หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 9 เมษายน 2561 รายงานว่า นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดผยว่า จากที่สรรพากรอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. …. เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 1-15 เม.ย. 2561 นี้ และจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวภายในเม.ย.นี้ โดยสาระสำคัญกำหนดให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ต้องรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรม ดังนี้ 1.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี 2.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี โดยตามแผนกำหนดให้รายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมเกิดขึ้นในรอบปีภาษี 2562 (ม.ค.-ธ.ค. 2562) ต่ออธิบดีกรมสรรพากร ในเดือน มี.ค. 2563

“ร่างกฎหมายนี้น่าจะเสนอ ครม.ได้ช่วงหลังสงกรานต์ เหตุผลที่ต้องเสนอ 1.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เพราะข้อมูลส่งผ่านระบบ ไม่เกิดการรั่วไหล 2.ทำให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และ 3.ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงการตรวจสอบคุณสมบัติผู้รับสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าใครจนจริง หรือจนไม่จริง”

เดินหน้าขยายฐาน VAT

นายประสงค์กล่าวว่า การกำหนดธุรกรรมที่ต้องรายงานไว้ดังกล่าวนั้น ถือเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ขณะที่ร่างกฎหมายใหม่กำหนดไว้ที่ 2 ล้านบาท จึงไม่ได้มากหรือน้อยเกินไป และจะทำให้กรมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี VAT ได้ดีขึ้นด้วย จากปัจจุบันจัดเก็บได้กว่า 7 แสนล้านบาทต่อปี และมีผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT ราว 5-6 แสนราย ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล

“การจด VAT กำหนดที่ 1.8 ล้านบาท ซึ่งอันนี้เรากำหนดที่ 2 ล้านบาท ส่วนที่เกินไป 2 แสนบาท สมมุติว่าซื้อขายมีกำไร 5% แล้วรายได้ 2 ล้านบาท จะออกมาเป็นเงินได้ 1 แสนบาท ตรงนี้แค่ใช้หักลดหย่อนส่วนบุคคล สามี ภรรยา ก็อยู่ในเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษี หรือแม้แต่มีกำไร 10% พอคิดหักลดหย่อนต่าง ๆ ก็ไม่เสียภาษีอยู่ดี ดังนั้นวงเงิน 2 ล้านบาทที่กำหนด ไม่ได้ต้องการให้เป็นภาระมาก แต่อยู่ในกรอบที่พอดี”

ยันเก็บภาษีคนขายสินค้า-บริการ

ทั้งนี้ เมื่อทราบข้อมูลธุรกรรมที่มีการรายงานแล้ว กรมจะพิจารณาจัดเก็บภาษีเฉพาะธุรกรรมที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ไม่ได้เก็บจากการโอนเงินให้บุตรหลาน หรือโอนเงินชำระหนี้ ซึ่งสามารถแยกแยะธุรกรรมได้ เพราะข้อมูลธุรกรรมจะแสดงต่อสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ และหากเป็นการชำระหนี้คงไม่โอนกันทุกวัน

นอกจากนี้ การรายงานข้อมูลจะต้องทำทุกบัญชีที่มีจำนวนธุรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด หากไม่รายงานจะมีบทลงโทษทางปกครอง ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน ขณะเดียวกันจะมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่หากนำข้อมูลไปเปิดเผยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อไม่ให้ข้อมูลรั่วไหล

“สิ่งที่เรากำลังทำ จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในระบบภาษีมากขึ้น เพราะปัจจุบันคนทำงานรับเงินเดือน ต้องจ่ายภาษีเต็ม ๆ มีคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เสียภาษี แต่มีรถสปอร์ตขับ ดังนั้นต้องยืนอยู่บนหลักเดียวกัน คือ คนที่มีรายได้มากควรเสียภาษีมากกว่าคนที่รายได้น้อยกว่า”

ปิดประตูธุรกิจหลบใช้บัญชีคนอื่น

ยกตัวอย่างกรณีร้านขายทองคำ อาจมีบางรายใช้วิธีขายทองแล้วให้เงินเข้าบัญชีลูกจ้าง หากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้จะไม่มีใครกล้าให้ใช้บัญชีของตัวเองอย่างไม่ถูก ต้อง

