รู้หรือไม่ว่า เมื่อเรานำกระเทียมมาปรุงอาหารโดยผ่านความร้อน เช่น การเจียว การต้ม จะทำให้คุณค่าในการเป็นยารักษาโรคลดลง ดังนั้นหากต้องการให้ได้สารอาหารจากกระเทียมเช่นเดิม ควรเพิ่มปริมาณการกินมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนคนที่เป็นโรคกระเพาะหรือท้องว่าง ต้องระวังอย่ากินกระเทียม เพราะจะทำให้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ตลอดจนเมื่อเกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ควรเลี่ยงการกินกระเทียมระหว่างนี้

ที่มา : แม่บ้าน

เดี๋ยวนี้ในบ้านเรามีพืชผักที่มีคุณค่ามากมายเป็นทั้งอาหาร เป็นยาสมุนไพร เป็นสิ่งให้สารบำรุงร่างกายและจิตใจ จนมีคำแนะนำรักษ์สุขภาพทางการแพทย์ว่า “ให้กินผักเป็นยา กินปลาเป็นอาหาร” พืชผักหลายชนิดมีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศไทย ผักบางชนิดมีการนำเข้ามาแพร่พันธุ์จากต่างประเทศ พอปลูกในไทยนานเข้าจนคุ้นเคยดูเหมือนจะเป็นพืชท้องถิ่นไทยไปเลย

“กระเทียม” นับได้ว่าเป็นพืชผักที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จัก มีสารประกอบอินทรีย์กำมะถันสูง ซึ่งเป็นสารที่ทำให้กระเทียมมีกลิ่นหอม มีรสเผ็ดร้อน ให้พลังงาน มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย แต่ไม่แน่ใจว่าต้นกำเนิดแรกอยู่ในประเทศใด อาจจะเป็นพืชดั้งเดิมของไทยเราก็ได้

เพราะเราเห็น เรารู้จักกันมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ทวด รู้จักกิน รู้จักนำมาเป็นยารักษาบรรเทาโรค จนปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยเราเช่นปัจจุบันนี้ พอที่จะรู้ว่าชาวจีนนำกระเทียมใช้เป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย บำรุงกำหนัด เรื่องเพศสัมพันธ์ และใช้ถ่ายพยาธิ ชาวอียิปต์สมัยโบราณรู้จักการนำกระเทียมไปใช้ประโยชน์เมื่อมีโรคระบาด เช่น อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้รากสาดใหญ่ เอากระเทียมแขวนคอเด็กเพื่อขับไล่พยาธิต่างๆ

กระเทียม มีชื่อสามัญว่า GARLIC ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium sativum Linn. เป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน จัดอยู่ในวงศ์พลับพลึง AMARYLLIDACEAE วงศ์ย่อย ALLIOIDEAE มีพืชที่อยู่ในตระกูลเรียงพี่เรียงน้องกัน คือ กระเทียมหัว กระเทียมใบ หอมหัวใหญ่ หอมแดง และ หอมแบ่ง กระเทียมหัว (Garlic) มีชื่อเรียกทางภาคกลางและทั่วไปว่า กระเทียม ภาคเหนือเรียก หอมเตียม หอมเทียม ภาคใต้ เรียก เทียม หัวเทียม อีสาน เรียก กระเทียมขาว หอมขาว

กระเทียมที่มีปลูกในบ้านเรา มี 2 ชนิด ได้แก่ “กระเทียมจีน” จะมีหัวใหญ่ มีอายุเก็บเกี่ยวยาว กว่า 5 เดือน กระเทียมจีนเป็นพันธุ์หนัก หัวใหญ่ แต่นิยมเก็บเกี่ยวก่อนแก่ เก็บสดๆ หัวใหญ่ น้ำหนักดี ใบยังเขียวอยู่ จะเก็บไว้ได้ไม่นานจะเน่าเสีย เหมาะสำหรับเอามากินสด และทำกระเทียมดอง

