ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ เราพูดได้ว่าไม่มีจังหวัดไหนในประเทศไทยที่ฮอตและครองพื้นที่สื่อได้มากกว่าจังหวัดระยองอีกแล้ว เมื่อมีเคสทหารอียิปต์ที่ติดเชื้อโควิด-19 เข้ามาพักและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดระยอง ทำให้วุ่นวายกันไปหมด จากระยอง ถึงกองทัพ ถึงกระทรวงสาธารณสุข จนถึงทำเนียบรัฐบาล

นอกจากความเป็นห่วงและความกังวลด้านสุขภาพของคนในพื้นที่แล้ว สิ่งที่มาคู่กันคือความกังวลว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยให้ช้ำหนักมากไปอีก เพราะระยองนั้นเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญมาก ๆ ของประเทศไทย เป็นแหล่งการจ้างงานแหล่งใหญ่ เป็นจังหวัดที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สูงที่สุดในประเทศ และผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัวประชากรสูงที่สุดด้วย

หลายคนอาจจะทราบอยู่แล้วว่าระยองเป็นจังหวัดที่สวยและรวยมากแค่ไหน แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ เอาล่ะ ไม่ว่าก่อนหน้านี้คุณจะรู้จักระยองมากหรือน้อยแค่ไหนก็ตาม เราอยากชวนมาทำความรู้จักระยองกันอีกครั้ง จากข้อมูล 10 ข้อต่อไปนี้ที่ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมมาให้คุณรู้จักจังหวัดระยองมากขึ้น

1.ข้อมูลทั่วไป ระยองเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ภาคตะวันออกของประเทศไทย มีพื้นที่ 9,200 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ (58 ตำบล  388 หมู่บ้าน) ประกอบด้วย อำเภอเมืองระยอง, อำเภอบ้านฉาง, อำเภอแกลง, อำเภอวังจันทร์, อำเภอบ้านค่าย, อำเภอปลวกแดง, อำเภอเขาชะเมา, อำเภอนิคมพัฒนา

2.ด้านประวัติศาสตร์ จังหวัดระยองมีประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ยาวนาน ในเว็บไซต์จังหวัดระยองให้ข้อมูลไว้ว่า ระยอง เริ่มปรากฎชื่อในพงศาวดารเมื่อปี พ.ศ.2113 ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยมีประวัติดั้งเดิมตามข้อสันนิษฐานว่า น่าจะก่อตั้งเมืองขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.1500 ยุคที่ขอมมีอานุภาพเฟื่องฟูแถบดินแดนสุวรรณภูมิ นักโบราณคดีได้สันนิษฐานจากหลักฐานที่พบ คือ ซากศิลาแลงคูค่าย ที่ยังหลงเหลืออยู่ในเขตอำเภอบ้านค่าย อันเป็นศิลปะการก่อสร้างแบบขอม โดยในสมัยโบราณ ระยองมีชนพื้นเมืองคือชาวซอง ซึ่งเป็นเผ่าที่อาศัยอยู่กระจายโดยทั่วไปในภาคตะวันออก

3.ระยอง มีประชากรรวม 724,979 คน เป็นประชากรที่มีสัญชาติไทย 720,351 คน และประชากรที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย 4,628 คน (ข้อมูลปี 2562 จากสำนักทะเบียนกลาง ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร์)

4.ระยองเป็นจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สูงที่สุดในประเทศไทย คือ 1,045,697 ล้านบาท และเป็นจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัวประชากร (GPP Per Capita) สูงที่สุดในประเทศไทยด้วย คือ 1,067,449 บาทต่อปี หรือคิดเป็นเดือนละ 88,954 บาท (ข้อมูลปี 2561 จากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวเลข GPP Per Capita ก็ไม่ได้สะท้อนรายได้ที่แท้จริงของประชากรในจังหวัด (เช่นกันกับ GDP Per Capita ที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงในประเทศ) เพราะในความเป็นจริง คนที่มีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยนั้นมีเพียงส่วนน้อย ส่วนประชากรส่วนมากนั้นมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่ด้วยความที่นานาชาติเขาวัดกันด้วยเกณฑ์ค่าเฉลี่ยตัวนี้ เราก็ต้องว่ากันตามนั้น