“จริง ๆ แล้ว ภายใต้กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน กรมสรรพากรก็มีอำนาจเรียกข้อมูลเหล่านี้มาตรวจสอบได้อยู่แล้ว แต่ต้องการปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และไม่ต้องใช้คนไปตรวจเอกสาร ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ดุลพินิจลักลั่น และปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันได้” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

กระทบทั้ง “ออฟไลน์-ออนไลน์”

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส chief marketing officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวแสดงความเห็นว่า แน่นอนว่าจะมีผลทางจิตวิทยาต่อพ่อค้าแม่ค้าโดยรวมทั้งหมด เพราะสรรพากรให้แบงก์และผู้ให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ต้องรายงานข้อมูลบุคคลที่มีการทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเกิน 3,000 ครั้งต่อปี (เฉลี่ย 8-9 ครั้งต่อวัน) เท่ากับว่าพ่อค้าแม่ค้ารายเล็ก ๆ ทั้งในส่วนของร้านค้าปกติและร้านค้าออนไลน์ก็โดนหมด ซึ่งก็อาจมีผลกระทบต่อแผนของแบงก์ในการที่จะขยายร้านค้าเพื่อใช้ระบบคิวอาร์ โค้ด เพื่อรับชำระเงิน เพราะร้านค้าก็เกรงว่าจะทำให้ถูกสรรพากรตรวจสอบมากขึ้น เพราะร้านค้าในเมืองไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบ VAT แต่เนื่องจากระบบอีเพย์เมนต์ก็เข้ามาเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคให้ความนิยมมาก ขึ้น ในแง่ของร้านค้าก็อาจไม่มีทางเลือก

ขณะที่นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่กรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า กรณีที่มีร่างกฎหมายออกมาให้ธนาคารต้องส่งข้อมูลบุคคลที่มีธุรกรรมเป็น ลักษณะพิเศษแก่กรมสรรพากร ยังต้องรอดูรายละเอียดและความชัดเจนเพิ่มเติมว่าจะเริ่มใช้ หรือมีข้อบังคับอย่างไร ทั้งนี้ การที่จะให้รายงานธุรกรรมที่เกิดขึ้น 3,000 ครั้งต่อปีต้องดูว่าจะเป็นประเด็นที่มีผลต่อธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเพิ่มขึ้นจากการที่แบงก์ไม่คิดค่าธรรมเนียมโอนข้ามธนาคารหรือไม่

เอสเอ็มอีหวั่นกระทบยื่นรัฐ 3 ข้อ

ด้านนายทรงฤทธิ์ อมรวิกัยกุล เลขาธิการสมาคมผู้ประกอบการค้าเอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความกังวลใจอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ เนื่องจากหลาย ๆ รายเพิ่งเข้าสู่รูปแบบการค้าออนไลน์ หลายรายเพิ่งเริ่มต้น ปริมาณขายยังไม่สูง หากรัฐเก็บภาษีในรูปแบบภาษีบุคคลธรรมดาอัตราก้าวหน้า เอสเอ็มอีจะเดือดร้อน สิ่งที่ตามมาคือ ผู้ค้าจะเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินเป็นแบบการเก็บเงินปลายทางแทนการโอนผ่านอี เพย์เมนต์ หรือโอนผ่านธนาคาร เพื่อเลี่ยงการถูกจัดเก็บข้อมูล จะเกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ รัฐบาลจะไม่ได้ข้อมูลส่วนนี้ และมีการโกงระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย และผู้ส่งสินค้า

หากเป็นไปได้อยากให้รัฐเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้แก่ 1.รณรงค์ให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งจะมีอัตราภาษีที่เหมาะสมกับรายได้

2.ออกเป็นภาษีเฉพาะ เช่นเดียวกับภาษีโรงแรม เพื่อให้เหมาะสมกับการค้าออนไลน์ 3.รัฐควรสนับสนุนผู้ประกอบการออนไลน์ก่อนเก็บภาษี เพราะส่วนใหญ่ยังล้มลุกคลุกคลาน แม้ว่ารัฐมีนโยบายสนับสนุนแต่ไม่เป็นรูปธรรมมากนัก เพราะหากสนับสนุนให้เอสเอ็มอีมีความพร้อมก่อนในอนาคตจะเก็บภาษีได้เต็มเม็ด เต็มหน่วย แทนที่จะรุกไล่ให้เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายเล็กมุดลงใต้ดิน

 


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