การเล่นแชร์ เป็นที่นิยมและแพร่หลายในหมู่คนไทย นอกจากเป็นการลงทุนทางการเงิน การเก็บออมแล้ว แต่อย่าลืมว่าทุกวงแชร์มีความเสี่ยงที่ผู้เล่นจะต้องแบกรับ หลายวงแชร์ไม่มีปัญหา ราบรื่น แต่หลายวงแชร์ตั้งแต่ระดับเล็กไปจนถึงวงแชร์มูลค่าสูงหลักล้านที่กลายเป็นคดีความฟ้องร้องจากการหนีหรือโกง ของท้าวแชร์ หรือลูกแชร์ด้วยกันเอง ดังนั้นคดีความทางการเงินเกี่ยวกับแชร์ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีร้องเรียนเป็นจำนวนมาก

การเข้าสู่วงการเล่นแชร์ หรือคิดจะเป็นท้าวแชร์ จึงต้องศึกษาและเตรียมตัวก่อน 8 ข้อ ดังนี้

1.ห้ามนิติบุคคลจัดหรือเป็นท้าวแชร์โดยเด็ดขาด

2.ประชาชนเป็นท้าวแชร์ได้ แต่ห้าม ดังนี้
-ห้ามตั้งวงแชร์รวมกันเกิน 3 วง
-ห้ามมีสมาชิกทุกวงรวมกันเกินกว่า 30 คน
-ห้ามมีเงินกองทุนหรือเงินกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันเกินกว่า 3 แสนบาท
-ห้ามท้าวแชร์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นเว้นแต่เงินกองกลางจากการเล่นแชร์เท่านั้น

3.ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาหรือป่าวประกาศให้คนเข้ามาร่วมเล่นแชร์

4.ก่อนเล่นแชร์ต้องตรวจสอบให้รู้ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเงิน

โดยข้อมูลที่ต้องตรวจก่อน คือ
-ข้อมูลของเท้าแชร์ เช่น ชื่อ-สกุลที่แท้จริง อาชีพ ฐานะทงการเงิน ที่อยู่ บัญชีธนาคารของท้าวแชร์
-ข้อมูลของสมาชิกที่ร่วมเล่นแชร์ เช่น ฐานะทางการเงิน ทำงานอะไร

5.ท้าวแชร์หนีหรือโกง มี 2 กรณี
-มีเจตนาทำวงแชร์จริง แต่บริหารผิดพลาด สมาชิกวงแชร์ฟ้องร้องบังคับทางแพ่งได้
-มีเจตนาจะไม่ทำวงแชร์มาตั้งแต่ต้น ได้เงินแล้วเชิดเงินหลบหนีไป สมาชิกวงแชร์แจ้งความดำเนินคดีอาญาข้อหา “ฉ้อโกง” กับท้าวแชร์ได้

6.ลูกแชร์เปียแชร์แล้วหนี วงแชร์ต้องดำเนินการต่อไป โดยท้าวแชร์ต้องรับผิดชอบ สำรองจ่ายแทนไปก่อน ท้าวแชร์สามารถฟ้องทางแพ่งต่อลูกแชร์ที่หลบหนี

7.เอกสารหลักฐานที่ต้องเตรียมเมื่อถูกท้าวแชร์โกง
-หน้า FB , Page , Line ของท้าวแชร์ และคำเชิญชวนที่โพสต์ในออนไลน์
-ข้อมูลของท้าวแชร์ เช่น บัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เบอร์โทรติดต่อ ที่อยู่
-สเตทเมนต์พร้อมไฮไลท์ยอดที่โอนให้ท้าวแชร์ให้ตรงกับสลิปที่โอนเงินให้
-แยกยอดเงินระหว่างเงินส่งแชร์และเงินที่ได้ดอกให้ชัดเจน

8.เดือดร้อนโดนโกงแชร์แจ้งที่ไหน?
-แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ
-ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ 02-234-1068
-ยอดเสียหายเกินกว่า 5 ล้าน แจ้งความร้องทุกข์ที่กองปราบปราม


ขอบคุณข้อมูล กองปราบปราม