กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังการกินไข่แมงดาถ้วยหรือเห-ราช่วงหน้าร้อน มีพิษรุนแรงเหมือนพิษปลาปักเป้า ความร้อนทำลายพิษไม่ได้ ปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 7 ราย แนะหากมีอาการลิ้นชา ชารอบปาก อาเจียน หน้ามืด ให้รีบพบแพทย์

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการรับประทานไข่แมงดาทะเล จำนวน 33 ราย เสียชีวิต 3 ราย ล่าสุดกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ พบผู้ป่วย 7 ราย จากการนำไข่แมงดาทะเลเผาที่ซื้อจากตลาดมาปรุงอาหารรับประทานด้วยกัน หลังจากนั้นทุกรายมีอาการชามือ ชาเท้า ชาปลายลิ้น อาเจียน บางรายมีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด ใจสั่นร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากพิษของไข่แมงดาถ้วยหรือเห-รา ที่นำมารับประทานเพราะคิดว่าเป็นแมงดาจานซึ่งรับประทานได้ สารพิษนี้ทนทานความร้อนสูงมาก การต้ม ทอด ปิ้ง หรือย่าง ไม่สามารถทำลายพิษได้

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า แมงดาทะเลมี 2 ชนิดคือ แมงดาจาน หรือแมงดาทะเลหางเหลี่ยม ไม่มีพิษ รับประทานได้ มีขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย และแมงดาถ้วย ซึ่งมีชื่อเรียกหลายชื่อได้แก่ แมงดาทะเลหางกลม หรือเห-รา หรือแมงดาไฟ จะมีพิษ รับประทานไม่ได้ ตัวมีสีส้มหรือน้ำตาลเข้ม ขนาดเล็กกว่าแมงดาจาน อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามคลองในป่าชายเลน ซึ่งแมงดาถ้วยมีพิษที่ชื่อ เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) และเซซิทอกซิน (Sasitoxin) ชนิดเดียวกับปลาปักเป้า เป็นพิษที่เกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ของแมงดาถ้วย หรือเกิดจากการกินตัวแพลงก์ตอนที่มีพิษหรือกินหอยหรือหนอนที่มีแพลงตอนพิษ ทำให้สารพิษไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ จึงขอย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการกินไข่แมงดาในช่วงกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ซึ่งมักพบการแพร่พันธุ์ของแพลงก์ตอนพิษจำนวนมาก ทำให้อาจเกิดอาการป่วยรุนแรงและรวดเร็ว ภายใน 10-45 นาทีหลังรับประทานไข่แมงดาเข้าไป

สำหรับผู้ที่รับประทานไข่แมงดาทะเล หากพบว่ามีอาการชาที่ปากและลิ้น วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่ออก ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และแจ้งแพทย์ว่ารับประทานไข่แมงดาทะเล จะช่วยให้การรักษาเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษจากแมงดาทะเล ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์