ดอกอัญชันเป็นไม้เถาพื้นถิ่นไทย ปลูกง่าย ปลูกได้ทุกภาค  ไม่ต้องการการดูแลมากนัก รดน้ำแบบปกติเช้า-เย็น ต้องการแสงแดดพอประมาณ ไม่จัดมาก แดดครึ่งวัน แดดรำไรก็ได้ เป็นไม้เลื้อยให้ดอกสวยงาม

ดอกอัญชันมี 3 สี คือ สีขาว สีม่วง และสีม่วงน้ำเงิน มีทั้งแบบดอกลาคือมีชั้นเดียว และยังมีดอกซ้อนสวยงาม คนโบราณรุ่นย่ายาย ต่างใช้ดอกอัญชันช่วยรักษาเส้นผมให้ดกดำ ป้องกันผมร่วง ทาศีรษะหมักไว้เป็นยาปลูกผม บำรุงผมให้ดกดำ และผมหนาขึ้นนำมาใช้เขียนคิ้วก็ช่วยให้ขนคิ้วดกหนาเช่นกัน นอกจากนี้คนโบราณยังเอาน้ำดอกอัญชันคั้น ใช้หยอดตาแก้ตาอักเสบ ตาแฉะ ตาฝ้าฟาง ตามืดมัว และแก้ปวดฟัน รักษาอาการฟกช้ำบวมได้ด้วย

ในครัวไทยรู้จักดอกอัญชันมาตลอดคู่กับขนมไทย สีของดอกอัญชันเป็นสีย้อมขนมไทย เช่น ขนมชั้นดอกอัญชัน ขนมขี้หนู ขนมเล็บมือนาง ขนมดอกอัญชัน และขนมช่อม่วง

ปัจจุบันดอกอัญชันเป็นที่รู้จักในสรรพคุณอาหาร จึงถูกเชิญขึ้นมาเป็นหนึ่งในชนิดน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ ตัวดอกเป็นผักดอกประดับที่สวย น้ำดอกอัญชันนำไปมูนข้าวเหนียวได้สีครามนำไปหุงข้าวได้ข้าวสีคราม ใช้กินเป็นข้าวสุขภาพในข้าวยำปักษ์ใต้

สารที่ให้สีน้ำเงินอมม่วงที่ชื่อว่า สารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) มีสรรพคุณมากกว่าผักดอกผักทั่วไป โดยมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระอย่างมีประสิทธิภาพ เหนือกว่าวิตามินซีหลายเท่า จึงช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยเสริมให้ร่างกายต่อต้านเชื้อโรค สมานแผลได้ดี เสริมภูมิคุ้มกันได้ดี สามารถกระตุ้นสารพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและสะสมปริมาณเม็ดสีในร่างกายให้สูงขึ้นอีกด้วย ส่งเสริมการทำงานของเม็ดเลือดแดง

สารแอนโทไซยานิน ที่มีอยู่ตามพืชผักสีน้ำเงินทั้งหลาย แต่มีไม่มากเท่าดอกอัญชัน นอกจากต้านอนุมูลอิสระแล้ว แอนโทไซยานินยังเสริมสร้างภูมิต้านทาน ช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็น เพิ่มการไหลเวียนโลหิตในหลอดเลือดฝอยได้ดี ส่งผลให้มีเลือดหล่อเลี้ยงดวงตาได้อย่างเพียงพอ จึงช่วยบรรเทาอาการเสื่อมของดวงตาเกิดจากโรคเบาหวาน ต้อหิน ต้อกระจก

สารแอนโทไซยานินทำให้ดอกอัญชันมีฤทธิ์เย็น กินแล้วช่วยคุ้มครองเซลล์ในร่างกาย มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของไขมันตัวเบา (LDL) ที่อยู่ในกระแสเลือด ทำให้เซลล์บุผนังหลอดเลือดมีความอ่อนนิ่ม ช่วยชะลอการเกิดโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวได้

สรรพคุณเด่นชัดอื่น ๆ ของดอกอัญชัน คือ มีฤทธิ์ละลายลิ่มเลือด ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางห้ามรับประทานดอกอัญชัน และน้ำดอกอัญชันด้วย เพราะดอกอัญชันช่วยยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ช่วยในการคลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้ผ่อนคลาย

ดอกอัญชันจึงเด่นมากในการช่วยบำรุงตา แก้อาการตาฟาง ตามัว และช่วยขับปัสสาวะอินทรีย์ สารส่วนใหญ่พบในดอกตูมที่ยังอ่อนอยู่ มากกว่าในดอกที่บานแล้ว

butterfly-pea-1119081_960_720
ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากหันมาตระหนักเรื่องของการกินเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะอาหารคาวหรือหวาน แม้กระทั่งเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากสมุนไพร เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้มีสุขภาพดีเท่านั้น แต่ยังช่วยทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้นอีกด้วย

หนึ่งในพืชที่คนนิยมนำมาทำอาหารหรือเครื่องดื่มก็คือ “อัญชัน” ด้วยให้สีสวยงาม นำมาทำเป็นเครื่องดื่มก็ให้ความสดชื่น ดับกระหาย อย่างไรก็ตาม ในโลกโซเชียลมีเดียมีหลายคนแชร์เตือนให้ระวังการกินดอกอัญชัน เพราะส่งผลให้ไตทำงานหนัก หน้ามืดหมดสติ หรือมีอันตรายต่อผู้ป่วยโลหิตจาง

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. ได้ทำการสอบถามเภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พบว่าดอกอัญชันนั้นจะมีความปลอดภัยสูง ถ้าหากกินในรูปแบบของอาหาร เช่น อาจจะนำดอกอัญชันมาทำเป็นยำ หรือนำเอาดอกอัญชัน 2-3 ดอก มาทำเป็นน้ำชงกับชา เป็นต้น

เภสัชกรระบุว่า โดยทั่วไปจะเห็นว่ามีการนำดอกอัญชันมาทำเป็นเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้ใช้ดอกอัญชันในปริมาณที่เยอะ จะใช้เพียง 2-3 ดอกเท่านั้น เพราะหากใช้ในปริมาณที่เยอะเกินจะทำให้น้ำมีสีเข้มเกินไป ดูไม่น่ากิน และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย ฉะนั้นจากที่ได้มีการเตือนว่าอาจทำให้ไตทำงานหนักนั้นก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง หากกินในที่ปริมาณมากหรือกินแทนน้ำเปล่า เพราะของทุกอย่างที่กินเข้าไปภายในร่างกายจะต้องผ่านตับกับไต จึงมีความเสี่ยงถ้าหากกินเยอะมากจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม สีของดอกอัญชันเป็นสารแอนโทไซยานินซึ่งเป็นสีที่ละลายน้ำได้ และไม่เป็นอันตรายหากกินอย่างพอเหมาะ เพราะฉะนั้นจึงสามารถขับออกมาในรูปแบบของปัสสาวะได้ นอกจากนี้ สารแอนโทไซยานินยังสามารถช่วยต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย

ประโยชน์ของดอกอัญชันนั้นไม่ได้มีเพียงเท่านี้ สมัยโบราณจะนำดอกอัญชัญมากินเพื่อช่วยในเรื่องของการเพิ่มความจำ และมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเป็นไปได้ที่ดอกอัญชันสามารถเพิ่มความจำได้ และยังเป็นยานอนหลับแบบอ่อนๆ ที่ได้ทำการทดลองในหนูอีกด้วย แต่ก็ยังไม่ได้มีการนำมาทดลองในคน

ในด้านคำเตือนที่บอกว่าผู้ป่วยโรคความดันสูงหรือความดันต่ำนั้นควรงด เพราะทำให้หน้ามืด หมดสติได้ง่าย จึงเข้าใจว่าคำเตือนนี้นั้นอาจจะมีความเชื่อมโยงกับงานวิจัยที่บอกว่าดอกอัญชันมีส่วนช่วยในเรื่องของการหลับ แต่ถ้าหากกินในปริมาณที่น้อยก็ไม่สามารถทำให้ถึงกับหลับได้

สำหรับผู้ป่วยโลหิตจาง ที่มีการเตือนว่าดอกอัญชันมีฤทธิ์ในการละลายลิ่มเลือด ต้องทำความเข้าใจไว้ก่อนว่าดอกอัญชันนั้นไม่ได้ทำให้เลือดจางลง แต่จะทำให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้นหากกินในปริมาณที่พอเหมาะ 2-3 ดอก กินไม่ต่อเนื่อง อาจจะเป็นกินสลับวันก็ได้ แต่ถ้าหากกินในปริมาณที่เยอะ 10-15 ดอก โดยหากกินอย่างต่อเนื่องทุกวันจะเป็นอันตรายได้ เพราะได้มีการวิจัยแล้วว่าถ้ากินยาละลายลิ่มเลือดควบคู่อยู่ด้วยแล้วเกิดมีบาดแผลก็จะทำให้เลือดหยุดไหลได้ยาก

นอกจากนี้ ดอกอัญชันนั้นเวลาเด็ดจะมียางสีขาวอยู่ หากจะกินดอกอัญชันแบบสดหรือนำไปปรุงเป็นอาหาร ก็ควรล้างให้สะอาดก่อน เพราะอาจทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหารได้ และในตัวเมล็ดของดอกอัญชันจะมีฤทธิ์เบื่อเมาอยู่ หากกินเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ แต่โดยปกติแล้วก็ไม่ค่อยมีใครกินเมล็ดของดอกอัญชันกันอยู่แล้ว

ดังนั้น คำเตือนที่ได้มีการแชร์บนโลกโซเชียลนั้นจึงมีส่วนที่ตรงตามคำเตือนอยู่บ้าง ดอกอัญชันนั้นเป็นสมุนไพรที่มีทั้งประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมากหากกินในปริมาณที่พอเหมาะ 2-3 ดอกต่อวัน แต่ดอกอัญชันนั้นก็มีโทษอันตรายอยู่ หากกินในปริมาณที่มากจนเกินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าอะไรที่กินมากจนเกินความต้องการของร่างกายนั้นจะมีโทษอันตรายอยู่เสมอ ดังนั้นจึงควรกินแต่พอเหมาะพอประมาณ