มะม่วงน้ำดอกไม้เชียงใหม่มาแรง ส่งออกไปเกาหลี-ญี่ปุ่น คาดสูงถึง 500 ล้านบาท ผู้ส่งออกรายใหญ่ “กลุ่มคิงเฟรชฟาร์ม-อร่อยฟาร์ม-สยามเอ็กซ์ปอร์ต” รับซื้อถึงหน้าสวน ขยายปลูก 10 อำเภอกว่า 5 หมื่นไร่ 

นายอาทิตย์ เกษมศรี ประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมผู้ปลูกมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พื้นที่ปลูกมะม่วงของ จ.เชียงใหม่ เติบโตแบบก้าวกระโดด มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 50,000 ไร่ ในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ พร้าว ฝาง ไชยปราการ เชียงดาว เวียงแหง แม่แตง แม่วาง ดอยหล่อ ดอยเต่า และแม่อาย โดยเกษตรกรได้เปลี่ยนจากการปลูกลำไย ส้ม ยางพารา มาปลูกมะม่วงแทน เพราะให้ผลผลิตดี ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีและญี่ปุ่นมีความต้องการสูง โดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองมีความต้องการถึง 90%

สำหรับปี 2561 คาดว่าผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดปลายเดือนเมษายน-กรกฎาคม มีประมาณ 3,000-4,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 400-500 ล้านบาท โดยจะมีบริษัทที่ส่งออกผลไม้มารับซื้อถึงหน้าสวน เกษตรกร 10 อำเภอ จึงได้รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเดียวภายใต้การบริหารของวิสาหกิจชุมชนชมรมผู้ปลูกมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่ มีสมาชิกจำนวน 42 ราย ซึ่งผลผลิตของเครือข่ายจะซื้อขายผ่านกลุ่มวิสาหกิจที่จะอิงราคาตลาดทั่วประเทศเป็นหลัก โดยขณะนี้เตรียมพัฒนามาตรฐานการผลิตมะม่วงอินทรีย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและมูลค่าของสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้นในอนาคต
(แฟ้มภาพประกอบ)

ขณะที่นายเจริญ คุ้มสุภา ประธานชมรมผู้ปลูกมะม่วงเพื่อส่งออกอำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ใน จ.เชียงใหม่ มีบริษัทส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศเข้ามารับซื้อผลผลิตราว 20 บริษัท มีทั้งบริษัทไทยและเกาหลี เช่น บริษัท คิง เฟรช ฟาร์ม จำกัด บริษัท อร่อย ฟาร์ม จำกัด และสยาม เอ็กซ์ปอร์ตฯ เป็นต้น และมีตลาดหลักเป็นเกาหลี 70% และญี่ปุ่น 30% โดยราคาหน้าสวนอยู่ที่ 50-60 บาท/กิโลกรัม (กก.) ขณะที่ราคาจำหน่ายในเกาหลีอยู่ที่ 200 บาท/กก.

“มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอีกชนิดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ แต่จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลาย เช่น ผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้มะม่วงน้ำดอกไม้สายพันธุ์ใหม่ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและทางเลือกใหม่ให้ตลาด เนื่องจากปัจจุบันประเทศเปรูถือเป็นประเทศคู่แข่งของไทยในตลาดเกาหลี ซึ่งผลผลิตมีราคาถูกกว่าของไทย” นายเจริญกล่าว

ด้านนายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า อำเภอที่อยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของเชียงใหม่ เช่น พร้าว แม่แตง เชียงดาว ฯลฯ เป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ขณะที่พื้นที่ทางตอนใต้เกษตรกรได้เปลี่ยนจากการปลูกลำไยหันมาปลูกมะม่วง เช่น อำเภอดอยหล่อ ดอยเต่า จะปลูกมะม่วงพันธุ์อาร์ทูอีทู, พันธุ์แดงจักรพรรดิและพันธุ์จีนหวง เพื่อส่งออกไปยังตลาดจีน มาเลเซีย เป็นต้น

โดยขณะนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่อยู่ระหว่างการพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะม่วงปลอดสารพิษ ไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี ด้วยการส่งเสริมให้ใช้วิธีการห่อมะม่วงเพื่อป้องกันแมลงวันทอง เพื่อรองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการบริโภคผลไม้ออร์แกนิกหรืออินทรีย์มากขึ้น

 


นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

ปัจจุบันมะม่วงได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น อุดรธานี ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น และพิษณุโลก ซึ่งมีทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะกำลังเป็นผลไม้ยอดนิยมในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่าพันล้านบาทต่อปี

