สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในการพยุหยาตราทางชลมารคก็คือ “เสียงเห่เรือ” ซึ่งเปรียบเสมือนการเริ่มต้นพระราชพิธีอันสูงค่าของปวงชนชาวไทย เสียงเห่ที่สอดประสานกับเสียงดุริยประโคมอย่างกลมกลืนนี้ นอกเหนือจากทำให้เกิดความไพเราะงดงามในขบวนพยุหยาตราแล้ว ยังเป็นสัญญาณให้ฝีพายจำนวนมากรับรู้จังหวะการพายให้พร้อมเพรียงกัน กระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิม เปลี่ยนความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากระยะทางที่ยาวไกล ให้กลายมาเป็นความสนุกสนานรื่นเริงแทน

ตั้งแต่สมัยโบราณกาล ท่วงทำนองในการเห่เรือแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ “ช้าละวะเห่” หรือเรียกว่า “เห่ช้า” เป็นท่วงทำนองช้า ใช้เริ่มต้นในการเห่ ทำนองไพเราะ ฝีพายพายช้าๆ เนิบๆ ถือเป็นการให้สัญญาณเริ่มต้นเคลื่อนเรือในขบวนทุกลำไปพร้อมๆ กัน อย่างช้าๆ บทนี้ขึ้นต้นว่า….“เห่เอ๋ย…พระเสด็จ…โดย…แดน (ลูกคู่รับ โดยแดนชล)” การเห่ทำนองช้าละวะเห่นี้ ฝีพายจะอยู่ในท่าเตรียมพร้อม จนกระทั่งลูกคู่รับท้ายต้นเสียง จึงเริ่มจังหวะเดินพายจังหวะที่  1 บทเห่ที่เป็นตัวอย่างในตอนที่เป็นทำนองช้าละวะเห่ คือ บทที่เป็นกาพย์ยานีบทแรก ในพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ความว่า “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย  กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย พายอ่อนหยับจับงามงอน”

ต่อมา คือ “มูลเห่” หรือ “เห่เร็ว” เป็นการเห่ในจังหวะกระชั้นกระชับ เร็วขึ้น เมื่อฝีพายเริ่มเข้าที่จะมีการเปลี่ยนอิริยาบท เพื่อให้ฝีพายสนุกสนานครื้นเครงขึ้น พนักงานนำเห่ แล้วลูกคู่จะรับว่า “ชะ…ชะ…ฮ้าไฮ้” และต่อท้ายบทว่า เฮ้ เฮ เฮ เฮ…เห่ เฮ ฝีพายจะเร่งพายให้เร็วกว่าเดิมตามจังหวะกระทุ้งเส้า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในตำนานเห่เรือว่า มูลเห่ คงหมายความว่า เห่เป็นพื้น ใช้ขณะพายเรือทวนน้ำ ต้องพายหนักแรง จึงพายจังหวะเร็วขึ้น และใช้เห่ทำนองเร็ว มีพลพายรับ “ฮะไฮ้”  มูลเห่ จึงเป็นทำนองยืนพื้น พนักงานเห่จะร้องตามบทเห่เป็นทำนอง แล้วฝีพายจะรับตลอด จึงเป็นทำนองที่สนุกสนานด้วย ใช้ประกอบการพายพาขบวนเรือไปจนเกือบถึงที่หมาย

“สวะเห่” พนักงานนำเห่และพลพายจะต้องจำทำนองและเนื้อความทำนองสวะเห่ให้แม่น เพราะต้องใช้ปฏิภาณ คะเนระยะทาง และใช้เสียงสั้นยาวให้เหมาะแก่สถานการณ์  นับว่าเป็นการเห่ที่ยากที่สุด แต่แสดงความสง่างามของกระบวนเรือได้ดี การเห่ทำนองนี้เป็นทำนองเห่ตอนนำเรือเข้าเทียบท่าหรือฉนวน คือ เมื่อขึ้นทำนองเห่นี้ ก็เป็นสัญญาณว่า ฝีพายจะต้องเก็บพายโดยไม่ต้องสั่งพายลง บทเห่ทำนองนี้ ขึ้นต้นว่า “ช้าแลเรือ” ลูกคู่รับ “เฮ เฮ เฮ เฮโฮ้ เฮโฮ้” วรรคสุดท้ายจบเรือพระที่นั่งก็จะเข้าเทียบท่าพอดี และจบบทเห่

