ในปี 2020 คาดว่าจะมีมนุษย์อาศัยอยู่บนโลก 9 พันล้านคน ซึ่งทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น 70% จึงเป็นเหตุผลให้นักวิทยาศาสตร์พยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตอาหารมากขึ้น มาดูกันว่า 5 เมนูที่คุณต้องกินมนอนาคตมีอะไรบ้าง

1.จิ้งหรีดแท่ง

จิ้งหรีดนั้นมีปริมาณโปรตีนมากกว่าเนื้อวัวถึง 3 เท่า แถมยังผลิตแก๊สเรือนกระจกน้อยกว่าถึง 100 เท่า ทั้งนี้ แมลงเป็นสิ่งที่คนกว่า 2 พันล้านคนกินอยู่แล้วทุกวัน ทำให้หากในอนาคตจะมาเป็นเมนู “จิ้งหรีดแท่ง” ก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่นัก

2.ขนมปังเคิร์นซา (Kernza bread)

เคิร์นซาเป็นธัญพืชชนิดใหม่ที่มีวิธีการปลูกที่แตกต่างไปจากข้าวสาลีแบบเดิม และยังดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอีกด้วย โดยในอนาคตเราอาจจะพบการนำธัญพืชชนิดนี้มาใช้ในการอบขนมหรือทำเบียร์

ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมที่พบคือ รากที่ฝังลึกของเคิร์นซายังเก็บคาร์บอนไว้ในดินได้มากกว่าข้าวสาลีด้วย

นอกจากนี้ยังให้ผลผลิตได้ถึง 5 ครั้ง/การปลูก 1 ครั้ง จากปกติที่ให้ผลผลิตได้แค่ครั้งเดียว

3.เบอร์เกอร์จากพืช

นักวิทยาศาสตร์อาหารได้คิดค้นการทำเบอร์เกอร์จากถั่วและถั่วเหลือง ซึ่งจะให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากเดิม

4.น้ำมันสาหร่าย

อย่างที่ทราบกันดีว่าน้ำมันที่ขายในตลาด เช่น น้ำมันปาล์มนั้นไม่ยั่งยืน นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามสกัดสาหร่ายจากพืช เพื่อสร้างน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพสำหรับมนุษย์และโลกมากกว่าเดิม

5.นักเก็ตไก่สุดคลีน

ในแต่ละปีมีไก่ที่ถูกนำไปเป็นอาหารกว่า 5 หมื่นล้านตัว ซึ่งแทนที่จะไปฆ่าสัตว์ปีกเหล่านี้มากขึ้น บริษัท 15 บริษัทจึงได้พยายามคิดค้นการเพาะเลี้ยงเนื้อไก่จากเซลล์สัตว์ในห้องทดลอง ที่ปัจจุบันเรียกว่า “meat breweries”


Content Team Matichon Academy
[email protected]
0-2954-3971 ต่อ 2111
ติดตามอ่านข่าวสารได้ที่ www.matichonacademy.com

ไม่พลาดข่าวสารอาหาร ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เกร็ดความรู้
คอร์สเรียนสนุกๆได้ประโยชน์-เสริมอาชีพ
คลิกติดตามเพจเฟซบุ๊ค MatichonAcademy

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อาหารอนาคต หรือ future food ถูกพูดถึงกันมาก เพราะเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการอาหารที่รับประทานได้สะดวก รวดเร็ว ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับสุขภาพ (health conscious) และความปลอดภัย (food safety) ควบคู่กันไป

ด้วยเหตุนี้เองเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต ผู้ประกอบการที่มองการณ์ไกล ต้องเตรียมพร้อม ปรับจูนขนานใหญ่

ทั้งวิธีคิดแบบนอกกรอบ คิดอย่างสร้างสรรค์ เปิดรับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้ความสำคัญกับงานวิจัย ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน ทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม อุปกรณ์ บุคลากร และคำปรึกษาแบบครบวงจร

เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอนาคต เนื่องจากเป็น high value product ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มีความสลับซับซ้อนในการผลิต ต้องใช้องค์ความรู้หลายแขนง และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย

อาหารอนาคต หรือ future food แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มได้แก่

อาหารเกษตรอินทรีย์ (organic foods) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมี

อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ (functional foods and drink) เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำหน้าที่ให้คุณค่าอาหารที่จำเป็นให้กับร่างกาย เช่น ปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งจะไม่อยู่ในรูปแบบแคปซูล เม็ดยา แต่จะหน้าตาเหมือนอาหารทั่วไป

อาหารทางการแพทย์ (medical foods) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาหรืออาหารเสริม เป็นอาหารที่ออกแบบมาเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยเฉพาะโรค หรือผู้ที่ไม่สามารถทานอาหารปกติได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น อาจอยู่ในรูปแบบรับประทานหรือดื่มแทนอาหารหลัก หรือเสริมบางมื้อ หรือเป็นอาหารทางสายยาง

และอาหารกลุ่มที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (novel foods) หมายถึงอาหารรูปแบบใหม่ที่มีความเป็นนวัตกรรมสูงมาก เป็นอาหารที่ใช้ขั้นตอนการผลิตแบบใหม่ ไม่เคยมีการผลิตมาก่อน หรือเป็นอาหารที่ได้จากพืช หรือสัตว์ เช่น การใช้นาโนเทคโนโลยี หรือพวก nano food รวมถึงแหล่งอาหารใหม่ คือ แมลง สาหร่าย และยีสต์

เห็นได้ว่าอาหารอนาคตหรือ future food มีความหลากหลาย ใช้บรรเทาโรค เสริมสร้างพลังงานในแต่ละช่วงวัยที่มีความต้องการสารอาหาร มีกระบวนการดูดซับสารอาหารที่แตกต่างกัน ที่สำคัญคือต้องทานง่าย และมีรสชาติดีด้วย

อาหารอนาคต อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังขาดองค์ความรู้ การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเรื่องนี้แก่ผู้ประกอบการเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทราบถึงทิศทางและเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ทั้งเตรียมความพร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพ ที่จำต้องขยับไปอีกขั้นจาก value added product เป็น high value product

ฟากผู้บริโภคเอง มีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้น แต่บางส่วนยังไม่ค่อยเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท อย่างไรก็ตาม นาทีนี้ผู้ประกอบการควรเตรียมตัวให้พร้อม มองหาลู่ทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หาแนวร่วมจากองค์กรภาครัฐที่สนับสนุน หากมั่นใจแล้วก็ลุยเลย โดยเฉพาะตลาดส่งออก ที่มีกำลังซื้อสูง….อนาคตของอุตสาหกรรมอาหารอยู่ในมือเรานั่นเองครับ


จากบทความเรื่อง
อนาคต…ของ อาหารอนาคต (Future Food)
คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