วันที่ 8 มิถุนายน นายเกรียงศักดิ์ หามะฤทธิ์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิชาการกระทรวงเกษตร เปิดเผยว่า นกพิราบเป็นสัตว์ปีกอีกชนิดหนึ่งที่มีสถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะมีจำนวนประชากรมากเกินไป คาดว่า เวลานี้มีนกพิราบที่อาศัยอยู่ในเมืองมากกว่า 10 ล้านตัวทั่วประเทศ มากกว่าหนู แต่ความสกปรกนำโรคมีมากพอกัน โดยที่หนูมาทางบก ส่วนนกพิราบนั้นจะมาทางอากาศ ความสกปรกของนกพิราบคือการไปขับถ่ายไว้ตามซอกตึก มุมตึก บนหลังคาบ้าน หลังคาโบสถ์ ระเบียงบ้าน มูลของนกพิราบมีทั้งเชื้อรา และสปอร์ ที่ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบได้ รวบทั้งมีกรดบางอย่างที่ทำให้สีอาคารบ้านเรือน หรือโบราณสถานได้รับความเสียหาย เวลานี้มีสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหาย และความเดือดร้อน รำคาญ จากการต้องคอยแก้ปัญหาที่เกิดจากมูลนกพิราบจำนวนมาก

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากความสกปรก ความเสียหายที่นกพิราบสร้างไว้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงสีอีกคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง การลงไปโฉบกินข้าวที่บริเวณลานตากข้าวหน้าโรงสี โดยลานตากข้าวบางแห่งได้แต่ยืนมองตาปริบๆ โดยที่ นกพิราบ 1 ตัวจะกินข้าวเปลือกวันละ 30 กรัม บางจังหวัด เราคาดว่าน่าจะจะมีนกพิราบไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัว แสดงว่า ข้าวต้องถูกกินไปราว 1 หมื่นตัน ต่อปี ขณะที่ลานตกข้าวบางแห่งแทบจะมองไม่เห็นเมล็ดข้าวเลย มีแต่นกพิราบยืนกินข้าวเต็มทั้งลาน

“เมื่อก่อนนี้เคยมีธุรกิจเลี้ยงเหยี่ยว เพื่อมาไล่กินนกพิราบ แต่ปรากฏว่าเหยี่ยวที่เลี้ยงนั้นควบคุมไม่ได้ ทำงานได้แค่ 1-2 วันแรก มันก็หยุดไม่ยอมจับอีกรวมทั้งค่าจ้างเหยี่ยวก็แพง โดยคิดเหมาจ่ายรายปี ปีละไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านบาทในกรณีโรงสีหรือไซโรขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นเหยี่ยวหุ่นยนต์ หรือโดรนบินขับไล่แทน แต่ก็ได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับในพื้นที่การเกษตร ก็ถูกนกพิราบพวกนี้เข้าไปกินเมล็ดข้าวเช่นกัน ยังไม่มีใครแก้ปัญหาอะไรได้ชัดเจน จนเกษตรกรหลายคนต้องปลูกข้าวเผื่อนกพิราบไปเลย เช่น ตั้งเป้าว่าจะได้ข้าว 20 ถัง ก็ปลูกเพื่อให้ได้ข้าว 23 ถัง อีก 3 ถัง คือให้นกกิน เรียกได้ว่า ในกระบวนการปลูกข้าวนั้นแทบจะมีนกพิราบอยู่ทุกกระบวนการ ตั้งแต่ในนา ถึงตอนเอาข้าวไปตาก แล้วยังมีที่สี่แยกไฟแดง กลางเมืองที่ จ.นครสวรรค์ รถขนข้าวติดไฟแดงก่อนข้ามแม่น้ำ ตรงบริเวณคอสะพานมีนกพิราบฝูงใหญ่มาดักรอกินข้าว ตอนรถติดไฟแดง พอไฟเขียวก็ออกมาเกาะสะพานใหม่ รอกินคันต่อไป เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้มีนกพิราบเกาะอยู่บริเวณดังกล่าวราวร้อยกว่าตัว ตอนนี้ ระยะทางไม่ต่ำกว่า 1 กิโลเมตร นกพิราบเกาะเต็มไปหมด “นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า นกพิราบเป็นนกฝูงที่ฉลาดและปรับตัวเก่งมาก การหาแหล่งอาหารก็จะมีการวางแผนจากฝูงเป็นอย่างดี โดยให้นกตัวที่บินเก่ง แข็งแกร่งที่สุด 2 ตัว บินออกลาดตระเวนหาแหล่งก่อน เมื่อเจอ นก 2 ตัวนี้ก็จะกลับฝูงมาบอก ที่ไม่ไปพร้อมกันทั้งหมด เพราะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน นอกจากนี้ยังป็นสัตว์ที่มีระบบความจำเส้นทางดีเยี่ยม สมัยก่อนจึงเอามาทำนกสื่อสาร เคยมีการทดลองเอานกพิราบที่ไม่เคยผ่านการฝึกมาก่อน จากกรุงเทพ ไปไว้ที่จ.ระนอง และปล่อยจาก จ.ระยอง นกสามารถบินกลับกรุงเทพที่บ้านหลังเดิม ใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ดังนั้นจึงเลิกคิดไปเลยหากจะแก้ปัญหานกพิราบโดยการจับจากจุดนี้ไปปล่อยยังอีกจุด เพราะเป็นการเอาปัญหาจากที่นี่ไปสร้างปัญหาให้ที่อื่นอีก ที่สำคัญ ในที่สุดแล้วมันก็จะบินกลับมาอยู่ที่เดิม

