เว็บไซต์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนช่วงผ่อนปรนระยะที่ 2 อาจละเลยการป้องกันตนเอง เน้นย้ำมาตรการต่อเนื่อง คุมเข้มการสวมหน้ากากทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน ให้เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และหมั่นล้างมือบ่อยๆ  เพื่อป้องกันตนเองและสร้างสุขอนามัยที่ดี

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ภายหลังที่รัฐบาลได้ผ่อนปรนกิจการ และกิจกรรมต่างๆ ในกลุ่มสีเขียวให้สามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง อาทิ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานที่ออกกำลังกาย และกองถ่ายภาพยนตร์ เป็นต้น

ส่งผลให้ประชาชนเริ่มทำกิจกรรมนอกบ้านและใช้บริการสถานที่สาธารณะกันมากขึ้น โดยเฉพาะกิจการประเภทศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ซึ่งพบว่าหลังเปิดให้บริการไม่กี่วัน มีประชาชนใช้บริการจนต้องเฝ้าระวังและจัดระเบียบกันมากขึ้นนั้น

แพทย์หญิบพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) มีความห่วงใย ความปลอดภัยของประชาชน จึงเน้นย้ำให้ทุกคนใส่ใจสุขอนามัยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน พบปะพูดคุยกับผู้อื่น หรือทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในห้างสรรพสินค้า และสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งต้องเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1–2 เมตร หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ และควรมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อใช้เวลานอกบ้าน ให้น้อยที่สุด

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังป้องกันตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบกิจการประเภทต่างๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนมาตรการทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2

รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมใช้บริการด้วย จากการติดตามสถานประกอบกิจการที่ได้รับการผ่อนปรน พบประชาชนมีความกังวลเมื่อต้องไปใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันในเรื่องความแออัด ดังนั้น เมื่อต้องใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้านทุกวัน การสวมหน้ากากยังเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งวิธีการเลือกหน้ากากผ้าที่เหมาะสมนั้น ต้องเลือกขนาดและปรับสายให้กระชับกับใบหน้า สวมให้คลุมทั้งจมูกและใต้คาง เปลี่ยนหน้ากากผ้าทุกวัน หรือเปลี่ยนเมื่อรู้สึกเปียกชื้นในระหว่างวัน เมื่อกลับถึงที่พักให้ซักด้วยสบู่หรือผงซักฟอก และตากแดดให้แห้ง ก่อนนำมาใช้ในครั้งต่อไป

“ส่วนการสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกต้องนั้น ให้หันด้านที่มีสีหรือบานพับคว่ำไว้ด้านนอก และหันด้าน ที่ไม่มีสีหรือบานพับหงายเข้าหาใบหน้า ซึ่งจะมีลักษณะพื้นผิวนุ่มกว่า เพื่อดูดซับเหงื่อ น้ำมูก น้ำลายจากการไอ จาม โดยให้ขอบที่มีแถบลวดอยู่ด้านบน กดแถบลวดให้แนบสันจมูก และดึงหน้ากากให้คลุมถึงใต้คาง ซึ่งหน้ากากอนามัยเป็นชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง หากเกิดการฉีกขาด ใส่แล้วไม่กระชับ เปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลายหรือเปียกน้ำ ให้เปลี่ยนใหม่ทันที โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน หากพบว่าหน้ากากมีความชื้นให้รีบเปลี่ยนใหม่และควรมีหน้ากากสำรองไว้ตลอดเวลา สำหรับวิธีกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วนั้น ประชาชนทั่วไป ให้ทิ้งลงในถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิด หากเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้ทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อที่มีสัญลักษณ์ แสดงให้เห็นชัดเจน ที่สำคัญต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสวมและหลังทิ้งหน้ากาก และห้ามใช้หน้ากากร่วมกับคนอื่น เพื่อสุขอนามัยที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุเรียนจัดอยู่ในอาหารกลุ่มผลไม้ ที่มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต หากต้องการกินทุเรียนให้ได้รับประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารที่เหมาะสม ไม่ควรกินทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ด ไม่กินถี่ทุกวัน และลดอาหารกลุ่มข้าวแป้ง ของหวานในมื้อที่กินทุเรียนสูงถึง 520-780 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับกินข้าวมันไก่ 2 จาน หรือเท่ากับการกินอาหาร 2 มื้อ นอกจากนี้คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังเรื่องการกินทุเรียนมากกว่าคนทั่วไป อาจกินได้แต่ต้องกินในปริมาณน้อยกว่าคนปกติและไม่บ่อย เพราะการกินทุเรียนปริมาณมาก หรือกินทุเรียนบ่อยๆ จะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือดของผู้ป่วยได้

