เรื่อง : กมลชนก ครุฑเมือง

เรียกได้ว่าฝีมือคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ที่ไม่ใช่เฉพาะด้านงานหัตถศิลป์ แต่ด้าน “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” ก็โดดเด่นไม่แพ้กันเลยทีเดียว เห็นได้จากงานเปิดศูนย์เมคเกอร์อัจฉริยะ Innogineer ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล เมื่อไม่นานมานี้ ที่ภายในงานมีการโชว์เคส 9 ผลงานนวัตกรรมสุดล้ำฝีมือคนไทยให้ได้รับชม โดยล้วนเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์และสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ให้แก่สังคมได้ ส่วนจะมีอะไรบ้าง ลองไปดูกัน!

1.จับใจ (Jubjai) แชตบอทเฝ้าระวังผู้มีภาวะซึมเศร้าบนโลกออนไลน์

จับใจบอท เป็นแชตบอท ด้านสุขภาพจิตที่จะช่วยประเมินอาการซึมเศร้าของผู้ใช้งานบนโลก ซึ่งเป็นโปรแกรมให้ถามคำถามอัตโนมัติผ่านทางแชตออนไลน์ของเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “Jubjai Bot” โดยคำถามถูกพัฒนาขึ้นจากแบบประเมินสุขภาพจิตคนไทย หรือ TMHQ ให้อยู่ในรูปแบบการพูดคุยที่เป็นมิตร

จับใจ (Jubjai) แชตบอทเฝ้าระวังผู้มีภาวะซึมเศร้าบนโลกออนไลน์

ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติเสรี เจ้าของนวัตกรรม เผยว่า คำถามนั้นตั้งมาจากนักจิตวิทยา จึงสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ผู้รับการประเมินสามารถเลือกตอบคำถามตามความรู้สึกได้ หากพบว่าผู้รับการประเมินนนั้นมีอาการซึมเศร้ามาก ก็จะช่วยในการตัดสินใจให้ผู้ที่ได้รับการประเมินไปพบแพทย์ได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลในรูปแบบประเมินทุกอย่างจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ

ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติเสรี เจ้าของนวัตกรรม “จับใจ”

2.”ฝึกฝน” นวัตกรรมบำบัดสมองและแขน

“ฝึกฝน” เป็นนวัตกรรมบำบัดสมองและแขน โดยนำเอาวัสดุที่หาง่ายอย่างสเก๊ตบอร์ดมาใช้บำบัดส่วนแขนของผู้ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ โดยมีการประยุกต์เข้ากับเกมเพื่อความเพลิดเพลิน และสามารถใช้งานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้

“ฝึกฝน” นวัตกรรมบำบัดสมองและแขน

ผศ.ดร.เซง เลิสมโนรัตน์ เจ้าของนวัตกรรม เผยว่า เครื่องจะตรวจจับเซนเซอร์จากปลายมือ ซึ่งจะมีเซนเซอร์ตรวจจับสีอยู่บนพื้นโต๊ะ เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนมือไปยังสีต่างๆ จะแทนคำสั่งการควบคุมเกมบนจอคอมพิวเตอร์ ดังนั้นระหว่างการใช้งาน ผู้ป่วยก็จะได้ฝึกสายตา สมอง และการเคลื่อนไหวของแขนไปด้วย จึงเป็นการฟื้นฟูสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ฝึกฝน” นวัตกรรมบำบัดสมองและแขน

3.เดินดี (Dearndee) เครื่องกระตุ้นเท้าตกแบบพกพาด้วยไฟฟ้า ตามจังหวะก้าวเดิน

อีกหนึ่งนวัตกรรมของ ผศ.ดร.เซง เลิสมโนรัตน์ เป็นนวัตกรรม เครื่องกระตุ้นเท้าตกแบบพกพาด้วยไฟฟ้าตามจังหวะก้าวเดิน เพื่อใช้สำหรับการทำกายภาพบำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์ ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุที่ส่วนมากมีอาการปลายเท้าตก โดยที่เครื่อง “เดินดี” นี้มีอุปกรณ์ทั้งหมด 3 ชิ้น คือ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เซ็นเซอร์วางใต้เท้า และขั้วกระตุ้นที่จะติดไว้บริเวณด้านข้างหัวเข่า สำหรับกระตุ้นเส้นประสาท เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ป่วยยกส้นเท้าในจังหวะก้าวเดินได้คล้ายคนปกติ และยังสามารถฝึกสมองและกล้ามเนื้อไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ ยังสามารถกระตุ้นการบำบัดส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้อีด้วย

