เป็นละครยอดฮิตที่ทำให้ “ช่อง 3” มีเรตติ้งเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่กำลังเข้มข้น ซึ่งอีกไม่กี่ตอนก็จะรูดม่านปิดฉากถึงตอนอวสานแล้ว ซึ่งล่าสุด จากการตรวจสอบของ “TV Digital Watch” โดยแบ่งเรตติ้งออกเป็นกรุงเทพมหาคร และภาคต่างๆ เก็บข้อมูลเรตติ้ง 12 ตอน (21 กุมภาพันธ์ ถึง 29 มีนาคม) นั้นพบว่า

กรุงเทพฯ ครองแชมป์เรตติ้งสูงสุด เฉลี่ย 17.535 ขณะที่ อันดับสุดท้ายคือภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรตติ้งเฉลี่ยน้อยสุดที่ 9.418 ขณะที่เรตติ้งของภาคอื่นๆ โดยเฉลี่ย ได้แก่ ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก 13.763, ภาคเหนือ 12.219 ภาคใต้ 10.855

น่าคิดว่า จากตัวเลขดังกล่าวนี้ เราเห็นปรากฏการณ์อะไรบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของเรตติ้งภาคอีสานที่น้อยกว่ากรุงเทพฯ ที่อาจเรียกได้ว่าเกือบเท่าตัว

กำพล จำปาพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เจ้าของผลงานอย่าง นาคยุดครุฑ “ลาว” การเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย, อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก, ข่าเจือง: กบฏไพร่ ขบวนการผู้มีบุญฯหลังสถาปนาพระราชอาณาเขตสยาม-ล้านช้าง เป็นต้น ชวนคิดถึงเรื่องดังกล่าวใน 4 ประเด็นกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

1. บริบทองค์ความรู้ประวัติศาสตร์อีสาน กล่าวได้ว่าอีสานเป็นดินแดนที่อยุธยาเข้าไม่ถึงหรือขยายอิทธิพลเข้าไปได้ไม่ครอบคลุม ไปได้อย่างมากเพียงนครราชสีมาหรือเขตที่ราบสูงโคราชและลุ่มน้ำเหืองในเขตจังหวัดเลย นอกนั้นเป็นดินแดนที่สัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์กับล้านช้าง อีสานเป็นลาว ไม่ไทย รับรู้กันทั้งในหมู่คนอีสานและคนภายนอก แม้จะมีเรื่องตำนานความเป็นพี่เป็นน้องเกาะเกี่ยวผูกเสี่ยวกินดองกันระหว่างพระเจ้าอู่ทองกับพระเจ้าฟ้างุ้ม หรืออย่างพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกับพระมหาจักรพรรดิ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องมั่นคงสืบมาในรัชกาลอื่นๆ ความสัมพันธ์ไม่เสถียรคงที่ เปลี่ยนรัชกาลทีก็ต้องมาดีลมาปรับตัวจัดวางความสัมพันธ์กันใหม่ แล้วยิ่งเมื่อสัมพันธ์กับอีกฝั่งแม่น้ำโขงมากกว่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่คนไทยคิดว่าลาวเป็นบ้านพี่เมืองน้อง แต่ลาวก็มีประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับเวียดนาม แนบแน่นกว่า ช่วยเหลือกันมา สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา ค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของด้วยกันมา ปกติพระราชพงศาวดารจะเป็นปราการที่มั่นสุดท้ายของประวัติศาสตร์ไทย แต่ในกรณีนี้แค่คุณพลิกเปิดดูคร่าวๆ ก็จะพบความไม่ลงรอยกับอีสาน มีเรื่องกบฏบุญกว้าง มีอะไรต่ออะไร คนอีสานไม่อินกับละครจึงไม่แปลก หรืออย่างโบราณสถาน ศิลปกรรมท้องถิ่น แค่ไปพิมาย ไปพนมรุ้ง ก็รู้แล้ว ไทยที่ไหนกัน เขมรชัดๆ ใครมันจะไปอิน อาจจะอินอยู่บ้างก็เป็นเรื่องของตัวละคร พี่หมื่นหล่อ พระเจ้าเสือเท่ห์ ออการะเกด แม่หญิงจันทร์วาด สวยน่ารัก ตลก

2. ความสัมพันธ์กับศูนย์กลางที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บางช่วงบางตอนในประวัติศาสตร์มันไม่แฮปปี้เอ็นดิ้ง เหมือนเป็นดินแดนที่ถูกฟันแล้วทิ้ง อีสานแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักใหญ่ๆ คือ โซนที่ราบสูงโคราชหรืออีสานใต้ กับโซนเหนือที่ราบสูงอีสานใต้ขึ้นไป ไม่ได้มีแต่ลาว มีเขมรด้วย ทั้งที่จริงยุคพระนารายณ์เป็นยุคที่อยุธยาขยายอิทธิพลไปยังนครราชสีมามาก เพราะลพบุรีที่ทรงย้ายไปประทับอยู่มีเส้นทางติดต่อกับที่ราบสูงโคราช จนน่าเชื่อว่าการควบคุมนครราชสีมาและอีสาน อาจเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของการย้ายไปประทับที่ลพบุรี นอกเหนือจากความขัดแย้งกับฮอลันดาและกลุ่มขุนนางเก่า แต่พอเปลี่ยนรัชกาลมาเป็นสมเด็จพระเพทราชา ความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนจากบวกเป็นลบ จากดีเป็นร้าย เกิดกบฏนำโดยพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา โดยร่วมมือกับพระยาเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพราะต่างก็ไม่พอใจการกระทำของกลุ่มพระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์ กลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่อยุธยาต้องส่งกำลังทัพไปปราบปราม ตามมาด้วยการเกิดกบฏบุญกว้าง ชาวเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นกบฏไพร่ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในสมัยอยุธยา ถึงแม้ว่าพระเพทราชาจะปราบปรามการกบฏได้สำเร็จ แต่ก็สูญเสียทรัพยากรและผู้คนไปมาก เกือบจะเท่าๆ กับสงครามกับพม่า แต่เพราะช่วงนั้นพระเพทราชาเข้าไปมีส่วนในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างเวียงจันกับหลวงพะบาง ความสัมพันธ์กับอีสานเลยกลับมาเป็นปกติ คือพระเอกขี่ม้าขาวในเรื่อง กลับเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ของอีสาน หากมองจากฝั่งของอีสาน

3. เนื้อเรื่องของบุพเพสันนิวาส มุ่งเน้นเรื่องราวเหตุการณ์และภาพชีวิตของคนกรุงศรีและลพบุรี ไม่มีภาพของอีสานและที่อื่นๆ เป็นภาพเฉพาะของส่วนกลาง มีเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างชาติต่างภาษา แต่ไม่มีลาว ไม่มีเขมร ทั้งๆ ที่ในสมัยอยุธยา ลาว เขมร เป็นกลุ่มที่มีบทบาท มีฝรั่งคือฟอลคอน แต่ฟอลคอนกลับถูกทำให้เป็นผู้ร้าย สวนทางกับกระแสความนิยมอีกอันหนึ่งของคนอีสาน มันเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ (กระแสหลัก) แต่ไม่มีมุมเรื่องความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม ไม่ได้มองคนเท่ากัน อันนี้ไม่ได้โทษละคร แต่เพราะประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ละครเรื่องนี้ไปหยิบมาอิงนั้นเป็นประวัติศาสตร์ที่มีแต่ส่วนกลาง เมื่อรัฐเข้ามาซับพลอตก็กลายเป็น “ประวัติศาสตร์แฟนซี” ที่มีอยู่จริงก็เพียงในจินตนาการ ไม่ใช่การหมุนย้อนกลับของประวัติศาสตร์ด้วย เป็นเพียงการโหยหาอดีตของยุครัฐล้มเหลวในการนำพาไปสู่อนาคต ประวัติศาสตร์แฟนซีไม่มีทางพาคนย้อนกลับไปหาความรุ่งเรืองอย่างในอดีต ไม่อาจนำเอาอดีตกลับมาได้จริง มันเป็นแต่เพียงการประดิษฐ์ใหม่โดยอ้างความเป็นของเก่าแท้ดั้งเดิม ฟินเว่อร์กันไป แล้วก็ไม่ได้อะไรเกิดขึ้น ไม่ต้องกังวลใจว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ อยู่ๆ หนุกหนาน แต่งชุดไทยกันไป

4.ในเฟซบุ๊ก มีคนตั้งคำถามกันมากว่า ตกลงแล้วชอบละครหรือแค่บ้าผู้ชาย ถึงได้มีกรี๊ดกร๊าดจนแทบห้างถล่ม โอเคจะบ้าผู้ชายมันก็ไม่แปลกสำหรับสังคมที่อุดมด้วยวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ แต่พูดอย่างเป็นวิชาการ ในแง่มุมทางสังคมวิทยา ก็อย่างที่อาจารย์พัฒนา กิติอาษา สะท้อนไว้ในงาน คนอีสานปัจจุบันไม่เพียงไม่โง่ จน เจ็บ หากแต่ยังมีมุมมองต่อโลกและสังคมแบบข้ามรัฐข้ามชาติ เป็นสากลนิยมไปมากแล้ว จากกระบวนการเดินทางอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นแรงงานข้ามชาติ เป็นอะไรต่อมิอะไร เมื่อก่อนการเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อาจเป็นทางเลือกของการกลับไปมีเงินทองจับจ่ายในบ้านเกิด แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เขาเดินทางไกลกว่านั้น กรุงเทพฯ ไม่ใช่คำตอบของชีวิต ชีวิตที่ดีไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่อยู่ที่ต่างประเทศ ตัวแบบผู้ชายในอุดมคติ ก็ไม่ใช่ “ผัวไทย” หากแต่คือ “ผัวฝรั่ง” ผัวฝรั่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ดังนั้นอาจจะอินกับมะลิ (มารี กีมาร์) มากกว่าออเจ้าการะเกดหรือแม่หญิงจันทร์วาดเสียด้วยซ้ำ

อีสานไม่ได้เหยียดฝรั่ง ฝรั่งที่อ่อนน้อมเข้ากับวัฒนธรรมอีสาน เป็นเขยที่ดีกว่าเขยไทยที่เย่อหยิ่งจองหอง คิดว่าตนเหนือกว่าใคร ผัวฝรั่งคือตัวแปรทางวัฒนธรรมสำหรับการเปลี่ยนสถานภาพจากยากจนเป็นร่ำรวยมีหน้ามีตาของสาวอีสานไปนานแล้ว ในแง่นี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนอีสานจะไม่อินกับการดูถูกฝรั่ง ทำฝรั่งเป็นผู้ร้ายของบ้านเมืองเหมือนอย่างละคร ซึ่ง เมื่อเทียบกับ “นาคี” ถึงแม้ว่าบุพเพสันนิวาสจะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ก็ไปไม่ได้ไกลเหมือน “นาคี” ที่ไปฮิตข้ามชาติที่สปป.ลาว ไปที่กัมพูชาด้วย การผูกติดกับการเสนอภาพความเป็นไทยเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของละครบุพเพสันนิวาส ที่พาคนไปได้แค่วัดไชยวัฒนารามกับพระราชวังนารายณ์ที่ลพบุรี

 


ที่มา มติชนออนไลน์