และ “กระเทียมไทย” เดี๋ยวนี้ค่อนข้างจะหาคนปลูกเป็นการค้ายากหน่อย ไม่เป็นที่นิยมปลูก เพราะหัวเล็ก ขายไม่ค่อยได้ราคา คนไม่ค่อยนิยม มีแต่กลุ่มคนที่มีข้อจำกัดด้านอาหาร หรือเพื่อสุขภาพ รักษาโรค และที่ปลูกไว้กินทั่วไป กลับชอบปลูกกระเทียมไทยกัน เนื่องจากปลูกหน้าหนาว หลังเกี่ยวข้าวแล้ว อายุเก็บเกี่ยวเมื่อแก่จัด 3-4 เดือน บางทีก็ใช้เวลาแค่ 2-3 เดือน เก็บได้แล้ว เพราะหน้าหนาวมันแล้ง กระเทียมลงหัว แก่ไว

เรื่องพันธุ์กระเทียม มีข้อสงสัยกันว่า ทำไมจึงมีกระเทียมหลายอย่าง บ้างก็ว่าแบบหัวเล็กกลีบเล็กดีกว่า ประเภทหัวใหญ่กลีบใหญ่ อย่างชนิดกลีบเบ้อเร่อเทิ้มก็มี ก็อย่างที่บอกไว้ เราแยกเป็นกระเทียมไทย กับกระเทียมจีน ก็มีพันธุ์ต่างๆ แตกต่างกัน

กระเทียมไทย ส่วนใหญ่ที่นิยมปลูกเป็นพันธุ์กลาง อายุเก็บเกี่ยว 90-120 วัน เช่น พันธุ์พื้นเมืองเชียงใหม่ พันธุ์บางช้าง พันธุ์พม่า พันธุ์เบา หรือพันธุ์ขาวเมือง อายุเก็บเกี่ยว 75-90 วัน เช่น พันธุ์พื้นเมืองศรีสะเกษ จำพวกพันธุ์หนัก อายุเก็บเกี่ยว เกิน 150 วัน เช่น พันธุ์จีน หรือพันธุ์ไต้หวัน

วิธีปลูกกระเทียม

เนื่องจากพันธุ์กระเทียมมีราคาแพง การปลูกโดยวิธีหว่านจะใช้พันธุ์มาก จึงควรใช้วิธีปลูกเรียงกลีบบนแปลง ระยะวางกลีบ 10 เซนติเมตร แล้วใช้ฟางข้าวคลุม รดน้ำให้ชุ่ม เคยมีบางแห่งจะปลูกโดยการแกะกลีบกระเทียม แล้วแช่น้ำ 1 คืน เอาออกมาผึ่งแดดให้พอหมาด แล้วนำไปคลุกมูลค้างคาว เพื่อไม่ให้ลื่น และเป็นปุ๋ยบำรุงเจริญเติบโตเร็ว

ปักกลีบกระเทียมลงดิน ระยะปลูก 10×20 เซนติเมตร ลึก 2 ส่วน 3 ของกลีบ ประมาณ 1 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางข้าว แปลงกว้าง 2 เมตร ยาว 10 เมตร เว้นร่อง 50 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่ แบ่งได้ 80 แปลงย่อยๆ ละ 900 ต้น หรือ 72,000 ต้น ต่อไร่ ใช้กลีบพันธุ์ขนาดกลาง น้ำหนัก 2 กรัม ต่อกลีบ น้ำหนักรวม 144 กิโลกรัม ต่อไร่

จึงแนะนำให้เกษตรกรปลูกแบบใช้กลีบ ต้นทุนค่าพันธุ์ต่ำลงมาก ถ้าปลูกไว้กินเล็กๆ น้อยๆ ขอให้ใช้กลีบพันธุ์ขนาดใหญ่ ปลูกแปลงเล็กๆ หรือในกะละมังก้นรั่ว ได้กิน ทั้งต้น ใบ ดอก หัว คอยตัดกินทีละน้อย 5-6 เดือนถึงหมด ได้หัวที่แก่จัดทำพันธุ์ต่อได้ และถ้าปลูกเว้นเวลากัน ก็มีกินตลอดปี ข้อจำกัดคือ ถ้าไม่เจอหนาว จะไม่ลงหัว จึงนิยมปลูกกันช่วงเดือนพฤศจิกายน เก็บเกี่ยวมีนาคม หรือ เมษายน