เดินดี (Dearndee) เครื่องกระตุ้นเท้าตกแบบพกพาด้วยไฟฟ้า ตามจังหวะก้าวเดิน

4.Alertz อุปกรณ์ช่วยเตือนหลับในขณะขับรถด้วยสัญญาณสมอง

ผลงาน “Alertz” เป็นไอเดียจากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นนวัตกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานกับผู้ขับขี่ยานพาหนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ขับขี่รถบรรทุกหรือรถโดยสารที่ต้องขับขี่เป็นระยะเวลานาน

Alertz อุปกรณ์ช่วยเตือนหลับในขณะขับรถด้วยสัญญาณสมอง

Alertz เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นสำหรับการตรวจจับความเป็นไปได้ก่อนเกิดการหลับใน โดยจะแจ้งเตือนคนขับล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Brain-computer Interface ซึ่งเป็นวิธีการวัดสัญญาณสมองแล้วนำไปควบคุมหรือสั่งงานอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ นอกจากนี้ ตัวเครื่อง Alertz ยังสามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เพื่อส่งข้อมูลผ่านทางสายยูเอสบีและบลูทูธได้อีกด้วย โดยจะมีแอปพลิเคชั่นรองรับการใช้งานบนมือถือ ซึ่งสามารถระบุตำแหน่งของผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ได้

5.แม่พิมพ์หล่อซีเมนต์กระดูกแบบปรับเปลี่ยนตามกายภาพของผู้ป่วย

แม่พิมพ์หล่อซีเมนต์กระดูกแบบปรับเปลี่ยนตามกายภาพของผู้ป่วย เป็นนวัตกรรมชีวการแพทย์ที่นำเอาเทคโนโลยีและองค์ความรู้มาบำบัดรักษาผู้ป่วยด้านกระดูก ซึ่งมีภาวะแตกต่างกันได้อย่างลงตัว

แม่พิมพ์หล่อซีเมนต์กระดูกแบบปรับเปลี่ยนตามกายภาพของผู้ป่วย

ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ เจ้าของนวัตกรรม จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นวัตกรรมชิ้นนี้เป็นแม่พิมพ์สำเร็จรูปซีเมนต์ฆ่าเชื้อภายในกระดูกสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ที่มีการติดเชื้อจากการฝังโลหะในร่างกายเป็นระยะเวลานานๆ โดยสามารถออกแบบปรับเปลี่ยนแม่พิมพ์ได้ตามขนาดของเบ้าสะโพกผู้ป่วยที่แตกต่างกันเฉพาะราย โดยการออกแบบด้วย ระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Aided Design , CAD) และการผลิต (Computer Aided Manufacturing , CAM) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้วิจัยและพัฒนาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ เจ้าของนวัตกรรม

6.รถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสัญญาณสมอง

ผลงานชิ้นนี้เป็นของ รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ และ ดร.ดิลก ปืนฮวน จากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ที่มีภาวะแขนและขาเป็นอัมพาต กลับมาเคลื่อนที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อีกครั้ง โดยเฉพาะการเคลื่อนที่ภายในที่พักอาศัย โดยใช้สัญญาณสมองและการจินตนาการการเคลื่อนที่ (Motor Imagery) ในการควบคุมรถเข็นไปในทิศทางต่างๆ นอกจากนี้ยังควบคุมรถเข็นวีลแชร์ด้วยคางได้ และยังมีระบบการสร้างแผนที่แบบเรียลไทม์ด้วยการเก็บบันทึกจากประวัติการเคลื่อนที่ได้อีกด้วย

รถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสัญญาณสมอง

7.อุปกรณ์ขนาดพกพาเพื่อการตรวจวัดแร่ธาตุในพลาสมา

อุปกรณ์ขนาดพกพาเพื่อการตรวจวัดแร่ธาตุในพลาสมา เป็นผลงานของนายกฤติน ญาณวิทยากุล และ ดร.ศิระ ศรีนิเวศน์ อาจารย์ที่ปรึกษา จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล

อุปกรณ์ขนาดพกพาเพื่อการตรวจวัดแร่ธาตุในพลาสมา

โดยเป็นนวัตกรรมที่ใช้ในการตรวจวัดปริมาณแร่ธาตุในรูปของไอออนโซเดียม ไอออนโพแทสเซียม ไอออนคลอไรด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ ในน้ำเลือดที่ได้ทำการแยกเม็ดเลือดแดงออกแล้ว หรือที่เรียกว่า พลาสมา เพื่อให้ข้อมูลประกอบการวินิจฉัยโรคผู้ป่วยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หรือสำหรับผู้ป่วยที่ต้องดูแลสุขภาพตัวเอง โดยมีความร่วมมือกับศูนย์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถานเวชศาสตร์ชันสูตร โรงพยาบาลศิริราช คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