โดยออร์เดอร์จากต่างประเทศมาจาก จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งเวียดนาม โดยมะม่วงสุกพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองและน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ส่งไปจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขณะที่มะม่วงดิบพันธุ์เขียวเสวย ฟ้าลั่น ส่งออกไปเวียดนาม โดยจังหวัดฉะเชิงเทรากำลังยื่นขอขึ้นทะเบียนจีไอ หรือสินค้าผลไม้ที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indications : GI) มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้

แหล่งปลูกมะม่วงที่สำคัญของ จ.ฉะเชิงเทรา อยู่ที่ อ.บางคล้า อ.พนมสารคาม อ.คลองเขื่อน อ.ราชสาส์น และ อ.แปลงยาว รวมพื้นที่ปลูกประมาณ 28,000 ไร่ เกษตรกร 7,300 ราย และได้มาตรฐานการผลิตพืชตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ good agriculture practices (GAP) 57 ราย พันธุ์ที่ปลูกหลัก ๆ ได้แก่ แรด เขียวเสวย น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ขายตึก และมันทวายเดือน 9 ผลผลิตออกมากเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 75-80% ซึ่งราคานอกฤดูกาลจะสูงกว่าในฤดูเกือบ 50% ปีที่ผ่านมาสร้างมูลค่ารวมประมาณ 900 ล้านบาท

ขณะที่ จ.อุดรธานี นอกจากจะมีการส่งออกผลผลิตไปยัง สปป.ลาว ญี่ปุ่น จีน เกาหลี เวียดนาม และรัสเซีย พันธุ์ที่ได้รับความนิยม คือ น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ล่าสุดเกษตรกรได้ร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายเกาหลีส่งออกมะม่วงเสียบไม้ นอกจากนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคและเพิ่มการขายให้มีมากขึ้น จังหวัดได้ติดต่อประสานงานให้เกษตรกรไปจัดแสดงสินค้าและจำหน่ายผลผลิตทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดในประเทศ เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดเมืองทองเจริญศรี

ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมให้เกษตรกรแปรรูปมะม่วงเพื่อจำหน่ายมากขึ้น อาทิ ไอศกรีม มะม่วงแช่อิ่ม วุ้นมะม่วง

นอกจาก อ.หนองวัวซอ ที่เป็นแหล่งปลูกสำคัญแล้ว จังหวัดยังส่งเสริมให้เกษตรกรอีก 10 อำเภอ ขยายฐานการปลูกมะม่วง อาทิ อ.กุมภวาปี นายูง น้ำโสม ทุ่งฝน ไชยวาน เป็นต้น และได้จัดโครงการพัฒนาการผลิตมะม่วงอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำผู้เกี่ยวข้องเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี และสหกรณ์ชมรมสวนมะม่วง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อนำกลับไปพัฒนาการผลิตมะม่วงให้ได้คุณภาพและมาตรฐานการส่งออก ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

สำหรับตลาดมะม่วงของพิษณุโลก นอกจากจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อเพื่อนำไปกระจายยังตลาดไท ตลาดสี่มุมเมืองแล้ว ผลผลิตส่งที่ได้จำนวนหนึ่งมีการส่งออกไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และยุโรป คาดว่ามูลค่าการส่งออกปี 2559/2560 มากกว่า 1,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นประมาณ 40-50% ของผลผลิตรวมทั้งหมด

โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมะม่วง 169,682 ไร่ กว่า 95% หรือ 97,622 ไร่ ปลูกพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองและน้ำดอกไม้เบอร์ 4 และปลูกมากที่ อ.เนินมะปราง และวังทอง มีเกษตรกร 7,513 ครัวเรือน มะม่วงของพิษณุโลกจะออกตั้งแต่ช่วมกราคม-มีนาคม เฉลี่ยราคาในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 20-30 บาท/กิโลกรัม ส่วนส่งออกราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80-100 บาท/กิโลกรัม

สำหรับ จ.ขอนแก่น ขณะนี้จังหวัดได้ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกมะม่วงเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น อ.บ้านแฮด จากที่ผ่านมา สามารถส่งออกผลผลิตที่ได้ไปเกาหลี ญี่ปุ่น และขณะนี้จังหวัดอยู่ระหว่างการเตรียมจะพากลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตมะม่วงของอำเภอบ้านแฮดไปเปิดตลาดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

 


เรียบเรียงจาก นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 เมษายน