5.ระยองมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “ผลไม้รสล้ำ อุตสาหกรรมก้าวหน้า น้ำปลารสเด็ด เกาะเสม็ดสวยหรู สุนทรภู่กวีเอก” ซึ่งของดีทั้งหมดในคำขวัญนี่เองที่ทำให้ระยองเป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย เป็นจังหวัดพื้นที่เล็ก ๆ ที่เพียบพร้อมทั้งด้านอุตสาหกรรม ด้านการท่องเที่ยวและบริการ ด้านเกษตรกรรม และด้านการค้า-พาณิชย์

6.จังหวัดระยองมีเศรษฐกิจสาขาหลัก 4 สาขาสำคัญ ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และประมง,  สาขาอุตสาหกรรม, สาขาเศรษฐกิจ พาณิชยกรรมและการคลัง, สาขาการท่องเที่ยวและการบริการ ซึ่งจะกล่าวลงรายละเอียดในข้อต่อ ๆ ไป (ข้อมูลจากสำนักงานจังหวัดระยอง)

7.สาขาการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง จังหวัดระยองมีพื้นที่ถือครองเพื่อทำการเกษตรในปี 2560/2561 รวม 1,945,075 ไร่ เป็นพื้นที่ทางการเกษตร 1,310,937 ไร่ มีครอบครัวที่ทำการเกษตร 44,564 ครอบครัว พืชเศรษฐกิจที่สำคัญมาก 5 อันดับแรก คือ ยางพารา มันสำปะหลัง สับปะรด ทุเรียน เงาะ

ส่วนการประมงเป็นอาชีพดั้งเดิมของประชาชนชาวระยอง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาวะภูมิอากาศที่เหมาะสม ส่งผลให้ท้องทะเลมีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ มีการทำประมงเชิงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน ประมงเรือเล็กตามแนวชายฝั่งทั่วไป รวมทั้งการทำประมงน้ำจืดล้ำกร่อย เนื้อที่ทำการประมงทะเลประมาณ 1,500,000 ไร่ มีเรือประมง 1,822 ลำ สมาคมประมง 6 สมาคม กลุ่มเกษตรกรทำการประมง 36 กลุ่ม สหกรณ์ประมง 2 สหกรณ์ ท่าเรือประมง 45 ท่า มีเนื้อที่ทำการประมงน้ำจืด 63,080 ไร่

8.สาขาอุตสาหกรรม เป็นสาขาที่มีมูลค่าสูงที่สุด คิดเป็น 81% ใน GPP ของจังหวัด ระยองเป็นจังหวัดแห่งอุตสาหกรรมโดยแท้จริง เป็นจังหวัดมีนิคมอุตสาหกรรมมากที่สุดในประเทศไทย ก่อนหน้านี้มีนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก, นิคมอุตสาหกรรมผาแดง, นิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้, นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอิสเทิร์นซีบอร์ด, นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล, นิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย), นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชระยอง 36

ระยองเป็นหนึ่งจังหวัดที่อยู่ในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ร่วมกับอีก 4  จังหวัดคือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ซึ่งจะมีงบประมาณลงไปพัฒนากระตุ้นเศรษฐกิจอีกมหาศาล และสืบเนื่องจากโครงการนี้ทำให้มีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอีก 3 แห่งในจังหวัดระยองเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 4, นิคมอุตสาหกรรม ซีพี, นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท พาร์ค ซึ่งเมื่อบวกกับของเดิมแล้วทำให้ระยองมีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 14 แห่ง

นอกจากนั้น ระยองยังมีเขตประกอบการอุตสาหกรรม 5 แห่ง ชุมชนอุตสาหกรรม 4 แห่ง และสวนอุตสาหกรรมอีก 1 แห่ง

อุตสาหกรรมในจังหวัดระยองมีหลากหลายประเภท เช่น การผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แปรรูปสินค้าเกษตร การผลิตไฟฟ้า การผลิตสารเคมี สร้างมูลค่ารวมในแต่ละปีเกือบ 1 ใน 3 ของงบประมาณรายจ่ายประเทศไทย จำนวนเงินลงทุนรวม 1,388,469 ล้านล้านบาท มีโรงงานจำนวน 2,908 โรงงาน

