ระแส “ทุเรียนฟีเวอร์” ที่ขณะนี้ได้ไต่ระดับดีกรีไปจนจะถึงขีดสุดอยู่รอมร่อ เอาเป็นว่าใครไม่ได้ไปกินทุเรียนที่จันทบุรีปีนี้ เรียกว่า “ตกเทรนด์” เป็นรถด่วนขบวนสุดท้ายไปเลย อาจพูดคุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง!!

ว่าด้วยเรื่องทุเรียนเมืองจันท์ “จอมศักดิ์ ภูติรัตน์” ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี หลังประกาศกลยุทธ์บวกผลักดันนโยบาย สร้างจันทบุรีเป็น “มหานครแห่งผลไม้” แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปแล้ว ซึ่งรัฐบาล “บิ๊กตู่” ก็รับปาก และรับลงมือปฏิบัตินำพาชาวจีนหลายสิบคนจากหลายๆ เมืองจากประเทศจีนนั่งเครื่องบินเดินทางมาซื้อทุเรียนถึงแหล่งเพาะปลูก ซึ่งแหล่งสำคัญหนีไม่พ้นจังหวัดจันทบุรีนี่เอง

นอกจากการเดินทางบุกซื้อถึงที่แล้ว ยังมีบริการ “ทุเรียนเดลิเวอรี่” รับจัดหาและส่งทุเรียนถึงบ้านโดย “อาลีบาบา” อีกด้วย ทำเอาทุเรียนเมืองจันท์คุณภาพดีหลายแสนลูกเวลานี้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศจีน ส่วนที่จังหวัดจันทบุรีเลยตกอยู่ในสภาพทุเรียนขาดแคลน หาเกรดเอลำบาก อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีทุเรียนดีๆ ให้กินกัน ของดีก็ยังมีอยู่ที่เมืองจันท์เพียงแต่ว่า “มีน้อย” พอเข้าเดือนมิถุนายนปลายๆ เดือน ทุเรียนก็จะเริ่มวายแล้ว

ประธานหอการค้าจันทบุรีเล่าว่า ด้วยความที่จังหวัดจันทบุรีเป็นชุมชนริมน้ำเก่าแก่ มีอายุกว่า 300 ปี ซึ่งที่เรียกชุมชนริมน้ำนั้นเป็นการเรียกรวม 3 ชุมชนเข้าด้วยกัน ได้แก่ ชุมชนท่าหลวง, ชุมชนตลาดกลาง และชุมชนตลาดล่าง ย่านนี้นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก โดยเฉพาะชุมชนท่าหลวงซึ่งเป็นพื้นที่รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองจันทบุรี พ.ศ.2419 และยังเป็นพื้นที่รวมหลากหลายวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการค้าขายสมัยนั้น

เมื่อเป็นชุมชนอยู่ริมแม่น้ำจันทบุรี ทำให้การค้าขายเกิดขึ้นตามแนวชุมชมติดริมน้ำ ส่งผลให้ที่นี่เป็นที่ตั้งของ “ท่าจอดเรือสินค้า” หลายแห่ง และมีการติดต่อไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนและซื้อขายสินค้าทั้งภายในและนอกชุมชนกันอย่างคึกคัก รวมไปถึงการซื้อขายผลไม้ คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ สละ ฯลฯ อีกทั้งเมื่อก่อนการอยู่อาศัยสองฝั่งแม่น้ำนั้นต้องติดต่อกันด้วยเรือ โดยใช้เรือพายและแจวข้ามแม่น้ำในการไปมาหาสู่กัน เนื่องจากยังไม่มีสะพานอย่างทุกวันนี้ ยิ่งทำให้ในปัจจุบันที่นี่จึงยังมีท่าน้ำต่างๆ เกิดขึ้น ในชุมชน ตั้งแต่หัวถนนต่อเนื่องจนถึงสุดถนน ซึ่งบางบ้านที่อยู่ติดริมน้ำก็ยังใช้หลังบ้านตัวเองเป็นที่อาบน้ำ ล้างจาน และทำกิจวัตรต่างๆ อยู่ถึงทุกวันนี้

