นนปูด้วยอิฐสีแดงทอดตัวเรียงเป็นแนวยาวรองรับรอยเท้าของผู้คนจากทั่วสารทิศ คนบนถนนยังบางตา อาจเป็นเพราะยังเช้าอยู่ อากาศหนาวเย็นตั้งแต่เมื่อคืนที่ตัวเลขบอกอุณหภูมิอยู่ที่ 10 องศาเซลเซียส ดูเหมือนจะอุ่นขึ้นมาเล็กน้อยจากแสงแดดที่กระจายเต็มท้องฟ้า “ตูลูส” (Toulouse) ที่มองเห็นด้วยตาเวลานี้เป็นเมืองใหญ่เต็มไปด้วยอาคารสิ่งปลูกสร้างจากอิฐสีแดงที่คนแถวนี้เรียก “Yellow Brick” คำว่า “เยลโล่” เขาหมายถึงสีส้มๆ ของอิฐ ที่เป็นแบบอิฐมอญบ้านเรา

“Yellow Brick” เป็นอิฐที่ทำจากดินเหนียวในท้องถิ่น กรรมวิธีการทำอิฐก็ไม่ต่างจากเมืองไทยมากนัก และด้วยความที่ตึกรามบ้านช่องทุกแห่งในเมืองนี้ล้วนสร้างด้วยอิฐเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เมื่อโดนแสงแดดสาดส่องจะสะท้อนเห็นเป็นสีส้มอมชมพู คนตูลูสจึงเรียกเมืองนี้ในอีกชื่อว่า “นครสีกุหลาบ” หรือ “La Ville Rose”

ถึงแม้จะเป็นเมืองใหญ่อันดับสี่ของฝรั่งเศส รองจากปารีส ลียง และมาร์กเซย แต่ตูลูสก็ยังดูเงียบสงบ เป็นเพราะผังเมืองที่มีการจัดวางอย่างดี แยกโซนกันอย่างชัดเจน ทั้งโซนที่อยู่อาศัย โซนอุตสาหกรรม โซนธุรกิจย่านการค้า และโซนเมืองเก่า เป็นต้น เทศบาลตูลูสได้แยกพื้นที่อุตสาหกรรมออกมาโดยมีโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างสาธารณูปโภครองรับ สภาเมืองเองก็สนับสนุนให้มีการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมไฮเทค ในส่วนของที่อยู่อาศัยก็มี “กรีน แอเรีย” (green area) ไว้สำหรับชาวเมืองเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

บริเวณริมแม่น้ำกาโรน (Garonne) เป็นจุดสวยงามของเมืองที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดเด็ดขาด นอกจากทิวทัศน์อันสวยงามแล้ว ยังมีร้านอาหารให้ไปลิ้มลองอีกด้วย

“กาโรน” เป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งของฝรั่งเศส ไกด์หญิงนำเที่ยวเล่าว่า แม่น้ำกาโรนมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในประเทศสเปนไหลผ่านเมืองตูลูสไปทางตะวันตก และออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก แม่น้ำนี้ถือเป็น “หัวใจ” ของเมืองตูลูสเลยทีเดียว เพราะทำให้ตูลูสเป็นเหมือนโอเอซิสกลางทะเลทราย

แม่น้ำกาโรนยังมีความแปลกไม่เหมือนแม่น้ำใดในโลก คือช่วงที่ไหลจากเทือกเขาในสเปนก่อนจะเข้าสู่ฝรั่งเศส ลำน้ำไหลผ่านโพรงน้ำใต้ดินเข้าไปใน sink hole หรือหลุมยุบใต้ดินเป็นโพรงหินปูนของหุบเขา Aran Valley ในเขตสเปนก่อน แล้วจึงไปโผล่ออกที่ภูเขาอีกด้านหนึ่งซึ่งอยู่ห่างออกไป 4 กิโลเมตรในเขตประเทศฝรั่งเศส ริมแม่น้ำกาโรนเหมาะสำหรับนั่งเล่นตอนเย็นๆ บรรยากาศร่มรื่น มีร้านอาหารเล็กๆ เปิดริมน้ำแม่น้ำนี้มีสะพานข้ามอยู่หลายจุด แต่จุดที่คนนิยมกันว่าดูแล้วสวยที่สุด คือที่สะพาน Le pont neuf เป็นสะพานที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นเอกลักษณ์ประจำเมือง

บ้านเรือนในตูลูสไม่ว่าของเก่าหรือสร้างขึ้นมาใหม่จะมีความกลมกลืนกัน โดยเฉพาะอาคารในเขตเมืองเก่า เทศบาลจะควบคุมอย่างเข้มงวด ทั้งสีสันและรูปแบบการก่อสร้าง ส่วนมากแล้วนักท่องเที่ยวจะเริ่มต้นชมเมืองกันที่จุดท่องเที่ยวหลัก คือ “จัตุรัสกลางเมือง” (Place du Capitole) เป็นจัตุรัสกว้างใหญ่มาก ตั้งอยู่กลางเมือง สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อศตวรรษที่ 18 เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีบ้านเรือนผู้คนอาศัยอยู่เป็นร้อยๆ หลังคาเรือน แต่ถูกทำลายรื้อลงเพื่อสร้างเป็นจัตุรัสใหญ่นี้ขึ้นแทน

 

“ศาลาว่าการ” (Town Hall) ก็ตั้งอยู่บริเวณนี้ด้วย เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 18 ด้านหน้าประตูทางเข้าเป็นหน้าจั่วใหญ่ ตรงกลางของอาคารส่วนบนของหน้าจั่วประดับด้วยเครื่องหมายแสดงถึงอำนาจและความยุติธรรม มีธงสัญลักษณ์ 3 ผืน รวมธงชาติฝรั่งเศสและธงสัญลักษณ์ของเมืองด้วย เมื่อเดินเข้าไป
ข้างในชั้นล่างมีรูปปั้นของเหล่านักบุญตั้งเรียงรายตลอดแนวทางเดิน และเมื่อขึ้นบันไดหินอ่อนไปชั้นสองจะละลานตาด้วยภาพเขียนเฟรสโก้สีสันสดใสสวยงาม ติดตั้งรายรอบห้องโถงทุกห้อง ได้รับการบอกเล่าจากไกด์ว่า ศาลาว่าการแห่งนี้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ตลอดเวลา ยกเว้นกรณีที่มีงานแต่งงาน และหากคุณเป็นชาวตูลูส ยังสามารถใช้สถานที่แห่งนี้จัดงานแต่งงานได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นบริการแก่ชาวเมือง

 

ทุกวันพุธ จัตุรัสแห่งนี้จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งแผงลอยขายของ เปิดเป็นตลาดนัดย่อยๆ สร้างความคึกคักให้กับนักท่องเที่ยวและชาวเมืองที่ออกมาจับจ่ายซื้อของ นั่งดื่มกาแฟตามร้านรายล้อมจัตุรัส ร้านกาแฟรอบๆ จัตุรัสแห่งนี้ หากใครไปนั่งแล้วเงยหน้าขึ้นดูบนเพดาน จะเห็นรูปวาดเกี่ยวกับเมืองตูลูส มีทั้งฝีมือจากจิตรกรสมัยเก่าและสมัยใหม่ให้ชมกันเพลินๆ ระหว่างจิบกาแฟ สิ่งที่น่าสนใจอีกอัน คือ ตรงกลางจัตุรัสเขาจะทำเป็นรูป “จักรราศี” ไว้บนพื้น ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากทีเดียว อย่างน้อยก็ต้องมีสักช็อตถ่ายรูปคู่จักรราศีกลับไปเป็นที่ระลึก

ตูลูสมีความสำคัญอีกด้านหนึ่ง คือเป็นศูนย์กลางการบินและศูนย์การศึกษาอวกาศแห่งชาติ (Centre National d’Etudes Spatiales) ของฝรั่งเศส เพราะมีโรงงานผลิตเครื่องบินแอร์บัส (AIRBUS) ตั้งอยู่ที่นี่ด้วย โรงงานนี้กินเนื้อที่ของเมืองถึง 2,000 กว่าไร่ มีพนักงานในโรงงานมากกว่า 10,000 คน หากรวมพนักงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินในเมืองนี้มีถึง 60,000 คน และถ้าใครสนใจเรื่องราวของเครื่องบินสามารถไปชมได้ที่ “พิพิธภัณฑ์เครื่องบิน” เขาจัดแสดงเครื่องบินทั้งในอดีตและปัจจุบันรวมทั้งเรื่องของเครื่องบินแอร์บัสให้ชม

 

ความรู้แบบคร่าวๆ คือ แอร์บัส เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของฝรั่งเศส เป็นคู่แข่งสำคัญของ โบอิ้ง แห่งสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นจากความบังเอิญและความจำเป็นในสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสต้องการเครื่องบินรบจำนวนมาก และต้องการแหล่งผลิตที่ห่างจากเยอรมนีให้มากที่สุด จึงไม่มีที่ไหนดีไปกว่าตูลูส แต่
เมื่อสงครามโลกทั้งสองครั้งสิ้นสุดลง อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้ยุติลงด้วย แต่ได้พัฒนาต่อยอดเรื่อยมา กระทั่งขยายตัวไปสู่การผลิตดาวเทียมสำรวจและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ด้านอื่นๆ ในปัจจุบัน

นอกจากนี้แล้ว ตูลูสยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนชั้นนำต่างๆ ของโลก อาทิ โรงเรียนชั้นสูงทางด้านวิศวกรรมการบิน, โรงเรียนชั้นสูงทางด้านอุตุนิยมวิทยา, โรงเรียนชั้นสูงทางด้านการรังวัดที่ดิน, โรงเรียนชั้นสูงทางด้านสัตวแพทยศาสตร์ , โรงเรียนชั้นสูงทางด้านศิลปะ เป็นต้น ใกล้ๆกับจัตุรัสกลางเมืองแห่งนี้ยังมี หอศิลป์
ขนาดใหญ่ที่มีภาพเขียนโบราณอันทรงคุณค่า และโรงละคร National du Capitole

ออกจากย่านศูนย์กลางธุรกิจ เข้าไปในโซนมรดกโลก ตึกสีอิฐสูงตระหง่านสองข้างทางขณะที่ทางเดินเป็นเพียงถนนแคบๆ บรรยากาศสงบ ผู้คนไม่พลุกพล่าน ส่วนมากแล้วจะเป็นนักท่องเที่ยวมากกว่าเป็นคนท้องถิ่นที่เดินไปมา เหตุที่มีโซนมรดกโลกก็เพราะในอดีตตูลูสเคยเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรวิซิกอท ในศตวรรษที่ 5 และเป็นเมืองหลวงของแคว้นล็องก์ด็อกในปลายยุคกลาง สถานที่เป็นมรดกโลกที่ไปเยือนคือ มหาวิหารแซงต์ แซร์แนง (La Basilique Saint-Sernin) สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 11-13 เป็นสถาปัตยกรรมโรมันที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปซึ่งได้รับการอนุรักษ์และขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกโลก ตั้งแต่ปี 1998

มหาวิหารแห่งนี้เป็นงานสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะโรมันและโกธิค กล่าวคือมีหอระฆังสูงทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งไกด์อธิบายว่าเป็นศิลปะแบบโกธิค ขณะที่ตัววิหารเป็นศิลปะโรมัน ตามชื่อมหาวิหารแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อบูชานักบุญแชงต์ แซร์แนง และโบสถ์นี้เป็นที่ตั้งศพของเขา เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่นักบุญแชงต์แซร์แนง เป็นบิชอปคนแรกของเมืองตูลูส ถูกพวกนอกรีตจับไปและบังคับให้นับถือรูปเคารพอื่น แต่เขาขัดขืนจึงถูกทรมานด้วยผูกมัดไว้กับวัวกระทิงแล้วให้วิ่งไปทั่วเมืองจนเขาขาดใจตาย ในที่สุดวัวมาหยุดตรงที่เป็นที่ตั้งของโบสถ์นี้ในปัจจุบัน ส่วนถนนที่วัววิ่งไปนั้นมีชื่อว่า “Rue Du Taur” หรือ ถนนวัว ภายในโบสถ์มีการ
บูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง แต่ด้านหน้ายังเป็นศิลปะยุคโรมันที่เก่าแก่ที่สุด ส่วนข้างล่างใต้หอระฆังแปดเหลี่ยมเป็นที่ฝังศพของนักบุญ เสียดายที่ไม่ได้ลงไปดู โบสถ์แห่งนี้ไม่เสียค่าเข้าชม ยกเว้นช่วงที่มีพิธีทางศาสนาจะเข้าไม่ได้

รอบๆ จัตุรัสยังมีโบสถ์และวิหารโรมันแคธอลิกอีกหลายแห่ง ล้วนน่าสนใจ เช่น ตูลูส คาทรีเดล (Toulouse Cathedral) ที่เป็นที่ทำงานของอาร์คบิชอปของเมือง ซึ่งถือว่าเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูง อาคารก็ถูกจัดให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติด้วย นอกจากนี้แล้วยังมีพิพิธภัณฑ์อีกสองสามแห่งที่น่าแวะไปดู ใครมีเวลาต้องขึ้นลิสต์เอาไว้เลย

 

ออกมาจากโบสถ์แซงต์ แซร์แนง เป็นช่วงเย็นแล้ว ต้องรีบลัดเลาะตึกเก่าๆ เพื่อไปยัง ตลาด Victor Hugo ตลาดสดที่ขึ้นชื่อว่ามีของกินอร่อยของตูลูส ซึ่งเมื่อไปถึงก็ไม่ผิดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสะอาด สว่างสดใส และเป็นระเบียบ เรียกว่าถ้าให้เดินทั้งวันก็เดินได้โดบไม่บ่น ตลาดวิกเตอร์ ฮูโก มีขายตั้งแต่ของสดไปจนถึงของแห้ง หมักดอง ของที่ผ่านกรรมวิธีถนนอาหารสารพัด ทำใส่ขวดโหลแบบสดๆ ไม่ใส่สารกันบูด ไล่เรียงแทบไม่ถูก ตั้งแต่หอยนางรมสดๆ แฮม เบคอน ไก่สด กระต่ายสด เนื้อสด เนื้อแห้ง ไส้กรอก ไปจนถึงชีสนับร้อยๆ ชนิด และฟัวกราส์ของขึ้นชื่อของตูลูส บรรจุแพ็คเกจอย่างดี มีหลายขนาด หลายราคา น่าซื้อไปเสียทุกอย่าง

ความพิเศษของตลาดวิคเตอร์ ฮูโก ที่เหมาะกับนักท่องเที่ยวอย่างมากคือร้านขายไวน์ที่นี่ ที่อนุญาตให้ไปซื้อของกินจากร้านอื่นมากินแกล้มไวน์ที่ร้านของเขาได้ด้วย สนนราคาสมเหตุสมผล ไม่ขูดรีดนักท่องเที่ยวจนเกินไป นอกจากตลาดแห่งนี้แล้วยังมีร้านอาหารด้านนอกอีกหลฃายร้าน ส่วนมากแล้วเป็นร้านแบบบิสโทร ขาย
เป็นจานๆ ไม่เป็นคอร์ส และหลากหลายเชื้อชาติ เช่น ร้านอาหารสเปน ร้านอาหารอิตาเลียน ร้านขายเกบัฟ ร้านทาปาส เป็นต้น เสร็จสิ้นการสวมบทพระยาน้อยชมตลาด ท้องอิ่มและได้เวลากลับที่พักพอดี

หนึ่งวันในตูลูส นอกเหนือจากความสนุกสนานเพลิดเพลิน ได้เห็นเรื่องราวของเพื่อนร่วมโลกที่แปลกตาออกไปแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้คนต่างชาติ ต่างภาษาและต่างความคิด นับเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ให้กับชีวิต “ตูลูส” จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่เรียงร้อยไว้ในความทรงจำ


 

ไม่รู้ว่าโรงเรียนในประเทศไทยมีกฎการห้ามใช้สมาร์ทโฟนในห้องเรียนแบบเข้มงวดแค่ไหน แต่ที่ฝรั่งเศสนั้นเรียกได้ว่าเข้มงวดสุดๆ โดยออกกฎห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนโดยเด็ดขาด ซึ่งรวมไปถึงเวลาพัก และบริเวณสนามของโรงเรียนในช่วงก่อนและหลังเลิกเรียนด้วย

โดยรัฐบาลระบุว่า การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนมีสมาธิมากขึ้น ป้องกันการเกิดไซเบอร์บูลลี่ หรือการรังแกกันผ่านพื้นที่ไซเบอร์ และยังจำกัดการเข้าถึงสื่อลามกของเด็กอีกด้วย

มาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน ครอบคลุมไปจนถึงเด็กอายุ 15 ปี

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนระบุว่า มาตรการดังกล่าวนั้นยากต่อการบังคับใช้ และโรงเรียนก็ต้องหาวิธีการในการใช้มาตรการนี้

ทั้งนี้ นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ใช้มาตรการจำกัดเวลาการใช้สมาร์ทโฟนเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงด้วย ซึ่งกฎก่อนหน้านี้ที่มีการประกาศใช้คือห้ามนักเรียนใช้สมาร์ทโฟนในชั่วโมงเรียนเท่านั้น แต่นักการเมืองในได้ผลักดันขยายให้กว้างกว่าแค่ในห้องเรียน แต่ยังต้องรอการเห็นชอบของวุฒิสภา

ถ้าอยากให้นวนิยายหรือละครสักเรื่องสนุกครบรส นอกจากตัวละครเอกอย่างคู่พระนาง ที่เห็นจะขาดเสียมิได้คงเป็น “ตัวร้าย” ดังเช่นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญในละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่สร้างกระแสไปทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ทำไมขุนนางฝรั่งนามว่า “คอนสแตนติน ฟอลคอน” บุรุษรูปงามที่รับบทโดย “หลุยส์ สก๊อต” ถึงได้ถูกมองว่าร้ายกาจนัก

ถือเป็นโชคชะตาหรือบุพเพสันนิวาสก็มิทราบได้ ที่ทำให้นักเขียนชาวฝรั่งเศส “แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์” ผู้เขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ “ฟอลคอนแห่งอยุธยา” ได้รับเชิญจากสถานีโทรทัศน์ช่อง arte ของฝรั่งเศส ให้มาถ่ายทำสารคดีแนะนำจังหวัดลพบุรี บ้านเกิดของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมถึงบ้านพักของพระยาวิไชเยนทร์หรือฟอลคอนถึงสถานที่จริง

นานมีบุ๊คส์ ผู้จัดพิมพ์หนังสือทั้ง 3 เล่มของแคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ คือ ฟอลคอนแห่งอยุธยา ตากสิน มหาราชชาตินักรบ และ หยดน้ำตาสยาม จึงไม่พลาดที่จะไปสัมภาษณ์เธอถึงกระแสละครที่กำลังโด่งดัง ซึ่งเชื่อมโยงกับหนังสือฟอลคอนที่เธอเขียน เธอได้เปิดเผยถึงละครบุพเพสันนิวาสนี้ว่า


“ฉันไม่เคยดูละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากดู ฉันพอรู้มาว่าฟอลคอนในละครนั้นถูกมองว่าเป็นตัวร้าย ซึ่งความจริงแล้วคนไทยในสมัยนั้นก็มองฟอลคอนเป็นตัวร้ายจริงๆ ด้วยความที่เป็นคนโปรดของพระนารายณ์ การเป็นคนโปรดของกษัตริย์ทำให้มีผู้คนอิจฉาริษยา อีกทั้งตัวฟอลคอนยังมีนิสัยหยิ่งยโส แต่ฉันเชื่อว่าแท้จริงแล้วฟอลคอนรักแผ่นดินสยามด้วยใจจริง เขาพยายามเปิดประตูให้สยามติดต่อสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก เพื่อให้สยามปกป้องตัวเองและแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพียงแต่ท่าทีการแสดงออกอาจไม่ถูกต้องนัก ด้วยความหยิ่งยโส ไม่ฟังความเห็นต่าง และฉันเชื่อว่าฟอลคอนผูกพันอย่างลึกซึ้งและจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ส่วนในละครที่ฟอลคอนบังคับให้มารีแต่งงานด้วยนั้น ฉันมองว่าความจริงแล้วตรงกันข้าม ฟอลคอนต่างหากที่ถูกพระนารายณ์บังคับให้แต่งงานกับมารี เพราะทรงเป็นหนี้ชาวญี่ปุ่นเป็นเงินจำนวนมาก จึงใช้การแต่งงานนี้ผ่อนผันจ่ายหนี้ ความจริงฟอลคอนไม่ได้สนใจในตัวมารีเลย แถมยังคิดว่ามารีค่อนข้างซื่อบื้อด้วยซ้ำ แต่มารีเป็นหลานสาวของยามาดะ เศรษฐีชาวญี่ปุ่น ฐานะร่ำรวย นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ฟอลคอนยอมแต่งงานกับมารี เพราะขณะนั้นฟอลคอนเองก็ไม่ได้มีฐานะอะไร นอกจากเป็นพระประสงค์ของพระนารายณ์แล้ว เขาอาจแต่งงานเพื่อยกฐานะตนเองด้วย”


หากย้อนกลับไปถึงแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ ฟอลคอนแห่งอยุธยา เธอกล่าวว่า “ฉันค้นพบเรื่องราวเกี่ยวกับฟอลคอนด้วยความบังเอิญ ฉันไปเยี่ยมชมพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์เคยประทับ แต่บังเอิญไปพบบ้านพระยาวิไชเยนทร์เข้าก่อน พอได้เห็นบ้านพักทูตฝรั่งเศสเลยรู้สึกแปลกใจและสนใจ จากนั้นฉันจึงซื้อหนังสือมาจากพิพิธภัณฑ์และอ่านเจอว่าฟอลคอนทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่กษัตริย์ในสมัยนั้น คล้ายคลึงกับตัวฉันที่ทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่ประธานาธิบดี ฉันรู้สึกว่าน่าสนใจเลยศึกษาเพิ่มเติม โดยตั้งใจจะนำมาเขียนบทความเกี่ยวกับเพื่อนร่วมอาชีพในประวัติศาสตร์ แต่ยิ่งศึกษาก็ยิ่งอยากรู้มากขึ้น และพบว่าเรื่องราวซับซ้อนเกินกว่าจะเขียนเป็นบทความ จากบทความก็เลยกลายเป็นหนังสือเล่มหนาอย่างที่เห็น

“สิ่งที่ฉันพยายามทำให้ดีที่สุดในการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ คือ ถ่ายทอดเหตุการณ์และข้อเท็จจริงต่างๆให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ใช้เวลาค้นคว้าอยู่เป็นปีก่อนเริ่มต้นเขียน และใช้เวลาเขียนอยู่ 5 ปี ระหว่างเขียน ฉันจะกลับไปตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องที่สุด เพราะฉันเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ฉันจึงต้องทำให้มั่นใจว่าคำเรียกขานหรือคำศัพท์ต่างๆถูกต้องตามจริง โดยหลักฐานสำคัญที่ฉันศึกษา คือ จดหมายเหตุซึ่งเขียนโดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่เขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอ หลักฐานส่วนใหญ่ในสมัยอยุธยาถูกทำลายไปพร้อมกับการเสียกรุง แต่โชคดีที่จดหมายเหตุเหล่านี้ได้รับการเก็บรักษาไว้ในฝรั่งเศสและอังกฤษ

ในขณะเดียวกัน ฉันก็พยายามมองประวัติศาสตร์สยามในสายตาของ ‘คนนอก’ ซึ่งน่าจะเป็นมุมมองอันแตกต่างที่ไม่ได้มองประวัติศาสตร์จากมุมมอง ‘ความเป็นไทย’ ตอนที่เขียนฉันพยายามเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร ดังนั้นเรื่องราวจึงเล่าผ่านสายตาของคนนอกที่ไม่ลำเอียงและปราศจากอคติ” เธอกล่าวทิ้งท้าย

ฟอลคอนแห่งอยุธยา

เรื่องราวของฟอลคอนที่เกิดมาอาภัพ เป็นลูกผสมที่ผู้คนรังเกียจ ชีวิตของเขาต้องต่อสู้อย่างทรหด เขาออกทะเลร่อนเร่ไปกับเรือสินค้า ห่างบ้านเกิดเมืองนอนมาไกลโพ้น สู่ทวีปเอเชียที่เต็มไปด้วยความน่าตื่นตาตื่นใจ จากเสมียนสู่พ่อค้า และจากพ่อค้าสู่ขุนนางแห่งอยุธยา ฟอลคอนกลายเป็นขุนนางคนโปรด ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ รับใช้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างใกล้ชิด เรืองอำนาจจนหาใครอื่นในอยุธยาทัดเทียมได้ยากยิ่ง หากแต่อำนาจมักมาพร้อมความรับผิดชอบมากล้น ฟอลคอนต้องเจรจากับผู้คนหลากหลายอย่างมีชั้นเชิง ด้วยคำพูดที่ทั้งอ่อนโยนและแข็งกร้าว ทั้งอ่อนน้อมและเหยียดหยาม ทั้งปลอบโยนและข่มขู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ แต่เพื่อยังประโยชน์แก่อยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ หรือตัวเขาเองกันแน่