เครื่องดื่มตระกูลชา โดยเฉพาะชาเขียว และชาดำต่างๆ มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะคนเอเชียอย่างชาวจีน ชาวญี่ปุ่นที่นิยมดื่มชาร้อนๆ มานานนับหลายศตวรรษแล้ว แต่ชาเหล่านี้มีดีอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร มาไขความลับสุขภาพดีจากชากันดีกว่า

“ฟลาโวนอยด์” เคล็ดลับสุขภาพดีของชา

สารฟลาโวนอยด์ เป็นสารที่พบได้ในผักผลไม้หลายชนิด ไม่ได้พบแค่ในชาเขียว และชาดำเท่านั้น หากแต่ยังพบได้ใน ยอ ถั่วเหลือง กระชายดำ สารสกัดจากเมล็ดองุ่น และเครื่องดื่มอย่างไวน์ เป็นต้น โดยฟลาโวนอยด์มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย

ฟลาโวนอยด์ที่พบในพืช แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. นารินจิน (Naringin) เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่ให้รสขมในเปลือกของผลไม้พืชตระกูลส้ม (citrus fruit)
  2. แคทีชิน (Catechin) พบในใบชาพบมากในชาเขียว

ประโยชน์ของฟลาโวนอยด์

  1. ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด (รวมถึงโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง)
  2. ลดระดับคอเลสเตอรอล คราบพลัค และไขมันเลวในเลือด และใหนหลอดเลือด ที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  3. ช่วยปรับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
  4. การดื่มชาเขียว หรือชาดำ ให้ความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สมองตื่นตัว เพราะมีคาเฟอีนครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับกาแฟในปริมาณเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับคนที่ต้องการคาเฟอีนในปริมาณไม่มากเท่าการดื่มกาแฟ
  5. ความไวปฏิกิริยาของหลอดเลือดดีขึ้น หมายถึงการที่หลอดเลือดมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารเคมี และความตึงเครียดทางอารมณ์นั่นเอง ซึ่งเมื่อหลอดเลือดมีปฏิกิริยาที่ดี ก็จะช่วยให้หลอดเลือดมีการไหลเวียนของโลหิต และปฏิกิริยาอื่นๆ เพื่อให้ร่างกายตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น

อย่ารับประทานฟลาโวนอยด์มากเกินไป

ถ้าคิดว่าฟลาโวนอยด์มีประโยชน์ จะโหมดื่มชาเป็นลิตรๆ ต่อวันแล้วล่ะก็ ขอให้หยุดคิดไปได้เลย เพราะการดื่มชามากเกินไป ส่งผลเสียต่อการทำงานของไต เพราะทั้งชาเขียว ชาดำ หรือชาอื่นๆ จะมีสารออกซาเลตอยู่ปริมาณหนึ่ง หากได้รับเข้าสู่ร่างกายมากๆ จนทำให้ไตต้องกำจัดออกไปบ่อยๆ อาจตกค้างเป็นผลึกจนกลายเป็นนิ่วในไตได้

ดังนั้น หากอยากจะดื่มชาเพื่อให้ได้สุขภาพที่ดี ควรดื่มไปตามธรรมชาติวันละ 1-2 แก้ว เลือกดื่มชาร้อนไม่ใส่น้ำตาล และส่วนประกอบอื่นๆ หรือใส่น้ำตาลให้น้อยที่สุด ไม่ควรดื่มเพราะคิดว่าชาเป็นยารักษาโรค และชาชงจากใบชาแท้ๆ จะดีกว่าชาขวด หรือชากระป๋อง เพราะอาจมีส่วนประกอบที่เป็นชาน้อย และน้ำตาลสูง เครื่องชาน้ำตาลสูงจะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากการดื่มชาน้อยลง

ที่มา : Sanook

โรคเดียวที่พูดถึงกันไปทั่วโลกในขณะนี้ หนีไม่พ้นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งเริ่มระบาดมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หนึ่งในอาการ หากติดเชื้อโควิด-19 คือ เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก ซึ่งใกล้เคียงกับอาการของโรคหัวใจบางประเภท ฉะนั้น เรามาดูวิธีสังเกตอาการกันว่าจะแยกอาการของโควิด-19 ออกจากโรคหัวใจได้อย่างไร

นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ รพ.หัวใจกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอาการของการติดเชื้อโควิด-19 คือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยจะมีอาการที่ทางเดินหายใจส่วนบนเป็นอันดับแรก เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ร่วมกับอาการไข้จนถึงไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ปวดตามข้อ หลังจากนั้นอาการจะมีการเปลี่ยนแปลงและลุกลามไปจนถึงการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอด จุดนี้ที่จะทำให้คนไข้เริ่มมีอาการเหนื่อย เกิดภาวะเมตาบอลิซึมสูงร่วมกับการติดเชื้อในปอด ทำให้ออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง คนไข้จะหายใจหอบ เหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว

อาการโรคโควิด-19 ที่ว่ามา จะมีความแตกต่างจากอาการเจ็บหน้าอกจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ที่จะไม่มีอาการของไข้หวัดมาก่อน โดยมากอาการเจ็บหน้าอกจากเส้นเลือดตีบจะสัมพันธ์โดยตรงกับการออกแรงและออกกำลังกาย

ส่วนอาการเหนื่อยจากภาวะหัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอดนั้น หากเกิดขึ้นจากภาวะน้ำเกินจะไม่มีอาการเป็นไข้หวัดนำมาก่อนหรือร่วมด้วย แต่ลักษณะอาการของโรคหัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอดนั้นจะเป็นตอนขณะที่นอนราบ และอาการจะมากขึ้นจนถึงนอนราบไม่ได้ นอนลงไปแล้วจะมีอาการไอ ต้องนอนหมอนสูงหลายใบ และหนักสุดคือนั่งหลับ เพราะนอนราบไม่ได้ สิ่งสำคัญที่ควรระวังคือ คนที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว หากติดเชื้อโควิด-19 จะไปกระตุ้นให้อาการของโรคหัวใจกำเริบจนแยกอาการได้ค่อนข้างยาก

นพ.ชาติทนง บอกอีกว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจหากติดเชื้อโควิด-19 อาการจะรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตได้สูงกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ ความรุนแรงของโควิด-19 ไม่ได้เกิดเฉพาะในคนที่เป็นโรคหัวใจเท่านั้น แต่กลุ่มต่อไปนี้ ได้แก่ ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรังเดิม โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคไต โรคตับแข็ง และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่เดิม ล้วนแต่เป็นภาวะที่จะทำให้การติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตสูงได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรมีความระมัดระวังอย่างยิ่งในการดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่รักษาโรคได้โดยตรง การดูแลตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วจะมีอาการแสดงมากขึ้นหลังจากติดเชื้อโควิด คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงหรือล้มเหลว ถ้าได้รับเชื้อเข้าไปจะทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเมตาบอลิซึมสูงขึ้น จนกระทั่งกระตุ้นให้โรคหัวใจล้มเหลวกำเริบ อีกกรณีหนึ่งคือ ติดเชื้อโควิดรุนแรงจนทำให้ไตวายและไตไม่สามารถขับน้ำออกจากร่างกายได้ จนเป็นเหตุให้น้ำท่วมปอด ซึ่งทั้งสองภาวะนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุต้น ๆ ที่ทำให้เสียชีวิตหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมามากมาย

สุดท้าย นพ.ชาติทนงแนะนำว่า สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจหากเกิดการติดเชื้อโควิด-19 อาจต้องสังเกตอาการของตนเองอย่างดี ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น อาการที่คล้ายหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ร่วมกับอาการไข้จนถึงไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ปวดตามข้อ ควรต้องรีบติดต่อสถานพยาบาลและเตรียมพร้อมที่จะมาตรวจเพื่อรักษาอาการตั้งแต่เริ่มต้น หากปล่อยไว้นานอาจเป็นอันตรายได้

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

จำนวนผู้เสียชีวิตและป่วยด้วยโรคหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี สำหรับในประเทศไทยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2559 ระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจกว่า 54,530 คน เฉลี่ยวันละ 150 คน หรือ เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน1 อีกทั้งยังเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับสอง รองจากโรคมะเร็ง2 ทั้งที่สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เพราะโรคหัวใจเป็นผลมาจากโรคอื่นๆ ที่เกิดจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเรา เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือด และความอ้วน

นายแพทย์วิวัฒน์ แสงเลิศศิลปชัย จากศูนย์หัวใจโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ระบุถึงโรคหัวใจว่า การที่อวัยวะทุกส่วนของร่างกายจะทำหน้าที่ได้ดีนั้น หัวใจต้องสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอโดยไม่สะดุด ดังนั้นหากหัวใจเราไม่แข็งแรง การทำงานของระบบอื่นๆ ในร่างกาย ก็จะสะดุดตามไปด้วย เรียกได้ว่าหัวใจเป็นศูนย์กลางของระบบอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายทั้งหมด

โรคหัวใจนับเป็นปัญหาสุขภาพใกล้ตัวที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนและสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งนายแพทย์วิวัฒน์ได้กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันดูแลตนเองต่างๆ ดังนี้

1. กรรมพันธุ์และอายุที่มากขึ้น

กรรมพันธุ์และอายุที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถตระหนักรู้ถึงผลจากสองสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นความเสี่ยงในการเป็นโรคก็มากขึ้นตามไปด้วย และหากบิดามารดาหรือปู่ย่าตายายป่วยเป็นโรคหัวใจ ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจของเราก็มีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อตรวจหาภาวะความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ยิ่งเรารู้ตัวว่ามีแนวโน้มเสี่ยงมากกว่าคนอื่น ยิ่งควรต้องมีวินัยใส่ใจตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะรักษาได้ทันเวลาและเพิ่มโอกาสในการรักษา

2. การรับประทานอาหาร

การรู้จักเลือกรับประทานอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเรารับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย เราก็จะสุขภาพดีตามไปด้วย รวมทั้งทำให้ร่างกายสมดุล ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ซึ่งรวมถึงโรคหัวใจด้วยเช่นกัน เพราะโรคหัวใจเกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และความอ้วน ดังนั้น เราควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง แต่อย่างไรก็ตามจะไม่รับประทานไขมันเลยก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะร่างกายก็จะขาดพลังงาน ทุกสิ่งจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของความสมดุล

“ในหนึ่งวันเราควรรับประทานปริมาณไขมันให้อยู่ระหว่าง 15-30% จากปริมาณแคลอรี่ที่เราบริโภคทั้งวัน และใน 15-30% ของปริมาณไขมันนั้น ควรเป็นไขมันดีหรือไขมันประเภทไม่อิ่มตัวมากกว่าครึ่งของปริมาณไขมันที่บริโภคทั้งหมด โดยไขมันดีหรือไขมันประเภทไม่อิ่มตัวนั้น มีคุณสมบัติในการลดไขมันไม่ดีในเลือดหรือโคเลสเตอรอลตัวร้ายอย่าง LDL ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ อาหารที่อุดมไปด้วยไขมันดี ได้แก่ น้ำมันมะกอก ปลาแซลมอน อโวคาโด และถั่ววอลนัท เป็นต้น” นายแพทย์วิวัฒน์ กล่าวเสริม

3. การไม่ออกกำลังกาย

ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบของคนในปัจจุบัน ทำให้หลายๆ คนละเลยการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากพอๆ กับการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกายทุกวัน เพียงวันละ 30 นาที จะส่งผลดีต่อการช่วยควบคุมน้ำหนัก สลายไขมันส่วนเกิน รวมถึงช่วยลดความเครียดจากการทำงาน ช่วยให้จิตแจ่มใส และนอนหลับได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

“หากเราไม่สามารถจัดสรรเวลาออกกำลังกายได้ทุกวันจริงๆ ในฐานะแพทย์ ผมแนะนำให้ออกกำลังกายให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งเราสามารถแบ่งสรรเวลาความมาก-น้อย ในแต่ละครั้งแต่ละวันได้ตามความสะดวกของตนเอง แต่ไม่ควรมาออกกำลังกายทั้ง 150 นาที ในหนึ่งวัน ควรเฉลี่ยให้เหมาะสมไปในแต่ละครั้ง ซึ่งสำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวถึงข้อแนะนำในประเภทกีฬาหรือการออกกำลังกายของแต่ละคนโดยเฉพาะ เพราะโรคหัวใจมีหลายประเภท กีฬาบางประเภทอาจเหมาะกับผู้ป่วยบางคน แต่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยอีกคน ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคหัวใจที่แต่ละคนเป็นด้วย” นายแพทย์วิวัฒน์ กล่าว

ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาดูแลและป้องกันการเกิดโรคหัวใจก่อนที่จะสายเกินไป เพียงแค่ปรับพฤติกรรมการบริโภคและการดำเนินชีวิต ดูแลใส่ใจสุขภาพตัวเราให้มากขึ้น หมั่นหาเวลาออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำ เพียงเท่านี้เราก็รู้เท่าทันและห่างไกลกับการเป็นโรคหัวใจแล้ว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก แบรนด์น้ำมันมะกอก เบอร์ทอลลี่®