ท่าน้ำนั้นมีทั้งท่าน้ำสาธารณะและท่าน้ำส่วนตัว แต่ท่าน้ำที่สำคัญมีทั้งหมด 7 ท่าด้วยกัน คือ ท่าหลวง อยู่บริเวณหัวสะพานวัดจันทนาราม ถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ท่าหมอทอด ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลเจ้าตั้วเล่าเอี๊ย ท่าประชานิยม ตั้งอยู่ตรงข้ามกับถนนประชานิยม ท่าแม่ผ่องศรี ตั้งอยู่บริเวณตรอกใกล้ร้านขายยาจังกวนอัน ท่าศาลเจ้าที่ ท่าวัดโรมันคาทอลิก ท่าตาโท ตั้งอยู่ท้ายสุดของชุมชน

และเป็นมาตั้งแต่โบราณแล้วว่าจันทบุรีเป็นเมืองแห่งผลไม้ นิยมปลูกกันมากทั้งมังคุด ทุเรียน สละ เงาะ และพืชผักอื่นๆ ล้วนเป็นสินค้าสำคัญของประเทศไทย อาทิ พริกไทยและยางพารา

ประธานหอการค้าบอกอีกว่า เนื่องจากจันทบุรีมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมสำหรับปลูกผลไม้เหล่านี้ ทำให้จังหวัดจันทบุรีมีผลไม้เหล่านี้เป็นจำนวนมากและมีคุณภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน ซึ่งจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีการผลิตมากที่สุดในประเทศไทย ผลไม้อีกชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากของจันทบุรี คือ สละเนินวง ปลูกกันมากในบริเวณค่ายเนินวง ต.บางกะจะ ผลไม้ของจังหวัดจะออกสู่ตลาดในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายนของทุกปี

อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลไม้ของจังหวัดในแต่ละปีจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ หากเกิดภาวะภัยแล้งขึ้น ปริมาณผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดในปีนั้นก็จะมีปริมาณลดลง

“โดยเฉพาะเรื่องของทุเรียนนั้น ยุคก่อนสมัยที่ยังไม่มีรถใช้กัน ชาวสวนจากบ้านเนินยาง บ้านคมบาง โป่งแรด ท่าใหม่ เขาต้องขนย้ายทุเรียนกันด้วยการหาบมาขายที่ตลาดมาตั้งแต่ตี 4 ใช้เวลาเดินทางด้วยความยากลำบากมากกว่าจะมาถึง ต้องใช้ความอดทนอย่างสูง เพราะฉะนั้นสมัยก่อนกว่าจะได้กินทุเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับทุเรียนที่นำมาขายสมัยก่อนจะมีจุดซื้อขายอยู่ที่ศาลาปากแซง ศาลาแดง เกาะล้อมชะนีโรงสีนายเหม็ง (ตรงข้ามท่าแม่ผ่อง) นี่คือเรื่องราวในอดีตของจันทบุรี ดินแดนแห่งมหานครผลไม้” ประธานหอการค้าสรุป

นจันทบุรี รวมถึงแวดวงคนค้าอัญมณี ไม่มีใครไม่รู้จัก “เมธี จึงสงวนสิทธิ์” ประธานกรรมการบริษัท ไชน์นิ่งมูน จำกัด คนดังแห่งเมืองจันทบูร ปัจจุบันนอกจากจะอยู่ในฐานะพ่อค้าพลอยแล้ว คุณเมธียังเปิดพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ชื่อ “เวิลด์ แซฟไฟร์ แกลอรี่” ที่รวบรวมพลอยไพลินดิบจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งกว่าจะได้มาต้องเดินทางข้ามโลกเพื่อเสาะแสวงหาหินล้ำค่านี้ นำมาเก็บสะสมไว้นานนับหลายสิบปี กระทั่งพอที่จะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ ดังนั้น พิพิธภัณฑ์ เวิลด์ แซฟไฟร์ แกลอรี่ จึงเป็นแหล่งสะสมไพลินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยหรือของโลกก็ว่าได้

อีกด้านหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อ คือคุณเมธีเป็นเจ้าของหนังสือ ชื่อ “จันทบูร ไชนิ่ง มูน” เป็นเรื่องราวดีๆ และภาพสวยงามของจังหวัดจันทบุรี โดยรูปภาพที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้เลือกสรรมาแต่สิ่งสวยงามของความเป็นเมืองจันทบุรี หนังสือมีวางขายมานานแล้ว สนนราคาเล่มละ 1,500 บาท เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ เห็นวางขายอยู่ที่โรงแรมบลู แรบบิท โรงแรมของคุณเมธีเอง

