นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวในสื่อว่า ขณะนี้บริษัทยาต่างประเทศได้จดทะเบียนสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาในไทยแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยข้อเท็จจริงนั้น ตามกระแสข่าวที่ออกมามีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรตามข่าวแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาพบว่า คำขอดังกล่าวมีผู้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2553 โดยยังไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบการประดิษฐ์ (substaintive examination) ตามเงื่อนไขกฎหมาย

ทั้งนี้ ตามกฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 การประดิษฐ์ที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้นั้นจะต้องไม่เป็นการประดิษฐ์ที่ต้องห้าม เช่น สารสกัดจากพืช วิธีการบำบัดรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขอื่นๆ ตามกฎหมาย ได้แก่ เป็นการประดิษฐ์ใหม่ เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรม ดังนั้น สารสกัดจากพืชตามข่าวย่อมไม่อาจรับจดทะเบียนสิทธิบัตร จึงขอให้ประชาชนและนักวิจัยอย่ากังวลในเรื่องนี้ การจะจดสิทธิบัตรแต่ละฉบับมีขั้นตอนต้องพิจารณาอีกมาก เรื่องนี้ได้กำชับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้วว่า ให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เฝ้าระวัง และดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายอย่างเคร่งครัด

โดยหลักการของการจดสิทธิบัตรของไทย สิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช ไม่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ และไม่เปิดโอกาสให้บุคคลใดอ้างสิทธิเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะดำเนินการตรวจสอบสิทธิบัตรตามกฎหมายสิทธิบัตร และปฏิบัติตามคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตร ซึ่งได้มีการจัดทำโดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ซึ่งจะไม่ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.รังสิต กล่าวในการแถลงข่าวความคืบหน้าการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ว่า กัญชาเป็นพืชตะวันออกและเรารู้จักกันมาเป็นพันปี ฝรั่งไม่ค่อยรู้จัก ฝรั่งจัดว่าเป็นยาเสพติด ซึ่งไทยก็ตามฝรั่งจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดตั้งแต่ 70-80 ปีก่อน อยู่ในประเภทห้ามเสพ ห้ามปลูก ห้ามจำหน่าย ห้ามครอบครอง แต่ระยะหลังฝรั่งเขารู้ว่ากัญชาทางการแพทย์ถือว่าปลอดภัย ฝรั่งเขาก็ปรับตัว บางประเทศอนุญาตให้ใช้เป็นยา ใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ แต่ประเทศไทยแม้มีกระแสเคลื่อนไหวเพื่อแก้กฎหมายมาหลายปี แต่ก็ยังไหลไปตามกระบวนการราชการ ก็คงต้องรอดูการแก้กฎหมายยาเสพติดว่าจะช่วยปลดล็อกในเรื่องทางการแพทย์หรือไม่” นพ.ศุภชัย กล่าว

ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้กฎหมายยาเสพติด คือ ร่างประมวลกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมร่างเสร็จแล้ว ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างรอการพิจารณาเข้าวาระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแม้จะได้รับอนุญาตในการทดลอง แต่ไม่นำสารสกีดจากกัญชามาทดลองกับมนุษย์ได้ ทดลองได้แค่ในสัตว์ ซึ่งน่าเสียดายมาก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนป่วยไข้ โดยเฉพาะจากมะเร็งที่ได้รับผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดรออยู่ จึงต้องพยายามให้ข้อมูลและความสำคัญเพื่อให้กฎหมายผ่านออกมาให้ได้

ขอบคุณภาพจากกรมศิลปากร

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้มีการหารือร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งระดมนักสมุนไพรมาช่วยกันค้นว่า ประเทศไทยเคยใช้กัญชาในทางการแพทย์กี่ตำรับ พบว่า ค้นได้ 12 เล่มรวม 91 ตำรับ แสดงว่าเรามีความรู้ภูมิปัญญาวิธีการใช้กัญชามายาวนาน ตั้งแต่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และมีบันทึกในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วย มีการนำกัญชามาใช้ต่อเนื่อง จึงทำให้เห็นโอกาสว่าหากมีการปลดล็อกกฎหมายและนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ และกรมการแพทย์แผนไทยฯ ไม่ต้องมาเสียดายตำรับยาโบราณจำนวนมากที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ที่สำคัญทำให้มีความหวังในการใช้ในการรักษาโรคต่างๆ มีผลิตที่ได้มาตรฐาน ประชาชนใช้ได้อย่างปลอดภัยและถูกต้องในทางการแพทย์ ซึ่งถ้าไม่ปลดล็อกโทษจะเกิดกับผู้แอบใช้อย่างไม่ระมัดระวัง เกิดกับผู้ที่รอความหวังจะเป็นตำรับยารักษาโรคอื่นๆ อีกมากมายก็จะสิ้นหวังลง อย่างตำรับยาเบญจอำมฤตย์ที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ ใช้ทดลองอยู่ที่โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยยศเส ที่ไม่ได้ผลเพราะบางตำรับต้องมีกัญชาเข้าไปผสม


ที่มา มติชนออนไลน์