9.สาขาเศรษฐกิจ พาณิชยกรรมและการคลัง จังหวัดระยองมีประชาชนเข้ามาทำงานและท่องเที่ยวในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก จึงมีการประกอบธุรกิจการค้าอย่างกว้างขวาง ทั้งการค้าปลีกและการค้าส่ง ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจในระยองขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

10.สาขาการท่องเที่ยวและการบริการ ระยองเป็นจังหวัดที่รายได้จากการท่องเที่ยวมากติดท็อป 10 ของประเทศ โดยมีรายได้จากภาคท่องเที่ยวในปี 2562 จำนวน 37,693 ล้านบาท สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในระยองเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล เช่น เกาะเสม็ด หมู่เกาะมัน เกาะทะลุ แหลมแม่พิมพ์ ฯลฯ และที่เริ่มจะมาแรงก็คือการท่องเที่ยวสวนผลไม้ เข้าไปดูวิถีการทำสวนและกินผลไม้อร่อย ๆ ถึงในสวน และเลือกซื้อผลไม้สด ๆ กลับบ้านได้แบบไม่อั้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ช่วงเวลานี้ ประชาชนคนไทยพอจะหายใจหายคอ เดินทางออกจากบ้านไปไหนมาไหนกันได้บ้างแล้ว ไม่อุดอู้หดหู่กับชีวิต ก็เขาบอกว่า “ชีวิตคือการเดินทาง” พอมีจังหวะให้เดินเลยต้องรีบโกย ช่วงนี้ใครผ่านไปแถวจังหวัดระยอง มีของกินอร่อย ชวนให้หิ้วกลับบ้านมาให้รู้จักกัน พบเห็นแล้วต้องโดนเลย… อันดับแรก “บัวลอยไข่หวานเมืองระยอง” พิกัดที่ตลาดนิคมพัฒนา หวาน มัน รับประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ใครผ่านอย่าลืมแวะหิ้วกลับบ้านด้วย… ต่อมาเป็นของดีเมืองระยองสินค้าโอท็อป “ขนมจีนอบแห้งพุทธการ” เส้นยาว เหนียวนุ่ม อร่อย ปลอดภัยเพราะปลอดสารกันบูด สีสันสวยงาม พร้อมวิธีทำแสนง่ายที่ข้างซอง สนใจลองสอบถามได้ที่ 08-3456-2146…รวงผึ้งรัสมิ์ชญาภา” รวงผึ้งฉ่ำๆ แช่เย็น กินเย็นๆ คลายร้อน ส่งตรงจากสวนเชียงใหม่ กินเป็นยาบำรุงสุขภาพวันละ 2-3 ช้อน เริ่มต้นราคา 69 บาท ไปจนถึงราคา 390 บาท สามารถเก็บได้นานถึง 1 ปี… ปลาอินทรีสดโคตรอร่อย “ปลาสดโฮมเมด” เจ้าของมีเรือออกหาปลาเอง นำมาขายเอง เรียกว่าเป็นปลาโฮมเมดตามชื่อยี่ห้อ ใครไม่เคยลองต้องไปโดน การันตีเนื้อสดมาก หวานเค็มกำลังดี สนใจคุยไปที่ 09-1884-0416… หิ้วกลับบ้าน เข้าครัวลงมือปรุงนิดหน่อยก็อร่อยเหมือนภัตตาคาร ว่างแล้วลองแวะไปเที่ยวจ้า…!!

รายงานโดย ณัฐกานต์ สอนโยหา, ภัทรสุดา พิบูลย์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “อุตสาหกรรม” เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตและก้าวหน้าได้ แต่ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมก็มีผลกระทบต่อระบบนิเวศมากเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ประกอบการ ภาครัฐ และเอกชนเองก็ได้ตระหนักถึงผลเสีย จึงต้องเร่งเข้ามาแก้ไข ปรับตัว และพัฒนาระบบอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นให้โรงงานและอุตสาหกรรมให้มีระบบการจัดการที่ดี สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

