เรื่อง-ภาพ ภัทรสุดา พิบูลย์

ยุคนี้เป็นยุคหนึ่งที่เรียกได้ว่า “คนรุ่นใหม่” อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยความสนใจด้านธุรกิจ หรือแม้แต่การอยากถ่ายทอดความเป็นตัวเองลงไปก็ตาม

หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจคือ “อิง-ยลวารี สัตยนาวิน” เจ้าของแบรนด์ “YOLWAREE” (ยลวารี) ผู้เข้าร่วมประกวดโครงการ Talent Thai & Designers’ Room โครงการเฟ้นหาดีไซเนอร์ไทยผู้มีงานดีไซน์ที่โดดเด่นของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเธอได้รังสรรค์ไอเดียผลงานผ่านเครื่องประดับ “จิวเวลรี่” จนกลายเป็นสินค้าแบรนด์ไทยที่ได้รับความนิยม

“อิง-ยลวารี สัตยนาวัน” เล่าให้ “มติชน อคาเดมี” ฟังว่า ก่อนหน้านั้น สอบตรงติดคณะบริหารธุรกิจ ภาคอินเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่อยากลองหาอะไรทำ ด้วยความที่ชอบจิวเวลรี่อยู่แล้ว เลยใช้เวลาว่างในการออกแบบจิวเวลรี่ แม้ไม่ได้มีทักษะทางด้านนี้เลย แต่เพราะความชอบก็เลยลองเขียนแบบขึ้นมา และทำขายในชื่อแบรนด์ “Haus of Jewelry” ผลที่ตอบรับกลับมาช่วงนั้นเป็นอะไรที่ได้กำไรมาก จากนั้นจึงนำเงินก้อนมาทำเป็นคอลเล็คชั่นใหม่ในแบรนด์ “YOWAREE”

“ชื่อแบรนด์ YOLWAREE (ยลวารี) มาจากชื่อของตัวเอง ที่แปลว่า มองดูสายน้ำ สำหรับคอเล็คชั่นล่าสุดนี้อยากให้สินค้าสอดคล้องกับชื่อแบรนด์ จึงตั้งคอนเซ็ปต์ว่า วารี โดยดีไซน์จะเป็นแนววินเทจโมเดิร์น คือสวนงามแบบไม่ตกยุค”

อิง-ยลวารี บอกอีกว่า ในคอลเล็คชั่นวารีจะมีต่างหูห่วงและแหวน โดยเพชรทั้งหมดที่นำมาประดับผลงานจะเป็นสเต็ปคัต ทำให้ได้ชิ้นงานที่เหมือนเส้นของสายน้ำลึก สื่อถึงตัวตนของแบรนด์ ทั้งนี้ ผลงานแต่ละชิ้นจะมีความวินเทจโมเดิร์น เป็นไอเท็มคลาสสิกที่ใส่ได้ตลอดกาล เพื่อความเก๋ในสไตล์วารี

อิง-ยลวารี สัตยนาวัน

“การผลิตของเราอย่างแรกจะเริ่มหาแรงบันดาลใจ ขั้นตอนต่อไปทำการร่างแบบ และใส่ทรีดี หรือสามมิติ จากนั้นนำมาแว็กซ์ และขึ้นตัวแม่พิมพ์หลัก แล้วทำการผลิตออกมา ซึ่งเรามีโรงงานผลิตอีกที วัตถุดิบที่ใช้ก็จะเป็นหินสีแสด ชุบเงินกับทองคำแท้”

ด้านกลุ่มลูกค้าของแบรนด์มีหลากหลายช่วงวัย แต่ที่นิยมมากสุดเป็นผู้หญิงช่วงวัยทำงาน อายุ 25-40 ปี เพราะราคาค่อนข้างสูง เริ่มต้น 3,000 บาท จนถึง 12,000 บาท เป็นงานเงินแท้ ชุบทองและทองคำขาว