เมื่อถามว่า เป็นเช่นนี้แล้ว ควรจะทำอย่างไร เพื่อเป็นการแก้ปัญหา นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า โดยอายุขัยของนกพิราบแล้ว มีประมาณ 5 ปี ต้องตั้งเป้าระยะการทำงานไว้ที่ 5 ปี คือ ไม่มีการฆ่าหรือทำลายนกที่มีอยู่ แต่ก็ต้องไม่ให้เกิดใหม่ ทำหมันโดยให้กินฮอร์โมนที่ไม่สามารถให้มีลูกได้ ภายในระยะเวลา 5 ปี นกจะเหลือครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ หากไม่ทำอะไรเลย ประชากรนกพิราบก็จะเพิ่มมากขึ้นอีก มากขึ้นอีกเรื่อยๆเราเจอเชื้อโรคจากหนูแล้ว ยังต้องเจอเชื้อโรคจากนกพิราบอีก ที่สำคัญคือนกพิราบเวลานี้แทบจะไม่มีศัตรูในธรรมชาติเลย มันฮึกเหิมอยู่ในสังคมเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

“หลายประเทศเขาก็กินนกพิราบกัน นกพิราบน้ำแดงเป็นเมนูเด่นของร้านอาหารหลายๆร้านย่านเยาวราช แต่เขานำเข้าจากประเทศจีน เพราะไม่มีใครยอมกินนกพิราบในประเทศไทย ทั้งๆที่ผมก็ว่ากินได้เช่นเดียวกัน เมื่อเร็วๆนี้ ที่ จ.ลพบุรี มีการรณรงค์กินนกพิราบ เอานกพิราบมาปรุงอาหาร ซึ่งนกพิราบเป็นนกเนื้อ คือมีเนื้อเยอะ พอกับนกกระทา โปรตีนสูงเนื้อนุ่ม ถามว่า สกปรกมีเชื้อโรค เช่น หวัดนก หรือ ไข้สมองอักเสบหรือไม่ ตอนนี้ก็พิสูจน์มาแล้ว มีนกพิราบที่ป่วยเป็นไข้หวัดนกน้อยมาก แทบจะไม่มีเลย ส่วนเชื้อไข้สมองอักเสบ อยู่ในมูลนก ที่ถ่ายออกมาแล้ว ไม่ได้อยู่ที่เนื้อนก

 


ที่มา มติชนออนไลน์

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงกรณี นายอำเภอเมือง และปศุสัตว์ จ.ลพบุรี มีนโยบายให้ประชาชนจับนกพิราบมาประกอบอาหาร ว่า จริงๆ แล้วการจะเอานกหรือสัตว์ปีกมากินนั้นหากปรุงสุกคงไม่เป็นอะไร แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ช่วงระหว่างการฆ่า ชำแหละ และการปรุง ซึ่งคนที่ทำส่วนนี้มีโอกาสได้รับเชื้อโรคเข้าไปได้ ซึ่งในนกพิราบมีเชื้อโรคเยอะ ทั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส จำนวนมาก ขึ้นอยู่กับคนที่สัมผัส ถ้าเป็นคนที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ทางหลอดลม โรคปอด พวกสูบบุหรี่ เบาหวาน หรืออยู่ในภาวะที่ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ อาทิ ติดเชื้อเอชไอวี การรับสารสเตียรอยด์ หรือการรับยาเคมีบำบัด เป็นต้น ก็จะมีความเสี่ยง

“คนที่ได้รับเชื้อเข้าไปจะมี 3 แบบ คือ เชื้อเข้าไปแล้วหลบอยู่หลังโพรงจมูกโดยไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือเข้าไปแล้วทำให้เกิดการติดโรคแต่ไม่แสดงอาการ และหรือติดเชื้อก่อโรคแล้วแสดงอาการ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัวก็ได้ อย่างไรก็ตาม อาการจะรุนแรงหรือไม่ ก็อยู่ที่ตัวเชื้อว่าเป็นเชื้อร้ายแรงแค่ไหน ปริมาณที่เข้าสู่ร่างกายเยอะหรือไม่ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอนนั้นเป็นอย่างไร คือถ้าระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเชื้อก็เก่งขึ้น ถ้าระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแข้งแรงมากก็จะเกิดการต่อสู้กับตัวเชื้ออย่างรุนแรงจนทำให้เกิดการอักเสบ คือไม่มีอะไรดี อย่างไรก็ตาม เรื่องโรคในสัตว์ปีก ตอนนี้ที่อันตรายคือเรื่องของไข้หวัดนก ซึ่งในต่างประเทศก็เคยมีรายงานเจอในบรรดาสัตว์ปีกทั้งหลายแหล่ รวมถึงนกพิราบด้วย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่าโดยสรุปแล้วคนเราควรรับประทานนกพิราบหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า คนไทยเรากินทุกอย่าง แต่การจะกินอะไรควรเป็นสิ่งที่มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย ถ้าเรามีอาหารที่จำเป็น ที่เพียงพอและไม่เป็นอันตรายอยู่แล้ว จะไปแสวงกินของที่ไม่จำเป็นทำไม โดยเฉพาะสัตว์ปีกที่นอกเหนือจากเป็ด ไก่ เพราะเราไม่รู้ว่าสัตว์ปีก นกพิราบตัวนั้นๆ อมโรคอะไรอยู่หรือไม่ เพราะการที่มันอมโรคอยู่บางครั้งก็ไม่ได้แสดงอาการอะไร