สรรพคุณทางยาของกระเทียม

สารสำคัญของกระเทียม ที่ทำให้กระเทียมมีสรรพคุณและคุณภาพความเป็นกระเทียม ดังที่รู้จักกัน กระเทียมจะมีกลิ่นหอมฉุน มีน้ำมันหอมระเหย คือสารอินทรีย์กำมะถัน อัลลิอิน เมื่อถูกเอนไซม์ อัลลิเนส เป็นตัวเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำมันกระเทียม (Garlic Oil)

กระเทียมจะมีกลิ่นหอมก็ต่อเมื่อ อัลลิอิน และอัลลิเนส ซึ่งปกติจะแยกกันอยู่คนละส่วน เมื่อถูกทุบ หั่น หรือทำให้ช้ำ สารทั้ง 2 ชนิด จะรวมกันทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี กลายเป็นสารอัลลิซีนในรูปน้ำมันที่มีประโยชน์ สารอัลลิอิน น้ำย่อยอัลลิเนส และสารอัลลิซิน ในกระเทียมสดๆ จะไม่มีกลิ่น กลิ่นตามมาทีหลังเมื่อเกิดปฏิกิริยาดังที่กล่าวมา

น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ขับเหงื่อ แก้น้ำลายเหนียว ขับเสมหะ บำบัดโรคหลอดลมอักเสบ บรรเทาอาการไอ การสูดดมน้ำคั้นจากกระเทียมรักษาวัณโรค เพิ่มอาการหลั่งของน้ำดี ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ใช้บำบัดโรคความดันโลหิตสูง บำรุงธาตุ แก้จุกเสียดแน่นท้อง แน่นอก แก้อาการอักเสบในลำไส้ ขับลมในลำไส้ ป้องกันกรดไหลย้อน ขับเลือดระดู แก้อัมพาตอัมพฤกษ์

โขลกพอกหัวเหน่าแก้ขัดเบา บดผสมน้ำส้มสายชูกวาดแก้คออักเสบเสียงแหบแห้ง แก้ไข้ แก้โรคเส้นประสาท น้ำคั้นใช้ทาบรรเทาอาการปวดข้อ ต้มกับน้ำมันงาใช้หยอดหูแก้ปวดหู ใช้พอกแผลหนอง ช่วยบำรุงระบบสืบพันธุ์ และทางเดินปัสสาวะ มีสารที่ควบคุมฮอร์โมนเพศชายและหญิง

คุณค่าของกระเทียมที่ได้จากสารอินทรีย์กำมะถันอัลลิซิน อัลลิอิน เป็นยาปฏิชีวนะ ฆ่าเชื้อแก้อักเสบ ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลับ ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ลำไส้ ป้องกันโรคหวัด วัณโรค หรือนิวโมเนีย โรคคอตีบ ปอดบวม ไทฟอยด์ มาลาเรีย คออักเสบ อหิวาตกโรค ช่วยขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ขับลมภายในกระเพาะ แก้ท้องอืดเฟ้อ รักษาแผลสด แผลเป็นหนอง โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า เชื้อราในร่มผ้า ปวดฟันจากฟันผุ ปวดหู หูอื้อ หูตึง ฯลฯ

มีสูตรเด็ดใช้รักษาโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ภูมิปัญญาพื้นบ้านชาวใต้ปัตตานี ใช้กระเทียม 1 กิโลกรัม ใส่เครื่องปั่น บีบมะนาวใส่ประมาณ 50 ลูก หมักไว้ 25 วัน นำมากินครั้งละ 1 ช้อน ก่อนอาหาร 3 เวลา ร่างกายจะปรับสมดุล และแข็งแรง

ประโยชน์ทางโภชนาการ กระเทียมมีวิตามินเอ บี ซี และสารจำพวกฮอร์โมน ใช้ต้น ใบ ดอก หัว ปรุงเป็นอาหาร หัวแก่เป็นเครื่องปรุง ดับกลิ่นคาวเนื้อสัตว์ หมู ปลา เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของน้ำพริกต่างๆ

