เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินสำนวน ‘เด็กไม่เอาถ่าน’ กันมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ ซึ่งสำนวนนี้มีความหมายว่า คนที่มีนิสัยไม่เอาการเอางาน ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ความ ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แล้วเคยสงสัยกันไหมคะว่าจริงๆ แล้วสำนวนนี้มีที่มาจากอะไร แล้วทำไมจึงเป็นเด็กไม่เอาถ่าน ถ้าอยากรู้คำตอบ ตามเรามาเลยค่ะ

จากบทความของ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ให้รายละเอียดว่า ทำไมจึงเรียก “เด็กไม่เอาถ่าน” คาดกันว่าคำนี้มีที่มาจากคำเดิม คือ “เหล็กไม่เอาถ่าน” เพราะในสมัยก่อนนั้น การหลอมเหล็กหรือตีอาวุธจากเหล็กให้แข็งแกร่งนั้น จำเป็นต้องใช้ถ่านในการก่อเปลวไฟจนลุกโชน เพื่อให้ความร้อนแก่เหล็ก แล้วถ่านหรือคาร์บอนจะแทรกตัวเข้าไปอยู่ในเนื้อเหล็กหลังจากการถลุง ถ้าเหล็กไม่มีถ่านผสมอยู่เลย เหล็กนั้นจะมีคุณภาพต่ำ ไม่แข็งและเหนียวพอที่จะเรียกว่า เหล็กกล้า แต่หากมีมากเกินไปจะทำให้เหล็กเปราะ เหล็กที่ดีควรมีคาร์บอนเข้าไปผสมอยู่ประมาณ 0.1 – 1.8%

ช่างตีอาวุธจากเหล็กในสมัยโบราณ จำเป็นต้องคิดค้นหากลวิธี เพื่อขจัดปัญหาดาบหัก เพราะแสดงถึงกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ดีทำให้เหล็กไม่เอาถ่าน จนกลายเป็นคำพูดติดปาก เปรียบเทียบนิสัยคนกับอาวุธว่า “เหล็กไม่เอาถ่าน”

จากคำอธิบายข้างต้น จะเห็นได้ว่าสำนวน ไม่เอาถ่าน ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเด็กเท่านั้น แต่เป็นสำนวนที่ใช้กับคนทั่วไปที่มีนิสัยไม่เอาการเอางาน สำนวนไม่เอาถ่าน ถ้านำไปใช้ก็เป็น เด็กไม่เอาถ่าน  หรือ คนไม่เอาถ่าน ก็ได้เช่นกันค่ะ