ปัจจุบันมะม่วงได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น อุดรธานี ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น และพิษณุโลก ซึ่งมีทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะกำลังเป็นผลไม้ยอดนิยมในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่าพันล้านบาทต่อปี

โดยออร์เดอร์จากต่างประเทศมาจาก จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งเวียดนาม โดยมะม่วงสุกพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองและน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ส่งไปจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขณะที่มะม่วงดิบพันธุ์เขียวเสวย ฟ้าลั่น ส่งออกไปเวียดนาม โดยจังหวัดฉะเชิงเทรากำลังยื่นขอขึ้นทะเบียนจีไอ หรือสินค้าผลไม้ที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indications : GI) มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้

แหล่งปลูกมะม่วงที่สำคัญของ จ.ฉะเชิงเทรา อยู่ที่ อ.บางคล้า อ.พนมสารคาม อ.คลองเขื่อน อ.ราชสาส์น และ อ.แปลงยาว รวมพื้นที่ปลูกประมาณ 28,000 ไร่ เกษตรกร 7,300 ราย และได้มาตรฐานการผลิตพืชตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ good agriculture practices (GAP) 57 ราย พันธุ์ที่ปลูกหลัก ๆ ได้แก่ แรด เขียวเสวย น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ขายตึก และมันทวายเดือน 9 ผลผลิตออกมากเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 75-80% ซึ่งราคานอกฤดูกาลจะสูงกว่าในฤดูเกือบ 50% ปีที่ผ่านมาสร้างมูลค่ารวมประมาณ 900 ล้านบาท

ขณะที่ จ.อุดรธานี นอกจากจะมีการส่งออกผลผลิตไปยัง สปป.ลาว ญี่ปุ่น จีน เกาหลี เวียดนาม และรัสเซีย พันธุ์ที่ได้รับความนิยม คือ น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ล่าสุดเกษตรกรได้ร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายเกาหลีส่งออกมะม่วงเสียบไม้ นอกจากนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคและเพิ่มการขายให้มีมากขึ้น จังหวัดได้ติดต่อประสานงานให้เกษตรกรไปจัดแสดงสินค้าและจำหน่ายผลผลิตทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดในประเทศ เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดเมืองทองเจริญศรี

ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมให้เกษตรกรแปรรูปมะม่วงเพื่อจำหน่ายมากขึ้น อาทิ ไอศกรีม มะม่วงแช่อิ่ม วุ้นมะม่วง

นอกจาก อ.หนองวัวซอ ที่เป็นแหล่งปลูกสำคัญแล้ว จังหวัดยังส่งเสริมให้เกษตรกรอีก 10 อำเภอ ขยายฐานการปลูกมะม่วง อาทิ อ.กุมภวาปี นายูง น้ำโสม ทุ่งฝน ไชยวาน เป็นต้น และได้จัดโครงการพัฒนาการผลิตมะม่วงอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำผู้เกี่ยวข้องเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี และสหกรณ์ชมรมสวนมะม่วง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อนำกลับไปพัฒนาการผลิตมะม่วงให้ได้คุณภาพและมาตรฐานการส่งออก ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

สำหรับตลาดมะม่วงของพิษณุโลก นอกจากจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อเพื่อนำไปกระจายยังตลาดไท ตลาดสี่มุมเมืองแล้ว ผลผลิตส่งที่ได้จำนวนหนึ่งมีการส่งออกไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และยุโรป คาดว่ามูลค่าการส่งออกปี 2559/2560 มากกว่า 1,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นประมาณ 40-50% ของผลผลิตรวมทั้งหมด

โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมะม่วง 169,682 ไร่ กว่า 95% หรือ 97,622 ไร่ ปลูกพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองและน้ำดอกไม้เบอร์ 4 และปลูกมากที่ อ.เนินมะปราง และวังทอง มีเกษตรกร 7,513 ครัวเรือน มะม่วงของพิษณุโลกจะออกตั้งแต่ช่วมกราคม-มีนาคม เฉลี่ยราคาในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 20-30 บาท/กิโลกรัม ส่วนส่งออกราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80-100 บาท/กิโลกรัม

สำหรับ จ.ขอนแก่น ขณะนี้จังหวัดได้ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกมะม่วงเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น อ.บ้านแฮด จากที่ผ่านมา สามารถส่งออกผลผลิตที่ได้ไปเกาหลี ญี่ปุ่น และขณะนี้จังหวัดอยู่ระหว่างการเตรียมจะพากลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตมะม่วงของอำเภอบ้านแฮดไปเปิดตลาดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

 


เรียบเรียงจาก นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 เมษายน