ต้ม ผัด แกง ทอด หอมอร่อยในพริบตา รสแซ่บซ่า กินแหนมสดขาดกระเทียมกับพริกขี้หนูหมดอร่อย และในการทำแหนม เขาโขลกหรือทุบกระเทียมผสมข้าวสุกใส่ห่อแหนม จะทำให้แหนมสุกเปรี้ยวอร่อยถูกคอสุรายิ่งนัก ส่วนกระเทียมดองก็นำมาประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด อร่อยมาก

คุณค่าทางโภชนาการ กระเทียม 100 กรัม ให้พลังงาน 149 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยสาระสำคัญ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต 33.06 กรัม โปรตีน 6.36 กรัม กากใยอาหาร 2.1 กรัม น้ำตาล 1.0 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม วิตามินB1 หรือไทอะมีน 0.2 มิลลิกรัม วิตามินB2 หรือไรโปฟลาวิน 0.11 มิลลิกรัม วิตามินB3 หรือไนอะซิน 0.7 มิลลิกรัม วิตามินB5 หรือกรดแพนโทเทนิก 0.596 มิลลิกรัม วิตามินB6 หรือไพริด็อกซิน 1.235 มิลลิกรัม วิตามินB9 หรือกรดโฟลิก 3 ไมโครกรัม วิตามินC 31.2 มิลลิกรัม แคลเซียม 181 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 153 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 401 มิลลิกรัม เหล็ก 1.7 มิลลิกรัม แมงกานีส 1.672 มิลลิกรัม สังกะสี 1.16 มิลลิกรัม ซีลีเนียม 14.2 ไมโครกรัม

กระเทียม มีสรรพคุณและคุณประโยชน์มากกว่า 200 อย่าง การกินกระเทียมไม่ว่าจะรูปแบบไหน ถ้ากินพอประมาณ มีประโยชน์ที่ได้รับมากมาย บรรพบุรุษเราก็ใช้ประโยชน์จากกระเทียมมากันนับไม่รู้กี่รุ่นกี่ยุคกี่สมัย

ชาวโลกทั่วไปก็รู้จักใช้ประโยชน์ และบอกเล่าสืบต่อกันมานานนับร้อยๆ ปี จะถือได้ว่า กระเทียมเป็นพืชโบราณที่เปี่ยมล้นด้วยนานาสรรพคุณ มหาศาลด้วยคุณประโยชน์ ที่สุดแห่งพืชที่เอื้อประโยชน์แก่มนุษย์โลกมาอย่างยาวนาน แล้วเราจะปล่อยละทิ้งไปให้สิ้นสูญไร้ค่าอย่างนั้นหรือ?

เมื่อรู้ว่ากระเทียมมีประโยชน์มากมาย ช่วงนี้มีราคาแพงเอามากๆ แหล่งปลูกเดิมก็ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เป็นเพราะกระเทียมใช้เวลานานถึงได้ผลผลิต ใช้เวลานานพอๆ กับทำนา

เมื่อนับช่วงปลูกกระเทียม คือหน้าหนาวหลังเกี่ยวข้าวนาปีแล้วถึงลงมือปลูก ดินมีความชื้นอยู่บ้าง ข้างนาพอมีน้ำในสระในหนองอยู่บ้าง มีฟางข้าวอยู่ในแปลงนาแล้ว ขุดไถปรับหน้าดินนานิดหน่อย ใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก แล้วปลูกกระเทียม 3-4 เดือน ได้ผลผลิต เก็บเกี่ยวแล้ว

ดินยังมีปุ๋ยเหลืออยู่บ้าง ฟางข้าวที่คลุมแปลงย่อยสลาย เหลือปุ๋ยในดินกับจากฟางข้าวไว้ พร้อมที่จะให้ทำนาต่อได้อีก เพราะการปลูกกระเทียมใช้เวลานาน และต้องปลูกในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นจึงจะให้หัว ทำให้ชาวบ้านเกิดความท้อแท้ กังวลว่าต้องหาน้ำเพิ่ม จึงไม่ค่อยนิยมปลูกกัน สู้ปลูกพืชอื่นที่ให้ผลให้เงินไว มีเวลาพักผ่อนใช้เงินจากการขายข้าวได้ วิถีกระเทียมจึงมีข้อจำกัดด้วยประการฉะนี้