และมีอีกแบรนด์ที่ชื่อว่า “Haus of Jewelry” (เฮาส์ ซับ จิวเวลลี่) เป็นแบรนด์ที่เด็กกว่า ส่วนใหญ่จะอายุ 18-35 ปี เป็นงานเงินแท้ที่เอาใจวัยรุ่น ชวนใส่ง่าย เหมาะกับการใส่ในชีวิตประจำวัน

“ปัจุบันเรายังไม่ได้ส่งออกนอกประเทศ เพียงแต่เปิดเป็นบูธไปกับทางกรมฯ ที่ปารีสเมื่อปีที่แล้ว และก็อยู่กับกรมฯมาตลอด นอกจากนี้ยังเคยออกงานเจมส์แอนด์จิวเวลรี่ซ้อนกัน 3 ปี และออกงานไทยสไตล์ ที่ไบเทคบางนามา 3 ปีแล้วเช่นกัน”

“อิง-ยลวารี สัตยนาวัน” ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างแบรนด์ คือต้องเริ่มจากสิ่งที่เรารัก ถ้าไม่เริ่มจากสิ่งที่เรารัก ก็จะไม่ออกมาเป็นตัวตนของเรา ทุกอย่างก็จะไม่เต็มที่กับมัน

นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างนักธุรกิจดีไซเนอร์ ที่นำสไตล์ความเป็นตัวเอง ผ่านผลงานศิลปะ แม้จะไม่เคยมีทักษะทางด้านการออกแบบจิวเวลลี่ แต่ความชอบและมุ่งมั่นก็สามารถนำเธอประสบความเร็จในด้านธุรกิจได้

วันที่ 14 มีนาคม 2562 กรมการค้าระหว่างประเทศ เปิดตัวโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2562 Designers’ Room & Talent Thai 2019 พร้อมเปิดรับสมัครนักออกแบบเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ผู้ที่อยากเป็นนักออกแบบได้สมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อมุ่งพัฒนาขีดความสามารถให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การสร้างแบรนด์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยด้วยการสนับสนุนให้ความรู้ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถส่งออกไปจำหน่ายที่ต่างประเทศได้ ซึ่งกรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เห็นความสำคัญ จึงอยากผลักดันให้มีการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการออกแบบสินค้าที่เป็นวัตถุดิบจากท้องถิ่น เพื่อนำเสนอจุดเด่นของเมืองไทย

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ยังคงความเป็นไทยไว้ได้ จึงอยากให้นำจุดเด่นที่มีนำไปต่อยอดเพื่อให้เกิดแบรนด์สินค้า และส่งออกเพื่อสร้างรายได้ต่อไป” นางวรรณภรณ์กล่าว

น.ส.ประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กล่าวว่า โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลกได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึง 17 ปี ซึ่งแบ่งกลุ่มนักออกแบบออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ นักออกแบบที่มาจากโครงการ Designers’ Room มีนักออกแบบที่พัฒนาในโครงการแล้วจำนวน 243 แบรนด์ และ นักออกแบบในโครงการ Talent Thai ที่มีนักออกแบบที่พัฒนาในโครงการแล้ว 218 แบรนด์ รวมทั้งหมดแล้วมีนักออกแบบที่ได้รับการพัฒนาแล้วมากถึง 461 แบรนด์ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของนักออกแบบ และพัฒนาความรู้ความสามารถให้ก้าวสู่การเป็นธุรกิจ จนสามารถเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติ ตัวอย่างนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จแล้วยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ KORAKOT, Thinkk studio และ Q Design And Play เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีสินค้าจากแบรนด์ดังที่ประสบความสำเร็จเข้าร่วมแสดงภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจากแบรนด์ QOYA, PATAPiAN, Thinkk Studio, KORAKOT และแบรนด์อื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่เปิดให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และอยากจะสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ได้นำเสนอสินค้าและพัฒนาให้สินค้าก้าวเข้าสู่ตลาดโลก โดยผู้ที่ต้องการสมัครเข้าร่วมโครงการสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 22 มีนาคม 2562 โดยเข้าไปกรอกใบสมัครออนไลน์ได้ที่เพจ Talent & Designers’ Room