โดยสรุป ปัจจุบันทำนองการเห่เรือพระราชพิธีมีอยู่ 3 ทำนองเท่านั้น หากนับรวมการเกริ่นเห่ หรือ เกริ่นโคลงด้วย ก็จะรวมเป็น 4 ทำนอง นอกจากนั้น ในปัจจุบันการเห่เรือพระราชพิธีจะใช้เฉพาะตอนเสด็จพระราชดำเนินไปเท่านั้น ตอนเสด็จพระราชดำเนินกลับ เรือแล่นทวนน้ำจะใช้วิธีขานยาว โดยพนักงานขานยาวออกเสียงว่า “เย้อว..” ซึ่งแตกต่างจากสมัยโบราณ  การเห่เรือหลวงปัจจุบันได้นำเอา “กาพย์เห่เรือ” ซึ่งเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร ทรงนิพนธ์เมื่อสมัยอยุธยามาเห่เสมอ บทร้อยกรองที่เรียกว่ากาพย์เห่เรือ มีฉันทลักษณ์โดยการเกริ่นนำด้วยโคลงสี่สุภาพ 1 บท ตามด้วยกาพย์ยานีไม่จำกัดจำนวนบท “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร” หรือ “เจ้าฟ้ากุ้ง” คือแม่แบบการแต่งกาพย์เห่เรือในสมัยต่อมา

สำหรับเนื้อความกาพย์เห่เรือนั้น เป็นบทพรรณนาถึงความงดงามและลักษณะของเรือในขบวนพยุหยาตรา รวมถึงการชื่นชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำ มีบทชมนก ชมไม้ และชมปลา เสียงเห่เรือที่ไพเราะงดงามประกอบกับท่วงท่าพายเรือที่เข้มแข็ง ล้วนเต็มไปด้วยชีวิตจิตใจ น้ำนำพาริ้วขบวนเคลื่อนไปตามกระแสน้ำอย่างมีจังหวะจะโคน สร้างความตราตรึงให้เกิดขึ้นในใจผู้คนทั่วไปเสมอ

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จะมีขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเริ่มจากท่าวาสุกรี ถึงวัดอรุณราชวราราม รวมระยะทาง 4.2 กิโลเมตร

กล่าวถึงกาพย์เห่เรือที่ใช้เห่ในพระราชพิธีครั้งนี้ เป็น “กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ” บทประพันธ์ของ “นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย” อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นศิลปินดีเด่น จ.ราชบุรี และคนผู้นี้เคยประพันธ์กาพย์เห่เรือ เพื่อใช้ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มาแล้ว 6 ครั้ง อาทิ กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกา ธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร, การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามเมื่อปี 2539, กาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 และกาพย์เห่เรือขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในโอกาสประชุมเอเปค พ.ศ. 2546 เป็นต้น

นาวาเอกทองย้อย ปัจจุบันคือศิลปินอาวุโสวัย 74 ปี ใช้ชีวิตที่ จ.ราชบุรี  กล่าวถึงการเห่เรือ “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ว่า เป็นการเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้าแผ่นดินโดยทางน้ำ มีการจัดขบวนเรือเดินทาง เป็นรูปขบวนตามลำดับ กลายเป็นแบบแผนสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องใช้ฝีพายเป็นร้อยคน และการพายต้องเป็นจังหวะพร้อมเพรียงกัน จะให้พร้อมเพรียงก็ต้องร้องออกเสียงระหว่างจ้ำพาย เป็นการคลายความเหนื่อยล้า จึงต้องแต่งบทร้องกาพย์เห่เรือขึ้น สำหรับการจัดขบวนเรือพระราชพิธีครั้งนี้ มีเรือจำนวน 52 ลำ ดยมีเรือพระที่นั่ง 4 ลำสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

ตามแบบแผนของกาพย์เห่เรือนั้น 1 บท จะประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพ 1 บท และกาพย์ยานีอีกหลายบท ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้แต่งหรือความประสงค์นำไปใช้รวมกันเรียกว่ากาพย์เห่เรือ 1 บท จากสมัยอยุธยาถึงรัชกาลที่ 10 มีการประพันธ์กาพย์เห่เรือไว้มากมาย กาพย์เห่เรือในยุคแรกแต่งขึ้นใช้เห่ในงานต่างๆ เป็นการชมความงดดงามของเรือและเครื่องแต่งกายของฝีพาย จากนั้นจึงเป็นบทชมปลา ชมนก ชมไม้ กระทั่งมาถึงยุครัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้พระราชนิพนธ์ยักเยื้องเห่ชมเครื่องคาวหวาน ต่อมามีกาพย์เห่เรือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณและอื่นๆ อีก