อาหารไทยนอกจากจะมีความอร่อยจนได้รับความนิยมไปทั่วโลกแล้ว ยังเป็นอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพ เพราะมีความหลากหลายของชนิดอาหาร และมีครบถ้วนแทบทุกหมู่ จึงให้สารอาหารค่อนข้างครบถ้วน

โดยส่วนประกอบของอาหารไทยจะมี “พริก” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งถือว่ามีความโดดเด่นในด้านประโยชน์เชิงสุขภาพ นอกจากนี้ ตำรับแกงและผัด หรือ พริกแกง แต่ละชนิดของไทยจะมีส่วนประกอบหลักที่เหมือนกัน คือ พริก หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ข่า และผิวมะกรูด (kaffir lime peels) นำมาตำให้ละเอียดจนได้พริกแกงแล้วยังให้คุณสมบัติในการป้องกันโรคต่างๆ

หากจะกล่าวถึงคุณสมบัติของ “เครื่องแกงไทย” แล้ว พอจะแยกแยะได้ดังนี้

“พริก” เครื่องเทศที่ให้รสเผ็ดร้อน  มีคุณสมบัติช่วยระบบไหลเวียนของเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นช้า  ป้องกันการเกิดมะเร็ง ในพริกมีสารแคปไซซิน (Capsicin) ที่เป็นสารที่ให้ความเผ็ดร้อน สารชนิดนี้จะกระจายอยู่ในทุกส่วนของพริก แต่ส่วนที่พบมากที่สุดหรือเผ็ดมากที่สุด คือ รกหรือไส้ของพริกนั่นเอง พริกมีวิตามินเอและวิตามินซีสูงมาก ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันโรคไข้หวัดได้ ในพริกยังมีสารเบต้าแคโรทีน และสารต้านอนุมูลอิสระ สารแคปไซซินยังยับยั้งการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ดี อีกทั้งช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรงขึ้น  ลดอาการหลอดเลือดอุดตันและหลอดเลือดตีบได้

“กระเทียม” มีฤทธิ์ในการลดระดับคอลเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ในตำรับยาสมุนไพรไทยบอกไว้ว่ากระเทียมยังช่วยบรรเทาอาการหวัด เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยในกระเทียมมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส อีกทั้งยังช่วยขยายทางเดินหายใจ ทำให้หายใจสะดวกขึ้น ช่วยบรรเทาอาการไอแบบมีเสมหะได้ด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไอมากขึ้น แนะนำให้ใช้กระเทียมและขิงสดอย่างละเท่ากันตำละเอียดแล้วละลายกับน้ำอ้อยสด คั้นจนได้น้ำมาจิบแก้ไอ ขับเสมหะ หรือจะคั้นกระเทียมกับน้ำมะนาว แล้วเติมเกลือใช้จิบหรือกวาดคอก็ได้

“ตะไคร้” เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ลดความดันโลหิต ตลอดจนป้องกันการเกิดมะเร็ง น้ำมันหอมระเหยของตะไคร้มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ช่วยลดอาการแน่นจุกเสียดและช่วยขับลมได้ ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น ช่วยขับปัสสาวะ ขับสารพิษและกรดยูริกที่มีอยู่ในปัสสาวะให้ออกมาจากร่างกาย ตะไคร้สามารถนำมาใช้ในการรักษาระดับคอเลสเตอรอล ช่วยป้องกันการสะสมไขมันในเส้นเลือด และทำให้เลือดสามารถไหลเวียนได้สะดวกขึ้น และยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการช่วยรักษาเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตาม การรับประทานตะไคร้ก็มีข้อควรระวัง โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์

“หอมแดง” เป็นสมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อน จึงมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มอุณหภูมิภายในร่างกาย ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ในหอมแดงอุดมด้วยวิตามินและคุณค่าทางอาหารครบถ้วน แถมยังช่วยบำรุงสมองเพราะเต็มไปด้วยธาตุฟอสฟอรัส ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ที่สำคัญมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ สำหรับผู้ที่รู้สึกเบื่ออาหาร ให้ลองนำหอมแดงมาใช้ปรุงอาหาร ไม่ว่าไข่เจียวใส่หอมแดงหรือซุปหัวหอม กลิ่นหอมแดงจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้รู้สึกอยากอาหารมากยิ่งขึ้น แต่การรับประทานหอมแดงมากเกินไป อาจทำให้ผมหงอก มีกลิ่นตัว และมีอาการหลงลืมง่าย