เมธี จึงสงวนสิทธิ์

หากจะว่าไปแล้ว จันทบุรีเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่นักเดินทางคนชอบเที่ยวทั้งหลายไม่ควรพลาด เพราะที่นี่มีครบทุกรสชาติ ตั้งแต่เรื่องของอาหารการกิน ผักผลไม้ สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่เป็นป่าเขาลำเนาไพร น้ำตก ไหว้พระวัดศักดิ์สิทธิ์ ไปจนถึงคอประวัติศาสตร์ทั้งหลายที่ชอบโบราณสถาน ขรึมขลัง ลึกลับ เนื่องจากที่นี่เป็นเมืองเก่าตั้งแต่สมัยขอมโบราณ ยังคงมีซากสิ่งปลูกสร้างให้เห็นอยู่

เจ้าของเวิลด์ แซฟไฟร์ แกลอรี่ เล่าถึงเมืองจันทบูรเอาไว้ว่า สมัยก่อนนั้นคนเขาไม่ได้เรียก “จันทบุรี” แต่เขาเรียกกันว่า “เมืองควนคราบุรี” เป็นภาษาเขมร ไม่ใช่ภาษาไทย แต่ถ้าหากดูตามประวัติศาสตร์ของเมืองจันทบุรีแล้ว ราวพุทธศตวรรษที่ 18 กลุ่ม “ชอง” หรือชนเผ่าในตระกูล “มอญ-เขมร” เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในป่าฝั่งตะวันออก บริเวณ จ.จันทบุรี ระยอง ตราด โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อจันทบุรี-ตราด ซึ่งเป็นแหล่งของป่าและสมุนไพรที่อุดมสมบูรณ์

ต่อมาพื้นที่ป่าลดน้อยลง เพราะถูกจับจองโดยคนไทยและคนจีนหักร้างถางป่าทำสวน ทำไร่ อีกทั้งการเก็บของป่าขายกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย พรานป่าอย่างชาวชองจึงต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นแรงงานในเมือง บางส่วนกลายเป็นชาวนาชาวไร่ ชุมชนของชาวชองในปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นบริเวณบ้านคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ ในปี พ.ศ. 2200 ได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่ม ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี และหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ ได้นำกำลังพลประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมาทางทิศตะวันออก และยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นเวลา 5 เดือน เพื่อเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและไพร่พล ก่อนนำกองทัพทั้งชาวไทยและชาวจีนราว 5,000 คน กลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยา เหตุการณ์นี้เป็นความภาคภูมิใจของชาวจันทบุรีอย่างยิ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากโบราณสถานและอนุสรณ์สถานหลายแห่งที่สร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระเจ้าตากสินครั้งนั้น

“บริเวณริมน้ำจันทบุรีเรามีชุมชนเก่า เป็นบ้านไม้ตั้งเรียงรายอยู่ เพราะสมัยก่อนการสัญจรมาจันทบุรีจะมาทางน้ำ ชุมชนจึงตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เดี๋ยวนี้เรียกชุมชนจันทบูร ตรงนั้นปัจจุบันสภาพยังเป็นธรรมชาติตลอดทั้งสาย มีตลาดริมน้ำ ไม่มีนายทุนที่ไหนกล้ามากว้านซื้อที่เพื่อลงทุนใหญ่ๆ เหมือนที่อื่น ตรงนั้นสมัยก่อนเป็นเส้นทางที่จะไปกรุงเทพฯ คนจะมาขึ้นเรือกัน เพราะฉะนั้นริมน้ำจึงเป็นบ้านของคหบดีของจังหวัด มีอยู่แห่งเขาเปิดเป็น สถาบันอาศรมศิลป์ มาช่วยในการปลุกจิตสำนึกของชาวบ้านบริเวณนั้นให้รู้ว่าที่ตรงนั้นเป็นที่ที่ควรอนุรักษ์ไว้”

ไม่เพียงแต่ปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้าน แต่ยังมีการจัดการให้ชุมชนริมน้ำจันทบูรเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนต่างถิ่น นอกจากได้บรรยากาศของยุคโบราณแล้ว ยังมีชาวบ้านร้านถิ่นทำขนมออกมาวางขาย โดยของที่ขายมักจะเป็นของท้องถิ่น หรือของสมัยก่อน ทั้งของกินของใช้ แต่คงไม่ใช่ของจริง เป็นของทำขึ้นเลียนแบบเพื่อขายนักท่องเที่ยวเท่านั้น ยกเว้นขนมหรืออาหารเป็นของพื้นถิ่นแท้ๆ

