน์” เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีหลายประเภท ทำให้สามารถจับคู่กับอาหารได้หลากหลายชนิด

แต่ทุกวันนี้เริ่มมีการนำเครื่องดื่มอื่นๆ มาจับคู่กับอาหารมากขึ้น ทั้งชา, เบียร์, ค็อกเทล ไปจนถึง “วิสกี้” เครื่องดื่มที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของมนุษย์มาอย่างยาวนาน

Food Pairing ถือเป็นหนึ่งศิลปะการรับประทานอาหารคู่กับเครื่องดื่มเพื่อสร้างสุนทรียะทางการกินให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในมื้ออาหาร

จับคู่เครื่องดื่มกับอาหาร ต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์

การจะจับคู่เครื่องดื่มกับอาหารสักอย่างไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แต่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่ง “ปิ๊ก-ประวิทย์ บุญนิธิไพสิฐ” แบรนด์แอมบาสเดอร์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DMHT เผยเทคนิคให้ฟัง “มติชน อคาเดมี” ว่า หลักการจับคู่อาหารและเครื่องดื่ม คือ ต้องทำให้อาหารและเครื่องดื่มส่งเสริมกัน คือเป็นการกินที่กินแล้วอยากกินทั้งอาหารและเครื่องดื่มไปพร้อมกัน

วิธีการกินวิสกี้กับอาหารมีด้วยกันหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นจิบวิสกี้ก่อนแล้วค่อยกินอาหาร, กินอาหารพร้อมวิสกี้, กินอาหารก่อนแล้วค่อยจิบวิสกี้ หรือเติมวิสกี้ลงในน้ำซุป เป็นต้น ซึ่งแล้วแต่ว่านักรังสรรค์การจับคู่จะตั้งใจให้ออกมาเป็นอย่างไร

“ดังนั้น คนที่จะมาจับคู่อาหารได้จะต้องรู้เรื่องวิสกี้ดีและรู้เรื่องอาหารดี แต่โดยส่วนมากจะใช้คนจาก 2 ฝั่งมาร่วมกันมากกว่า เพราะคงไม่มีใครรู้เรื่องดีทั้ง 2 อย่าง เลยเป็นการเอาเชฟและแบรนด์แอมบาสเดอร์มานั่งคุยกันเมื่อจะทำการจับคู่”

ปิ๊ก-ประวิทย์ กล่าวอีกว่า คนไทยอาจจะคุ้นชินกับไวน์แพริ่ง เพราะไวน์มีหลายประเภท จึงจับคู่กับอาหารได้หลายอย่าง ส่วนวิสกี้นั้นโดยปกติทั่วไปจะไม่ได้มีหลายประเภทนัก มีแต่จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ หรือดิอาจิโอฯที่มีวิสกี้หลากหลาย เข้ากับอาหารหลายๆ อย่างได้ จึงทำให้เป็นเทรนด์ใหม่ที่เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน และมีคนสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนรู้สึกว่าแปลก และอยากลอง

ทั้งนี้ ดิอาจิโอฯถือเป็นผู้นำในการจัดอีเวนต์จับคู่อาหารกับเครื่องดื่มในไทย เริ่มจากโรงแรม สู่ร้านอาหารใหญ่ๆ ล่าสุดมีการจับมือกับร้านเลอบูชอง ร้านอาหารฝรั่งเศสที่ตึกมหานคร รวมถึงจะมีโปรเจ็กต์ร่วมกับร้านอาหารอื่นๆ อยู่เรื่อยๆ

วิสกี้กับอาหารไทย ความสนุกที่แตกต่าง

สำหรับการจับคู่อาหารไทยกับวิสกี้นั้น ปิ๊ก-ประวิทย์ กล่าวว่า ทำได้สนุกกว่าอาหารอื่นๆ เนื่องจากอาหารไทยเป็นอาหารที่มีรสจัด กินกับวิสกี้แล้วสนุกกว่า ง่ายกว่าอาหารต่างชาติ เพราะอาหารฝรั่งส่วนใหญ่รสชาติจะออกมาทางเค็มกับมัน ต้องใช้วิธีรังสรรค์ซอสค่อนข้างยอะ