“ข่า” ส่วนของข่าที่นำมากินนั้นมีรสเผ็ดปร่า และมีน้ำมันหอมระเหย จึงนิยมใช้ประกอบอาหารหลากหลายเมนู ไม่ว่าต้มยำ ต้มแซ่บ น้ำพริก รวมทั้งนำมาทำเป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงต่างๆ  คนไทยยังนิยมนำหน่อและดอกของข่ามาทำเป็นผักจิ้มน้ำพริกอีกด้วย ข่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อรา แบคทีเรีย และยีสต์ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกมะเร็ง เนื่องจากมีสารออกฤทธิ์อย่างซิเนออล การบูร และยูจีนอล ที่ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่าก็ช่วยขับลมได้ดี และยังมีสารบางชนิดช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ด้วย

“ผิวมะกรูด” มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดความดันโลหิต ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับก็ได้ สารเคมีสำคัญที่พบในมะกรูดคือน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีทั้งในส่วนเปลือก ผล หรือผิวมะกรูด และในใบ จึงนิยมใช้ประโยชน์น้ำมันมะกรูดทั้งจากใบและเปลือกผลมะกรูด ใบมะกรูดยังมีสารเบต้าแคโรทีนซึ่งช่วยชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง และช่วยต่อต้านมะเร็ง ช่วยฟอกโลหิต  แก้อาการปวดท้อง ผลมะกรูดยังสามารถนำมาดองทำเป็นยาดองเปรี้ยวไว้รับประทาน ยาฟอกเลือดสตรี ขับระดู ยาบำรุงประจำเดือน หรือยาแก้ผอมแห้งแรงน้อย  นอกจากนี้น้ำจากผลมะกรูดยังใช้แก้อาการเลือดออกตามไรฟันได้ โดยใช้น้ำมะกรูดถูบางๆ บริเวณเหงือกหลังแปรงฟันเสร็จ จะช่วยบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน

นอกจากนี้ การนำเครื่องเทศสมุนไพรดังกล่าวมาบดตำด้วยกันทำให้สารพฤกษเคมี หรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ออกมาผสมรวมกันและออกฤทธ์ทั้งเสริมหรือต้านกันจนก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพด้วย  จากผลการศึกษาวิจัยพบว่าอาหารไทยหลากชนิดล้วนเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ  มีผลดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะเมนูที่มีพริกแกงและน้ำพริกซึ่งล้วนใช้พริกเป็นวัตถุดิบ จึงเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

การเลือกรับประทานอาหารไทยที่มีส่วนประกอบของเครื่องแกงเหล่านี้  ถือเป็นอีกวิธีที่จะช่วยสร้างสุขภาพได้  ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่าง เหมาะสมด้วย

ที่มา : เรียบเรียงจากหมอชาวบ้าน

กระทียม ยากำลังคู่แข่งถั่งเชา

กระเทียมเป็นสมุนไพรที่มีเรื่องราวอยู่ในแทบทุกวัฒนธรรม กระเทียมเป็นทั้งเครื่องเทศ ยา และเครื่องราง มีความเชื่อกระเทียมมีพลังป้องกันภูตผีปีศาจ โรคร้าย หรือโชคร้ายต่างๆ ดังนั้นชาวเรือจะพกกระเทียมไปด้วยเวลาออกเรือ เพื่อป้องกันเรือล่ม ชาวบ้านใช้กระเทียมกำจัดภูตผีในการขึ้นบ้านใหม่ ใช้สะเดาะเคราะห์ ทหารโรมันจะเคี้ยวกระเทียมเวลาออกศึก เพราะเป็นสมุนไพรประจำตัวของเทพมาร์ส (Mars)เทพเจ้าแห่งสงคราม นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า กระเทียมเป็นยากระตุ้นกำหนัด กระเทียมโทนดองน้ำผึ้งจึงเป็นของคู่บ้านคนไทยในอดีต