ในปี พ.ศ.2436 ฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้นานถึง 11 ปี เนื่องจากสยามมีข้อพิพาทดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง โดยกล่าวหาว่าสยามล่วงล้ำดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ฝ่ายสยามเห็นว่าจะต่อสู้กับทหารฝรั่งเศสไม่ได้จึงขอเปิดการเจรจา ทางฝรั่งเศสยื่นคำขาด ให้สยามยอมยกดินแดนที่เป็นข้อพิพาท รวมทั้งเกาะทั้งหมดในลำน้ำโขง พร้อมเงินอีกหนึ่งล้านฟรังก์และสามล้านบาท โดยจนกว่าจะดำเนินการเสร็จฝรั่งเศสจะยึดเมืองจันทบุรีไว้ก่อน แต่เมื่อทางสยามดำเนินการเสร็จ ฝรั่งเศสไม่ได้ถอนกำลังออกไป ฝ่ายสยามจึงต้องยอมยกเมืองตราดและเมืองประจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี และอีกหนึ่งปีต่อมาสยามยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เพื่อแลกเมืองตราดคืนมา

อย่างไรก็ดี ฝรั่งเศสไม่ได้คืนเมืองประจันตคีรีเขตร์แต่อย่างใด ปัจจุบันเมืองประจันตคีรีเขตร์จึงอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา เมื่อมีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล จึงจัดตั้งมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด อยู่ในเขตการปกครองจนถึงปี พ.ศ.2476 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลและได้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ จันทบุรีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดจนถึงปัจจุบัน จันทบุรีจึงเป็นเมืองชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย ทั้งในสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์จวบจนทุกวันนี้

ชื่อเสียงอันโด่งดังของจันทบุรีแต่ก่อนนี้ คือเรื่อง “พลอย” ปัจจุบันวัตถุดิบพลอยก้อนหาได้ยากเต็มที หรือไม่มีเลย ต้องไปนำเข้าจากต่างประเทศหรือแหล่งอื่น คุณเมธีกล่าวถึงเรื่องนี้ในฐานะพ่อค้าพลอยว่า ชนชาติที่รู้จักการทำพลอยไม่ใช่คนจันทบุรี แต่เป็นคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในจันทบูร คือ “พวกกุล่า” จะอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา

“พวกนี้มีความชำนาญมาก เขาก็มาทำพลอย มาซื้อมาค้ามาเจียระไนพลอย ทำไมคนกุล่าทำพลอยได้ เพราะเวลาเข้าไปในเหมืองพลอยสมัยเมื่อร้อยๆ ปี ผ่านมา ในเหมืองพลอยลองคิดดู บริเวณนี้เป็นป่าทึบ มีเชื้อไข้มาลาเรียเยอะมาก คนไทยคนจีนทนมาลาเรียไม่ได้ แต่กุล่าเขามีภูมิคุ้มกันทนได้ เลยไปขุดพลอยมาเจียระไน จึงมาสู่คนจีนมีโอกาสฝึกปรือได้เจียระไนพลอย คนจีนก็เลยมาค้าขายพลอย”

“เวลานั้นพลอยจันท์ยังไม่มีชื่อเสียงเท่าไหร่ และการค้าขายก็ยังไม่มาก มีคนอยู่คนหนึ่งทำให้วงการพลอยเปลี่ยนแปลงไป เขาคือ “คุณสามเมือง แก้วแหวน” คนคนนี้เขาคิดว่าพลอยขุ่นๆ น่าจะเผาได้ ก็ทดลองเผา แต่ทดลองอย่างไรก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งเกิดคราวเคราะห์ของจันทบุรีในปี พ.ศ.2511 เกิดไฟไหม้ขนานใหญ่ไหม้ครึ่งเมืองเลย เพราะแต่ก่อนมีแต่บ้านไม้ บ้านของคุณสามเมืองก็โดนไฟไหม้ด้วย ที่บ้านของเขาที่ถูกไฟไหม้เขาเก็บพลอยขุ่นๆ ไว้ในปี๊ปเป็นสิบๆ ปี๊บอยู่ในบ้านนั้นแหละ พอไฟมอดดับแล้วเขาก็ไปคุ้ยเขี่ยดูในปี๊บ เห็นว่าความร้อนขนาดนั้นทำให้ หม่า หรือ เหลือบ ที่อยู่ในพลอยขาด กลายเป็นสีสวยงาม

