ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อาหารอนาคต หรือ future food ถูกพูดถึงกันมาก เพราะเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการอาหารที่รับประทานได้สะดวก รวดเร็ว ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับสุขภาพ (health conscious) และความปลอดภัย (food safety) ควบคู่กันไป

ด้วยเหตุนี้เองเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต ผู้ประกอบการที่มองการณ์ไกล ต้องเตรียมพร้อม ปรับจูนขนานใหญ่

ทั้งวิธีคิดแบบนอกกรอบ คิดอย่างสร้างสรรค์ เปิดรับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้ความสำคัญกับงานวิจัย ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน ทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม อุปกรณ์ บุคลากร และคำปรึกษาแบบครบวงจร

เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอนาคต เนื่องจากเป็น high value product ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มีความสลับซับซ้อนในการผลิต ต้องใช้องค์ความรู้หลายแขนง และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย

อาหารอนาคต หรือ future food แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มได้แก่

อาหารเกษตรอินทรีย์ (organic foods) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมี

อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ (functional foods and drink) เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำหน้าที่ให้คุณค่าอาหารที่จำเป็นให้กับร่างกาย เช่น ปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งจะไม่อยู่ในรูปแบบแคปซูล เม็ดยา แต่จะหน้าตาเหมือนอาหารทั่วไป

อาหารทางการแพทย์ (medical foods) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาหรืออาหารเสริม เป็นอาหารที่ออกแบบมาเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยเฉพาะโรค หรือผู้ที่ไม่สามารถทานอาหารปกติได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น อาจอยู่ในรูปแบบรับประทานหรือดื่มแทนอาหารหลัก หรือเสริมบางมื้อ หรือเป็นอาหารทางสายยาง

และอาหารกลุ่มที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (novel foods) หมายถึงอาหารรูปแบบใหม่ที่มีความเป็นนวัตกรรมสูงมาก เป็นอาหารที่ใช้ขั้นตอนการผลิตแบบใหม่ ไม่เคยมีการผลิตมาก่อน หรือเป็นอาหารที่ได้จากพืช หรือสัตว์ เช่น การใช้นาโนเทคโนโลยี หรือพวก nano food รวมถึงแหล่งอาหารใหม่ คือ แมลง สาหร่าย และยีสต์

เห็นได้ว่าอาหารอนาคตหรือ future food มีความหลากหลาย ใช้บรรเทาโรค เสริมสร้างพลังงานในแต่ละช่วงวัยที่มีความต้องการสารอาหาร มีกระบวนการดูดซับสารอาหารที่แตกต่างกัน ที่สำคัญคือต้องทานง่าย และมีรสชาติดีด้วย

อาหารอนาคต อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังขาดองค์ความรู้ การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเรื่องนี้แก่ผู้ประกอบการเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทราบถึงทิศทางและเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ทั้งเตรียมความพร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพ ที่จำต้องขยับไปอีกขั้นจาก value added product เป็น high value product

ฟากผู้บริโภคเอง มีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้น แต่บางส่วนยังไม่ค่อยเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท อย่างไรก็ตาม นาทีนี้ผู้ประกอบการควรเตรียมตัวให้พร้อม มองหาลู่ทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หาแนวร่วมจากองค์กรภาครัฐที่สนับสนุน หากมั่นใจแล้วก็ลุยเลย โดยเฉพาะตลาดส่งออก ที่มีกำลังซื้อสูง….อนาคตของอุตสาหกรรมอาหารอยู่ในมือเรานั่นเองครับ


จากบทความเรื่อง
อนาคต…ของ อาหารอนาคต (Future Food)
คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