“ทั้งนี้ ควรกินทุเรียนสลับกับการกินผลไม้ที่หลากหลายชนิดในแต่ละวัน เช่น กินทุเรียนคู่กับมังคุด เพราะมังคุดเป็นผลไม้ที่มีน้ำในปริมาณมาก จึงทำให้มีฤทธิ์เย็นช่วยต้านความร้อนที่เกิดจากกินทุเรียนได้ รวมทั้งยังมีเส้นใยอาหารสูง และสารต้านการอักเสบ ช่วยแก้ร้อนใน เหมาะกับการกินคู่กับทุเรียน อย่างไรก็ดี ทุเรียนไม่ได้เป็นผลไม้ต้องห้าม หากอยากกินหรือชอบกิน สามารถกินได้ แต่กินในปริมาณที่เหมาะสม”นพ.สราวุฒิกล่าว

นพ.บัญชา ค้าของ
นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ประชาชนควรเลือกออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อลดการสัมผัสในจุดสัมผัสร่วมของอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยควรทำความสะอาดมือ เครื่องมือและอุปกรณ์เป็นประจำ ด้วยน้ำยา   ทำความสะอาดที่มีฤทธิ์กำจัดเชื้อ เช่น น้ำสบู่ แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดหรืออยู่ในที่มีคนหนาแน่น และออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก  และระวังการใช้มือสัมผัสใบหน้า จมูก ตา ปาก ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19
นายแพทย์บัญชา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการออกกำลังกายที่บ้าน ควรเน้นความเหมาะสมตามบริบทของผู้ออกกำลังกาย อุปกรณ์ สถานที่ หากไม่มีอุปกรณ์หรือพื้นที่ อาจเลือกชนิดการออกกำลังกายที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก เช่น การเดินเร็วรอบ ๆ บ้าน กระโดดเชือก เต้นแอร์โรบิก โยคะ หรือออกกำลังกายเพื่อฝึกความแข็งแรงแบบบอดี้เวท หรือเลือกใช้สิ่งของทดแทน เช่น การยกน้ำหนัก โดยใช้ขวดน้ำแทน ยังรวมถึงการทำงานบ้าน การเดิน หรือเปิด youtube ดูตัวอย่างการออกกำลังกาย สามารถทำตามได้ทันที ซึ่งการออกกำลังกาย  แต่ละครั้งขอให้ได้ถึงระดับที่เหนื่อยพอพูดเป็นประโยคสั้น ๆ ได้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที ก็จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง
“ทั้งนี้ ประเด็นที่กำลังเป็นกระแสในสังคมกรณีการออกกำลังกายในสวนสาธารณะ หรือการรวมตัวกันทำกิจกรรมออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ นั้น แนวปฏิบัติในขณะนี้ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19    ให้ใช้แนวทาง Social Distancing โดยยึดหลัก 2 ห่าง คือ 1. ห่างสังคม หมายถึงการเลี่ยงกิจกรรมทางสังคม เช่น งานเลี้ยง การเข้าไปที่ชุมชนหรือที่แออัด การรวมตัวออกกำลังกายก็เข้าข่ายเช่นเดียวกัน และ 2. ห่างบุคคล โดยเว้นระยะ 2 เมตร เพื่อลดการรับสัมผัสเชื้อโรคที่ลอยมากับเสมหะ น้ำลาย น้ำมูกของผู้อื่น หรือจากการจับต้องสัมผัสมือกับผู้อื่นแล้วมาสัมผัสหน้าตนเอง เป็นการนำเชื้อเข้าร่างกาย โดยขอให้ทุกคนตระหนักให้มากเมื่อออกจากบ้าน เพราะมีโอกาสไปจับต้องของสัมผัสร่วม เช่น ลิฟต์ ราวบันได หรือต้องไปใกล้กับคนอื่น ทำให้เกิดความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น การออกกำลังกายในบ้านหรือลานบ้านส่วนตัว จะเป็นทางเลือก ที่นับว่าปลอดภัย และถือว่าได้ปฏิบัติตามแนวทางประเทศที่กำลังรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” อันเป็นวาระสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมมือกันปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงจะลดความรุนแรงภัยจากโควิด-19 ให้อยู่ในระดับจัดการได้ ด้วยกำลังบุคลากรทางการแพทย์ที่ล้วนรับภาระหนักเพื่อทุกคนในขณะนี้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ภาพและข้อมูลจาก กรมอนามัย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เน้น ประชาชนยึดหลัก 3 ล “ลด เลี่ยง ดูแล” สร้างสุขอนามัยส่วนบุคคล ช่วยป้องกันและลดการแพร่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมย้ำหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลล้างมือ ทั้งก่อนกินอาหารและหลังจากเข้าส้วม สวมหน้ากากอนามัยเมื่อป่วย