ก็เลยกลับไปคิดค้นต่อ กระทั่งสามารถเผาพลอยได้สำเร็จ พอเผาพลอยสำเร็จ พลอยที่มีอยู่จะสวยมาก อย่างที่ผมบอกเมื่อก่อนพลอยจันท์ยังไม่ซื้อขายกันเยอะเท่าไหร่ ไม้ขีดก้านแรกของคุณสามเมืองทำให้เราเห็นว่าพลอยเผาแล้วมันสวยและเป็นธรรมชาติ ที่จริงจันทบุรีไม่ได้มีชื่อเรื่องพลอย เรามีชื่อมากเรื่องไพลินและทับทิม ส่วนที่มีชื่อเรื่องพลอยคือประเทศอินเดีย”

เมื่อความบังเอิญทำให้เกิดความงามของพลอย เลยเกิดการทดลองขนานใหญ่ “…เกือบจะทุกบ้านที่ทำพลอยก็ทดลองเผาพลอยกันยกใหญ่ ทุกคนไปซื้อพลอยหม่าๆ เหลือบๆ จากทุกที่ในโลกมาเผา ออสเตรเลียบ้าง ศรีลังกาบ้าง พม่าบ้าง กลายมาเป็นพลอยเมืองจันท์ เกิดปรากฏการณ์ว่าจันทบุรีค้าขายพลอย ทับทิม ไพลิน กลายเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วงนั้นบูมที่สุด มีช่วงบูมอยู่สักราวๆ 10 ปีได้ ใครมีเงินแสนก็กลายเป็นเงินล้าน ที่ผมมีอยู่ถ้าโม้ๆ ผมก็ระดับโลกเลยนะ” (หัวเราะชอบใจ)

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเมืองจันท์ ที่กลั่นจากความรู้สึกนึกคิดในใจของพ่อค้าพลอย ที่รักและสำนึกในจังหวัดอู่ข้าวอู่น้ำของตน และอยากให้คนอื่นๆ ได้ไปเยือนและเห็นคุณค่า ความสวยงาม อุดมสมบูรณ์ของจันทบุรี เช่นเดียวกัน

“มติชนอคาเดมี” จัดทริปพาสัมผัสดินแดนภาคตะวันออกใน “ทัวร์ อิ่มพุงกาง..ตะลุย!!มหานครผลไม้ จ.ระยอง-จันทบุรี-ตราด” วันที่ 26-27 พฤษภาคม 2561 จะพาทุกท่านไปเช็กอิน รับประทานอาหารพื้นบ้านเมืองจันท์แท้ๆ กันอย่างเต็มอิ่ม

สนใจติดต่อ มติชนอคาเดมี

Inbox : Facebook Matichon Academy

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

หรือ ติดต่อ line : @m.academy

คลิกอ่านรายละเอียด “ทัวร์ อิ่มพุงกาง..ตะลุย!!มหานครผลไม้ จ.ระยอง-จันทบุรี-ตราด” ที่นี่

: https://www.matichonacademy.com/tour/article_12512

https://www.matichonacademy.com/content/article_12810


Content Team Matichon Academy
[email protected]
0-2954-3971 ต่อ 2111
ติดตามอ่านข่าวสารได้ที่ www.matichonacademy.com

ไม่พลาดข่าวสารอาหาร ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เกร็ดความรู้
คอร์สเรียนสนุกๆได้ประโยชน์-เสริมอาชีพ
คลิกติดตามเพจเฟซบุ๊ค MatichonAcademy

“จันทบุรี” จังหวัดที่มีตราประจำจังหวัดเป็นรูปกระต่ายในดวงจันทร์ ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ตึก รีสอร์ท เพิ่มมากขึ้น ผู้คนหนาตามากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และยิ่งหน้าผลไม้ด้วยแล้ว ที่พักในตัวจังหวัดและชานเมืองแม้แต่ต่างอำเภอยังเต็มแน่นไม่ว่างเลยจริงๆ อาจเป็นเพราะความเจริญทางเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ไต่ระดับเพิ่มมากขึ้น จนเดี๋ยวนี้จันทบุรีกลายเป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยวไปแล้ว

