ภาพจาก : krua.co

“พ่อค้าตีเมีย” ผักพื้นบ้านชื่อแปลกที่บางคนอาจยังไม่เคยได้ยิน หรือยังไม่เคยเห็น ว่ามีผักชื่อแปลกๆ แบบนี้อยู่จริง วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับผักชนิดนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ

จากบทความวิจัยฯ ของ ดร.ประทุมพร ยิ่งธงชัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงผักชนิดนี้ไว้ว่า พ่อค้าตีเมีย เป็นผักป่าชนิดหนึ่งที่สามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ พบได้ในป่าเบญจพรรณที่มีลักษณะค่อนข้างเย็นและชุ่มชื้น ไม่ได้พบตามป่าทั่วไป สภาพพื้นที่ที่พบมักมีลักษณะเป็นดินทรายมีหินและกรวดซึ่งทำให้ยอดและลำต้นสามารถแทงโผล่มาได้ง่าย เจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝนช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ในพื้นที่ป่าหลายแห่งของจังหวัดลำพูนและแม่ฮ่องสอน พบผักพ่อค้าตีเมียเจริญเติบโตอยู่ในดินทรายปนหินจำนวนมาก หลายต้นกำลังแทงยอดเล็กๆ โผล่ออกมาจากดิน หลายต้นเจริญเป็นต้นที่โตเต็มที่ แผ่ใบสวยงาม และเป็นที่น่าสังเกตว่าบริเวณที่ผักพ่อค้าตีเมียเจริญเติบโต มักพบพืชจำพวกกระเจียว หรือพืชตระกูลขิงชนิดอื่นๆ ขึ้นอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งแสดงว่าพื้นที่นั้นมีความอุดมสมบูรณ์จึงมีพืชหลากหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี การเก็บผักพ่อค้าตีเมียไปรับประทานชาวบ้านนิยมเก็บเฉพาะต้นที่ยอดกำลังคลี่ใบอ่อนเท่านั้นโดยจะตัดส่วนลำต้นและยอดทั้งหมดที่โผล่พ้นดินออกมา ส่วนต้นที่ใบกางเต็มที่แล้วก็จะปล่อยทิ้งไว้ในป่าเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

สำหรับพ่อค้าตีเมียมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Selaginella argentea (Wall ex. Hook & Grew) Spring อยู่ในวงค์ Selaginellaceae มีชื่ออื่นเรียกว่า ผักกับแก้ (ลำพูน) ภาคกลางเรียก เฟินแผง จัดเป็นเครือญาติใกล้ชิดของเฟิน ลักษณะเป็นพืชกึ่งล้มลุก ขนาดเล็ก ความสูงประมาณ 15-50 ซม. ลำต้นผอมบาง ลำต้นตั้งตรง มีเหง้าไหลทอดไปกับพื้น ใบเป็นใบประกอบและมีใบประกอบย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก มีสีเขียวอ่อน ปนกับเขียวเข้ม มันวาว ก้านใบมีขน ต้นที่เจริญ เติบโตเต็มที่จะมีความสวยงาม สามารถปลูกเป็นพืชประดับได้

การนำผักพ่อค้าตีเมียไปปรุงอาหารนั้น ชาวบ้านนิยมนำไปแกงใส่เห็ดนางรมและปลาแห้ง หรือลวกกินกับน้ำพริก ผักพ่อค้าตีเมียที่ชาวบ้านนำไปขายตลาดจะขายเป็นมัดขนาดเล็กมัดละ 10 บาท เมื่อคิดตามน้ำหนักจะราคาประมาณกิโลกรัมละ 150-200 บาทและจะมีขายเพียงครั้งเดียวต่อปี สำหรับคุณค่าทางอาหารนั้น ผักพ่อค้าตีเมียมีคุณค่าอาหารเหมือนผักอื่นทั่วไป มีปริมาณเหล็ก โพแทสเซียม ฟอสฟอรัสและแคลเซียมค่อนข้างสูง มีวิตามินอี วิตามินบี และมีปริมาณแอนติออกซิเดนท์ จึงมีประโยชน์ต่อร่างกาย

ส่วนที่มาของชื่อผักชนิดนี้ว่า พ่อค้าตีเมีย อาศัยเรื่องเล่าจากชาวบ้านว่า พ่อค้าเดินทางไปขายสินค้า พอกลับมาถึงบ้านจึงทั้งเหนื่อยและหิว ด้วยความหิวจึงเรียกภรรยาให้ยกสำรับมาให้ ในสำรับมีแกงผักชนิดหนึ่ง พอพ่อค้าได้รับประทานแกงผักชนิดนี้เข้าไป ผักในแกงยังกรอบและไม่นุ่ม จึงด่าภรรยาว่าแกงผักไม่สุกแล้วเอามาให้รับประทาน และด้วยความโมโหจึงคว้าไม้ไล่ตีภรรยา ซึ่งความจริงแล้วผักชนิดนี้เมื่อนำไปปรุงอาหารจะมีลักษณะเฉพาะคือ มีความกรอบ ไม่เปื่อยยุ่ยเหมือนผักชนิดอื่น ด้วยสาเหตุนี้ผักชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า ผักพ่อค้าตีเมีย ทำให้เป็นผักป่าที่มีชื่อแปลกกว่าผักชนิดอื่น

ผักพื้นบ้านอีสาน เป็นผักที่มีกลิ่นและรสเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หาทานยากเพราะออกตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังเป็นผักที่ให้คุณค่าทางด้านสุขภาพอนามัย โดยแต่ละชนิดก็มีสรรพคุณแตกต่างกัน สามารถนำไปประกอบอาหารประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม แกง อ่อม ล้วนต้องใช้ผักพื้นบ้านเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น หรือผักบางชนิดก็สามารถทานแบบสดได้เลย วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับผักพื้นบ้านเหล่านี้ให้มากขึ้นกันค่ะ