นาวาเอกทองย้อยเล่าอีกว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงฟื้นฟูขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้น และกองทัพเรือจัดโครงการเฉลิมฉลอง 2 โครงการ คือ โครงการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นเรือลำใหม่ และโครงการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งมีการประกวดกาพย์เห่เรือสำหรับเรือพระที่นั่งลำใหม่นี้ ตนจึงเขียนกาพย์เห่เรือส่งเข้าประกวด ใช้เวลาแต่งสองเดือน และได้รับรางวัลชนะเลิศ จากนั้นได้ใช้กาพย์เห่เรือที่ชนะเลิศนี้เป็นบทเห่ แต่เพราะมีเพียงบทเดียว คือ บทชม “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9” ซึ่งความยาวไม่พอใช้ในขบวนพยุหยาตรา จึงได้รับคำสั่งจากกองทัพเรือให้แต่งกาพย์เห่เพิ่มเติมอีก 4 บท ได้แก่ บทชมเรือกระบวน, บทชมเมือง, บทชมวัฒนธรรมประเพณี และบทบุญกฐิน ซึ่งในอดีตไม่มีการแต่งบทนี้มาก่อน

จากกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 สู่งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 ซึ่งมีการแต่งกาพย์เห่เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 ประพันธ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และส่งบทให้กองทัพเรือนำไปฝึกซ้อมเห่เรือต่อไป สำหรับกาพย์เห่เรือดังกล่าวมี 3 บท ประกอบด้วย บทที่ 1 สรรเสริญพระบารมี แต่ละวรรคสื่อถึงความจงรักภักดีบุญคุณของพระเจ้าแผ่นดินที่ทำให้ประชาชนอยู่สุขสบาย บ้านเมืองสงบสุข บทที่ 2 ชมเรือ ยังใช้บทเดิม ขบวนเรือ 52 ลำเท่าเดิม เสริมสีสันจัดรูปขบวนให้มีชีวิตชีวา บทที่ 3 บุญกฐิน แสดงถึงพระราชศรัทธาของรัชกาลที่ 10 และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น มั่นคง

ดังนั้น การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ประชาชนจะได้เห็นบรรยากาศความสนุกสนาน และความงดงามตระการตาของริ้วขบวนเรือ และกาพย์เห่เรือที่ขับขานดังกังวานไปทั่วคุ้งน้ำเจ้าพระยา อันเป็นมรดกล้ำค่าที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

*******************************************************************

“พระธาตุพนม” ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลและอำเภอธาตุพนม จ.นครพนม ในเขตภาค 4 อยู่ฝั่งขวา (ตะวันตกของแม่น้ำโขง) โบราณสถานที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนมนี้เรียกว่า “ภูกำพร้า” หรือ “ดอยกำพร้า” ภาษาบาลีว่า “กปณบรรพต” หรือ “กปณคีรี” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ “ขลนที” (แม่น้ำโขง) เป็นเขตแขวงนครศรีโคตรบูรโบราณ นครนี้ตำนานบอกว่าอยู่ใต้ปากเซบั้งไฟ ซึ่งเป็นสายน้ำแควหนึ่งไหลจากภูเขาแดนญวน ตกแม่น้ำโขงตรงธาตุพนม เข้าใจว่าเป็นเมืองร้างแห่งหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำเซบั้งไฟทางใต้ ลึกจากฝั่งโขงเข้าไปในประเทศลาวประมาณ 5-6 กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกกันว่า “เมืองขามแท้”