อีกไม่กี่วัน ราววันที่ 1 พฤษภาคมนี้ งานบุฟเฟต์เปิดสวนผลไม้ให้อิ่มกันไม่อั้นจะเริ่มขึ้นแล้ว ไม่ว่าทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง สละ ไปจนถึงผลไม้แปรรูปทั้งหลาย แต่ละสวนต่างเตรียมไว้รองรับนักท่องเที่ยวกันถ้วนหน้า นอกเหนือจากผลไม้ “ของดี” จันทบุรียังมี “อัญมณี” พลอยชั้นดีระดับโลก และธรรมชาติอันสวยงาม ทั้งป่าไม้ ภูเขา วัดวาอาราม รวมทั้งโบราณสถาน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบจังหวัดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

“จอมศักดิ์ ภูติรัตน์” ประธานหอการค้าจันทบุรี ที่ยังครองเก้าอี้เป็นสมัยที่ 3 มาอัพเดตภาพรวมของผลไม้ที่จันทบุรีให้ฟัง โดยกล่าวว่า ต้องถือว่าจันทบุรีเป็นแหล่งผลิตผลไม้คุณภาพเยี่ยมระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมาได้เสนอยุทธศาสตร์ “มหานครผลไม้” ให้กับรัฐบาลไปดำเนินการ และได้ทำมา 3-4 ปีแล้ว ปีนี้ก็ยังจะทำต่อไปอีก เพราะได้ผลเป็นอย่างดี ช่วยให้ราคาผลไม้สูงขึ้น เกษตรกรชาวสวนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 20-30 บาท แต่เดี๋ยวนี้ราคาบวกลบ 100 บาท ถือว่าเป็นที่น่าพอใจของชาวสวน และต้องบอกว่าสามารถสร้างความรับรู้และการนำเสนอยุทธศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับ ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

“จอมศักดิ์” เล่าถึงภาพรวมของสวนผลไม้จันทบุรีขณะนี้ว่า พื้นที่ปลูกผลไม้ในจันทบุรีเพิ่มมากขึ้นจากเดิม เพราะได้ราคาดี คนจึงหันมาทำสวนมากขึ้น โดยพื้นที่การเกษตรทั้งจังหวัดขณะนี้มีประมาณ 4 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ประมาณ 2 ล้านไร่ พื้นที่สวนผลไม้ 1 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 7 แสนไร่ และพื้นที่อื่นๆ เช่น เลี้ยงกุ้งชายฝั่ง หอย ปลา

“สรุปสถานการณ์โดยรวมราคาผลไม้ถือว่าสูงขึ้นน่าพอใจ แต่ราคายางพาราไม่ดี ส่วนข้าวก็กระเตื้ยงขึ้นบ้าง แต่หอการค้าจังหวัดอยากให้ชาวสวนมีรายได้มากกว่านี้ เพราะยังมีศักยภาพที่เพิ่มได้เยอะ ยิ่งตัวเกษตรกรหรือชาวสวนเองก็ไม่ได้งอมืองอเท้า เร่งผลผลิตของตนให้ได้มาตรฐาน ได้คุณภาพ ให้ทันกับตลาดยุค 4.0 เป็นผลจากการส่งเสริมให้เปลี่ยนวิธีคิดในการปลูกใหม่ ว่าไม่เอาปริมาณ แต่เอาคุณภาพแทน”

“สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ คือเรื่องการขยายตลาด จะเห็นว่าเวลานี้มี ล้ง เข้ามาซื้อผลไม้ในจันทบุรีเพิ่มขึ้นถึง 30% จำนวนนี้เป็นล้งเจ้าใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีผลต่อราคา แต่ก่อนมีไม่กี่เจ้าจึงทำให้เกิดการผูกขาด กดราคา แต่ตอนนี้เขามาซื้อของที่นี่เขารู้แล้วว่าจะได้สินค้าคุณภาพ สร้างกำไร ก็มากันใหญ่ ตลาดเลยขยายตัวมากขึ้น แต่ปีนี้ราคาผลไม้คาดว่าจากการแปรปรวนของธรรชาติ โดยเฉพาะมังคุด ผลผลิตลดลงไม่ต่ำกว่า 70% ลดลงมากจนน่าตกใจ น่าเสียดายด้วย เพราะความต้องการยังเยอะ ทุเรียนได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มากเท่ามังคุด ปีที่แล้วทุเรียนผลิตได้ประมาณ 4 แสนตัน แต่ปีนี้อาจไม่ถึง ได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ยังพอรองรับนักท่องเที่ยวและงานบุฟเฟต์ผลไม้ที่จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป ที่ผมกล้าพูดได้ว่าชาวสวนจันทบุรีแฮปปี้ เพราะมีตัวชี้วัด ที่เห็นชัดคือตอนนี้รถปิคอัพขายดีขึ้น และมีการปลดหนี้ ธกส. ได้มากขึ้น จนทางธนาคารออกปากว่าลดหนี้ชาวสวนลงไปได้เยอะเลย ไม่ค่อยเป็นหนี้แล้ว และยังมีการสร้างบ้านใหม่กันมากขึ้นด้วย”