ตาลปัตรฤๅษี หรือ ผักพาย หรือ ผักก้านจอง

เป็นไม้น้ำ พบบริเวณนาข้าว และบริเวณที่มีน้ำขัง ลำต้นเหง้าฝังจมอยู่ในโคลนเจริญเป็นต้น บางครั้งมีไหลสั้นๆ จำนวนมาก

คุณค่าทางอาหาร

ผักตาลปัตรฤๅษี 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 14 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยเส้นใย 0.8 กรัม แคลเซียม 7 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 2 มิลลิกรัม เหล็ก 0.5 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 501 ไมโครกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.08 มิลลิกรัม ไนอาซีน 1.2 มิลลิกรัม วิตามินซี 13 มิลลิกรัม

ส่วนการนำมาประกอบอาหาร สามารถนำมาทำอาหารได้หลายอย่างค่ะ ทั้งลวก ผัดน้ำมันหอย จิ้มน้ำพริก แกงส้ม หรือจะทานแบบสดๆ ก็ได้ค่ะ

ใบมะกอก

ยอดอ่อนและใบใช้รับประทานเป็นผักรสเปรี้ยว นิยมนำมาเป็นผักจิ้ม ทานกับน้ำพริก มีรสชาติฝาด-มัน

สรรพคุณทางยา แก้เลือดออกตามไรฟัน และต้านอนุมูลอิสระ (วิตามินสูง) แก้ธาตุพิการ แก้บิด แก้ดีพิการ ทำให้ชุมคอ แก้กระหาย เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงสายตา แก้กระหายน้ำทำให้ชุ่มคอ และเลือดออกตามไรฟัน

ผักชีล้อม

เป็นเครื่องเทศที่มีลักษณะใบสีเขียวสด ต้นอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด หรือจิ้มน้ำพริก ขึ้นในน้ำหรืออาจปลูกในอ่างบัวก็ได้ นิยมใช้แพร่หลายมาช้านาน ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ดอกผักชีล้อมนั้นสีขาว เป็นพืชปรุงรสที่สำคัญอย่างหนึ่ง มีกลิ่นฉุนรสร้อนแรง ใช้ปรุงอาหารหลายชนิด เชื่อว่ายังช่วยรักษาโรคตา และรักษาสายตาด้วย

ผักชีลาว

เป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับผักชี ลำต้นมีสีเขียวเข้มขนาดเล็ก ลักษณะใบเป็นใบประกอบแบบขนนกมีสีเขียวสดออกเรียงสลับกัน ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกมีลักษณะคล้ายกับซี่ร่ม ผลแก่เป็นรูปไข่แบนมีสีน้ำตาลอมเหลือง ถ้านำไปใช้เป็นเครื่องเทศจะเก็บได้ก็ต่อเมื่อดอกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แต่ส่วนใหญ่จะพบในรูปของการทานสดเป็นผักมากกว่า ซึ่งควรเก็บก่อนที่จะออกดอก

ในประเทศไทยมีการปลูกเพื่อใช้ทานเป็นผักมากกว่าปลูกเพื่อใช้ผลมาทำเครื่องเทศเพราะมีคุณภาพน้อยกว่าประเทศอินเดีย

ใบสดและใบแห้งใช้โรยบนอาหารประเภทปลาเพื่อดับกลิ่นคาว ใบใส่แกงอ่อม แกงหน่อไม้ ห่อหมก แกล้มแกงเนื้อ น้ำพริกปลาร้า ยอดใบรับประทานกับลาบ

ผักกาดหิ่น

คือผักกาดเขียวชนิดพื้นเมือง กาบใบไม่ห่อเป็นปลี มีทั้งชนิดต้นอวบใหญ่ใบหนากว้าง และชนิดต้นเล็กแกร็น ก้านแดง ลักษณะผิวใบจะหยิก ย่น บางชนิดใบจะแยกเป็นร่องหลายแฉก ขอบใบหยัก ที่สำคัญคือ รสชาติเมื่อกัดกินสดๆ จะได้กลิ่นฉุนแรง แทงขึ้นจมูก คล้ายกับกินวาซาบิ

มีสารอาหารสูง ช่วยบำรุงสายตา โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีนที่จะเปลี่ยนเป็นวิตามิน A ให้แก่ร่างกายทำให้ป้องกันโรคตาฟาง (Blurred vision) ตาบอดกลางคืน (Night blindness) หรือต้อตาชนิดต่างๆ ในผู้สูงอายุได้ และยังช่วยต้านการเกิดโรคมะเร็ง มีแคลเซียม วิตามินซี เส้นใยอาหารสามารถป้องกันโลหิตจาง ทั้งยังมีเส้นใยที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของอวัยวะดังกล่าวทำให้ระบบขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ สุขภาพจึงดีตามไปด้วย

ผักติ้ว

เป็นไม้ผลัดใบขนาดเล็ก เปลือกต้นสีเทา เปลือกชั้นในมียางสีน้ำตาล ใบเดี่ยว ใบอ่อนสีชมพูอ่อนหรือแดง กลีบดอกบางสีชมพู ออกดอกในฤดูหนาว พบได้ตั้งแต่พม่า ลาว เวียดนาม จีนตอนใต้ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย

ยอดและใบอ่อนรับประทานเป็นผักได้ ยางและใบใช้เป็นยาสมุนไพร เปลือกใช้เป็นสีย้อมผ้า ให้สีน้ำตาล ในประเทศลาว ใช้เผาถ่าน และใช้กินเป็นผัก

เสม็ดแดง หรือ ผักเม็ก

เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลาง มีความสูงโดยทั่วไป 7 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบอ่อนสีแดง เปลือกสีน้ำตาลแดง แตกสะเก็ดแผ่นบางๆ โคนต้นที่มีอายุมากมักเป็นพูพอน ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบรูปหอกแกมรูปไข่สีเขียว ใบด้านบนเป็นมัน ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ดอกสีขาว ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ออกดอกเดือนมีนาคม-เมษายน ผลสีขาวทรงกลมขนาดเล็ก มีเนื้อเมล็ดเดี่ยว ออกผลเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสเปรี้ยวอมฝาด ลวก หรือใช้รับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ขนมจีนหรือข้าวยำ ในใบเสม็ดแดง (ผักเม็ก) มีสารออกซาเลต (Oxalate) สูง การรับประทานสดหรือจำนวนมากอาจเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไตได้