ในอุรังคนิทาน ตำนานพระธาตุพนม กล่าวถึงกำเนิดแม่น้ำลำคลองต่างๆ ในภาคอีสาน มีแม่น้ำโขง เป็นต้น แล้วกล่าวถึงพุทธประวัติว่า สมัยหนึ่งเป็นปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธองค์มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออกโดยทางอากาศ มาลงที่ดอนกอนเนานั้นก่อน แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ทำนายว่าจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ที่ตั้งพระพุทธศาสนาแล้วล่องลงมาโดยลำดับ ประทานรอยพระบาทที่ “โพนฉัน” โปรดสุขหัตถีนาค คือพระบาทโพนฉัน อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย ปัจจุบันอยู่เขต จ.บึงกาฬ แล้ว “พระบาทเวินปลา” (เหนือเมืองนครพนม) ทำนายที่ตั้ง “เมืองมรุกขนคร” มาพักแรมที่ภูกำพร้า 1 ราตรี วิสสุกรรมเทวบุตรลงมาอุปัฏฐาก รุ่งเช้าเสด็จข้ามไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูร พักอยู่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮัง เมืองสุวรรณเขต ลาว) แล้วกลับมาทำภัตกิจที่ภูกำพร้าทางอากาศ

ขณะนั้นพญาอินทร์เสด็จมาเฝ้าและทูลถามถึงเหตุที่ประทับภูกำพร้าเพื่อเหตุอะไร? พระองค์ทรงพยากรณ์ว่าเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ในภัททกัลป์นี้ คือ กกุสันธะ โกนาคมนะ กัสสปะ ที่นิพพานไปแล้ว สาวกทั้งหลายย่อมนำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ ณ ภูกำพร้า เมื่อเรานิพพานไปแล้ว กัสสปะผู้เป็นสาวกก็จะนำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุเช่นเดียวกัน ดังนี้ ตรัสปรารภเมืองศรีโคตรบูรและมรุกขนคร แล้วเสด็จไปหนองหารหลวงเทศนาโปรดพญาสุวรรณภิงคารและพระนางเทวี ประทานรอยพระบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วกลับสู่พระเชตวันและนิพพานที่กุสินารานคร

เมื่อพระบรมศาสดานิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายถวายพระเพลิงไม่สำเร็จ จนมหากัสสปะมาถึง พระเถระเจ้ามาถึงแล้ว นำพระสงฆ์กระทำเวียนวัฏฏ์ประทักษิณ 3 รอบแล้วอธิษฐาน ว่าพระธาตุองค์ใดที่จะให้ข้าพระบาทนำไประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า ขอพระธาตุองค์นั้นเสด็จออกมาอยู่บนฝ่ามือ ณ บัดนี้ ดังนี้แล้ว พระบรมอุรังคธาตุก็เสด็จออกมาอยู่บนฝ่ามือของท่าน ขณะนั้นไฟธาตุก็ลุกโชติช่วงเผาพระบรมสรีระเองเป็นอัศจรรย์ พระเถระเจ้าห่อพระบรมอุรังคธาตุไว้ด้วยผ้ากัมพลอันดีด้วยความเคารพ ครั้นถวายพระเพลิงและแจกพระธาตุเรียบร้อยแล้ว พระเถระเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ ก็นำพระอุรังคธาตุมาโดยทางอากาศ มาลงที่ดอยแท่น (ภูเพ็ก อ.พรรณนิคม เมืองสกลนคร) ไปบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวงเพื่อบอกกล่าวแก่พญาสุวรรณภิงคาร

ฝ่ายชาวเมืองหนองหารหลวง มีพญาสุวรรณภิงคารและนางพญา เป็นต้น ได้ทราบข่าวพระพุทธองค์นิพพานต่างก็หวังว่าตนคงได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จึงเกณฑ์กันให้สร้างพระเจดีย์ไว้ 2 ลูก ให้ผู้ชายสร้างไว้ที่ภูเพ็ก ผู้หญิงมีพระนางนารายณ์เจงเวงเป็นหัวหน้า สร้างไว้ที่สวนอุทยาน (ธาตุนางเวง) ห่างเมืองสกลนคร 6 กิโลเมตร สัญญากันว่าฝ่ายใดสร้างเสร็จก่อนจะให้พระบรมธาตุได้บรรจุในเจดีย์ของฝ่ายนั้น ในที่สุดฝ่ายผู้หญิงสำเร็จก่อน ฝ่ายชายหลงอิตถีมายา พากันทิ้งงานไปช่วยผู้หญิงเสียหมด พระเจดีย์ภูเพ็กเลยไม่สำเร็จ เมื่อพระมหากัสสปะมาบิณฑบาต พญาสุวรรณภิงคารทราบว่า พระเถระอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย ท้าวเธอจึงขอแบ่ง พระเถระเจ้าถวายพระพรว่ า ที่นี่มิใช่ภูกำพร้า ผิดพุทธประสงค์ ถ้าให้ไว้ก็จะไม่เป็นมงคลแก่พระองค์และบ้านเมือง จึงให้พระอรหันต์คืนไป เอาพระอังคารธาตุ (ถ่านเพลิง) จากที่ถวายพระเพลิงมาบรรจุไว้ที่ธาตุนางเวง เพื่อบำรุงพระราชศรัทธามิให้เสีย