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจาก โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขอให้ประชาชนยึดหลักสร้างสุขอนามัยด้วย 3 ล คือ 1) ลด : ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสด้วยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ให้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะและ ก่อนรับประทานอาหาร และหากรู้สึกไม่สบาย ไอ จาม ให้สวมหน้ากากอนามัย 2) เลี่ยง : เลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค และเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น รวมทั้งเลี่ยงใช้มือสัมผัสหน้า และ 3) ดูแล : ดูแลสุขภาพตนเองและสังคม รักษาสุขภาพด้วยการกินร้อน ใช้ช้อนกลาง ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ในกรณีที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ต้องแยกตัวและสังเกตอาการไม่น้อยกว่า 14 วัน

“สำหรับผู้ประกอบการสาธารณะ เช่น โรงแรม ขนส่งสาธารณะและห้างสรรพสินค้า ให้เน้นทำความสะอาดจุดสัมผัส เพื่อลดความเสี่ยง ส่วนวิธีการกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว หากเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้ทิ้งลง ในถังขยะติดเชื้อที่มีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจน ส่วนประชาชนทั่วไปให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิด ที่สำคัญต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังทิ้งหน้ากากอนามัยเพื่อสุขอนามัยที่ดี ทั้งนี้ ประชาชนที่มีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ที่มา : ANAMAINEWS

สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดทำภาพอินโฟกราฟิกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับพลังงานในขนมไทย โดยใช้ภาพประกอบจากละครดังที่กำลังเป็นกระแสโด่งดัง อย่างละครบุพเพสันนิวาส โดยมีตองกีมาร์ หรือเท้าทองกีบม้า ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ขนมไทยขึ้นมา ทั้งทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองม้วน และหม้อแกง ขึ้นมา จนได้รับได้รับฉายา ”ราชินีแห่งขนมไทย”

โดยสำนักโภชนาการระบุว่า ฝอยทอง 1 แพ เท่ากับ น้ำตาล 3 ช้อนชา ได้พลังงาน 220 กิโลแคลอรี ไม่ควรอร่อยเกิน 3/4 แพ

เม็ดขนุน 1 ชิ้น เท่ากับน้ำตาล 1 ช้อนชา ได้พลังงาน 40 กิโลแคลอรี ไม่ควรอร่อยเกิน 2 เม็ด

ทองหยอด 1 ชิ้น เท่ากับน้ำตาล 1 ช้อนชา พลังงานที่ได้ 30 กิโลแคลอรี ไม่ควรอร่อยเกิน 3 เม็ด

ทองหยิบ 1 ชิ้น เท่ากับน้ำตาล 2 ช้อนชา พลังงานที่ได้ 60 กิโลแคลอรี ไม่ควรอร่อยเกิน 1-2 ชิ้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์