ใช้ใบสดตำพอกแก้เคล็ดขัดยอกฟกบวม ตำรับยาพื้นบ้านอีสาน ยอดอ่อน กินเป็นยาขับลม แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อในเด็ก

รู้ถึงประโยชน์และสรรพคุณของผักพื้นบ้านอีสานแล้ว ลองเลือกทานกันดูนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย / ภาพประกอบจาก : ร้านแซ่บคัก

ผัก ถือเป็นอีกหนึ่งอาหารที่สามารถนำมาประกอบอาหารทานได้หลายเมนู สำหรับเมืองไทยเราก็ถือว่าเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยพืชผักนานาชนิด โดยเฉพาะผักบ้านๆ ที่มักจะปลูกไว้ตามบ้าน ตามรั้ว หรือตามส่วนต่างๆ และคุณรู้หรือไม่ว่าผักบ้านๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากทีเดียว ลองไปดูกันนะคะว่ามีผักชนิดไหนบ้าง

1. ผักหวานบ้าน
ผักหวาน เป็นผักบ้านๆ ที่หาได้ง่าย แต่อุดมไปด้วยประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง โดยเฉพาะวิตามินเอที่มีส่วนช่วยในเรื่องของสายตา และมีวิตามินเคที่จะช่วยให้เลือดแข็งตัวเร็วหรือช่วยให้บาดแผลหายไว พร้อมด้วยสรรพคุณช่วยลดอาการปวดบวม แก้หัด และช่วยบำรุงสุขภาพคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรได้

2. ย่านาง
สุดยอดผักบ้านที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพร่างกายหลายอย่าง โดยย่านางอุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์สูง ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระให้กับร่างกาย ช่วยชะลอความแก่ชรา และลดริ้วรอยให้น้อยลง นอกจากนี้ ในย่านางยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 3 วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และเบต้าแคโรทีน กินแล้วจะช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะและลดอาการเบาหวานลงได้

3. ชะพลู
ผักบ้านๆ ชนิดนี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นตากันอยู่บ้าง โดยชะพลูมีต้นลักษณะเป็นพุ่ม มีใบสีเขียวขนาดใหญ่ นิยมนำใบมาประกอบเมนูอาหารหลายชนิด ในชะพลูอุดมไปด้วยวิตามินเอ แคลเซียม ธาตุเหล็ก และฟอสฟอรัส ซึ่งมีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายหลายอย่าง กินแล้วจะช่วยแก้อาการท้องอืด ขับลม และช่วยปรับระบบย่อยอาหารภายในร่างกายให้ดีขึ้น เนื่องจากมีกากใยอาหารสูง จึงสามารถช่วยบำรุงธาตุให้แข็งแรง นอกจากนี้ ยังช่วยแก้อาการท้องผูก และช่วยขับเสมหะได้ ไม่เพียงเท่านั้น ชะพลูยังมีเบต้าแคโรทีนจำนวนมากซึ่งจะช่วยบำรุงสายตา ช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น ตลอดจนช่วยลดปัญหาด้านสายตาต่างๆ เช่น แก้โรคตาฟางและป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน

4. ผักปลัง
ผักปลังมักขึ้นเลื้อยเป็นเถา โดยผักปลังนั้นอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียมสูง และมีวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามินเอ บี และซี กินแล้วจะช่วยบำรุงผิวพรรณ บำรุงสายตา และยังป้องกันมะเร็งได้อีกด้วย สำหรับใครที่มีอาการไข้หรือพิษร้อนต่างๆ ผักปลังยังสามารถขับพิษร้อน แก้อาการร้อนใน และถอนพิษไข้จนร่างกายเย็นลงได้ด้วย

5. ผักกูด
สำหรับผักกูดนั้นมีธาตุเหล็กสูงอย่างมาก โดยมีส่วนช่วยบำรุงโลหิตและระบบไหลเวียนของเลือด อีกทั้งยังช่วยดูดซึมแร่ธาตุต่างๆ ให้เข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น ผักชนิดนี้นิยมนำเอามาต้มทานกับน้ำพริก ผัดน้ำมันหอย ยำ ตลอดจนนำยอดอ่อนมาทำเป็นแกงจืด แกงเลียง และแกงส้ม เป็นต้น

ผักบ้านๆ ทั้ง 5 ชนิดเหล่านี้ถือว่าเป็นผักที่สามารถหาทานได้ง่ายในบ้านเรา ซึ่งอุดมไปด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพหลายชนิด ดังนั้น ใครที่ชอบทานผักอยู่แล้วหรือยังไม่เคยลองทาน แนะนำให้เลือกทานผักบ้านๆ เหล่านี้เป็นประจำ ผักใกล้ตัว ราคาถูก หากินง่าย แถมประโยชน์ต่อร่างกายเพียบขนาดนี้ พลาดไม่ได้แล้วล่ะจริงมั้ยคะ

ที่มา : Sanook

นรักสุขภาพทั้งหลายไม่พลาดคำนี้แน่ เพราะ “อาหารธรรมชาติ” เป็นสิ่งที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน และยังเป็น 1 ใน 5 เทรนด์หลักของเรื่องอาหารการกินในปี 2018 ว่ากันด้วยความหมายของคำว่า “อาหารธรรมชาติ” ก็คืออาหารที่ได้จากธรรมชาติหรือผลิตจากธรรมชาตินั่นเอง เป็นอาหารที่ไม่มีสารพิษและสิ่งแปลกปลอมเจือปน ไม่ผ่านการฉีดยาฆ่าแมลง ไม่ผ่านกระบวนการปรุงแบบซับซ้อน ไม่มีการเพิ่มสารสังเคราะห์ หรือรวมถึงสารที่สกัดและสังเคราะห์จากธรรมชาติ เช่น สารกันบูด ผงชูรส การแต่งกลิ่นแบบธรรมชาติ

