ร้านอาหารจีน “เฮยยิน” ต้อนรับเทศกาลตรุษจีน 2567 ด้วยเมนูมงคลสุดพรีเมียม

“เฮยยิน” ร้านอาหารจีนสไตล์กวางตุ้งคุณภาพ ภายใต้การบริหารโดย อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน 2567 เทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน โดยแจ็คกี้ ชาน เชฟใหญ่ชาวฮ่องกงที่มากด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปี ได้จัดเตรียมเมนูอาหารมงคลที่เพียบพร้อมทั้งคุณภาพและความหลากหลาย ซึ่งมีทั้งเมนูอะลาคาร์ต ในราคาเริ่มต้น 160++ – 8,000++ บาท และชุดโต๊ะจีนสำหรับ 10 ท่าน ราคาเริ่มต้น 28,888++ – 38,888++ บาท พร้อมให้บริการตั้งแต่วันที่ 5 – 15 กุมภาพันธ์ 2567

 

อิ่มอร่อยกับเมนูมงคลที่ชาวจีนนิยมรับประทานในเทศกาลตรุษจีนที่ร้านอาหาร “เฮยหยิน” กับเมนูอะลาคาร์ต ได้แก่ “สลัดขุมทรัพย์เป๋าฮื้อ “หยี่ซังโล่วเห”” เมนูมงคลตามความเชื่อที่ขั้นตอนการรับประทานล้วนมีความหมาย เริ่มด้วยการบีบมะนาวพร้อมกล่าวคำอวยพรให้ร่ำรวย มีชีวิตที่ราบรื่น คลุกเคล้าส่วนผสมต่างๆ ให้เข้ากันด้วยตะเกียบ โดยให้ยกตะเกียบขึ้นสูงๆ และกล่าวคำอวยพรพร้อมๆ กันด้วยเสียงดังฟังชัดว่า “โละเฮ้” เพื่อให้ประสบผลสำเร็จในปีใหม่ สำหรับเมนูนี้ เชฟแจ็คกี้ ชาน ได้คัดสรรหอยเป๋าฮื้อตัวโตที่เป็นตัวแทนของความร่ำรวยมั่งมีเงินทอง “สลัดขุมทรัพย์ปลาแซลมอน “หยี่ซังโล่วเห” “รวมมิตรมงคล “ผู่นชอย” ที่รวมวัตถุดิบชั้นเลิศในชามเดียว ทั้งหอยเป๋าฮื้อ ขาห่าน กระเพาะปลาสด ขาหมูตุ๋นเห็ดหอม รากบัว กุ้ง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ แครอท และหัวไชเท้า “เป๋าฮื้อสอดไส้กุ้งราดซอสมันปู” “หอยเชลล์ฮอกไกโดผัดบร็อคโคลี่ซอสไข่เค็ม” และขอแนะนำเมนูใหม่ 5 เมนู ได้แก่ “กังป๋วยแหวนหยกน้ำมันหอย” ที่นำฟักเขียวหั่นเป็นวงแหวนแล้วยัดไส้กังป๋วย หรือหอยเชลล์แห้ง แล้วนำไปนึ่ง ราดซอสน้ำมันหอยรสชาติกลมกล่อม “ปลาหิมะผัดไข่ขาวนมสด” “ข้าวเหนียวกุนเชียงทรงเครื่องเลิศรส” “ก้ามปูยัดไส้กุ้งไหมทอง” และ “หมูกรอบตุ๋นรากบัวและหมั่นโถวนึ่ง”

นอกจากนี้ยังมีเมนูติ่มซำตรุษจีนอีก 8 เมนู (ให้บริการเฉพาะเวลา 11.00 – 15.00 น.) ได้แก่ “เห็ดหอมยัดไส้กุ้งหอยเชลล์นึ่งซอสเป๋าฮื้อ” “เกี๊ยวหมูผักบอกฉ่อยในน้ำซุปไก่” “ก๋วยเตี๋ยวหลอดกังป๋วยราดซี่โครงหมูนึ่ง” “ขนมผักกาดนึ่งซีอิ๊วซอส XO”พายตับห่านเห็ดรวม” “ขนมงาทอดไส้คัสตาร์ดลาวา” “พัฟถั่วลิสงมะพร้าว” ปิดท้ายด้วยขนมมงคลสีสันน่ารับประทานอย่าง “ขนมปลาคาร์ปไส้พุทราจีนและโมจิรูปส้มไส้คัสตาร์ด” นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มพิเศษ “Dragon Heart” และ “Dragon Mimosa” ช่วยเพิ่มความสดชื่น ในราคา 258++ – 358++ บาท

สำหรับชุดโต๊ะจีนตรุษจีน ร้านอาหารจีน “เฮยยิน” มีให้เลือก 2 ชุด ดังนี้ชุดเมนูมงคล “ความสุขเปี่ยมล้น” ราคาชุดละ 28,888++ บาท (สำหรับ 10 ท่าน) ประกอบด้วย 8 เมนู

  1. สลัดขุมทรัพย์ปลาแซลมอน “หยี่ซังโล่วเห”       
  2. ซุปข้นกุ้งมังกรเปาฮื้อกระเพาะปลาไก่เส้น
  3. เป็ดปักกิ่งย่างไม้ลิ้นจี่
  4. เป๋าฮื้อขาห่านเห็ดหอมซอสเปาฮื้อ
  5. กุ้งล็อบสเตอร์ออสเตรเลียนึ่งกระเทียมวุ้นเส้น
  6. รวมมิตรมงคล “ผู่นชอย”    
  7. ข้าวเหนียวกุนเชียงทรงเครื่องเลิศรส
  8. ขนมปลาคาร์ปไส้พุทราจีน และโมจิรูปส้มไส้คัสตาร์ด
ปลาหิมะผัดไข่ขาวนมสด (2)
ข้าวเหนียวกุนเชียงทรงเครื่องเลิศรส

ชุดเมนูมงคล “ร่ำรวยสมปรารถนา” ราคาชุดละ 38,888++ บาท (สำหรับ 10 ท่าน) ประกอบด้วย 8 เมนู

  1. สลัดขุมทรัพย์เป๋าฮื้อ “หยี่ซังโล่วเห”
  2. ไก่ตุ๋นสอดไส้หูฉลามสูตร HEI YIN
  3. หมูหันฮ่องกงย่างไม้ลิ้นจี่
  4. รวมมิตรมงคล “ผู่นชอย”
  5. กุ้งล็อบสเตอร์ออสเตรเลียผัดบะหมี่ซอสเอ๊กซ์โอ
  6. ปลาเทอร์บอทเกาหลีนึ่งซีอิ๊ว
  7. ข้าวเหนียวกุนเชียงทรงเครื่องเลิศรส
  8. ขนมปลาคาร์ปไส้พุทราจีนและโมจิรูปส้มไส้รังนกคัสตาร์ด


เทศกาลตรุษจีนนี้ มาเฉลิมฉลองปีมังกรพร้อมอิ่มอร่อยรับพรมงคลจากเมนูอาหารจีนเลิศรส ในบรรยากาศสุดหรูหรา และการบริการที่เพียบพร้อม ได้ที่ร้านอาหารจีน “เฮยหยิน” สำรองที่นั่งหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 080-964-5423 และ LINE: @heiyinbangkok ดูรายละเอียดอื่นๆ และติดตามอัปเดตของร้านได้ที่เว็บไซต์: www.heiyinbangkok.com Facebook: www.facebook.com/heiyinbangkok และ Instagram: www.instagram.com/heiyinbangkok

อาหารจีนหรืออาหารของคนจีน เป็นอาหารที่ประกอบขึ้นตามวัฒนธรรมของชาวจีน ซึ่งรวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน และฮ่องกง มีหลากหลายชนิดตามแต่ละท้องถิ่น แต่โดยทั่วไปนิยมรับประทานอาหารจานผักและธัญพืชเป็นหลัก

สมัยราชวงศ์โจว (1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ถึงสมัยราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ในยุคนี้ ผู้คนกินธัญพืชและผักเป็นหลัก  ธัญพืชที่สำคัญ คือข้าวฟ่างประเภทต่างๆ นอกจากนี้ มีข้าวบาร์เลย์ ข้าวเหนียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ เป็นต้น 

สมัยราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช- ค.ศ.220) เป็นยุควัฒนธรรมการกินค่อนข้างเฟื่องฟู มีการนำเข้าพืชผักผลไม้จากต่างประเทศ เช่น ทับทิม องุ่น แตงโม แตงกวา ต้นหอม กระเทียม ปวยเล้ง แครอท วอลนัท ถั่วปากอ้า ฯลฯ รวมถึงการริเริ่มกรรมวิธีการปรุอาหารบางอย่าง เช่น การทอด พร้อมกันนี้มีการคิดค้น “การทำเต้าหู้”  จนออกมาเป็นอาหารประเภทต่างๆ มากมาย  ช่วงยุคฮั่นตะวันออกเริ่มมีการคิดค้นใช้น้ำมันจากพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก และมีราคาแพง

สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) คนจีนทางเหนือชอบกินรสหวาน ส่วนคนทางใต้ชอบกินรสเค็ม ยุคนั้นยังไม่มีรสเผ็ดชา หรือที่เรียกว่า “หมาล่า” เพราะยังไม่มีการนำพริกเข้ามายังประเทศจีน เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ.1127-1279) ผู้คนทางตอนเหนือจำนวนมากอพยพลงไปอยู่ทางตอนใต้  จึงนำเอาวัฒนธรรมการกินแบบทางเหนือลงไปด้วย 

ต่อมาสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ถึงสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1616-1911) เป็นอีกยุคที่วัฒนธรรมการกินเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง อาหารส่วนใหญ่สืบทอดมาจากอดีต บางส่วนถูกนำมาดัดแปลงเป็นชนิดใหม่ๆ อาหารทางภาคเหนือเริ่มใช้แป้งเป็นส่วนประกอบหลัก  ขณะเดียวกันมีการนำเข้าอาหารพวกผักผลไม้อีกครั้ง เช่น มันฝรั่ง มันเทศ ส่วนอาหารประเภทเนื้อได้จากการทำปศุสัตว์  ความหลากหลายและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้อาหารจีนได้รับความนิยมแผ่อิทธิพลไปหลายประเทศ ตั้งแต่เกาหลี  ญี่ปุ่น  มองโกเลีย  ไทย  สิงคโปร์  มาเลเซีย

อาหารจีนได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องมาจากองค์ประกอบ ดังนี้  1.คัดสรรวัตถุดิบชั้นยอด เป็นเทคนิคอย่างแรกและเป็นพื้นฐานสำคัญที่พ่อครัวต้องมี ซึ่งต้องอาศัยความพิถีพิถันและพิจารณาในเรื่องแหล่งวัตถุดิบ ชนิด ฤดูกาล รวมถึงระยะเวลาของการเจริญเติบโต เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพที่สุด  2.เทคนิคการใช้มีด  พ่อครัวชาวจีนให้ความสำคัญกับการใช้มีดในการทำอาหารอย่างมาก ต้องมีการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ไม่ว่าการหั่น แล่ สับ หรือกระทั่งการทำให้เป็นชิ้นเนื้อลักษณะต่างๆ  เช่น เป็นเส้นเล็กและบาง  เป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า เป็นชิ้นใหญ่ยาวและแบน  เป็นแผ่นบางๆ  เป็นต้น  3.ความแรงของไฟ  เป็นหนึ่งในเคล็ดลับความอร่อยของอาหารจีน พ่อครัวต้องฝึกฝนควบคุมความแรงของไฟ โดยต้องแยกแยะความแรงของไฟให้ได้  นอกจากนี้ ต้องเข้าใจการถ่ายเทความร้อนผ่านน้ำ น้ำมัน หรืออากาศ เพราะจะมีผลต่อความแข็งของอาหาร ปริมาณน้ำในอาหาร และรูปทรงของอาหาร

เต้าหู้2
นึ่ง4

4.ความหลากหลายของการปะกอบอาหาร ถือเป็นศิลปะชั้นยอดของพ่อครัวจีน วิธีการประกอบอาหารที่พบบ่อย ได้แก่  ผัด  นึ่ง  ปิ้งหรือย่าง  ตุ๋น  อบ  ทอดกรอบ  ทอดน้ำมันน้อย  คลุกหรือยำ  รมควัน  ต้มพะโล้  ผัดแล้วเติมน้ำแป้งมัน  5.รสชาติต้องประสานกันทั้ง 5 รส ได้แก่ รสหวาน  เค็ม  เปรี้ยว  รสเผ็ด และรสขม  อาหารบางชนิดจำเป็นต้องมีรสชาติที่หลากหลายประสานกันอย่างกลมกลืน

ส่วนใหญ่จะแบ่งการปรุงรสเป็น 3 วิธี กล่าวคือ 1.ปรุงรสก่อนปรุงอาหารด้วยความร้อน  2.ปรุงรสขณะปรุงอาหารด้วยความร้อน  3.ปรุงรสหลังจากปรุงอาหารด้วยความร้อนแล้ว  6.ให้ความรู้สึกงดงาม นอกจากความงดงามของอาหารที่ทำออกมาประหนึ่งงานศิลปะแล้ว ภาชนะที่ใส่อาหารก็ต้องมีความสวยงามด้วย นอกจากนี้คนจีนยังนิยมตั้งชื่ออาหารให้ไพเราะ  สื่อสารในสิ่งที่สี กลิ่น และรสชาติของอาหารไม่สามารถสื่อสารออกมาได้

และด้วยสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกันอย่างมาก ความกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศจีน ทำให้แต่ละภูมิภาคมีวัฒนธรรมการกินและประเภทอาหารที่แตกต่างกัน จนเกิดเป็นอาหารจีนกลุ่มต่างๆ ซึ่งเดิมแบ่งเป็นเพียง 4 กลุ่มใหญ่ในสมัยต้นราชวงศ์ชิง ได้แก่ อาหารซานตง,  อาหารเสฉวน,  อาหารเจียงซู  และ อาหารกวางตุ้ง  แต่เมื่อถึงปลายราชวงศ์ชิงมีกลุ่มอาหารอื่นๆโด่งดังขึ้นมาอีก ได้แก่  อาหารเจ้อเจียง อาหารฮกเกี้ยน อาหารหูหนาน และอาหารอันฮุย อาหารจีนจึงถูกจัดให้เป็นอาหาร 8 กลุ่มใหญ่ดังนี้

1.อาหารซานตง  กำเนิดในแถบมณฑลซานตง มีความเป็นมายาวนานตั้งแต่ปลายราชวงศ์ซาง จุดเด่นของอาหารซานตง คือ การแฝงสรรพคุณในการรักษาโรค  มักใช้ “เกลือ” ปรุงรส  ทำให้มีรสชาติเค็ม นอกจากนี้ยังใส่ต้นหอม  ขิง และกระเทียม เพื่อเพิ่มความหอม อาหารซานตงที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ปลาหลีฮื้อเปรี้ยวหวาน : จุดเด่นคือตัวของปลาจะงอ ส่วนหางกระดกขึ้น, ปลิงทะเลเคี่ยวต้นหอม : เนื้อนุ่ม กลิ่นหอม ช่วยบำรุงร่างกาย,  ไก่เต๋อโจว : หนังมันเงา เนื้อนุ่ม

2.อาหารเสฉวน กำเนิดในแถบมณฑลเสฉวน  โดดเด่นขึ้นมาในสมัยราชวงศ์ฉินและราชวงศ์ฮั่นตะวันตก มีรสชาติเข้มข้นด้วยเครื่องปรุงรส ใส่น้ำมันปริมาณมาก นิยมทำให้มีกลิ่นหอมของปลา เผ็ดร้อน เผ็ดชา และเปรี้ยว ตัวอย่างอาหารเสฉวนที่ขึ้นชื่อ ได้แก่  เนื้อเส้นหอมกลิ่นปลา : เนื้อหมูผัดเปรี้ยวเผ็ด มีกลิ่นหอมของปลา,  ไก่องครักษ์ : ไก่ผัดซอสใส่ถั่วลิสง,  ไก่น้ำลาย : ไก่ต้มราดด้วยน้ำมันพริกโรยงา รสชาติเผ็ดเปรี้ยว, หมูสามชั้นกลับกระทะ : เนื้อหมูสามชั้นต้มสุกแล้ว ผัดปรุงรสในกระทะ

3.อาหารเจียงซู  มีถิ่นกำเนิดในแถบมณฑลเจียงซู  พื้นที่แถบนี้ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์  วัตถุดิบในการประกอบอาหารจึงมีความหลากหลาย โดยเฉพาะอาหารทะเล  รสชาติเน้นไปทางหวาน  ตัวอย่างอาหารเจียงซูที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ หมูเหลี่ยมอบ : หมูสามชั้นปรุงรสนำไปอบ,   ข้าวผัดหยางโจว : ข้าวผัดใส่ไข่ไก่ เนื้อกุ้ง แฮมหั่นเต๋า ถั่วลันเตา แครอท,  ซุปลูกชิ้นหัวสิงโต : หมูสับ ปูและกุ้ง สับปั้นเป็นก้อนขนาดใหญ่ต้มในน้ำซุป

4.อาหารกวางตุ้ง มีถิ่นกำเนิดในมณฑลกวางตุ้ง กวางสี และไหหลำ  ใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงหลากหลายตามฤดูกาล เน้นรูป รส กลิ่น และสี  อาหารบางชนิดคล้ายกับอาหารจีนในไทย เนื่องจากได้รับอิทธิพลโดยตรง ตัวอย่างอาหารกวางตุ้ง ได้แก่ ไก่ต้มสับ : ไก่ต้มใส่ขิง ต้นหอม ผักชี เกลือ และน้ำมันพืช,  หมูแดงอบน้ำผึ้ง : เป็นต้นกำเนิดของหมูแดงในประเทศไทย,  นกพิราบย่าง

5.อาหารเจ้อเจียง กำเนิดในแถบมณฑลเจ้อเจียง  ใช้วัตถุดิบสด ใหม่ โดยเฉพาะอาหารทะเล  ปรุงรสเพียงเล็กน้อยเพื่อคงรสชาติดั้งเดิมของวัตถุดิบเอาไว้  บางชนิดมีรสชาติเข้มข้น  อาหารเจ้อเจียงที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ปลาเปรี้ยวซีหู : ปลาต้มราดซอสข้นรสเปรี้ยว,  กุ้งผัดชาหลงจิ่ง: รสชาติอ่อน หอมกลิ่นใบชา,  หมูสามชั้นอบผักดองแห้ง: รสชาติเค็มหวาน

6.อาหารฮกเกี้ยน มีถิ่นกำเนิดในฝูโจว  เนื่องจากทางตอนเหนือของฝูโจวเป็นภูเขา ตอนใต้ติดทะเล  จึงมีวัตถุดิบพวกของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ และอาหารทะเลจำนวนมาก  ตัวอย่างอาหารฮกเกี้ยนขึ้นชื่อ คือ  พระกระโดดกำแพง : รวมเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ตุ๋นในหม้อ,  กุ้งน้ำเกลือ : กุ้งต้มพอสุกในน้ำที่ปรุงรสด้วยขิง ต้นหอม เหล้า และเกลือ,  เนื้อลิ้นจี่ : เนื้อหมูแผ่นเล็กๆ บั้งแล้วต้มให้สุก จากนั้นนำไปผัดแล้วปรุงรส  รูปร่างของเนื้อจะห่อตัวเหมือนเนื้อลิ้นจี่

อาหารเสฉวน
อาหารฮกเกี้ยน

7.อาหารหูหนาน มีถิ่นกำเนิดในมณฑลหูหนาน ใช้วัตถุดิบค่อนข้างหลากหลาย ส่วนใหญ่รสชาติเผ็ดร้อน เค็ม และมีปริมาณน้ำมันมาก ตัวอย่างอาหารหูหนานขึ้นชื่อ คือ หูฉลามตุ๋น : หูฉลามตุ๋นในน้ำซุปไก่ด้วยไฟอ่อน,  เห็ดต้นชาหม้อไฟแห้ง : เห็ดต้นชาปรุงรสด้วยพริก ซอสพริก น้ำมันหอย น้ำตาลทราย

ได้รู้ความเป็นมาของอาหารจีนกลุ่มต่างๆ อย่างนี้แล้ว คราวต่อไปหากจะรับประทานอาหารจีนก็ไม่ต้องยุ่งยากใจว่าจะเลือกแบบไหน ถึงจะถูกใจถูกลิ้น และมีความอร่อยในเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค แต่ละพื้นถิ่น

คอลัมน์ เคี้ยวตุ้ย…ตะลุยกิน โดย ชม นำพา [email protected]

นึกถึงอาหารจีนอร่อยๆ ต้องไปเยาวราชใช่มั้ย แต่ว่าค่ะแต่ว่า อาหารจีนอร่อยนอกเขตเยาวราชก็ยังมีให้เลือกอีกเยอะ แบบที่ถ้าได้ลองชิมแล้วจะติดใจ ไม่ต้องเข้าเมืองไปเบียดเสียด ปวดหัวกับที่จอดรถให้ยุ่งยากด้วย

อาทิตย์นี้ขอชี้เป้าไปที่ร้านชื่อคุ้นหูคนบางรัก “ไต๋ตงเลิศรส” พิกัดอยู่ที่ พุทธมณฑลสาย 2 เป็นร้านอาหารจีนสูตรเก่าแก่ เถ้าแก่ปรุงอาหารเองจานต่อจาน มีเมนูให้เลือกหลากหลาย หลายอย่างพลิกแพลงจากประสบการณ์ที่ช่ำชองจนเกิดรสชาติอร่อยแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร

ไต๋ตง พุทธมณฑลสาย 2 พิกัดชัดๆ ตั้งอยู่ที่อาคาร “บ่อน้ำมันพลาซ่า” ตรงเข้ามาสาย 2 เจอแยกไฟแดงที่ 3 ตรงมาอีกไม่ไกลมาก ซ้ายมือจะเป็นอาคารบ่อน้ำมันพลาซ่า มีป้ายชื่อร้านต่างๆ สีสันฉูดฉาดให้เลี้ยวซ้ายเข้ามาหาที่จอดรถได้เลย

มื้อนี้ เฮียชัย-บวร อัศวมงคลไพศาล อายุ 45 ปี เจ้าของร้านแนะนำว่า เมนูที่ทุกคนต้องสั่งเมื่อมาไต๋ตง คือ “เปาะเปี๊ยะเผือกทอดฮ่องเต้-ฟองเต้าหู้ห่อกุ้งทอดฮ่องเต้” เริ่มต้นที่ 100-200 บาท “กระเพาะปลาน้ำแดง” เริ่มต้นที่ 200-300 บาท “ข้าวผัดปู” เริ่มต้นที่ 150-300 บาท “หมี่ผัดฮ่องกง” เริ่มต้นที่ 150-300 บาท “โกยซีหมี่” เริ่มต้นที่ 100-300 บาท และ กระเพาะปลาน้ำแดงต้มยำจ้าวสมุทร มี 2 ราคา 599 และ 699 บาท

มาเริ่มที่ เปาะเปี๊ยะกรอบนอกนุ่มใน ไส้เผือกรสละมุน สมกับชื่อเปาะเปี๊ยะเผือกทอดฮ่องเต้ ส่วนฟองเต้าหู้ทอดก็ไม่ผิดหวัง เนื้อสัมผัสกรอบฟูด้านนอก หนึบแน่นด้านใน ไส้กุ้งล้วนๆ ไม่มีมันหมู แห้ว มันแกวใส่มาให้กวนใจ

อึดใจเดียว “กระเพาะปลาน้ำแดง” ร้อนๆ ยกมาเสิร์ฟ เมนูนี้ทำใหม่ชามต่อชาม กลิ่นหอมโชยแตะจมูกมายั่วก่อนที่จะตักกระเพาะปลาแท้ ชิ้นโตๆ เข้าปาก กัดแล้วเหนียวหยุ่นตามธรรมชาติ ตามด้วยเครื่องเคราที่ใส่ทั้งกรรเชียงปูก้อนสดใหม่จากสุราษฎร์ธานี และ เห็ดหอมที่ผ่านกรรมวิธีผัดและตุ๋นอย่างพิถีพิถันให้สัมผัสกรอบนุ่มเด้ง ชามนี้ความคุ้มค่าถือว่าเกินราคา!!!

กระเพาะปลาน้ำแดงเนื้อปูเห็ดหอม

เคล็ดลับไม่พูดถึงไม่ได้ของกระเพาะปลาน้ำแดงอยู่ที่น้ำซุปสูตรเด็ด ที่ปรับเปลี่ยนจากสูตรในอดีตที่ใช้ข้อขาหมูกับขาไก่ต้มน้ำซุป มาเป็นเล้งติดเนื้อ ที่ให้ความหวานมากกว่า

“เล้งที่นำมาต้มน้ำซุป ผมล้างน้ำทีละชิ้น วันละ 3 กิโลกรัม ต้องขยันตักฟองเสียออก ใช้ดุมเห็ดหอมตีโยนใส่น้ำแกง ดีดดอกเกลือใส่ครึ่งช้อนชา ช่วยให้กลมกล่อมไม่หวานแลบ ต้องคอยเล็มฟองออก เอารากผักชีตีใส่ลงไป หมั่นตักฟอง แล้วหรี่ไฟ ฝาปิดเผยอ เคี่ยวถึง 3 ชั่วโมงความหวานจะค่อยออกมา”

กรรมวิธีทำเห็ดหอมแสนอร่อย คือ นำเห็ดหอมมาตัดดุมออกให้สมส่วน แล้วนำมาผัดและตุ๋นในกระทะที่ใส่น้ำแกงท่วมอีกเกือบชั่วโมง เพื่อให้น้ำแกงซึมเข้าเห็ดหอมจนนุ่ม หวานหอม เนื้อสัมผัสหนึบหนับ กรอบ และ เด้ง

ส่วน “ข้าวผัดปู” กับ “ผัดหมี่ฮ่องกง” อร่อยตามมาตรฐาน เสน่ห์คือกลิ่นไหม้กระทะนิดๆ

ข้าวผัดปูทะเลก้อน
หมี่ผัดฮ่องกง

ปิดท้ายด้วย “กระเพาะปลาน้ำแดงต้มยำจ้าวสมุทร” ที่ถือเป็นซิกเนเจอร์ เป็นการพลิกแพลงอาหารจีนที่น่าตื่นเต้นที่สุด เพราะนอกจากจะคงความเป็นกระเพาะปลาน้ำแดงแบบจีนไว้อย่างครบถ้วนแล้ว ยังเพิ่มเติมรสชาติต้มยำความเป็นไทยที่ซี้ดซ้าดเข้าไปอย่างน่าทึ่ง

กระเพาะปลาน้ำแดงต้มยำจ้าวสมุทร

“เราจะเอาข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกมาตำ มาผสมทำน้ำซุปปรุงไว้ สีน้ำแดงอาจดูไม่ต่างจากปกติ แต่เวลาชิมจะได้กลิ่นเครื่องต้มยำเต็มๆ”

เคล็ดลับน้ำซุปต้องราดด้วยเหล้าโสมสูตรลับเฉพาะเล็กน้อยเพิ่มรสละมุนลิ้น ก่อนจะท็อปปิ้งแบบตู้มๆ ด้วยบรรดาจ้าวสมุทรสดใหม่ หนึบหนับเด้งดึ๋ง ทั้งกุ้ง หมึก ปู เป๋าฮื้อ

ก้อนกรรเชียงปูเต็มปากเต็มคำ

เฮียชัย บอกว่า เกิดมาก็อยู่กับอาหารจีน ช่วยงานที่ร้านอากงที่ข้างโรบินสัน บางรัก ก่อนจะหันเหไปเอาดีทางพระเครื่อง และ จิวเวลรี มีฉายาว่า “ชัย สีลม” จนช่วงเศรษฐกิจไม่ดี จึงตัดสินใจละวงการ หันมารื้อฟื้นวิชาอาหารจีนร่วมกับภรรยาและลูกสาว ที่พุทธมณฑลสาย 2 ร้านแรกตั้งอยู่ที่ตลาดสาย 2 ได้ราว 5 ปี ก่อนจะมาปักหลักอยู่ที่บ่อน้ำมันพลาซ่าเป็นเวลา 1 ปีแล้ว

เฮียชัย-บวร อัศวมงคลไพศาล และภรรยา

“ก่อนจะเปิดร้าน ผมต้องฝึกทำ และ จำสูตรให้แม่นยำ จากนั้นก็พลิกแพลงต่อยอดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการทำอาหารจีน ใจเราต้องรักก่อน ใส่ใจกับมัน ใส่ใจกับวัตถุดิบ ต้องคิดเสมอว่าไม่ใช่นำมาขายเพื่อได้เงินเท่านั้น แต่ต้องตั้งใจทำเหมือนกับว่าเรากินเอง”

ใครไม่อยากเข้าเมือง “ไต๋ตงเลิศรส” พุทธมณฑลสาย 2 คือ ตัวเลือกที่ดี คุณภาพและรสชาติอาหารคุ้มราคา ร้านเปิด 11.00-21.00 น. ร้านหยุดทุกวันจันทร์ หรือ สอบถาม โทร 08-5649-8823

“กระเพาะปลา” คืออาหารจีนอีกอย่างหนึ่งที่ทํามาจากกระเพาะปลาตากแห้งทอดกรอบ จากนั้นนํามาต้มให้เป็นซุปที่มีความเหนียวจากแป้งมันหรือแป้งข้าวโพดแบบเดียวกับก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ตำรายาจีนถือว่ากระเพาะปลาเป็นยาชูกําลัง มีสรรพคุณในการเสริมหยิน บํารุงเซลล์ และเนื้อเยื่อ ทําให้เนื้อเยื่อแข็งแรงและกระชับ เสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้พลังงาน แก้อาการตกเลือด เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เลือดลมไหลเวียนดี ทําให้มีพละกําลัง

ความจริงแล้วกระเพาะปลาคือ “ถุงลม” ที่ช่วยในการดำน้ำของปลา เมื่อได้ถุงลมของปลามาแล้วต้องลอกเอาส่วนที่เป็นเส้นเลือดปลา และกล้ามเนื้อออกให้หมด จากนั้นนำไปทอดจนพอง ซึ่งถุงลมของปลาที่เราเอามาทำเป็นกระเพาะปลานั้นก็มาจากปลาหลายชนิด ทั้งปลากุเลา ปลากะพง ปลาอินทรี ปลาไหลทะเล ฯลฯ ราคาก็จะถูกและแพงต่างกันไป ยิ่งเป็นปลาทะเลน้ำลึกก็จะยิ่งแพงมากขึ้น

โดยกระเพาะปลาที่มีราคาแพงที่สุดนั้นเป็นกระเพาะปลาที่ทำจากถุงลมของปลากะพง แต่เนื่องจากกระเพาะปลาเป็นอาหารที่ได้มาจากทะเล จึงอาจมีการปนเปื้อนสารตะกั่วได้

เมื่อ 3 ปีก่อน อย. (องค์การอาหารและยา) ได้ออกมาเผยผลการสุ่มตัวอย่างอาหารนําเข้า พบว่ากระเพาะปลาตากแห้งจากพม่า ปากีสถาน มีสารตะกั่วปนเปื้อนสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน

“ตะกั่ว” เป็นโลหะหนักที่พบได้ในดิน น้ำ หิน อากาศ และในพืช รวมถึงภาคอุตสาหกรรมผลิตสี โซดาไฟ และพลาสติก ซึ่งโรงงานเหล่านี้จะปล่อยน้ำเสียหรือควันออกสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นปนเปื้อนสารตะกั่ว สําหรับพิษของตะกั่วเมื่อนํามาบริโภคจะทําให้เกิดโรคเรื้อรัง ซึ่งการเกิดพิษของสารตะกั่วนั้นต้องใช้เวลานานนับเดือน บางครั้งเป็นปีจึงจะแสดงอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับสารตะกั่วมักมีอาการท้องผูก อุจจาระมีสีดํา โลหิตจาง คอแห้ง กระหายน้ำ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปัสสาวะมากผิดปกติ และไตพิการได้

ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กําหนดให้ในอาหารพบสารตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ในอาหาร 1 กิโลกรัม

แต่ในปี 2554 ได้มีการสุ่มตรวจกระเพาะปลาแห้งจาก 5 ย่านการค้าในจังหวัดสงขลา เพื่อนํามาวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารตะกั่ว พบว่าทั้ง 5 ตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนเลย ซึ่งผลที่ออกมาก็น่าจะทำให้เรากินกระเพาะปลาได้อย่างสบายใจขึ้น แต่ที่จริงแล้ว ใช่ว่าจะวางใจได้ เพราะแหล่งที่มาของกระเพาะปลานั้น มีผลโดยตรงต่อปริมาณตะกั่ว และเราก็ไม่มีทางรู้เลยว่ากระเพาะปลาที่เราบริโภคนั้นมาจากปลาที่อยู่ในเขตทะเลที่มีการปนเปื้อนสารตะกั่วมากน้อยเพียงใด ทางที่ดีก็คือ ใช้หลักการบริโภคแบบหมุนเวียน โดยเลี่ยงการบริโภคซ้ำๆ เช่นเดิมจะปลอดภัยที่สุด

น้ำมันทอดกระเพาะปลา อย่ามองข้าม

ในการทํากระเพาะปลาแห้งซึ่งเป็นการนํากระเพาะปลาไปทอดให้กรอบและฟูนั้นย่อมเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่จะเกิดจากการใช้น้ำมันทอดซ้ำอย่างไม่ต้องสงสัย และนั่นคือความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง

แต่ความเสี่ยงนี้ลดลงได้ หากผู้ที่ทําอาหารโดยใช้กระเพาะปลาเป็นวัตถุดิบ รู้จักใส่ใจที่จะล้างเพื่อเอาน้ำมันออกจากกระเพาะปลาให้หมด ทั้งนี้ ก็เพื่อความอร่อยและสุขภาพของผู้บริโภคด้วย

วิธีล้างก็ไม่ยากอะไร เริ่มจากการนํากระเพาะปลาไปแช่น้ำให้นิ่ม แล้วล้างน้ำทิ้งสักรอบหนึ่ง ก่อนจะบีบกระเพาะปลาให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นต้มน้ำร้อนในหม้อใบใหญ่ ใส่กระเพาะปลาลงในหม้อ ตามด้วยขิงแก่หั่นเป็นแผ่นๆ ทุบพอแตก ต้มต่อไปอีกสักพัก พอกระเพาะปลาพองตัวใช้ได้ก็เทใส่ตะแกรงหรือกระชอนเพื่อเป็นการถ่ายน้ำร้อนออก แล้วล้างตามด้วยน้ำเย็นอีกสัก 2 ครั้ง จากนั้นบีบกระเพาะปลาให้สะเด็ดน้ำออก ก็จะได้กินกระเพาะปลาที่ไม่ต้องเสี่ยงจากมะเร็งอีกต่อไปแล้ว

เห็ดหอมอันตราย

ในการปรุงซุปกระเพาะปลา สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการใส่ “เห็ดหอม” ลงไปด้วย ซึ่งสมัยก่อนเวลานําเห็ดหอมไปแช่น้ำเพื่อใช้ทําอาหาร มักมีคำแนะนําว่าให้เอาน้ำแช่เห็ดหอมใส่ลงไปด้วย เพราะต้องการกลิ่นหอมในน้ำนั้น

แต่มาถึงวันนี้ คงต้องเลิกใช้น้ำแช่เห็ดหอมในการประกอบอาหารแล้ว เพราะมีการตรวจพบว่ามีการพ่นสารคาร์บอนไดซัลไฟด์ลงไปในเห็ดหอม ซึ่งสารชนิดนี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

ทํากินเองก็ได้ไม่ยาก

ส่วนผสม

กระเพาะปลาแห้ง 2 ถ้วย / เห็ดหอม 4-5 ดอก / หน่อไม้หั่นชิ้น 1 ถ้วย / ปีกไก่น่องหรือสะโพก / ซีอิ๊วขาว ½ ถ้วย / แป้งมัน 2 ช้อนโต๊ะ / น้ำมันหอย 2 ช้อนโต๊ะ / รากผักชี 3 ราก / พริกไทยดํา 7 เม็ด / ขิงฝาน 3-4 ชิ้น

วิธีทํา

  1. ล้างกระเพาะปลาตามที่แนะนําไว้
  2. แช่เห็ดหอมจนนิ่ม แล้วเทน้ำทิ้ง
  3. ตั้งหม้อน้ำแล้วใส่ขิง พร้อมกับรากผักชี พริกไทยทุบ และไก่ลงไป ตั้งไฟจนเดือดแล้วค่อยหรี่ไฟให้อ่อน ตั้งไว้จนไก่สุกนุ่ม จึงใส่เห็ดหอม หน่อไม้ กระเพาะปลาตามลงไป ตั้งไฟให้เดือดอีกพักหนึ่ง จึงใส่เครื่องปรุง แล้วชิมรสชาติให้ได้ตามชอบ
  4. ละลายแป้งมันในน้ำ แล้วเทใส่ในหม้อ คนอย่าให้เป็นก้อน จนน้ำเหนียวข้นดีแล้วปิดไฟ
  5. ตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยผักชีซอย และพริกไทยป่น กินร้อนๆ

 

ข้อมูลจาก : หนังสืออาหารเสี่ยงเลี่ยงได้ สำนักพิมพ์มติชน

งานไม้ลวดลายจีน โต๊ะกลม ป้ายร้านเป็นอักษรภาษาจีน บรรยากาศของร้านตกแต่งด้วยสีออกโทนแดง คงเป็นสิ่งที่หลายๆ คนคิด หากพูดถึงร้านอาหารหรือภัตตาคารจีน แต่ไม่ใช่กับร้าน “ฮั่วเซ่งฮง” สาขาเมกา บางนา ที่การตกแต่งออกมาในสไตล์ลอฟท์ ทันสมัย ใช้สีโทนอบอุ่น อาจจะยังคงเอกลักษณ์ด้วยการมีโต๊ะกลมอยู่ในร้านบ้าง แต่ก็แตกต่างไปจากภาพจำร้านอาหารจีนแบบเดิมๆ อยู่มาก

หลายคนอาจรู้จักภัตตาคารอาหารจีนแต้จิ๋วแห่งนี้ดีอยู่แล้ว ด้วยความอร่อยไม่เป็นสองรองใคร ฮั่วเซ่งฮงจึงขยายตัวจากเยาวราช มีสาขาอื่นๆ ทั้งในห้างสรรพสินค้าและแบบสแตนด์อะโลน

“พิสุทธิ์ พิริยเลิศศักดิ์” เจ้าของภัตตาคารฮั่วเซ่งฮง เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีสมัยยังเด็ก จำได้ว่าคุณพ่อเปิดร้านกาแฟ แต่มีช่วงหนึ่งที่รัฐบาลกำหนดราคาขายกาแฟ ทำให้คุณพ่อเลิกกิจการขายกาแฟ ซึ่งคุณแม่ก็พอมีความรู้ในด้านการทำอาหารอยู่บ้าง ประกอบกับมีกุ๊กจากเมืองจีนมาสอน จึงเปิดเป็นร้านอาหารจีนขึ้นในชื่อ “ฮั่วเซ่งฮง” โดย ฮั่ว แปลว่า สามัคคี เซ่ง แปลว่า เจริญรุ่งเรือง และฮง แปลว่าชื่อเสียงก้องไพศาล

“สาขาเยาวราชเองได้รับการตอบรับดีมาก ด้วยทำเลที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว แต่หลังจากที่ผมเรียนจบจากต่างประเทศในด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ปีที่กลับมาเป็นปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 พอดี การหางานทำจึงค่อนข้างลำบาก พอดีคุณแม่มีตึกแถวอยู่พุทธมณฑลสาย 4 เลยไปขยายสาขาที่นี่ โดยให้เพื่อนที่จบสถาปัตย์มาออกแบบ และผมเองควบคุมการก่อสร้าง เป็นสาขาแรกที่ขยายออกมาจากเยาวราช”

ปัจจุบันฮั่วเซ่งฮงมีอยู่ 17 สาขาด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสาขาเมกา บางนา เท่านั้นที่มีการตกแต่งแปลกใหม่ แต่สาขาอื่นๆ ก็มีการตกแต่งให้ทันสมัยด้วย โดยแต่ละสาขาก็จะแตกต่างกันออกไป เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ แต่ที่ไม่เปลี่ยนไปเลยก็คือ “รสชาติ” ที่ยังคงความอร่อยมาตลอด 60 กว่าปี

ไม่พูดพร่ำทำเพลง เริ่มต้นกันด้วยเมนูสุดน่ากิน “ปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว” เนื้อปลาสดแน่น ซีอิ๊วหวานละมุน มีขิงรสไม่เผ็ดมากมาช่วยตัดรสชาติได้เป็นอย่างดี

ส่วนจานนี้ “กุ้งคั่วกระเทียมสไตล์อ่าวฮ่องกง” กุ้งชุบแป้งทอดกรอบ รสชาติกลมกล่อม ส่วนเครื่องสมุนไพรใช้ต้นหอม พริก กระเทียม ปลาหมึกซอยแล้วทอด กรอบจนไม่คิดว่าเป็นปลาหมึก ได้รสเผ็ดเล็กน้อยของกระเทียม เนื้อกุ้งนุ่ม สด เนื้อแน่น ทอดกรอบจนกินได้ทั้งหัว

หอมผงกะหรี่มาแต่ไกลเลยก็คือ “ปูผัดผงกะหรี่” เห็นปูแล้วถึงกับว้าวกับสีสันที่ส้มสดสวยน่ากิน เคล็ดลับคือใช้ปูทะเลขาว ซึ่งเป็นปูทะเลที่มีลักษณะก้ามสีออกไปในโทนเขียว เพราะเนื้อจะหวานกว่าปูทะเลที่สีออกไปในโทนดำ

มาถึงเมนูขายดิบขายดีมาตั้งแต่สาขาเยาวราช “ขาห่านอบบะหมี่” ที่นี่เขานำขายห่านไปตุ๋นจนได้ที่ กินง่าย เนื้อร่อน ไม่แห้งเหนียว จิ้มกับน้ำจิ้มขาห่านถือว่าชนะเลิศ ส่วนเส้นหมี่ก็มีความเหนียวนุ่มกำลังดีเลย

ส่วนพระเอกของงานที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ “หูฉลามน้ำแดงหอยเชลล์” เคล็ดลับคือใช้ขาหมูทั้งขาในการต้มน้ำซุป ผสมกับผักที่ใส่ลงไปเสริม เช่น แครอท ทำให้ได้น้ำซุปรสชาติหวาน นวลๆ กลมกล่อม มีหอยเชลล์ตัวใหญ่มาก เนื้อแน่น หนึบ สด ในราคา 590 บาท ถือว่าคุ้มค่ามากทีเดียว

อีกเมนูที่จัดว่าดีงามสุดๆ ก็คือ “ออส่วนไข่กรอบ” เป็นเมนูกินง่าย ไข่ทอดมาได้กรอบกำลังดี ถั่วงอกไม่มีกลิ่นเหม็น น้ำจิ้มปรุงมาอย่างกลมกล่อม ออกรสเผ็ดช่วยตัดเลี่ยนได้

และสำหรับใครที่รักสุขภาพ หรือกำลังมองหาเมนูที่ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วม ที่นี่เขาก็มี “สี่สีหม้อไฟ” ที่ประกอบด้วยเนื้อปลา ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นกุ้ง และผักสีเขียว เรียกได้ว่าได้สารอาหารครบถ้วนทุกหมู่

ปิดท้ายกันที่ของหวาน “บัวลอยงาดำน้ำขิง” ที่อร่อยเด็ดอีกเช่นกัน ตัวแป้งนุ่มกัดง่าย ไส้งาดำอร่อย น้ำขิงไม่เผ็ดมาก เพิ่มความสดชื่นให้ร่างกายได้เป็นอย่างดีเลย

เอาเป็นว่าใครกำลังมองหาอาหารจีนรสชาติคนไทยกินได้ ราคาเอื้อมถึง พร้อมบรรยากาศใหม่ๆ “ฮั่วเซ่งฮง” สาขาเมกา บางนา ต้องถูกใจแน่นอน!

เมนูสุดฮิตที่ใครๆ ก็ชอบทาน ไม่ต้องไปถึงภัตตาคารก็ทำทานได้ง่ายๆ แถมวัตถุดิบก็ไม่ยุ่งยาก รสชาติอร่อยกลมกล่อมไม่ต้องปรุงเพิ่มกันเลยทีเดียว รู้แบบนี้แล้วจะรอกันอยู่ทำไม มาทำไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

วัตถุดิบ
– เส้นหมี่
– เนื้อหมู
– คะน้า
– กระเทียมสับ
– น้ำเปล่า/น้ำต้มกระดูก
– เต้าซี่
– น้ำมันหอย
– เต้าเจี้ยว
– น้ำตาลทราย
– ซอสปรุงรส
– แป้งมันผสมน้ำ
– พริกไทยป่น
– น้ำมันพืช

วิธีทำ
1. นำกระเทียม, เต้าซี่, คะน้า, เนื้อหมู มาหั่นเตรียมไว้
มาทำส่วนของเส้นกันก่อนนะคะ
2. นำกระทะให้น้ำมันร้อนแล้วนำเส้นหมี่ลงไปทอดให้กรอบ
3. จากนั้นนำกระทะตั้งไฟร้อนปานกลาง นำคะน้าที่หั่นไว้นำมาผัดให้สุก แล้วพักทิ้งไว้
ต่อมาเรามาทำในส่วนน้ำราดกันค่ะ
4. นำกระทะตั้งไฟ นำกระเทียมลงไปผัดให้เหลืองพอประมาณ นำเนื้อหมู, เต้าซี่ ลงไปผัดให้เข้ากันพอเข้ากันดี แล้วนำน้ำเปล่าหรือน้ำต้มกระดูกเทลงไปต้มให้เดือดสักพัก
5. จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำมันหอย, เต้าเจี้ยว, น้ำตาลทราย, ซอสปรุงรส และตามด้วยแป้งมันที่ผสมน้ำไว้แล้วเทลงไป (ระหว่างเทแป้งมันต้องคนไปด้วยน้ำราดจะได้ไม่เป็นก้อน)
6. เสร็จแล้วนำเส้นหมี่กับผักที่เตรียมไว้มาตกแต่งในจานให้สวยงาม พร้อมราดน้ำเป็นอันเสร็จรับประทานได้

วิธีปรุง "ราดหน้าเต้าซี่เส้นหมี่กรอบ"

"ราดหน้าเต้าซี่เส้นหมี่กรอบ" ทำกินเองได้ ไม่ต้องขึ้นเหลาMatichon Academy – ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน

โพสต์โดย Khaosod – ข่าวสด เมื่อ วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2017

สนใจเรียนทำอาหาร
ดูได้ที่ www.matichonacademy.com
หรือดูตารางเรียนประจำเดือนได้ที่นี่ >ตารางเรียน

หรือติดตามอัพเดทเรื่องราวอาหารและไลฟ์สไตล์สนุกๆได้ที่
Facebook : MatichonAcademy

ากพูดถึง Degustation Menu หรือ “เมนูเพื่อการลิ้มลอง” ในห้องอาหารหรือภัตตาคาร หลายคนคงนึกถึงอาหารจากแถบยุโรป ที่จะเสิร์ฟแบบ portion เล็กๆ ให้เราได้ชิมหลายๆ เมนู แต่เชื่อว่าคงจะไม่คุ้นกับการกินอาหารจีนในรูปแบบนี้แน่นอน เพราะเมื่อพูดถึงอาหารจีน ก็มักนึกถึงว่าเสิร์ฟมาเป็นจานใหญ่ๆ เต็มโต๊ะกลมที่มีจานหมุน

การเสิร์ฟในรูปแบบ Degustation Menu จึงเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย “มติชน อคาเดมี” พาไปสัมผัสความแปลกใหม่ของการกินอาหารจีนกวางตุ้งที่ “ห้องอาหารเหม่ยเจียง” โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ กับเมนูใหม่ที่รังสรรค์ขึ้นโดย “เชฟบอลล์ เหยา” เชฟอาหารจีนคนใหม่ของโรงแรมที่กำลังเป็นเชฟดาวรุ่งของฮ่องกงเลยทีเดียว

เชฟบอลล์ เหยา

ก่อนจะเข้าไปสู่อาหาร เล่าประวัติของเชฟให้ฟังกันสักนิดว่า เชฟเหยาผู้หลงใหลการทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก มีดีกรีเป็นถึงหัวหน้าห้องอาหารจีนใน Lei Garden Restaurant Group ซึ่งทำให้ห้องอาหารของลีการ์เด้นที่สาขาชาร์ตินได้รับมิชลิน 1 ดาว และที่มงก๊ก 2 ดาว ก่อนจะย้ายไปอยู่ร้านอาหารจีนในปักกิ่ง เซินเจิ้น จนอยากออกไปทำที่อื่นบ้าง ซึ่งครั้งนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เชฟเหยาออกนอกประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาจีนเลยก็ว่าได้

ส่วนอาหารจีนที่เชฟเหยานำเสนอในห้องอาหารเหม่ยเจียงนั้น เริ่มต้นด้วยจานแรก “เปาะเปี๊ยะฟองเต้าหู้ไส้เห็ดรวม” จัดชิ้นพอดีคำเสิร์ฟมาบนจานหิน ตัวแป้งเปาะเปี๊ยะข้างนอกทอดมาได้กรอบ เคี้ยวรวมกับไส้ได้รสชาติหวาน ที่โดดเด่นเป็นกลิ่นเห็ดหอมลอยขึ้นมาระหว่างเคี้ยว

ถัดมาคือ “ฟักทองสามรส” เป็นฟักทองที่ดองในบ๊วย การเสิร์ฟจัดมาเป็นรูปดอกไม้สวยงาม ส่วนรสชาติก็ครบ 3 รส คือ เปรี้ยว หวาน และเค็มนิดหน่อย เนื้อฟักทองกรอบมากเหมือนเวลากินผักดองชนิดอื่นๆ

เมนูที่ 3 คือ “ซุปหอยสังข์ตุ๋นเห็ดมอเรล” ใช้น้ำซุปไก่ที่มีขั้นตอนการทำพิเศษคือ ต้มแบบ Double boiled ซึ่งเป็นการต้มด้วยความร้อน 2 ชั้น โดยเป็นเทคนิคที่ได้มาจากแม่ของเชฟ ทำให้ได้น้ำซุปใส หอม รสชาติไม่เค็มนัก เมื่อต้มรวมกับเห็ดและหอยสังข์แล้วจะได้กลิ่นเห็ดโดดเด่น ตามด้วยหอยและไก่ ส่วนเนื้อหอยสังข์ไม่คาว มีความหนึบหนับ

จานต่อมาคือ “กุ้งมังกรผัดไข่ขาวซอสมันปู” กุ้งมังกรสด เนื้อนุ่ม เด้ง เนื้อแน่น โดยรวมรสชาติออกจืดและเค็มหน่อยๆ ตามสไตล์อาหารจีน

เมนูที่ 5 คือ “หอยเชลล์ยัดไส้กุ้งซอสพอร์ตไวน์” เป็นจานที่กินแล้วได้กลิ่นหอมกลิ่นกระทะ ตัวหอยเชลล์หนึบหนับ ส่วนกุ้งก็เนื้อแน่น ข้างนอกอาจให้รสชาติเค็มไปนิด แต่สามารถแก้เค็มด้วยด้วยดอกกะหล่ำที่ตกแต่งมาในจาน

จานถัดมานี่เห็นแล้วรู้สึกว่าตกแต่งมาได้อย่างน่ารักมากๆ กับเมนู “มะเขือเทศห่อผักตุ๋นในซอสฟักทอง” เป็นมะเขือเทศสีแดงเรื่อๆ ข้างในยัดไส้ผักตุ๋น 4 อย่าง วางมาบนซอสฟักทองสีเหลืองน่ากิน รสชาติไส้ข้างในออกมัน ซึ่งแก้เลี่ยนได้ด้วยรสเปรี้ยวของมะเขือเทศ และตบท้ายด้วยซอสฟักทองที่ให้รสชาตินวลๆ

จานที่ 7 คือเมนู “เนื้อปลาหิมะเจี๋ยนซอสพริกซีอิ๊ว” เป็นจานที่ตกแต่งมาได้เก๋ไก๋แปลกตา มีการใช้เส้นหมี่กรอบมาทอดแล้วมัดให้มีรูปร่างคล้ายเรือ ซึ่งเป็นของกินเล่นได้ เนื้อปลาหิมะหั่นมาพอดีคำ กินแล้วได้กลิ่นหอมซีอิ๊วมาก แต่ก็ได้กลิ่นหัวหอมและพริกด้วย ส่วนรสชาติออกเค็มๆ ตามฉบับอาหารจีน

ถัดมาคือ “กุ้งพระราชากรอบราดซอสเปรี้ยวหวาน” ใช้กุ้งแดงนำเข้าจากประเทศสเปน ชุบด้วยแป้งผสมกับไข่แดงทำให้กุ้งกรอบจนสามารถกินได้ทั้งตัว แต่รสชาติค่อนข้างเค็ม ส่วนซอสรสชาติเปรี้ยวหวานกำลังดี

มาถึงเมนูที่ 9 คือ “เนื้อปลาเก๋าแดงกับฟองเต้าหู้ซอสกระเทียมน้ำแดง” ปลาเก๋าเนื้อนุ่ม หอมกลิ่นน้ำมันที่ใช้ทอด ส่วนฟองเต้าหู้และซอสรสชาติกลมกล่อมดี ไม่เค็มไป

จานที่ 10 นี่ไม่ได้กินถือว่าพลาดเลยทีเดียว กับเมนู “ซุปเนื้อวากิวห่อผักกาดตุ๋น” เนื้อวากิวนุ่มละลายในปาก ส่วนผักกาดที่ห่อด้านนอกก็บาง กรอบ น้ำซุปที่ราดก็รสชาติกลมกล่อม ลงตัว

เมนูต่อมาคือ “ฟองเต้าหู้แผ่นนึ่งราดซอสดำเห็ดทรัฟเฟิล” เสิร์ฟพร้อมฝาครอบรมควันอาหารไว้ เมื่อจะกินให้เปิดฝาออกแล้วราดด้วยซอสเห็ดทรัฟเฟิล ส่วนรสชาติอาหารจะเหนียวนุ่ม หอมเห็ด

เมนูที่ 12 คือ “ไก่ห่อนึ่งใบบัว” เสิร์ฟคู่กับชาปู้เอ๋อร์ที่ผสมขิง ช่วยเผาผลาญไขมันได้ดี เมนูนี้ไก่นุ่มกำลังดี รสชาติออกหวาน และได้ความเผ็ดของขิง

จานถัดมาคือ “บะหมี่ผัดหมูดำไอบีเรียย่าง” เนื้อหมูดำไอบีเรียที่ใช้มีความนุ่ม รสหวานคล้ายหมูแดง ส่วนเส้นหมี่ได้รสชาติไข่ นุ่ม เหนียว กินเข้ากันดีกับถั่วงอก

เมนูคาวจานสุดท้ายคือ “ข้าวผัดกุนเชียงและเผือก” ข้าวผัดได้แห้ง ร่อน ไม่แฉะ ไม่มัน หอมกลิ่นไหม้ติดกระทะ ส่วนกุนเชียงรสชาติหวาน ขณะที่เผือกมันๆ ทำให้เคี้ยวเพลิน

เริ่มต้นเมนูของหวานด้วย “รังนกครีมฟักทอง” ที่จะเสิร์ฟรังนกแยกมากับตัวครีมฟักทอง แล้วค่อยตักใส่ ที่พิเศษคือครีมฟักทองใส่กะทิมาด้วย ทำให้หอมกะทิมาก ให้อารมณ์เหมือนกินขนมไทย แต่ไม่หวาน

ปิดท้าย Degustation Menu จากเชฟบอลล์ เหยา ด้วย “เต้าฮวย แปะก๊วย และเห็ดหูหนูขาวเย็น” เห็นหน้าตาครั้งแรกก็สะดุดตากับเต้าฮวยที่ใช้พิมพ์ตัดเป็นรูปดอกไม้สวยงาม รสชาติไม่หวาน เมนูนี้นอกจากใส่เห็ดหูหนูขาวและแปะก๊วยแล้วยังใส่แห้วมาช่วยเพิ่มเท็กซ์เจอร์ให้มีความกรุบกรอบ

ใครอยากไปสัมผัสความแปลกใหม่ของการกินอาหารจีนแบบละเลียดทีละเมนู แล้วตื่นเต้นกับจานที่กำลังจะมาถึง ติดต่อจองได้ที่ห้องอาหารเหม่ยเจียง โรงแรมเพนนินซูลา สนนราคาเซตนี้ 16 เมนู อยู่ที่ 4,900++ บาท ไม่รวมชา

Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111