สรุปภาพรวมการจัดงานเเสดงนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและสัมมนาวิชาการสุดยิ่งใหญ่เเห่งปี iEVTech 2024 จัดโดยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมกับอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ชูคอนเซ็ปต์ Global EV Industry Transformation Towards Decarbonization ความร่วมมือจากนานาชาติเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนอย่างยั่งยืน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) พร้อมด้วย คุณสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เปิดงานเเสดงนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและงานสัมมนาวิชาการเเห่งปี iEVtech 2024 งานเเสดงนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าสุดยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 9 ของการจัดงานสัมมนาวิชาการด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยนำเสนอในคอนเซ็ปต์ Global EV Industry Transformation Towards Decarbonization ความร่วมมือจากนานาชาติเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นตั้งเเต่วันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

และในโอกาสเดียวกันนี้ ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ยังได้จัดให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างพันธมิตรเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกับหน่วยงานต่างๆ ในชื่อกลุ่ม “Charging Consortium” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อการใช้งานร่วมกันของแต่ละเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับวาระการทำงานร่วมกันในช่วงปี2567-2569 โดยมี 18 หน่วยงานเข้าร่วมลงนามดังนี้

  1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  2. การไฟฟ้านครหลวง
  3. บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จํากัด (มหาชน)
  4. บริษัท อรุณ พลัส จำกัด
  5. บริษัท พลังงานมหานคร จํากัด
  6. บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จํากัด
  7. บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด
  8. บริษัท อัลเตอร์วิม พาวเวอร์ อีวี จำกัด
  9. บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จํากัด
  10. บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด
  11. บริษัท เอสโปร นูเดอร์ จำกัด
  12. บริษัท ชาร์จทเวนตี้โฟร์ จำกัด
  13. บริษัท จีโอไนน์ซอฟต์แวร์ จำกัด
  14. บริษัท พิธาน กรีน จำกัด
  15. บริษัท โชเซ่น ดิจิตอล จำกัด
  16. บริษัท ไอเกน เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด .
  17. บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
  18. บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
610148_0
610157_0

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของพันธมิตรเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกลุ่ม “Charging Consortium เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างเครือข่ายให้สามารถใช้บริการอัดประจุไฟฟ้าได้ในทุกเครือข่ายฯ และมีระบบการ ให้บริการที่เป็นมาตรฐาน สามารถใช้เครื่องมือ เช่น บัตร หรือ QR code โปรแกรม แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้สามารถอัดประจุไฟฟ้าได้ข้ามเครือข่ายๆ โดยไม่จํากัดเฉพาะของเครือข่าย ใดเครือข่ายหนึ่งเท่านั้น และร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยง ระบบการเก็บค่าบริการจากผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้บริการเครือข่ายต่าง ๆ ที่สามารถบริหารจัดการทั้งรายรับและรายจ่ายให้กับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจได้อย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ยังร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในกลุ่ม Charging Consortium ช่วยให้มีการรวบรวมข้อมูลสถานะล่าสุดรวมถึงพิกัดของสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะจากทุกค่ายที่ตั้งอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย ไว้ในเว็บไซต์เดียว  ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้าของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านเว็บไซต์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย www.evat.or.th ทำให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถวางแผนการเดินทางได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

โดย เสวนาไฮไลท์ของงานในหัวข้อ Global EV Industry Transformation Towards Decarbonization ความร่วมมือจากนานาชาติเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนอย่างยั่งยืน ซึ่งในหัวข้อเสวนาดังกล่าวนี้มีตัวเเทนผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจากประเทศต่างๆ เช่นประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ เกาหลีและสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วม และต่อด้วยปาฐกถาพิเศษ Digital Solutions for Profitable EV Charging Business โดยผู้แทนจากบริษัท ABB E-Mobility และปิดท้ายวันแรกด้วยปาฐกถาพิเศษ “EV Market Outlook 2024” โดย ผู้แทนจากสำนักวิเคราะห์ Bloomberg

งานเสวนาถัดมา วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ในช่วงเช้า ประกอบไปด้วยหัวข้อที่น่าสนใจต่างๆ เช่น  ชิ้นส่วนยานยนต์ยุคใหม่ “Automotive Components for the Next Generation” โดยมี คุณวรากร กติกาวงศ์ เป็นประธานจัดการเสวนาในหัวข้อนี้ ควบคู่ไปกับการเสวนาเรื่อง ความคืบหน้าด้านรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการลดคาร์บอน “Progress on Electric Two-Wheeler Contribution towards Decarbonization” ร่วมกับสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) โดย ดร.พิมพ์พา ลิ้มทองกุล และ ดร.นุวงศ์ ชลคุป เป็นประธานจัดการเสวนา

และในช่วงบ่ายวันเดียวกัน  มีการเสวนาเรื่องความรู้ต่างๆ ด้านการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่การใช้พลังงานสะอาด “EV Industry Transformation” โดยมี คุณธมลวรรณ ชลประทินเป็นประธานจัดการเสวนา ควบคู่ไปกับการเสวนาเรื่อง โอกาสทางธุรกิจในระบบนิเวศน์ของยานยนต์ไฟฟ้า “Business Opportunities in the EV Ecosystem towards Decarbonization” โดยมี ดร.อรรถวิทย์ เตชะวิบูลย์วงศ์ ดร.วิศทวัสธ์  เกษเวชเจริญศุข และ คุณสยามณัฐ พนัสสรณ์ เป็นคณะทำงานจัดการเสวนา

ในวันเดียวกันนั้น ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการเสวนา ASEAN EV Roundtable ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียน(Asian Federation of Electric Vehicle Associations – AFEVA) ประกอบไปด้วยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่นการเชื่อมต่อระบบอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่ายในแต่ละประเทศและมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่างๆ โดยในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานของภาครัฐ ได้แก่ คุณอุษิณ วิโรจน์เตชะ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และ Mr. Bakri Alias, Senior General Manager, Value Chain, Development Division of Malaysia Automotive, Robotics and IoT Institute (MARii) ประเทศมาเลเซีย ร่วมเสวนาเพื่อให้ข้อมูลความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบนิเวศน์ของยานยนต์ไฟฟ้าในมุมมองของภาครัฐด้วยเช่นกัน

งานเสวนาวันสุดท้ายวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 มีการจัดสัมมนา “EVAT Tech Forum”หัวข้อ “รู้ไว้ ก่อนใช้ยานยนต์ไฟฟ้า” โดยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้เชิญ สมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าโดยตรง อาทิ คุณจิตวุฒิ ศศิบุตร นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย, คุณนพดล ชุ่มวงศ์ รองประธานกรรมการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย, รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, คุณวรรณดิษย์ แว่นอินทร์ แห่งช่องยูทูป Captain DIY, และคุณกรฤต ลีลาประชากุล หรืออาจารย์อ๋อง ตรีเนตร  โดยมี คุณกฤษดา ธีรศุภลักษณ์เป็นผู้ดำเนินรายการในเสวนาครั้งนี้

ด้าน คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า “ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการร่วมผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโต สำหรับงาน iEVtech 2024 ในปีนี้ ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ขอขอบพระคุณผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศในอาเซียน และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าจากทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้ให้เกียรติตอบรับเข้ามาเป็นตัวเเทนในการนำเสนอนวัตกรรมสมัยใหม่และบรรยายในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้การจัดงาน iEVTech 2024 ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานในปีนี้มากเป็นประวัติการณ์ และในโอกาสเดียวกันนี้ สมาคมฯ ขอขอบคุณบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย สำหรับความร่วมมือในการจัดงานสัมมนาวิชาการ iEVTech ครั้งที่ 9 ให้ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีถัดๆไป เราจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ มาจัดเเสดงสอดรับกับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าโลกที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเราทุกคนในอนาคต”

เรื่อง : ณัฐกานต์ สอนโยหา

ปัจจุบันเทคโนโลยีเรื่องของพลังงานได้เข้ามามีบทบาทต่อผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากพลังงานน้ำมันที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งนับวันเริ่มแผ่ขยาย ทำให้ส่งผลเสียไปถึงสุขภาพและการเป็นอยู่ของคนในประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เห็นได้จากปริมาณรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

จากสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ทำให้หลายองค์กรเริ่มตื่นตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ และผู้ประกอบการในหลายภาคส่วน ที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงาน และผลักดันให้เกิดเทคโนโลยียานยนต์ (EV – Electronic Vehicle) ให้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้บริโภคได้รับประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งลดมลพิษทางอากาศในระยะยาว

การนำนวัตกรรมยานยนต์ (EV) เข้ามาใช้นั้น จะก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไร ลองไปดูแนวคิดที่ได้จากวงสนทนาเรื่อง “การเสวนานวัตกรรมยานยนต์ (EV) เพื่อลดมลภาวะ” ในงานแถลงข่าวผลสำรวจทัศนะสถานภาพผู้ประกอบการจักรยานยนต์รับจ้าง และการเสวนานวัตกรรมยานยนต์ (EV) เพื่อลดมลภาวะ ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยาบาลเศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวถึง ข้อมูลและสถานภาพของผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้าง ว่า จากการสำรวจในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และในเขตปริมณฑลพบว่า มีผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนตามกฎหมายมากที่สุด ซึ่งดูจากสถิติแล้วมีมากถึง 1 แสนคัน เฉลี่ยแล้วจะมีผู้ที่ใช้บริการจักรยานยนต์รับจ้างมากถึง 1-5 ล้านคนต่อวัน

“ปัญหาที่พบส่วนใหญเป็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่ขัดแย้งกันทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ โดยผู้ใช้บริการจะให้ความเห็นว่าราคาแพงเกินไป แต่ผู้ให้บริการจะมีความเห็นว่าตนนั้นได้ค่าจ้างน้อยเกินไป ซึ่งปัญหาด้านการเงินที่ไม่มั่นคงเช่นนี้ ทำให้เข้าถึงปัจจัย 4 ได้ยาก และส่งผลโดยตรงไปถึงบุคคลในครอบครัว เพราะถ้าหากค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ ก็อาจจะส่งผลให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือไม่เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลระยะยาวไปถึงอนาคต ทำให้บุคคลเหล่านี้แก้ปัญหาด้วยการกู้เงินนอกระบบ ที่มีดอกเบี้ยสูง ทำให้ผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้างต้องการเข้าถึงสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อไปปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิต และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน” ผศ.ดร.ธนวรรธน์กล่าว

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ยังได้กล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับรายได้ของผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้าง และข้อดีของการนำนวัตกรรมยานยนต์ (EV) หรือรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ว่า “วินมอเตอร์ไซค์เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากเป็นยานพาหนะที่ไปมาสะดวก แต่ก็เป็นอาชีพที่ใช้น้ำมันเยอะ มีส่วนที่ทำให้เกิดฝุ่นจิ๋วขึ้น ถ้าเราส่งเสริมตามมาตรฐานยุโรปที่ใช้ไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมัน อย่างเช่นการใช้รถมอเตอร์ไซค์ที่เป็นไฟฟ้า น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะทำให้ประหยัดต้นทุนและทำให้ลดค่าใช้จ่ายค่าพลังงาน เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับวินมอเตอร์ไซค์ และยังส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับบทบาทตามมาตรฐานโลก ส่งสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย และทำให้ต้นทุนของการดำเนินธุรกิจของวินมอเตอร์ไซค์มีกำไรมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น” ผศ.ดร.ธนวรรธน์กล่าว

ชี้ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ประสิทธิภาพสูง-ลดการเกิดมลพิษ

ดร.อดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรม EV ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมว่า เทรนด์ของยานยนต์ในอนาคต หรือที่เรียกว่า ACES มีโอกาสที่จะขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ เห็นได้จากการที่เราสามารถเปิดแผนที่ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้สามารถเชื่อมโยงได้ทุกที่ที่จะไป เหตุผลที่บ่งชี้ว่า EV เป็นสิ่งสำคัญมี 2 ประเด็นหลักๆ คือ 1.มีประสิทธิภาพสูงสุด 2.ลดการเกิดมลพิษ และในอนาคตคาดว่ารถยนต์อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ถ้าหากว่ารถไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่ให้บริการอย่างทั่วถึง ส่วนเรื่องการชาร์จก็ไม่มีปัญหา เนื่องจากมีสถานีชาร์จพลังงาน โดยข้อมูลล่าสุดมีถึง 250 สถานี จึงคาดว่ารถจักรยานยนต์น่าจะมีศักยภาพที่ดีเพียงพอที่จะเปลี่ยนเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากต้นทุนพลังงานไฟฟ้าถูกกว่าพลังงานน้ำมันมากกว่าถึง 10 เท่า ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก

สถาบันยานยนต์พร้อมปรับตัว เตรียมพร้อมทดสอบแบตเตอรี่

นายธนวัฒน์ คุ้มสิน รองผู้อำนวยการ สถาบันยานยนต์ กล่าวถึงแนวทางสนับสนุนเกี่ยวกับนวัตกรรม EV ว่า อุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมชั้นนำ บทบาทของสถาบันยานยนต์ก็คือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการในเมืองไทย ดังนั้นทางสถาบันยานยนต์จึงต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวให้เท่าทันตลาดโลก ซึ่งนอกจากการผลิตแล้ว ทางองค์กรยังได้พัฒนาและเตรียมพร้อมเรื่องการทดสอบแบตเตอรี่ เพราะแบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า และใช้เกณฑ์การทดสอบตามมาตรฐานระดับโลก เพื่อให้ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ส่งออกระดับต้นๆ ของโลก

ดัน “ตุ๊กตุ๊ก” สู่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อคนไทย

ผศ.ดร.ชนะ เยี่ยงกมลสิงห์ อุปนายกสมาคม ฝ่ายวิชาการ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวถึงที่มาของสมาคมยานยนต์ว่า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าเลือกส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ เริ่มต้นโดยการมองเห็นว่ายานยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและความประหยัด จึงต้องการเผยแพร่และต้องการให้ทุกคนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงกันมากขึ้น ส่วนโครงการแรกที่สมาคมทำคือการจัดตั้งสถานีหัวจ่ายไฟฟ้า กระจายออกไปกว่า 220 หัวจ่ายทั่วประเทศ ต่อไปคือการรวบรวมผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดวัตถุประสงค์เดียวกัน เพื่อต่อยอดให้ผู้ที่ใช้รถไฟฟ้าสามารถใช้สมาร์ทการ์ด กิจกรรมต่อมาคือการสร้างต้นแบบรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย และยังใช้กันอยู่ในประเทศ จึงอยากที่จะเข้ามาผลักดันและสร้างมาตรฐานให้รถตุ๊กตุ๊กของคนไทย และอยากที่จะผลักดันให้มีการจดทะเบียนป้ายขาวนิติส่วนบุคคล และจะเป็นรถคันเดียวที่เป็น Made in Thailand 100 เปอเซ็นต์ นอกจากนี้ สมาคมยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันเกี่ยวกับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

ด้านนายมงคล สีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเสริมเกี่ยวกับเรื่องบทสรุปของผู้ประกอบการรถรับจ้างและนวัตกรรม EV ว่า รถจักรยานยนต์รับจ้าง มีผลต่อชีวิตคนเมืองสูงมาก ที่เห็นได้ชัดเลยคือที่ประเทศจีนมีการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และคาดว่ามีมากถึงร้อยล้านคัน และได้มีการพัฒนาความสามารถขึ้นไปเรื่อยๆ

“ผมคิดว่าประเทศไทยมาถึงจุดจุดหนึ่งที่ต้องหันกลับมาทบทวนการนำนวัตกรรมไฟฟ้าเข้ามาใช้ เพราะสามารถลดทอนปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ โดยจุดเด่นของนวัตดรรมไฟฟ้า คือความเสถียรของระบบไฟฟ้าที่เทียบเท่าระดับโลก และค่าไฟฟ้าที่ถูกมาก ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้หันมาใช้ยานยนต์ EV ก็จะช่วยเรื่องการลดต้นทุน และลดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทางภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงคนที่อยู่ในชุมชนเมือง จะต้องร่วมมือในการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมและสิ่งต่างๆ จะดีขึ้น” นายมงคลกล่าวทิ้งท้าย

ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ผู้ประกอบการช่วยกันผลักดันให้นวัตกรรมยานยนต์เข้ามามีบทบาทในสังคม รวมถึงความการต้องการที่จะเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้าง และความต้องการในการนำนวัตกรรม EV เข้ามาใช้เพื่อลดมลพิษในอนาคต