จะเห็นว่าอาหาร เครื่องดื่ม ที่เขียนบนฉลากว่า แต่งสี กลิ่นเลียนแบบธรรมชาติ เติมสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เหล่านี้ถือว่า ไม่ใช่อาหารธรรมชาติ

บางคนอาจเข้าใจว่าอาหารธรรมชาติ คืออาหารประเภทออร์แกนิค ซึ่งไม่ใช่เลย เป็นคนละเรื่อง อาหารธรรมชาติ มีความหมายตามที่กล่าวมาข้างต้น ส่วน อาหารออร์แกนิค อยู่เหนือชั้นกว่าอาหารธรรมชาติ ลำดับขั้นมีว่าจากอาหารธรรมชาติแล้วจึงไปสู่ ออร์แกนิค หรือ เกษตรอินทรีย์ ซึ่งหมายถึงอาหารที่ไม่มีการปนเปื้อนสารเคมี ทั้งจากดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ หรือการปนเปื้อนทางอากาศจากพื้นที่ข้างเคียง ไม่น้อยกว่า 3-5 ปี แล้วแต่มาตรฐาน ตลอดจนไปถึงขั้นตอนการผลิตในโรงงาน ออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ ต้องไม่ผลิตรวมกับสินค้าเกรดที่ไม่เป็นอินทรีย์

และยังต้องเป็นอาหารที่ปรุงมาจากวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติ ไม่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม บอกถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้น อาหารธรรมชาติ และ ออร์แกนิค จึงแตกต่างกัน

การกินอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นและมีอยู่ตามฤดูกาล เชื่อว่ามีผลดีต่อสุขภาพและช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้ เหตุที่ต้องกินอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นและมีอยู่ตามฤดูกาล เพราะถ้ากินอาหารที่มาจากถิ่นอื่น ซึ่งมีสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศแตกต่างไป จะทำให้มีความต้านทานโรคตามธรรมชาติลดลง นอกจากนั้น อาหารเหล่านี้ยังอาจใส่สารเคมีต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เน่าเสียได้ง่าย ดังนั้น การกินอาหารที่มีอยู่ตามฤดูกาลจะทำให้ร่างกายสามารถปรับตัวให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดี

วัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทย แต่ไหนแต่ไรมา เน้นการกินพืชผักเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นของในท้องถิ่น ไม่ต้องซื้อหา หรือถ้าซื้อก็ซื้อในราคาถูก และปริมาณอาหารที่กินแต่ละมื้อต้องพอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ผักพื้นบ้านไทย จัดเป็นอาหารธรรมชาติที่มีประโยชน์ เป็นได้ทั้งอาหารและยา โดยช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคไขมันในเส้นเลือดสูง ผักพื้นบ้านส่วนใหญ่มักเป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือนิยมปลูกไว้ใช้ในครัวเรือน เช่น ตำลึง กระถิน กระเพรา ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กล้วย ฟักทอง มะเขือ เป็นต้น

อีกชนิดที่ถือเป็นอาหารธรรมชาติ ก็คือ พืชสมุนไพร นิยมนำมาปรุงเป็นอาหาร เพราะสมุนไพรส่วนใหญ่ปลอดจากสารพิษ ทั้งยังอร่อยและเป็นยาช่วยป้องกันและรักษาโรคได้อย่างคุ้มค่าเช่นเดียวกัน แม้คนเราจะรักสุขภาพด้วยการกินอาหารธรรมชาติ แต่การบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดีนั้น ร่างกายต้องได้รับสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ มื้ออาหารควรมีความหลากหลาย เพื่อความสมดุลของสารอาหารและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ

ควรเลือกอาหารที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง ไม่ควรตามใจปาก และปรุงแต่งอาหารโดยไม่จำเป็น อาหารธรรมชาติที่มีการปรุงแต่งน้อยที่สุดจะเป็นสิ่งให้ประโยชน์สูงสุดแก่ร่างกาย ที่สำคัญต้องนึกถึงอาหารประเภทที่มีเส้นใยเสมอ อาหารนั้นมีให้เราเลือกรับประทานอยู่มากมาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพของคนๆ นั้นด้วย ว่าในช่วงเวลาขณะนั้น ควรเลือกรับประทานอาหารแบบใดให้เหมาะสมตามสภาพร่างกายของตัวเอง

ด้วยว่าเป็นเด็กต่างจังหวัดบ้านอยู่ใกล้ตลาด ดังนั้น จึงมีโอกาสไปเดินตลาดในตอนเช้าๆ อยู่เป็นประจำ เวลาเช้าเป็นช่วงที่แม่ค้าพ่อค้าจากท้องไร่ท้องนานำสินค้าจำพวกผักผลไม้พื้นบ้านมาวางขาย มีทั้งผักสด ปลาที่จับมาได้ หอยหลากหลายชนิด และยังของกินแปลกๆ ที่คนกรุงเทพฯ ไม่เคยเห็น เช่น ไข่ผำ หรือ อึ่งย่าง เป็นต้น มีอย่างหนึ่งที่เคยคิดว่าไม่น่านำมาขายได้ แต่ก็ขายได้ นั่นคือ “ลูกตำลึง” ที่บอกว่าไม่น่าขายได้ เพราะมันมักขึ้นเป็นพืชริมรั้ว บ้านไหนก็มีกันทั้งนั้น แต่ดูเหมือนว่าเดี๋ยวนี้ในเมืองออกจะหายากสักหน่อยไปเสียแล้ว

มาว่ากันเรื่องของ “ใบตำลึง” ก่อน ภาษาอังกฤษเขาใช้ “Ivy Gourd” มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพืชปลูกในเขตร้อน และยังเป็นพืชประจำถิ่นของไทยด้วย ในแต่ละท้องถิ่นเรียกชื่อต่างกันไป ตำลึงเป็นไม้เลื้อยมีมือลักษณะคล้ายหนวดเกาะจับ หรือเลื้อยเกาะไม้หลักหรือต้นไม้ใหญ่ ตระกูลเดียวกับบวบ น้ำเต้า และแตงร้าน มีสีเขียวจัด ตำลึงมีลำต้นเดี่ยว มีลักษณะกลมๆ เจริญเติบโตได้ง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามาก ใช้ใบและยอดอ่อนรับประทาน โดยสามารถนำมาประกอบอาหารเมนูต่างๆ ได้มากมาย หลากหลายเมนู อาทิ ผัดใบตำลึง แกงอ่อมใบตำลึง แกงเลียงใบตำลึง แกงจืดเต้าหู้หมูสับ ฯลฯ