ดังเช่น “สมาคมเพื่อนชุมชน” ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุดและชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน โดยปีนี้ได้เข้าสู่ปีที่ 9 ซึ่งผู้ประกอบการตั้งเป้าว่าจะต้องยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาให้นิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดระยองกลายเป็น “อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อันดับ 3” ให้ได้

แล้วจะพัฒนาจังหวัดระยองให้เป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้อย่างไรนั้น? ลองไปดูแนวคิดจากภาคส่วนต่างๆ ในวงเสวนาเรื่อง “การขับเคลื่อนเมืองระยองสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” ในงานก้าวสู่ปีที่ 9 ของสมาคมเพื่อนชุมชน ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

สู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศอันดับ 3 ด้วยการวางยุทธศาสตร์

“ธีรวัฒน์ สุขสุด” รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนระยองสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อันดับ 3 ว่า มุมมองที่จะประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องของการวางยุทธศาสตร์ในจังหวัดระยอง ซึ่งได้กำหนดไว้ 6 ด้าน ในด้านแรกต้องย้อนไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ได้กำหนดไว้ยุทธศาสตร์ของจัวหวัดไว้ 3 ขา คือ การพัฒนาทางด้านเกษตร ด้านการท่องเที่ยว และด้านอุตสาหกรรม ซึ่งยกให้อุตสาหกรรมเป็นปัจจัยหลักที่สร้างรายได้กับจังหวัดระยองอย่างมหาศาล โดยภายหลังได้ปรับกลยุทธ์เพื่อพัฒนาจังหวัดระยองขึ้นมาใหม่ โดยเพิ่มอีก 3 ขา รวมเป็น 6 ขา ซึ่งได้แก่ การพัฒนาด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และที่สำคัญคือด้านบริการ ชุมชน ซึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดคือการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมไปถึงองค์กรในชุมชน

“จังหวัดระยองโชคดีที่มีภาคเอกชนและอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม หอการค้า ตลอดจนผู้บริหารทุกท่านที่ให้ความใส่ใจและคำนึงถึงตลอด เมื่ออยู่ที่ไหนแล้ว ต้องทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรที่ดีต่อกันทั้งด้านอุตสาหกรรม ด้านท่องเที่ยว ด้านเกษตร นี่จะเป็นปัจจัยสำคัญด้านบูรณาการทุกภาคส่วน” รองผู้ว่าฯระยองกล่าว

สบู่บ้านบน จากวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมมือกับเพื่อนชุมชน

นายธีรวัฒน์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสมาคมเพื่อนชุมชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว ที่ผ่านมาเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ทางรัฐได้ให้การสนับสนุนในหลากหลายกิจกรรม ทั้งในด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และเรื่องของสาธารณสุขพื้นฐาน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลที่มีมากถึง 440 อัตรา และมีทุนให้กว่า 6 หมื่นบาทต่อปี ที่สำคัญที่สุด เพื่อนชุมชนทำให้ระบบการจัดการภายในที่ดีขึ้น และคุณภาพชีวิตของประชาชนมีความสุข

ปี’64 ทุกนิคมต้องได้รางวัล Eco Champion

“ประทีป เฉ่งอ้วน” ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงทิศทางของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในยุค 4.0 ว่า การนิคมฯได้ขับเคลื่อนเรื่องของนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมานานกว่า 10 ปีแล้ว ด้วยแนวทาง 5 มิติ ซึ่งได้แก่ มิติกายภาพ มิติด้านสังคม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม และมิติด้านการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ในช่วงปีที่ผ่านมามีนิคมทั้งหมด 32 นิคมได้รางวัล Eco Champion มาแล้วกว่า 23 นิคม และ Eco Excellence อีก 4 นิคม โดยใน 5 มิตินั้นมีความสำคัญมาก ต้องดูแลและจัดการเพื่อให้เกิดความสมดุลและเติบโตไปข้างหน้าให้ได้ ซึ่งในมิติของการบริหารจัดการคือ นิคมมาบตาพุดเป็นนิคมนำร่องในเรื่องการนำหลักธรรมาภิบาลเข้ามาใช้ เน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เน้นการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการทำงาน ประกอบไปด้วย ภาคเอกชน ท้องถิ่น และภาคจังหวัด เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบและประเมินโรงงาน โดยจะมีตัวชี้วัดเป็นเกณฑ์ กำหนดขึ้นมาโดยให้ความสำคัญจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

“ในเรื่องการผลักดันไปสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ทางการนิคมฯได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 โดยมีนิคมนำร่องในการขับเคลื่อน ทำให้ปัจจุบันมีนิคมที่ได้รับรางวัล Eco Champion ถึง 23 นิคม และเป้าหมายปี 2564 ทุกนิคมที่พัฒนาแล้วจะต้องได้รับ Eco Champion ส่วนในปี 2562 ต้องมีนิคม Eco Excellence ประมาณ 4 นิคม และ Eco World Class อีก 2 นิคมอุตสาหกรรม เราต้องยกระดับและพัฒนาไปเรื่อยๆ และตั้งใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับพัฒนา รวมถึงช่วยขับเคลื่อนให้จังหวัดระยองกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ 3 ตามที่กำหนดให้ได้” นายประทีปกล่าว

ชู “เพื่อนช่วยเพื่อน” ให้โรงงานช่วยเหลือกัน

“วริทธิ์ นามวงษ์” อุปนายกสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า สมาคมเพื่อนชุมชน จัดตั้งขึ้นเพื่อคอยประสานงานและช่วยขับเคลื่อนให้เมืองระยองไม่หยุดอยู่แค่การเป็นโรงงานเชิงนิเวศ แต่จะกลายเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

“วิธีการคือต้องให้เพื่อนช่วยเพื่อน เป็นการให้โรงงานที่เข้มแข็งกว่า ไปช่วยโรงงานที่ยังไม่เข้มแข็ง โดยการเข้าไปสอนและช่วยดูแล เราต้องการให้กลายเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งต้องพึ่งพาทั้งทั้งภาครัฐ ภาคชุมชน เพราะเป้าหมายคือการมีเศรษฐกิจที่ดี ทำให้ส่งผลดีต่อชุมชนในด้านการสร้างอาชีพและรายได้ ตามมาด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดี น้ำดี อากาศดี ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่จะผลักดันให้ระยองกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ”

ผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมมือกับเพื่อนชุมชน

อุปนายกสมาคมเพื่อนชุมชนกล่าวอีกว่า ชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการช่วยเหลือของทางสมาคมก็คือ ชุมชนเป่ากบ ปัจจุบันเป็นชุมชนต้นแบบที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง มีผลิตภัณฑ์ที่ทำโดยคนในชุมชน ถือเป็นการสร้างอาชีพ นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายกันในชุมชน ทำให้สุขภาพดี

วอนจัดหาสถานที่ออกกำลังกาย-หนุนทุนการศึกษา

ด้าน “ชูเดช จันทร์ศิริ” ประธานชุมชนซอยประปา จ.ระยอง มีความเห็นว่า การออกกำลังกายมีทุกชุมชนอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันคนเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น แต่ปัญหาหลักจะอยู่ที่ในชุมชนไม่มีสถานที่ที่จะใช้ออกกำลังกาย ซึ่งทางตนได้เสนอต่อที่ประชุมไปแล้วหลายครั้งว่าต้องการหาสถานที่ให้แก่ชาวบ้าน เนื่องจากอยากได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ ให้ช่วยจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้ออกกำลังกายและทำกิจกรรมร่วมกันได้มากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณสมาคมเพื่อนชุมชน ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน ซึ่งไม่ใช่แค่ชุมชนซอยประปา แต่รวมไปถึงทุกชุมชนที่ได้รับการสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องของทุนการศึกษา เพราะในชุมชนเองก็ได้จัดหางบเพื่อมอบเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่มีผลการเรียนดี ให้เขาไปได้ไกลมากขึ้น เพราะมองว่าประชาชนเป็นภาคที่อ่อนแอที่สุด จึงอยากให้ผู้ประกอบการหันมาช่วยเหลือในส่วนนี้ให้มากขึ้น” ชูเดชกล่าว

เป็นอีกความหนึ่งโครงการที่ได้เห็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการช่วยกันผลักดันและพัฒนาให้จังหวัดระยองกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และพร้อมที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม