หากเข้าไปในร้านลาบแถบอีสานใต้ จะพบตะกร้าผักแกล้มที่มีพืชใบรีกลิ่นหอมเปรี้ยวอ่อนๆ คล้ายยอดมะม่วงแซมอยู่ รสชาติของผักชนิดนี้ฝาดเปรี้ยว ซ่าที่ปลายลิ้นเล็กน้อย ตัดกับรสของเนื้อลาบที่เผ็ดเค็มได้เหมาะพอดีจนได้รับความนิยมอย่างยิ่ง แต่พืชชนิดนี้ไม่ได้เป็นของไทยแต่แรก และเพิ่งเข้ามาในร้านลาบไม่นานนี้โดยเหล่าแรงงานไทยในตะวันออกกลาง จึงเรียกกันว่า “มะตูมซาอุ” “มะตูมแขก” หรือ “สะเดาบาห์เรน”

มะตูม ซาอุ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Schinus Terebinthifolius ชื่อภาษาอังกฤษว่า Brazilian Pepper Tree มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ แถบบราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กมีลักษณะใบคล้ายมะตูม แต่มีดอกคล้ายสะเดา จึงได้ชื่อเรียกในภาษาไทยเช่นนี้ แต่ความจริงแล้วเป็นพืชในวงศ์ใกล้เคียงกับมะม่วง ที่ประเทศต้นกำเนิดอย่างบราซิล ใช้เป็นเครื่องเทศ ส่วนตะวันออกกลางปลูกต้นมะตูมซาอุนี้ใช้เป็นไม้ประดับตกแต่งเนื่องจากปลูก ง่ายและทนต่อสภาพอากาศ แต่แรงงานอีสานที่ไปทำงานในประเทศนั้นเห็นว่ามีลักษณะและกลิ่นน่าจะกินได้ จึงทดลองนำมารับประทานเป็นผักแกล้มน้ำพริก ลาบ และพบว่าเข้ากันได้ดี จึงลักลอบนำเมล็ดกลับมาปลูกด้วยเมื่อถึงเวลากลับบ้าน ซึ่งเหตุที่ว่ามะตูมซาอุนี้มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ที่สภาพภูมิอากาศใกล้ เคียงกันจึงเติบโตได้ดีในประเทศไทยยิ่งไปกว่าอากาศแล้งร้อนแบบอาหรับ

มะตูม ซาอุถูกนำมาเป็นผักแกล้มลาบในประเทศไทยครั้งแรก ไม่สามารถสืบได้ว่าเมื่อปีใดแต่น่าเชื่อว่าจะเริ่มที่จังหวัดร้อยเอ็ด เนื่องจากสามารถพบได้ในร้านลาบและอาหารอีสานในจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นของสามัญประจำตะกร้าผักมากกว่าในจังหวัดอื่น ก่อนจะแพร่ขยายความนิยมไปทั่วทั้งภาคอีสาน และเข้ามาถึงร้านลาบในกรุงเทพมหานคร ผ่านร้านอาหารอีสานตามริมทางยามค่ำคืนที่ส่วนมากลูกค้าเป็นคนขับรถแท็กซี่ ที่มาจากร้อยเอ็ด

โดยเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีตลาดขายส่งขาย ปลีกรับซื้อ-ขาย ไม่ต่างจากผักชนิดอื่น โดยราคาขายที่ตลาดคลองเตย พื้นที่ตลาดลาวซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าวัตถุดิบอาหารอีสานขายให้แก่ร้านอาหาร หรือรถเข็นแผงลอยอีสาน ขายอยู่กำละ 10-15 บาท แล้วแต่ฤดูกาล ส่วนต้นพันธุ์ขายตามตลาดต้นไม้ในราคาต้นละ 80-100 บาท หาได้ไม่ยาก

แม้จะเป็นเอเลียนสปีชีส์ในทางหนึ่ง แต่มะตูมซาอุหรือสะเดาบาห์เรน ก็เหมาะกับประเทศเขตร้อนเช่นเดียวกับอเมริกาใต้ที่เป็นถิ่นกำเนิด ไม่แตกต่างจากพืชพื้นถิ่นอเมริกาใต้ ไม่ว่าจะเป็น จามจุรี (Rain tree) หางนกยูง (Peacock’s crest, Flame tree) ชมพูพันธุ์ทิพย์ (Tabebuia) หรือศรีตรัง (Jaqaranda) ที่ถูกนำเข้าจากต่างประเทศในยุครัชกาลที่ 5-6 มาปลูกจนนึกกันไปเองว่าเป็นพืชท้องถิ่นของไทยที่พบได้ทั่วไปตั้งแต่ในกรุง จนถึงหัวไร่ปลายนาต่างจังหวัด แต่ในกรณีของมะตูมซาอุนั้น เป็นการนำมาปลูกเพื่อตอบสนองการบริโภคของชนชั้นแรงงาน ไม่ใช่การนำเข้ามาปลูกประดับสวยงามตามรสนิยมของชนชั้นสูงในสังคม

จนถึง ทุกวันนี้แม้จะไม่สามารถไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียได้อีกต่อไป แรงงานไทยอีสานที่ไปทำงานขายแรงยังประเทศอาหรับ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน หรือคูเวต ก็ยังสืบต่อการใช้มะตูมซาอุเป็นผักเคียงกินกับลาบและอาหารอีสาน ควบคู่ไปกับโลกยุคใหม่ที่สามารถขนส่งสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารทั้งสดและแห้งจาก ประเทศไทยไปปรุงรับประทานพร้อมกัน

มะตูมซาอุ จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์การเปิดรับสิ่งใหม่จากต่างแดนที่ชาวอีสานออกไปแสวงหา นำเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และรสชาติเก่าแก่ของอีสาน จนได้ความแตกต่างแปลกใหม่ที่ลงตัวและกลายเป็นของมีมูลค่าที่ไม่มีมาก่อนทั้ง ในประเทศต้นทางและประเทศไทยเอง

 


คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง โดย ธีรภัทร เจริญสุข / นสพ.มติชน