ตำลึงมี 2 ชนิด คือตำลึงตัวผู้และตำลึงตัวเมีย

ตำลึงตัวผู้ จะมีใบเป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจเว้าลึก มีสีเขียว ก้านใบยาว มีดอกสีขาวแฉก 5 แฉก ตำลึงตัวผู้ออกดอก แต่ไม่มีลูกเหมือนตัวเมีย ตำลึงตัวผู้นี้ ถ้าคนธาตุอ่อนกินเข้าไป อาจจะทำให้ท้องเสียได้ จึงไม่นิยมรับประทาน

ส่วน ตำลึงตัวเมีย ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจ แต่จะใหญ่สมบูรณ์ ไม่เว้าลึก มีสีเขียว ก้านใบยาว มีดอกสีขาวเช่นกัน แต่มีลูกอ่อนด้วย สีเขียวลายขาวคล้ายแตงกวา คนนิยมรับประทานตำลึงตัวเมียมากกว่า อีกทั้งยังถือว่าตำลึงเป็นพืชสมุนไพร มีประโยชน์และสรรพคุณทางยา รักษาโรคต่างๆ ได้ครอบจักรวาล เพราะนอกเหนือจากเส้นใยอาหารแล้ว ยังมีสารเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ บี1 บี2 บี3 ช่วยบำรุงสายตา มีวิตามินซี ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน มีธาตุแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูก และฟันให้แข็งแรง และฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ป้องกันโรคหลอดเลือดแข็ง ป้องกันโรคหลอดเลือดตีบตัน และยังช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยกำจัดกลิ่นตัวกลิ่นเต่าอีกด้วย

สำหรับ “ผลตำลึง” หรือ “ลูกตำลึง” เป็นผลรีๆ คล้ายแตงกวาแต่เล็กกว่า ผิวเรียบ เมื่อผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน เมื่อผลแก่จัดจะเป็นสีแดงเข้มสวย ภายในมีเมล็ดมาก รสชาติขม ฝาด ขื่น นกกาชอบกินลูกตำลึงสุกมาก

การจะกินลูกตำลึงให้อร่อย เขามีวิธี ต้องตบให้แตกก่อนแล้วบีบเมล็ดทิ้งไป จากนั้นนำไปคั้นกับเกลือ ขยำ ๆ แล้วบีบน้ำทิ้ง ทำสัก 2-3 ครั้งล้างน้ำเปล่า จึงค่อยบีบให้แห้ง พักไว้ รอใส่ลงในแกง ไม่ว่าแกงเผ็ด แกงคั่ว แกงเขียวหวาน ได้หมด ใช้แทนมะเขือเปราะ ผลอ่อนของตำลึงยังสามารถนำมาทำแช่อิ่มได้อีก หรือดองเค็มอมเปรี้ยว ทำเป็นผักดอง ในการนำลูกตำลึงมาทำอาหารนั้นก็มีเคล็ดลับอยู่เหมือนกัน จะทำให้แกงลูกตำลึงอร่อย คือหลังจากทุบเอาเมล็ดออกล้างน้ำเกลือแล้ว ต้องแช่น้ำปูนใส เพื่อให้เนื้อไม่เละเวลานำไปแกง

รู้จักลูกตำลึงกันแล้ว มาลองทำสูตรอาหารจากลูกตำลึงกัน นั่นคือ “แกงคั่วลูกตำลึง” (สำหรับ 4 ที่)

ส่วนประกอบ

ลูกตำลึงอ่อน 35 ลูก
กุ้งชีแฮ้ 150 กรัม
หัวกะทิ 2 ถ้วย  หางกะทิ 3 1/2 ถ้วย
เกลือดเม็ดบด  2  1/2 ช้อนชา
น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา

เครื่องแกง

พริกกะเหรี่ยงสีเขียว-แดง  100 กรัม
เกลือป่น  1 ช้อนชา
กระเทียมไทยกลีบเล็ก 100 กรัม
ข่าหั่นแว่น  2 ช้อนโต๊ะ ตะไคร้ซอย 1/4 ถ้วย
ผิวมะกรูดหั่นละเอียด 2 ช้อนชา
กระชายหั่น 1/4 ถ้วย  กะปิ  1 ช้อนโต๊ะ
ปลาทูนึ่งแกะเอาแต่เนื้อ 1 ตัว

วิธีทำ

1.ทำน้ำพริกแกงโดยโขลกพริกกะเหรี่ยง เกลือ กระเทียม ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด เข้าด้วยกัน ตำให้ละเอียด ใส่กระชายและกะปิโขลกต่อไป ตามด้วยเนื้อปลาทูนึ่งที่แกะแล้ว ใส่เข้าไปโขลกรวมกัน ให้โขลกอย่างละเอียดจนเข้ากันดี ตักใส่ถ้วย พักไว้

2.ล้างลูกตำลึง แล้วทุบให้แตก แคะเมล็ดออกให้มากที่สุด ใส่ลูกตำลึงในอ่างผสม เทเกลือป่น 2 ช้อนโต๊ะลงไปแล้วขยำจนนุ่ม พยายามเอาเมล็ดในลูกตำลึงออกให้หมด เพราะเมล็ดตำลึงมีรสเฝื่อนและฝาด จากนั้นนำไปล้างหลายๆ น้ำให้สะอาด ใส่แช่ลงในอ่างน้ำปูนใสนาน 15 นาทีแล้วนำไปล้างน้ำอีกครั้ง

3.นำกุ้งมาแกะเปลือก เด็ดหัวไว้หาง ดึงเส้นดำออกโดยไม่ต้องผ่าหลัง ล้างให้สะอาด ใส่จานพักไว้

4.ใส่หัวกะทิและหางกะทิ 1 ถ้วยลงในกระทะ ตั้งบนไฟกลาง ใส่พริกแกงลงผัดให้เข้ากันและมีกลิ่นหอม เมื่อเดือดสักครู่ ใส่ลูกตำลึงผัดให้ทั่ว เติมหางกะทิที่เหลือปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาล คนให้ทั่ว ใส่กุ้ง พอกุ้งสุก ปิดไฟ ตักใส่ถ้วย พร้อมเสิร์ฟ

ยิ่งนับวันความนิยมในการรับประทานผักของคนไทยก็ยิ่งมีมากขึ้น ใครๆ ต่างก็พูดว่า “กินผักแล้วไม่อ้วน” และยังมีผิวพรรณสวย หุ่นดี ไม่มีโรค สารพัดผักจึงถูกนำมาปรุงเป็นอาหาร เรียกว่าปีหนึ่งไม่ซ้ำหน้ากันก็ยังได้

หมดจากผักธรรมดาสามัญอย่างแตงกวา ผักกาดขาว คะน้า กะเพรา มะเขือ ถั่วฝักยาว ข้าวโพดอ่อนกันแล้ว คราวนี้เขยิบเข้าไปหา “ผักพื้นบ้าน” กันบ้างล่ะ ที่เห็นชินตาก็มีผักแพว หอมเป ใบบัวบก ขมิ้นขาว นำมาขึ้นโต๊ะเป๊นผักแนมกินกับน้ำพริก ไม่ว่าบ้านไหนบ้านนั้น

ที่จริงแล้วผักพื้นบ้านยังมีมากมายหลายอย่าง บางชนิดคนอาจจะยังไม่เคยเห็นหรือรู้จัก เหมือนเดือนที่แล้วเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนสาวชาวเหนือแนะนำร้านอาหารที่ปรุงอาหารจากผักพื้นบ้านโดยเฉพาะ ชื่อร้าน “เพชรดอยงาม” ตั้งอยู่ใกล้ทางไปสนามบิน

ฝีมือแม่ครัวเขายอดเยี่ยมมาก รสชาติแต่ละชาม (เพราะส่วนมากจะเป็นแกง) ออกนวลๆ นัวๆ อร่อยว่างั้นเถอะ! เอกลักษณ์ของร้านเพชรดอยงามอยู่ที่ผักพื้นบ้านนี่แหละ ซึ่งเขาจะมีเมนูอาหารผักตามฤดูกาลนำมาปรุงอาหารให้ลิ้มลองกัน และที่ร้านนี้นี่เองทำให้รู้จัก “ผักเซียงดา” ชื่อฟังดูเป็นอีสานแต่เจ้าของร้านยืนยันว่าเป็นผักทางเหนือ เมนูวันนั้นเป็น “ผักเซียงดาผัดไข่” และ “แกงผักเซียงดาไข่มดแดง” ทั้งสีสัน รสชาติรับประกันความอร่อยสำหรับคนชอบอาหารพื้นเมือง

ว่าไปแล้ววันนี้มารู้จักผักพื้นบ้านชื่อแปลกกันดีกว่า อย่างผักเซียงดาที่กล่าว เป็นผักไม้เลื้อย ชาวเหนือในแถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา นิยมปลูกเป็นผักสวนครัวไว้หน้าบ้าน อยากกินเมื่อไหร่เด็ดยอดไปทำอาหารกินได้ทันที ใบเซียงดามีสีเขียวเข้ม รูปกลมปลายแหลม คล้ายใบชะพลู แต่มีเส้นใยน้อยกว่า เป็นผักปลูกง่ายแมลงไม่รบกวน

คนเหนือนิยมนำผักเซียงดามาทำแกงแค แกงเลียง เพราะเมื่อปรุงสุกจะมีรสหวาน ทำให้น้ำแกงได้ความหวานจากผักโดยไม่ต้องใส่เครื่องปรุงรส นอกจากนี้ยังนิยมนำมากินสดแนมกับน้ำพริกชนิดต่างๆ เช่น น้ำพริกน้ำปู๋ น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกตาแดง หรืออย่างลาบไก่ ลาบเนื้อ หลู่ ตำขนุน เป็นต้น

ผักเชียงดามีวิตามินสูง และมีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ ชาวบ้านนิยมกินผักเชียงดาหน้าร้อน เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกาย หมอยาพื้นบ้านจะใช้ผักเชียงดาเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อยจากการทำงาน ยังช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยชำระล้างสารพิษตกค้างในร่างกาย ผักเซียงดายังช่วยลดและควบคุมปริมาณไขมันในร่างกายให้สมดุล และสามารถช่วยให้มีการนำน้ำตาลไปเผาผลาญมากกว่าการนำไปสร้างเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

บางครั้งมีการใช้ผักเชียงดาเป็นทั้งยาสมุนไพรและเป็นอาหาร คล้ายยาครอบจักรวาลของยาแผนปัจจุบัน ถึงกับมีการพูดกันว่า “คิดไม่ออกบอกผักเซียงดา” เช่น แก้เบาหวาน เวียนหัว ปวดหัว ตัวร้อน เป็นต้น ปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรรวบรวมผักเชียงดามาปลูกในแปลงขนาดใหญ่ เพื่อเก็บยอดไว้ขายในเชิงการค้าแล้ว

สำหรับเมนูอาหารที่ทำจากผักเซียงดา มีตั้งแต่ผักเชียงดาผัดไข่ แกงผักเชียงดาไข่มดแดง ผักเชียงดาผัดน้ำมันหอย และบางครั้งชาวบ้านนิยมนำมาแกงรวมกับผักตำลึงและยอดชะอม เพื่อใช้รักษาอาการท้องผูกอีกด้วย

จากผักเซียงดามาถึง “ผักปลัง” หรือ “ผักปั๋ง” เป็นผักที่เป็นไม้เลื้อยเช่นกัน มี 2 พันธุ์ คือพันธุ์ก้านสีเขียว (ผักปลังขาว) และก้านสีม่วง (ผักปลังแดง) ผักปลังมีลำต้นและใบอวบน้ำ ใบสีเขียวเป็นมันรูปหัวใจ ปลายแหลม ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ผักปลังขึ้นเองตามธรรมชาติในที่รกร้างว่างเปล่า คนเหนือส่วนมากมักปลูกไว้ตามรั้วหรือค้างในบ้าน เพื่อนำยอด ใบอ่อน และดอกมาแกงกินอย่างง่ายๆ

ข้อเสียของผักปลังเมื่อนำมาทำอาหาร คือจะเป็นเมือก แต่ก็มีวิธีแก้โดยนำผักปลังที่ล้างสะอาดและสะเด็ดน้ำแล้ว ลงต้มในน้ำเดือดก่อน ระหว่างต้มบีบมะนาวลงไปเล็กน้อยก็สามารถขจัดเมือกได้แล้ว น้ำแกงจากผักปลังจะมีรสหวาน เนื้อผักนุ่มกินง่าย ถ้าปรุงอาหารที่มีรสเปรี้ยวจะไม่เป็นเมือกมาก ยอด ใบอ่อนและดอกนำมาลวกหรือนึ่งจิ้มน้ำพริก คนเหนือกับคนอีสานมักเด็ดยอดตูมมาแกงส้ม ผัดกับแหนม หรือแกงเลียงใส่ปลา, ปลาย่างหรือกุ้งแห้ง ถ้าใส่ปลาย่างมักใส่พริกแห้งแทนพริกสด

ถ้านำมาแกงจะใส่น้ำเล็กน้อยให้ขลุกขลิกและไม่ใส่มะนาว เรียกว่า “เจี๋ยวผักปั๋ง” คนอีสานนิยมนำยอดและดอกมาแกงอ่อมต่างๆ เช่น อ่อมหอยขม หรือลวกกินกับน้ำพริกปลาร้า “แกงผักปั๋งใส่แหนม” เป็นเมนูยอดฮิตของชาวเหนือ และยังนิยมกินผักปลังลวกกับน้ำพริกตำ น้ำพริกตาแดง นำไปแกงกับถั่วเน่า จอผักปั๋งใส่มะนาว เอาดอกผักปลังจอกับแหนม ส่วนคนกรุงเทพฯ จะนำมาผัดผักไฟแดงหรือผัดผักน้ำมันหอย ผักปลังนอกจากเป็นอาหารแล้วยังใช้ทำยาด้วย แก้โรคท้องผูก

“ผักเสี้ยน” ภาคเหนือเรียก “ผักส้มเสี้ยน” เป็นวัชพืชขึ้นตามธรรมชาติบริเวณริมทางที่รกร้าง ชอบดินชื้น ไม่นิยมกินสดเพราะมีสารไฮโดรไซยาไนด์ ซึ่งเป็นพิษต่อประสาทส่วนกลาง ต้องนำไปดองเสียก่อนสารพิษนี้จึงละลายไป ผักเสี้ยนสดมีรสขม ดังนั้น ในการทำเป็นอาหารจึงเหมาะสำหรับนำมาดองเปรี้ยว ซึ่งให้รสชาติดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการนำไปปรุงด้วยวิธีอื่น

ผักเสี้ยนดอง นับเป็นผักดองที่นิยมกินกันทุกภาคและมีขายตลอดทั้งปี ผักเสี้ยนสามารถนำไปต้มหรือลวกให้สุกเพื่อให้หายขมและหมดกลิ่นเหม็นแล้วนำไปเป็นผักจิ้มน้ำพริกก็ได้ แต่ไม่นิยมกัน ผักเสี้ยนดองมีรสเปรียวร้อน คนใต้จะกินเป็นผักร่วมกับขนมจีนน้ำยา จิ้มน้ำพริกต่างๆ หรือนำไปทำแกงส้มใส่กุ้งหรือปลา และยังมำเมนูผักเสี้ยนดองผัดไข่ ผักเสี้ยนดองต้มกับปลา เป็นต้น

ผักเสี้ยนดอง มีทั้งดองเค็มและดองเปรี้ยวกินกับป่น หรือแจ่ว คุณค่าทางยาแม้จะผ่านการดองแล้วแต่ปริมาณเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นของวิตามินเอยังสูงอยู่ และมีวิตามินแร่ธาตุอื่นๆ อีก ผักเสี้ยนยังมีคุณสมบัติด้านสมุนไพร อาทิ บำรุงเสมหะให้เป็นปกติ ฆ่าพยาธิในท้อง แก้ลมพิษ

อีกชื่อผักที่แปลก “ผักหนาม” เป็นการเรียกตามลักษณะลำต้นที่มีหนามเกาะเต็มตามเส้นใบด้านล่างและตามก้านใบ ใบอ่อนม้วนเป็นแท่งกลม แต่หนามอ่อนที่อยู่ตามยอดอ่อนกินได้เพราะเป็นหนามนิ่ม ยอดจะแทงขึ้นมาจากเหง้า ผักหนามมักขึ้นตามแหล่งธรรมชาติในที่ชื้นแฉะมีน้ำขัง เช่น ริมน้ำ ริมคู คลอง หนอง บึง ตามร่องน้ำในสวน หรือบริเวณดินโคลนที่มีน้ำขังทั่วทุกภาค ชอบดินร่วน ความชื้นมาก และแสงแดดเต็มวัน

ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนของผักหนามมีรสจืด กินสดไม่ได้เพราะมียาง ทำให้คันคอและมีพิษ ดังนั้น ต้องทำให้สุกก่อนจะกิน โดยต้มแล้วเอาไปจิ้มสารพัดน้ำพริก ผักหนามเมื่อสุกจะมีรสพิเศษคือหวานปนขม เปรี้ยวนิดๆ จึงนิยมนำไปต้มกับหางกะทิ รสหวานมันของกะทิช่วยเพิ่มความนุ่มและรสชาติผักให้อร่อยยิ่งขึ้น แต่ถ้านำไปดองจะมีรสเปรี้ยว จึงใช้ทำผักดองแกล้มแกงไตปลาและขนมจีนของคนปักษ์ใต้ จอใส่ส้มมะขามเหมือนจอผักกาด รับประทานร่วมกับน้ำพริก หรือนำไปผัด ทำแกง อย่างแกงส้มใส่เนื้อปลาช่อน แกงกะทิใส่เนื้อปลาย่าง แกงไตปลา แกงบวน แกงอ่อม เด็ดสุดคือผักหนามดองเปรี้ยวจิ้มกับน้ำพริกปลาร้า หรือน้ำพริกกะปิ

ลำต้นผักหนามมีรสเผ็ดชา จึงมีสรรพคุณทางยา ใช้เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ รักษาผิวหนังเน่าเปื่อยเป็นหนอง ใช้เป็นยาถอนพิษ บ้างก็ใช้ลำต้นแห้งทำเป็นยารักษาโรคผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ใบ ก้านใบ และต้นผักหนามมีสารไซยาโนเจนิกไกลโคไซด์ (Cyanogenic. Glycosides) ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ ได้ ซึ่งเป็นสารพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนของเลือด

เมื่อได้รับพิษหรือรับประทานเข้าไปดิบ ๆ จะทำให้อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระตุก หายใจลำบาก มึนงง ไม่รู้ตัว มีอาการขาดออกซิเจน ตัวเขียว ถ้าได้รับมากจะทำให้โคม่าภายใน 10-15 นาที และเสียชีวิตได้ ดังนั้น ก่อนนำมารับประทานจะต้องนำไปทำให้สุกหรือดองเปรี้ยวเพื่อกำจัดพิษไซยาไนด์เสียก่อน สำหรับคนที่รักความสวยงามของต้นไม้ ผักหนามสามารถนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้กระถางประดับอาคารให้สวยงามได้ไม่ด้อยไปกว่าพืชประดับชนิดอื่น เพราะมีใบ ช่อดอก และลำต้นที่สวยงาม

อีกชนิดของผักพื้นบ้านที่เป็นเถาไม้เลื้อยชอบขึ้นพาดไปกับต้นไม้อื่นๆ “ส้มป่อย” คนแม่ฮ่องสอนเรียกกันว่า “ส้มขอน” หรือ “เงี้ยว” ต้นและใบมีลักษณะคล้ายต้นชะอม ขึ้นตามป่าที่ราบเชิงเขา ยอดมีสีแดงคล้ำ มีหนามอ่อนๆ ซึ่งจะแตกในช่วงฤดูฝน เป็นผักพื้นบ้านที่มีรสเปรี้ยว

ฝักส้มป่อยจะใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เชื่อกันว่าช่วยปัดรังควาน ขจัดปัดเป่าความทุกข์โศกให้หายไป คนไทยใหญ่ใช้ฝักส้มป่อยในพิธีกรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะงานสะเดาะเคราะห์ เพราะเชื่อว่าส้มป่อยเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ช่วยขจัดเคราะห์กรรม ความอัปมงคลให้หลุดพ้นจากชีวิต ถ้าคนไหนไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เอาส้มป่อยมาต้มอาบหรือล้างหัว ล้างหน้า พิธีรดน้ำมนต์ส่วนมากก็ใช้น้ำฝักส้มป่อย

การเก็บฝักส้มป่อยที่จะใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ต้องเก็บในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 จึงจะศักดิ์สิทธิ์ หรืออย่างน้อยก็ต้องเก็บก่อนฟ้าร้องหรือก่อนฝนตก เพราะหากฟ้าร้องฝนตกแล้วถือว่าไม่เป็นยา ไม่ขลัง ชาวบ้านจะเลือกเก็บฝักส้มป่อยที่แก่จัด นำไปตากในกระด้งให้แห้งสนิท เก็บใส่ตะกร้า ไว้ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ก่อนนำไปใช้นิยมนำฝักส้มป่อยไปผิงไฟพอให้สุก ส้มป่อยจะมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยว ผู้ที่เคยล้างหน้าหรืออาบด้วยน้ำส้มป่อยแล้ว ย่อมรู้สึกได้ถึงความมีสิริมงคล เพราะกลิ่นหอมแทรกรสเปรี้ยวของส้มป่อยช่วยให้สดชื่นมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที ส้มป่อย ยังเป็นยาสระผมธรรมชาติ สมัยโบราณจะใช้น้ำจากฝักส้มป่อยสระผมเพื่อให้ผมเป็นเงางามสลวย ปัจจุบันในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือก็ยังใช้อยู่

ในแง่ของอาหาร ชาวเหนือและชาวปักษ์ใต้นิยมกินผักส้มป่อยทั้งสดและปรุงสุก ส้มป่อยช่วยดับกลิ่นคาวปลาได้ดี จึงมักนำมาทำอาหารกับปลา หรือทำจอทางภาคเหนือ ทางใต้ก็นำมาทำแกงส้มกับปลาย่าง หรือกุ้งเสียบ ต้มกะทิใส่ปลาย่าง ปลาฉิ้งฉ้างหรือปลากระป๋อง อาทิ แกงส้มปลาดุกใส่ยอดส้มป่อย แกงเขียดน้อยใส่ยอดส้มป่อย หรือต้มใส่อึ่ง ข้าวผัดดอกส้มป่อย

เมนูอาหารจากผักพื้นบ้านเหล่านี้ หากจะหารับประทานจากร้านอาหารทั่วไปอาจจะหายากสักหน่อย แต่ถ้าหากลองไปเดินตลาดที่ขายผักพื้นบ้าน อยากกินชนิดไหนซื้อมาแล้วลงมือปรุงด้วยตัวเองตามสูตรหรือตำราที่หาไว้แล้ว ก็จะได้ทั้งความสนุกและความอร่อยจากฝีมือเราเอง แค่ระวังไว้นิดว่าผักพื้นบ้านบางชนิดมีพิษ กินเข้าไปไม่ถูกวิธีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

——————————————

Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111