ท้าวพญาเมืองต่างๆ เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระอรหันต์ทั้งหลายอัญเชิญพระบรมธาตุมาบรรจุที่ภูกำพร้า ก็มีความโสมนัสยินดี ได้ยกกำลังโยธามาคอยต้อนรับอยู่ ณ ภูกำพร้า คือพญานันทเสน เมืองศรีโคตรบูร ยกกำลังมาปลูกพลับพลาไว้รับกษัตริย์เมืองต่างๆ ตามริมโขง (ขลนที) พญาจุลณีพรหมทัตและพญาอินทปัตถนคร เมื่อมาพร้อมกันแล้วก็ให้ไพร่พลโยธาของตนสกัดหินมุกด์หินทรายไว้คอยท่า ส่วนพญาคำแดง เมืองหนองหารน้อย ผู้เป็นพระอนุชาพญาสุวรรณภิงคารได้ทราบ ก็ยกโยธามาสมทบกับเมืองหนองหารหลวง พญาสุวรรณภิงคารให้พราหมณ์แต่งตัวนุ่งห่มด้วยเครื่องขาว 8 คน เป็นผู้อัญเชิญพระอุรังคธาตุแห่ด้วยยศบริวารมาสู่ภูกำพร้า พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน

เมื่อพญาทั้ง 5 มาถึงภูกำพร้าและตั้งทัพพักพลอยู่ตามที่เหมาะสมแก่อัธยาศัยแล้ว จึงประชุมปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี พญาสุวรรณภิงคารได้ปรารภขึ้นว่าให้ไปขนเอาหินในเมืองหนองหารหลวงที่ก่ออุโมงค์ค้างไว้นั้นมาก่อจะเร็วดี พระมหากัสสปะทักท้วงว่า หินฝูงนั้นก่อครั้งก่อนร้างเสียไม่เป็นมงคล พวกเราควรปั้นดินดิบก่อแล้วสุมด้วยไฟก็จะมั่นคงเป็นสิริมงคลสืบไปภายหน้า ที่ประชุมจึงตกลงให้เสนาอำมาตย์ปั้นดินก่อตามคำพระเถระนั้น แบบพิมพ์ดินกว้างยาวเอาฝ่ามือพระมหากัสสปะเป็นแบบ ครั้นปั้นดินเสร็จแล้ว ก็พากันขุดหลุมกว้าง 2 วา ลึก 2 ศอก ของพระมหากัสสปะเท่ากันทั้ง 4 ด้าน พญาสุวรรณภิงคารเริ่มขุดก่อนเป็นปฐมฤกษ์ เวียนประทักษิณจากด้านตะวันออกไป และพญาทั้งหลายก็ขุดตามลำดับจนเรียบร้อยเป็นอันดี

พระอรหันต์ทั้งหลายให้คนทั้งหลายตั้งไหน้ำไว้ทั้ง 4 ด้าน สวดด้วยราหูปริตรและคาถา “พุทธส มงคล โลเก” เพื่อเป็นมงคลแก่โลก ผู้ใดก่อด้านใดก็ให้ตักเอาน้ำในไหด้านนั้นก่อนขึ้นไปตามด้านที่ตนก่อ ดังนี้ พญาจุลณีพรหมทัต ก่อด้านตะวันออก พญาอินทปัตถนคร ก่อด้านใต้ พญาคำแดง เมืองหนองหารน้อย ก่อด้านตะวันตก พญานันทเสน เมืองศรีโคตรบูร ก่อด้านเหนือ เมื่อพญาทั้ง 4 ก่อขึ้นเป็นรูปเตา 4 เหลี่ยม สูงได้ 1 วาของพระมหากัสสปะแล้วพักไว้ พญาสุวรรณภิงคารก่อขึ้นรวบยอดเข้าเป็นรูปฝาปารมีสูงอีก 1 วาของพระมหากัสสปะ จึงรวมเป็น 2 วาของพระมหากัสสปะ แล้วทำประตูเผาไฟทั้ง 4 ด้าน เอาไม้จวง จันทน์ กฤษณา กระลำพัก ไม้คันธรส ชมพูนิโครธ และไม้รัง มาเป็นฟืน เผา 3วัน 3 คืน สุกดีแล้วจึงเอาหินหมากคอมกลางโคกมาถมหลุม (เข้าใจว่าเป็นกรวดหรือแฮ่)