8.อุปกรณ์ตรวจวัดสารเบนซีนในอากาศแบบพกพา

“อุปกรณ์ตรวจวัดสารเบนซีนในอากาศแบบพกพา” เป็นผลงานของนายณัฏฐชัย ทรัพย์วิไล นายนิธิวัฒน์ เหมทานนท์ และนายกฤศ มาตรไพจิตร์ จากภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดลโดยมี รศ.ดร.สุวรรณา (กิจผาดี) บุญตานนท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยเป็นอุปกรณ์พกพาที่สามารถตรวจวัดปริมาณสารเบนซีนในอากาศ ณ แหล่งกำเนิดมลพิษได้อย่างแม่นยำ ซึ่งมีความละเอียดในการตรวจวัดมากกว่าเครื่องมือตรวจวัดเชิงพาณิชย์ทั่วไป

อุปกรณ์ตรวจวัดสารเบนซีนในอากาศแบบพกพา

อุปกรณ์ดังกล่าวยังมีความสามารถในการเฉพาะเจาะจงสารมากกว่า เพื่อประเมินระดับความอันตรายในบริเวณนั้นๆ และใช้ในการวางแผนระบบบำบัดอากาศและป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ปัจจุบันการตรวจวัดสารเบนซีน ณ แหล่งกำเนิดยังไม่สามารถดำเนินการได้สะดวก เพราะยังจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนนำไปตรวจวัดด้วยเครื่อง Gas Chromatography ในห้องปฏิบัติการ แต่อุปกรณ์ตรวจวัดสารเบนซีนในอากาศแบบพกพานี้สามารถตรวจวัดปริมาณสารเบนซีนในอากาศ ณ แหล่งกำเนิดมลพิษได้ทันที

9.การแข่งขันยานยนต์ Formula Student

ทางทีมนักศึกษาชมรม Auto-Tech ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมแข่ง Formula ได้เข้าร่วมการแข่งขัน “โครงการ TSAE Auto Challenge หรือ Formula Student” ที่จัดโดยสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย หรือ TSAE (Society of Automotive Engineers Thailand) โดยมีขอบเขตตามกฎการแข่งขันที่กำหนดเป็นมาตรฐานจาก JSAE แห่งญี่ปุ่น โดยทางทีมนักศึกษาชมรม Auto-Tech ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมแข่ง Formula ได้วางแผนวิเคราะห์ปัญหาจากรถที่เข้าร่วมการแข่งขันในปีที่แล้วมา ออกแบบโครงสร้าง ออกแบบระบบช่วงล่าง เพิ่มสมรรถนะของเครื่องยนต์ ออกแบบระบบ Aerodynamic และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ขึ้นบนตัวรถ รวมทั้งการทดสอบจริง เพื่อที่จะทราบปัญหาที่เกิดขึ้น จุดบกพร่อง และแก้ไขได้ทันท่วงทีเพื่อความพร้อมสำหรับการแข่งขันครั้งต่อไป

นับเป็นนวัตกรรมจากมันสมองของคนไทยที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง!

เรื่อง : กมลชนก ครุฑเมือง, ภาพ : สหชาติ สุวรรณราช

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิด Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์สเปซอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีความมุ่งหวังว่าประเทศไทยจะสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม พัฒนาผู้ประกอบการจาก SME สู่ Startup ปลูกฝัง Entrepreneurial Mindset ให้กับนักศึกษารุ่นใหม่รวมถึงศิษย์เก่า

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โลกของทุกวันนี้และอนาคตเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล ท่ามกลางการแข่งขันที่ร้อนแรง นวัตกรรมต่างๆ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องร่วมด้วยช่วยเหลือกัน ทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา อุตสาหกรรม และทุกภาคส่วนที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนคิดค้นเทคโนโลยีและต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ ให้มีการพัฒนาขึ้นไปให้สูงที่สุด และเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้เปิด Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์สเปซอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง พร้อมเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษา ทั้งให้ความสำคัญของการส่งเสริมผลักดันเมคเกอร์และผู้ประกอบการสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ให้มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นฟันเฟืองสำคัญที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้ และสร้างนวัตกรรมออกมาได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาแก่สังคมและภาค อุตสาหกรรมได้

“Innogineer Studio แห่งนี้นับว่าเป็นศูนย์เมคเกอร์สเปซที่ครบครันทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีพัฒนาต้นแบบประสิทธิภาพสูง โดยระบบนิเวศแห่งนี้จะบ่มเพาะนักศึกษาและเมคเกอร์รุ่นใหม่ให้มีพื้นที่ในการแสดงออก ฝึกฝนความรู้ความสามารถให้พัฒนายิ่งขึ้น เข้าถึงและก้าวทันเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสามารถนำองค์ความรู้มาพัฒนาเพิ่มศักยภาพต่อยอดนวัตกรรม รวมถึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและมนุษยชาติสืบเนื่องต่อไป”นายแพทย์อุดม กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 131 ปี ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยที่สร้างคุณูปโภคแก่สังคมไทยและนานาชาติมาอย่างยาวนาน ด้วยวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งจะเป็น “World Class University” มหาวิทยาลัยระดับโลก และคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็มีความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายที่จะเป็น “World Class Engineering”เช่นกัน จึงเปิดศูนย์ Innogineer Studio ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดที่มุ่งหวังสร้างสังคมนวัตกรรมและผู้ประกอบการ ให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม บ่มเพาะความรู้และปลูกฝังการเป็นผู้ประกอบการ และทักษะด้านเทคนิคชั้นสูง ให้กับนักศึกษา เมคเกอร์ สตาร์ตอัพ วิศวกรและนักวิจัยสาขาต่างๆ เป็นพื้นที่อิสระทางความคิด ปลดปล่อยจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า ศูนย์ Innogineer Studio จะเชื่อมต่อกับระบบสนับสนุนของมหาวิทยาลัยมหิดล (Entrepreneurial Ecosystem) ในหลายๆส่วน อาทิ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ที่สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์สำหรับนักศึกษาที่มีแนวคิดในการทำธุรกิจอีกด้วย และหวังจะดึงดูดเมคเกอร์และสตาร์ตอัพเข้ามาใช้บริการ โดยศูนย์ Innogineer Studio มีพื้นที่รวมกว่า 800 ตารางเมตร ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีระดับโลกที่ประกอบไปด้วย Mechanical Studio, Milling Machine, CNC Machine Electric Studio เต็มไปด้วยความก้าวหน้าของอุปกรณ์ เช่น Electronic Supplier, Microcontroller, Oscilloscope, Power Supply และ Funtion Generator Assembly Studio มีอุปกรณ์ต่างๆ เช่น 3D Scanner ความละเอียดสูงแบบหัวเข็มพร้อมเลเซอร์สแกนเนอร์ (3D Laser Scanning Arm CMM System) Prototyping Studio เช่น 3D Printer, อุปกรณ์ขึ้นรูปพลาสติกแบบ 3D Machine Studio ประกอบไปด้วย เครื่องตัดโลหะ และเครื่องกลึง
Gallery Room เป็นพื้นที่ที่แสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่างๆ

นอกจากนี้ยังมี Co-Working Space เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้และสร้างนวัตกรรม รองรับคนได้ 30-40 คน Meeting Studio พื้นที่ห้องประชุมที่รองรับผู้คนได้ 20-30 คน พร้อมทั้งมีเครื่องเสียงและจอแอลซีดีโปรเจ็คเตอร์ให้บริการ Innogineer Studio Shop ที่สำหรับจัดโชว์เคสแสดงผลงานนวัตกรรมต่างๆ ที่ได้ยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งสามารถใช้งานจริงได้

“สำหรับแผนงานในอนาคตของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็น Innovation Hub ที่ใหญ่ที่สุดของทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยร่วมมือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการพัฒนาระบบรางและผังเมืองน่าอยู่ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง ในด้านศูนย์ศึกษาวิจัยและนวัตกรรมครบวงจร” ผศ.ดร.จักรกฤษณ์กล่าว

ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานนวัตกรรม ซึ่งมีตัวอย่างผลงานที่ได้ยื่นจดทะเบียนแล้ว 9 ผลงาน คือ 1.จับใจ (Jubjai) แชทบอทเฝ้าระวังผู้มีภาวะซึมเศร้ายนโลกออนไลน์ 2.”ฝึกฝน” นวัตกรรมบำบัดสมองและแขน 3.เดินดี (Dearndee) เครื่องกระตุ้นเท้าแบบพกพาด้วยไฟฟ้า ตามจังหวะก้าวเดิน 4. Alertz อุปกรณ์ช่วยเตือนหลับในขณะขับรถด้วยสัญญาณสมอง 5.แม่พิมพ์หล่อซีเมนต์กระดูกแบบปรับเปลี่ยนตามกายภาพของผู้ป่วย 6.รถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสัญญาณสมอง 7.อุปกรณ์ขนาดพกพาเพื่อการตรวจวัดแร่ธาตุในพลาสมา 8.อุปกรณ์ตรวจวัดสารเบนซีนในอากาศแบบพกพา 9.การแข่งขันยานยนต์ Formula Student