“ส่วนความยากของอาหารไทย คือ อาหารไทยเด่นอยู่แล้ว การจะเอาวิสกี้ไปอยู่กับอาหารไทยก็ยากเหมือนกัน ยากคนละแบบ วิสกี้จะมีรสชาตินำอาหารฝรั่งส่วนใหญ่ เพราะรสชาติหนักหน่วงกว่า เข้มข้นกว่า อาหารฝรั่งจะรสชาติเบากว่า แต่อาหารไทยส่วนใหญ่จะรสชาตินำ ดังนั้นวิสกี้จะตามอย่างไรให้ไม่โดนกลบจนหมด ซึ่งจะมีวิธีคิดในการลอง เช่น กินก่อน กินหลัง หรือกินพร้อมกัน อาหารลดความเปรี้ยวลงได้ไหม เปลี่ยนจากน้ำใสเป็นน้ำข้นได้ไหม จะเป็นการเปลี่ยนเพื่อดูว่าแบบไหนที่เหมาะสมที่สุดกับวิสกี้ของเรา” แบรนด์แอมบาสเดอร์ DMHT กล่าว

เริ่มต้นด้วยเมนูแรกที่ถูกถูกใจชาวไทยอย่าง “เป็ดอบซอสส้ม” เนื้อเป็ดนุ่มกำลังดี มาพร้อมซอสส้มเปรี้ยวละมุน วิธีการคือกินเป็ดพร้อมซอส เคี้ยวและกลืนลงไปก่อน จากนั้นจิบสก็อตช์ วิสกี้ สูตรพิเศษ ที่ผ่านการหมักบ่มในถังไวน์ ซึ่งวิสกี้สูตรพิเศษนี้มีกลิ่นหอมผลไม้และรสชาติฟรุตตี้ ทำให้สามารถดึงรสชาติซอสส้มให้เด่นขึ้นมาได้ ทิ้งท้ายด้วยรสเผ็ดซ่าของวิสกี้ที่ช่วยตัดเลี่ยน ทำให้กินอาหารได้มากขึ้น

เมนูที่ 2 เป็นเมนูประเภทเนื้อย่างอย่าง “ซี่โครงหมูย่างบาร์บีคิว” เนื้อหมูร่อน นุ่ม มาพร้อมรสชาติเปรี้ยวหวานของซอสมะเขือเทศ กินคู่กับสก็อตช์ วิสกี้ ที่มีอายุการหมักบ่มไม่ต่ำกว่า 12 ปี โดยวิธีการเหมือนเมนูแรกคือเคี้ยวอาหารให้หมดก่อน แล้วจิบวิสกี้ตาม รสชาติแรกที่ได้เลยคือมีความเผ็ดวาบขึ้นมา ทิ้งท้ายด้วยกลิ่นหอมรมควันขึ้นมาผสมกับรสบาร์บีคิวของซี่โครงหมู

ตบท้ายด้วยเมนูที่อยู่กับคนจีนมายาวนานอย่าง “ไก่ตุ๋นเห็ดหอมยาจีน” เนื้อไก่นุ่มมาพร้อมน้ำซุปรสชาติกลมกล่อม หอมกลิ่นเห็ดหอมอบอวล จับคู่กับวิสกี้ที่รังสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษ สูตรเฉพาะที่ได้รับการหมักบ่มเป็นเวลานานถึง 21 ปี วิธีการกินจับคู่คือเติมวิสกี้ลงในถ้วยซุป ทำให้น้ำซุปมีรสชาติเข้มขึ้น มีมิติ

 

ถือเป็นเทรนด์ไลฟ์สไตล์ใหม่ที่ช่วยยกระดับประสบการณ์ และสร้างสุนทรียะที่แตกต่างให้กับการกินดื่ม

 


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111