ท้าวพญาทั้ง 5 เมื่อสร้างอุโมงค์เสร็จแล้วต่างก็บริจาคของมีค่าบรรจุไว้ภายในอุโมงค์เป็นพุทธบูชา อาทิ เงินแท่ง ฆ้อง ปลอกทองคำหล่อเป็นรูปเรือ กระโถนทองคำบรรจุแหวนใส่เต็ม มงกุฎแก้วมรกต ปิ่นทองคำ พานทองคำ หินมุกด์ทำเป็นหีบใส่ของ ขันทองคำใส่แหวนเต็ม ขันเงินบรรจุปิ่นทองคำเต็ม กำไลมือ มงกุฎทองคำ สังวาลย์ทองคำ โอทองคำ โอเงิน และโอนาก

เมื่อพญาทั้ง 5 บริจาคของบูชาเสร็จแล้ว พระมหากัสสปะเป็นประธานพร้อมกันอัญเชิญพระอุรังคธาตุเข้าบรรจุไว้ภายในที่อันสมควร แล้วให้ปิดประตูไว้ทั้ง 4 ด้าน ขณะนั้น พระบรมธาตุก็คลี่คลายผ้ากัมพลที่ห่อหุ้มเสด็จออกมาประดิษฐานอยู่บนฝ่ามือของพระมหากัสสปะ เป็นที่น่าอัศจรรย์ ท้าวพญาและประชาราษฏรทั้งหลายเห็นอัศจรรย์ดังนั้นก็เปล่งเสียงสาธุการอึงคะนึงไปทั่วภูกำพร้า

พระมหากัสสปะระลึกถึงคำสั่งพระพุทธเจ้า ให้นำพระอุรังคธาตุ มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า แต่มิได้สั่งให้ฐาปนาไว้ชะรอยจะเล็งเห็นด้วยพระญาณว่า ต่อไปภายหน้าจะมีผู้เป็นเชื้อหน่ออรหันต์มาสถาปนาให้บริบูรณ์ต่อไป จึงกล่าวว่าพวกเราอยู่ได้ฐาปนาไว้ตามพุทธประสงค์นั้นเทอญ ขณะนั้นพระอุรังคธาตุก็เสด็จกลับเข้าไปสู่ที่เก่า ผ้ากัมพลก็คลายออกห่อหุ้มไว้ดังเดิม พญาสุวรรณภิงคารเห็นอัศจรรย์ดังนั้นก็ขนพองสยองเกล้าสะดุ้งพระทัยยิ่งนัก

พญาทั้ง 5 ให้สร้างประตูไม้ประดู่ปิดไว้ทั้ง 4 ด้าน แล้วให้คนไปนำเอาเสาศิลาจากเมืองกุสินารา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้ที่โคน เพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมือง ให้ไปนำเอามาแต่เมืองพาราณสี 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้โคนต้น เพื่อหมายมงคลแก่โลก ไปนำเสาศิลาจากลังกา 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันตก ให้ไปนำมาแต่เมืองตักกศิลา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันตก พญาสุวรรณภิงคารให้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้ตัวหนึ่งผินหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อแสดงว่าพระบรมธาตุเสด็จออกมาทางทิศนั้น และพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองจากเหนือมาใต้ พระมหากัสสปะให้สร้างม้าวลาหกไว้ตัวหนึ่งเป็นคู่กัน ให้ผินหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตรบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุ ไว้ตราบเท่า 5,000 พระวัสสา พระพุทธศาสนาเกิดทางใต้แล้วขึ้นไปทางเหนือ

ม้าศิลาสองตัวนี้สร้างไว้เพื่อให้ปราชญ์ผู้มีปัญญา ได้พิจารณาจักรู้แจ้งในปริศนานั้นแล