หากมองอย่างประธานหอการค้าจันทบุรีกล่าวแล้ว ราคาผลไม้ปีนี้และปีหน้าไม่น่าห่วงแต่อย่างใด อย่างน้อยคาดว่าปีหน้าราคายังโตต่อเนื่อง ชาวสวนยังแฮปปี้กันต่อได้อีกปี ตรงกันข้ามกับชาวสวนยางพารา อาจหน้าตาไม่สดใส เพราะขณะที่ราคาผลไม้ไปได้สวย แต่ราคายางพารายังต่ำไม่ขยับไปไหน

“อย่างไรก็ดี หอการค้าเราอยากวิงวอนให้ชาวสวนผลไม้อย่าทุบหม้อข้าวตัวเอง ต้องพยายามรักษาคุณภาพของผลผลิตให้ผลไม้ได้คุณภาพ ได้มาตรฐาน”

สิ่งที่ประธานหอการค้าจันทบุรีกล่าวถึงว่าเป็นแนวทางในการส่งเสริมผลไม้ของจังหวัด ก็คือในงานไทยเฟ็กซ์ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2561 ทางพาณิชย์จังหวัดร่วมกับหอการค้าจันทบุรีจะจัดพาวิลเลียน “มหานครผลไม้” ขึ้นในงานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้คนรู้จักผลไม้ของจันทบุรีและภาคตะวันออกมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังได้ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลผลิตจากภาคตะวันออกกระจายไปตามจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดเป็นแหล่งซื้อพิเศษขึ้นในสนามบิน เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี หาดใหญ่ ฯลฯ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย

“คุณกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังจะร่วมมือกับสวนนงนุช จ.ระยอง จัดพาวิลเลียนผลไม้ในสวนนงนุชด้วย เพราะมีนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวสวนนงนุชเยอะมาก เวลานี้กำลังประสานงานกันอยู่ ถือเป็นการโปรโมตเพื่อเพิ่มช่องทางการขายผลไม้อีกช่องทาง”

ขั้นต่อไป แผนงานระยะกลางไปจนถึงปลายทาง จะทำอย่างไรให้เกษตรกรชาวสวนได้ราคาดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่มองเห็นระยะกลาง คือการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ส่วนระยะปลายทางเป็นการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำ และคนที่จะดำเนินการได้ก็คือภาครัฐ เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เพราะมีทั้งคนและงบประมาณ ส่วนภาคเอกชนเป็นคนเสนอให้รัฐเห็นว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง และทำอย่างไร

จอมศักดิ์ ภูติรัตน์

“ในโลกดิจิทัล คิดและทำแบบเดิมมันไม่พอ แต่ต้องมีนวัตกรรมใหม่ที่สามารถเพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าของผลไม้หรือพืชเกษตรได้อีก เช่น ทำเป็นอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมอาหารเสริม เครื่องสำอางบำรุงความงาม เป็นต้น โดยใช้วัตถุดิบจากผลไม้ จะเพิ่มมูลค่าได้อย่างมหาศาล เพราะราคาจะแตกต่างกันมาก ตรงนี้รัฐต้องเข้ามาส่งเสริม เราเพียงแต่ชี้เป้าให้เห็นว่ามันมีศักยภาพตรงไหนบ้าง ลำพังหอการค้าเราไม่มีคน ไม่มีงบเพียงพอ แค่ทำเรื่อง R&D ก็ใช้คนใช้งบมหาศาลแล้ว เพราะฉะนั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หรือ สวทช. สสว. สำนักงานวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัย ต้องเข้ามามีบทบาท มันเกินกำลังของเราจริงๆ และการเข้ามาก็ต้องดูด้วยว่ามีพืชเกษตรกี่ตัวที่คุ้มกับการลงทุนลงแรง ถ้ารัฐไม่ขยับตรงนี้ ชาวสวนในระยะยาวก็อยู่ไม่ได้ เพราะประเทศเรารากเหง้าเป็นประเทศเกษตรกรรม”