ในทางยา กระเทียมเป็นสมุนไพรรสร้อน บำรุงไฟธาตุ บำรุงกำลัง จึงช่วยในโรคเกี่ยวกับการกำเริบของลม เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง ปวดเมื่อย มือเท้าตาย เคลื่อนไหวไม่สะดวก ลดการกำเริบของน้ำหรือเสมหะ เช่น หอบหืด ไอมีเสมหะ อาการบวม เป็นต้น

กระเทียม กำจัดเชื้อโรคที่เป็นพิษ

คนไทยนั้นกินกระเทียมกันทุกวัน เพราะใช้เป็นเครื่องเทศและส่วนประกอบในอาหารสารพัด ถือเป็นของคู่ครัวที่ขาดไม่ได้ คนไทยยังนำกระเทียมมาใส่ในเนื้อสดๆ เพื่อถนอม เช่น ในการทำแหนม เพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่ไม่เป็นอันตรายต่อเชื้อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหารที่เรียกว่า โปรไบโอติกส์ (Probiotics)ความรู้ใหม่ๆ ยังพบว่ากระเทียมเป็นพนักงานทำความสะอาดเส้นเลือดชั้นเยี่ยม ป้องกันไขมันสะสมในหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด

ปัจจุบันมีการใช้กระเทียมเป็นยาสมุนไพรไปทั่วโลก สรรพคุณเด่นๆ ของกระเทียมที่ใช้กันคือ ลดโคเลสเตอรอล ลดการแข็งตัวของเลือด ลดความดัน ลดการปวดเกร็ง ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รา และไวรัส ต้านมะเร็ง เป็นต้น

กระเทียม ยอดเยี่ยมเรื่องท้อง

ในการแพทย์แผนไทย กระเทียมมีรสร้อน ช่วยย่อยอาหาร ป้องกันอาการท้องอืดเฟื้อ ทำลายสารพิษ เหมาะเป็นเครื่องเทศ มีงานวิจัยพบว่ากระเทียมช่วยกระตุ้นน้ำย่อย ผู้ป่วยที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารลดน้อยลงหรือระบบย่อยอาหารไม่ดี ควรกินกระเทียมเป็นประจำ จะทำให้อาการดีขึ้น และมีแนวโน้มว่า กระเทียมจะมีคุณสมบัติต้านมะเร็งในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

ตำรับยา

ยาจุกเสียดแน่นท้อง – กระเทียม 5-7 กลีบ บดละเอียด เติมน้ำส้มสายชูแท้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 มิลลิลิตร) เกลือและน้ำตาลนิดน่อย ผสมให้เข้ากัน เอาแต่น้ำดื่ม

ยาลมในท้อง ท้องอืดบวม – นำใบคนทีสอมายำใสกระเทียมกิน ให้ใส่กระเทียมเยอะๆ

กระเทียมดองสูตรโบราณดั้งเดิม

ส่วนประกอบ – กระเทียม 1 กิโลกรัม เกลือทะเล 3 ช้อนโต๊ะ น้ำผึ้ง

วิธีทำ

1.ปอกกระเทียม ล้างให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ

2.ใส่กระเทียมในโหลสะอาด เหลือที่ว่างจากโหลประมาณ 1 นิ้วครึ่ง

3.เติมเกลือ 3 ช้อนโต๊ะ ใส่น้ำผึ้งจนท่วมกระเทียม แต่อย่าให้เต็มโหล

4.ปิดฝาให้สนิท ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ถ้าไม่สนิทอาจเป็นราได้

5.ทิ้งไว้ 1 เดือน จึงนำมารับประทาน

กระเทียมดอง สูตรโอท๊อป

ส่วนประกอบ – กระเทียม 1 กิโลกรัม น้ำตาลทราย 2 ถ้วย เกลือป่น 3 ช้อนโต๊ะ น้ำส้มสายชู 1 ½ ถ้วย น้ำผึ้ง 1 ถ้วยตวง น้ำ 2 ถ้วยตวง

วิธีทำ

1.ปอกกระเทียม ถ้าเป็นกระเทียมแห้งแช่ น้ำทิ้งทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง

2.ต้มน้ำให้เดือด เติมน้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือป่น และน้ำผึ้งลงไป
คนให้ละลาย ทิ้งไว้ให้เย็น

3.นำกระเทียมที่ปอกใส่โหลที่สะอาด ให้เหลือที่ว่างประมาณ 1 นิ้วครึ่ง

4.เติมน้ำดองลงไปในโหลขวด กะให้พอดีแต่อย่าให้เต็มโหล กระเทียมจะลอยขึ้นมา

5.ปิดฝาให้สนิท เพื่อไม่ให้ราขึ้น

6.ทิ้งไว้ 1 เดือน จะหวานพอดี แต่ 3 อาทิตย์ก็รับประทานได้ แต่จะมีรสเผ็ดเล็กน้อย

กระเทียมโทนดอง (สูตรไทยใหญ่)

ส่วนประกอบ – กระเทียมโทน เกลือ พริกขี้หนูสด น้ำอ้อยก้อน หรือน้ำผึ้ง

วิธีทำ

นำกระเทียมโทนมาล้างทำความสะอาด เลือกหัวที่เน่าออก ไม่ต้อง
แกะเปลือกออก คลุกกับเกลือในอัตราส่วน กระเทียมโทน 1.6 กิโลกรัมต่อเกลือ 80 กรัม เมื่อเข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้ 3 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วเอาออกมาล้างกับน้ำเปลือกจะหลุดออกมา ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำมาปรุงรสด้วยเกลือ พริกขี้หนูแดงสด น้ำอ้อย คลุกเคล้าให้เข้ากัน เก็บใส่ขวดโหล

วิธีกินกระเทียมเพื่อบำรุงร่างกาย

วิธีที่ 1 นำกระเทียม 3 กลีบ ปอกเปลือก ทุบพอแตก กินกับน้ำอุ่นหลังอาหารเช้า

วิธีที่ 2 กินกระเทียมสดพร้อมกับอาหาร ทั้ง 3 มื้อ

น่ารู้

-การใช้ประโยชน์ทางยาจากกระเทียมนั้น ต้องบดกระเทียมให้ละเอียด เพื่อให้สาร alliin ในกระเทียมเปลี่ยนเป็นสารออกฤทธิ์ allicin อย่างเต็มที่

-กระเทียมบดแล้วต้องกินทันทีไม่ทิ้งไว้นาน เพื่อโอสถสารจะได้ไม่สลายตัว

-บางท่านอาจจะแพ้กระเทียม มีทั้งอาการแพ้ทางผิวหนัง หอบหืด ผู้แพ้ละอองเกสรดอกไม้มีโอกาสแพ้กระเทียมมากกว่าคนปกติ

-หากกินยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่ ให้ระวังการรับประทานกระเทียม เพราะจะไปเสริมฤทธิ์ยาดังกล่าว

-ท่านที่รับประทานกระเทียมเป็นประจำ หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งแพทย์ทราบ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดไม่แข็งตัวหลังการผ่าตัด

-ผู้ที่มีธาตุร้อนเป็นเจ้าเรือน คือ มีอาการหน้าแดง คอแห้ง ท้องผูก ร้อนในกระหายน้ำ กระเพาะอาหารเป็นแผลหรืออักเสบเรื้อรัง มีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป ไม่ควรกินหรือกินได้เล็กน้อย

-ดับกลิ่นกระเทียมดิบในปาก ให้เคี้ยวใบชา หรือใช้น้ำชาแก่ๆ บ้วนปาก หรือคี้ยวพุทราจีน 2-3 เม็ด หรือยี่หร่า 3-4 เม็ด หรือถั่วเขียว 4-5 เม็ด

-กระเทียมดองทำให้กินกระเทียมได้ง่ายขึ้น แม้ไม่มีสารออกฤทธิ์ allicin แต่มีสาร S-allycysteine ที่ออกฤทธิ์ได้เช่นกัน

-กระเทียมควรรับประทานพร้อมโปรตีน เพื่อไม่ให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร และไม่ควรรับประทานกระทียมตอนท้องว่าง


ที่มา หนังสือบันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร