เรื่อง/ภาพ กนกวรรณ มากเมฆ


 

พูดถึง “ผ้าไหม” หลายคนคงนึกถึงผ้าเนื้อนุ่มลื่น มักใช้ตัดชุดทางการ ชุดพิธี หรือชุดที่มีความเป็นผู้ใหญ่หน่อย แต่ทุกวันนี้การนำผ้าไหมมาใช้เรียกได้ว่าไม่ได้จำกัดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ เท่านั้น เพราะมีการนำผ้าไหมไปประยุกต์ทำสินค้าใหม่ๆ ขึ้น อย่างเช่นแบรนด์ “La Orr” (ละออ) ที่นำผ้าไหมมาจับใส่ไอเดียเกิดเป็นเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

“ออม-สุพัจนา ลิ่มวงศ์” เล่าให้ “มติชน อคาเดมี” ฟังว่า แบรนด์ละออเริ่มตั้งเป็นแบรนด์จริงๆ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ที่ทำงานเป็นดีไซเนอร์บริษัทส่งออกเครื่องประดับเงิน ก็มีการทดลองเท็กซ์เจอร์และเทคนิคมาเรื่อยๆ ตลอด 4 ปี

“ตั้งแต่ตอนเรียนศิลปกรรมออกแบบเครื่องประดับที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เราก็มีความฝันว่าอยากจะมีแบรนด์เครื่องประดับของตัวเอง แต่อยากลองหาประสบการณ์ก่อนเลยไปทำงานบริษัท พอถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกอิ่มตัว เลยคิดว่าน่าจะออกมาทำอะไรจริงๆ จังๆ จึงไปเรียนปริญญาโท สาขาออกแบบแฟชั่นและเท็กซ์ไทล์ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง แล้วก็มาทดลองทำ” ออม-สุพัจนากล่าว

ด้วยความที่ส่วนตัวเธอเป็นคนชอบงานคราฟต์ของไทยอยู่แล้ว แต่งานคราฟต์ของไทยนั้นมีมากมายหลายประเภท เช่น จักสาน งานไม้ไผ่ ในตอนแรกเธอเองก็ยังไม่คาดคิดว่าตัวเองจะใช้ผ้าไหม เพียงแต่อยากทำแบรนด์ที่เอางานคราฟต์ไทยมาใช้เท่านั้น

แต่ความบังเอิญอยู่ที่ส่วนตัวเธอรู้จักกับ “ร้านสุรีย์พรไหมไทย” ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสของจริงว่าผ้าไหมเป็นผ้าที่สวยมาก แต่คนทั่วไปกลับไม่ค่อยได้ใช้ เพราะผู้คนมักรู้สึกว่าผ้าไหมเป็นสิ่งไกลตัว มีความเป็นผู้ใหญ่ เป็นทางการ ตัดได้เพียงชุดพิธีการทรงตรง เลยรู้สึกว่าต้องเอามาทำอะไรสักอย่าง

“ตอนนั้นเราเลยตั้งโจทย์ให้มันคอนทราสต์ขึ้นมาเลยว่าเราจะทำให้วัยรุ่นใส่ และใส่ได้ทุกวัน เข้าถึงง่าย ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว ที่ร้านสุรีย์พรจึงให้ผ้าไหมเรามาทดลองได้เต็มที่ เพราะเขาก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าเราจะออกแบบมาเป็นรูปแบบไหน”

โดยกว่าจะมาเป็นสินค้าแฟชั่นจากงานคราฟต์ไทยโบราณที่ดูสัมผัสได้และใช้ได้จริงอย่างทุกวันนี้ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะความยากนั้นเรียกได้ว่าเริ่มตั้งแต่วัสดุที่ใช้ ที่ในตอนแรกเธอยังนึกไม่ออกเลยว่าจะทำออกมาอย่างไรให้ดูสวยโดยที่ต้องแตกต่างจากเครื่องประดับผ้าที่เคยเห็น เลยทดลองค่อนข้างเยอะ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ผ่านการสเกตช์งานก่อน เพราะการทดลองทำทั้งตัวผ้าและวัสดุไปด้วยกันจะทำให้เห็นเป็นสามมิติมากกว่า และทำให้รู้เลยว่าจุดใดยังมีปัญหา ส่วนไหนยังไม่ได้

ผลงานของ “ออม” ในช่วงแรกจะเป็นทรงที่ทำค่อนข้างง่าย อาจจะเป็นทรงที่เห็นได้ทั่วไป คือ เป็นพู่ผ้าไหมแล้วมีหัวจุก แต่คอลเลคชั่นถัดๆ มาตัวเรือนจะเริ่มไม่ใช่แค่หัวจุก แต่จะมีความบิดพลิ้วมากขึ้น ดูเป็นตัวเรือนที่มีความจริงจังมากขึ้น ยากขึ้นทั้งตัวผ้าและการขึ้นตัวโลหะ

ความเก๋ไก๋ยังอยู่ที่ทุกชิ้นงานของเธอเป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมด วัสดุหลักจะเป็นผ้าไหมปักธงชัยเท่านั้น กับทองเหลืองชุบ ซึ่งแต่ละชิ้นก็จะใช้เวลาการทำไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความยากง่าย เพราะฉะนั้นหากมีออเดอร์เข้ามา “ออม” ก็จะมีการตกลงเวลากับลูกค้าว่าหากมีออเดอร์เยอะก็อาจจะเกิน 1 เดือนขึ้นไป แต่โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 3 สัปดาห์/ออเดอร์

สำหรับราคาของเครื่องประดับผ้าแบรนด์นี้เริ่มตั้งแต่ 590 ไปจนถึง 6,000 บาทขึ้นไป ปัจจุบันในประเทศไทยหาซื้อได้ที่ Room Concept Store ที่สยามดิสคัฟเวอรี่, เอ็มควอเทียร์, เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ และที่วันเดอร์รูม สยามเซ็นเตอร์ ส่วนตลาดต่างประเทศมีวางขายในรีเทลช็อปในฝรั่งเศส, ไต้หวัน, มาเก๊า และออสเตรเลีย โดยเริ่มเจาะกลุ่มลูกค้าต่างประเทศตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

“เราเริ่มเน้นเจาะกลุ่มชาวไทยก่อน แต่ลูกค้าจริงๆ ของเราเป็นลูกค้าต่างชาติ ส่วนใหญ่จะมาจากการออกงานแฟร์แล้วเขามาเดินหาของแปลกใหม่และสนใจนำไปวางขาย เสียงตอบรับที่ผ่านมาถือว่าดีโดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นของต่างชาติ โดยยอดขายอาจจะไม่ได้ตู้มต้ามมาก แต่ก็ยังมาเรื่อยๆ เพราะจริงๆ ตั้งเป้าไว้อยู่แล้วว่าจะโตแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เนื่องจากสินค้าเราไม่ใช่ของที่เข้าใจง่าย ต้องค่อยๆ ให้คนทำความรู้จักคุ้นเคยไปเรื่อยๆ จะดีกว่า”

“ออม-สุพัจนา” บอกอีกว่า การออกแบบชิ้นงานตอนนี้ก็ยังใช้ผ้าไหมปักธงชัยอยู่ แต่ว่าต่อๆ ไปก็กำลังทดลองวัสดุใหม่ด้วย ซึ่งยังเน้นเป็นงานคราฟต์ของไทยเท่านั้น โดยอาจจะลองทำโปรดักต์ในกลุ่มอื่นบ้างนอกจากเครื่องประดับ เช่น กระเป๋าถือใบเล็ก ซึ่งยังอยู่ในกลุ่มสินค้าแฟชั่นอยู่

“เรามองว่างานคราฟต์ไทยยังทำได้อีกหลายอย่าง นี่เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างที่นำมาใช้ก็คือผ้าไหม แต่ยังมีงานอีกเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเบญจรงค์ เครื่องถม จักสานย่านลิเภา อยู่ที่ว่าใครจะหยิบมาใช้อย่างไร เลยมองว่าเรื่องของงานออกแบบจากคราฟต์ไทยยังไปได้อีกไกล ขึ้นอยู่กับว่าเราทดลอง ให้เวลากับมันมากแค่ไหน เพราะงานจะออกมาดีได้ต้องใช้เวลากับความอดทน อีกทั้งคนทั่วไปยังรู้สึกว่าเครื่องประดับต้องเป็นเพชร ทอง โลหะ เพราะฉะนั้นต้องอดทนว่าต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ หรือพยายามหารางวัลมาการันตีให้คนมาโฟกัสที่งานของเรา” เจ้าของแบรนด์ละออกล่าว

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ถ้าใครสนใจเรื่องของงานออกแบบจริงๆ อยากให้ลงแรงกายแรงใจไปกับสิ่งที่ตัวเองรัก อาจจะเริ่มจากสิ่งที่สนใจ ก็ให้ไปโฟกัสที่สิ่งนั้น และพยายามทดลองทำให้ต่างจากสิ่งที่มีอยู่ทั่วไป เวลาหาข้อมูลก็พยายามไม่หางานที่เกี่ยวกับเครื่องประดับ แต่จะพยายามหาศิลปะแขนงอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง เพราะเราไม่อยากติดตา ถึงแม้บางคนจะบอกว่าหาเพื่อเป็นแรงบัดาลใจ สุดท้ายก็ไม่พ้น และจะเป็นการนำผลงานคนอื่นมาใช้โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย การออกไปดูสิ่งอื่นหรือหาแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ งานที่ออกมาก็จะเป็นตัวเรา 100% และพูดได้เต็มปากเลยว่าเป็นงานของเรา”

นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดีไซเนอร์ที่มีการหยิบจับงานศิลปะหัตถกรรมของไทยมาใช้ได้อย่างสร้างสรรค์เลยทีเดียว


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111