สำหรับการท่องเที่ยวของจังหวัดจันทบุรีนั้น จอมศักดิ์กล่าวว่า โตมาตลอดไม่ต่ำกว่า 10 % ในแต่ละปี คาดว่าปีหน้า (2562) ก็เช่นเดียวกัน โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวมีทั้งคนไทยที่มากินอาหารทะเล กินผลไม้ เพราะราคาไม่แพง และอาหารทะเลสดใหม่ ส่วนอัญมณีก็เป็นของแท้ ไว้ใจได้

“แต่ก็น่ากังวลว่าอัญมณีค่อนข้างมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ กำลังเสนอแนวทางแก้ไขกันอยู่ ซึ่งปัญหาเบื้องต้นคือเราขาดวัตถุดิบ พลอยก้อน ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมหรือหาช่องทางนำพลอยก้อนมาสู่ตลาดที่เมืองจันท์ให้สะดวกขึ้น”

ปัญหาที่พบ คือปัจจุบันคนไทยต้องเดินทางไปซื้อวัตถุดิบถึงแอฟริกา ไม่ว่าที่ประเทศโมซัมบิก แทนซาเนีย และศรีลังกา ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงและเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น ทั้งที่จริงแล้วสมัยก่อนจันทบุรีเป็นแหล่งขุดและผลิตพลอย ทั้งเผาทั้งเจียระไน แล้วส่งไปขายให้แก่ร้านโบรกเกอร์ย่านสีลม กรุงเทพฯ เพื่อส่งไปขายต่อในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันต่างประเทศบินตรงมาซื้อพลอยที่จันทบุรี ทำให้ย่านสีลมต้องเงียบและยุติบทบาทไป

“ผลที่ตามมา คือผู้ค้าต่างประเทศที่มาจันท์เป็นคนอินเดียเป็นส่วนใหญ่ กลายเป็นว่ามาซื้อแล้วเลยคุมตลาดเสียเอง มีอำนาจทางการตลาดสูง กดราคา พ่อค้าคนกลางที่เป็นคนไทยก็จบวงจรลงไป จากเมื่อก่อนที่วัตถุดิบมาจากจันท์และประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้น้อยมาก แม้แต่แอฟริกาก็เริ่มลดลงแล้ว ดังนั้นทำอย่างไรให้ได้วัตถุดิบมาสะดวกขึ้น เช่น ถ้ามีการประมูลพลอยก้อน ควรจะให้มาประมูลที่จันทบุรีโดยตรงจะดีกว่า ซึ่งการให้ไปประมูลที่สิงคโปร์หรือจีน อินเดีย มาเลเซีย ระยะทางไกลไป เพราะประมาณ 80% ไปจากจันทบุรีทั้งนั้น อีกอย่างความสามารถในการเผา การเจียระไนเรามีความสามารถ เป็นจุดแข็งของเรา ถ้านำมาทำที่นี่ได้จะสร้างมูลค่าเพิ่มและตลาดแรงงานก็จะดีขึ้น จะช่วยส่งเสริมได้มาก เพราะตลาดอัญมณีปีที่แล้วมูลค่า 4 แสนล้านบาทเลยทีเดียว ถ้านำมาทำที่จันทบุรีได้สัก 10% ของ 4 แสนล้าน ไม่ใช่น้อยเลย ตรงนี้อยากให้รัฐบาลใส่ใจมองเป็นยุทธศาสตร์ว่าต้องรักษาไว้สมกับที่จะทำให้จันทบุรีเป็น นครอัญมณี”

ฟังประธานหอการค้าอัพเดตสถานการณ์แล้ว จะเห็นว่าจันทบุรีที่กล่าวมาเป็นเมืองสำคัญอย่างมาก เป็นทั้งเมืองท่องเที่ยวและเมืองที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ


Content Team Matichon Academy
[email protected]
0-2954-3971 ต่อ 2111
ติดตามอ่านข่าวสารได้ที่ www.matichonacademy.com

ไม่พลาดข่าวสารอาหาร ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เกร็ดความรู้
คอร์สเรียนสนุกๆได้ประโยชน์-เสริมอาชีพ
คลิกติดตามเพจเฟซบุ๊ค MatichonAcademy