โคคา-โคลา ออกวางขายเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นครั้งแรก ในรูปแบบ “ฟิซซี่-แอลกอฮอล์” ที่ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นการวางขายสินค้าแอลกอฮอล์ครั้งแรกของโคคา-โคลา ในรอบ 132 ปี

โคคา-โคลา เจแปน ออกไลน์ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นครั้งแรก โดยนำเสนอในรูปแบบเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่น “ชูไฮ” หรือ แอลกอฮอล์แบบมีฟอง (ฟิซซี่-แอลกอฮอล์) กล่าวคือ การใส่ “โชวจู” ว้อดก้าแบบญี่ปุ่น ลงไปในโซดา หรือ เครื่องดื่มอัดลม ที่ปรุงด้วยรสผลไม้ หรือรสชาติอื่นๆ

ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของโคคา-โคลา มีชื่อว่า “เลมอน-ดู” จะวางขายในรูปแบบแอลกอฮอล์ 3% 5% และ 7% มี 3 รสชาติคือ เลมอน เลมอนเกลือ และ เลมอนผสมน้ำผึ้ง และไม่มีส่วนผสมของโคคา-โคลา แต่อย่างใด

ถือเป็นก้าวสำคัญของโคคา-โคลา ผู้เล่นตลาดเครื่องดื่มอัดลมคนสำคัญของญี่ปุ่น ในการรุกตลาด “ชูไฮ” ตลาดซึ่งมีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน และมีผู้แข่งสำคัญคือ “ซันโตรี” “คิริน” “อาซาฮี”

ทั้งนี้ “เลมอน-ดู” วางแผนขาย ณ ตอนใต้เกาะคิวชูเป็นที่แรก ในราคา 162 เยน แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะขยายตลาดออกไปทั่วญี่ปุ่นหรือไม่ และเมื่อไหร่

เจมส์ ควินชี่ ประธานโคคา-โคลา ได้เคยกล่าวไว้ในงานประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อ 26 เมษา ที่ผ่านมาว่า ตลอดเวลา โคคา-โคลา ก็ได้ส่องตลาดคู่แข่งมาโดยตลอด และรู้ดีว่าคู่แข่งได้เริ่มหันมาเจาะตลาดทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์

“เราจึงเริ่มทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเราเอง เพราะท้ายที่สุดแล้ว การตลาดก็คือการพยายามไล่ตามความต้องการของผู้บริโภค และในญี่ปุ่นเอง ถือได้ว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์%ต่ำกำลังมาแรง” ควินชี่ ระบุ

ผู้สันทัดกรณีจาก ยูโร มอเตอร์ อคาริ ยูทสึโนมิยะ ให้ความเห็นว่า โคคา-โคลา มักใช้ญี่ปุ่นเป็นตลาดทดลองสำหรับการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตีตลาดโลก และการเริ่มต้นที่คิวชู ถือเป็นไอเดียที่ดี เพราะมีประชากรมากถึง 13 ล้านคน น่าจะทำให้โคคา-โคลาได้ข้อมูลอินไซด์ผู้บริโภคไปไม่น้อยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคบางรายมองว่า อาจไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังจำภาพโคคา-โคลาแบบเดิมๆ ดังนั้นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของเลมอน-ดู คือโคคา-โคลา ออริจินัล นั่นเอง

ทั้งนี้ ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในญี่ปุ่น มีความต้องการลดลงเนื่องจากการลดลงของจำนวนประชากร ขณะที่เครื่องดื่มกระป๋องที่ผสมแอลกอฮอล์ต่ำ ได้รับความนิยมมากขึ้น และจับใจผู้บริโภคผู้หญิงได้ดีมากกว่า หลายค่ายผู้ผลิตจึงหันมาจับตลาดชูไฮเพื่อการปรับตัว ซึ่งให้ผลประโยชน์ที่มากกว่า นอกจากขายดีแล้ว ยังเสียภาษีถูกกว่าเบียร์ โดยชูไฮ 1 กระป๋องราคาราว 200 เยน หรือราว 60 บาทไทย

 


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