มะม่วงน้ำดอกไม้เชียงใหม่มาแรง ส่งออกไปเกาหลี-ญี่ปุ่น คาดสูงถึง 500 ล้านบาท ผู้ส่งออกรายใหญ่ “กลุ่มคิงเฟรชฟาร์ม-อร่อยฟาร์ม-สยามเอ็กซ์ปอร์ต” รับซื้อถึงหน้าสวน ขยายปลูก 10 อำเภอกว่า 5 หมื่นไร่
นายอาทิตย์ เกษมศรี ประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมผู้ปลูกมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พื้นที่ปลูกมะม่วงของ จ.เชียงใหม่ เติบโตแบบก้าวกระโดด มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 50,000 ไร่ ในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ พร้าว ฝาง ไชยปราการ เชียงดาว เวียงแหง แม่แตง แม่วาง ดอยหล่อ ดอยเต่า และแม่อาย โดยเกษตรกรได้เปลี่ยนจากการปลูกลำไย ส้ม ยางพารา มาปลูกมะม่วงแทน เพราะให้ผลผลิตดี ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีและญี่ปุ่นมีความต้องการสูง โดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองมีความต้องการถึง 90%
ขณะที่นายเจริญ คุ้มสุภา ประธานชมรมผู้ปลูกมะม่วงเพื่อส่งออกอำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ใน จ.เชียงใหม่ มีบริษัทส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศเข้ามารับซื้อผลผลิตราว 20 บริษัท มีทั้งบริษัทไทยและเกาหลี เช่น บริษัท คิง เฟรช ฟาร์ม จำกัด บริษัท อร่อย ฟาร์ม จำกัด และสยาม เอ็กซ์ปอร์ตฯ เป็นต้น และมีตลาดหลักเป็นเกาหลี 70% และญี่ปุ่น 30% โดยราคาหน้าสวนอยู่ที่ 50-60 บาท/กิโลกรัม (กก.) ขณะที่ราคาจำหน่ายในเกาหลีอยู่ที่ 200 บาท/กก.
“มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอีกชนิดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ แต่จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลาย เช่น ผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้มะม่วงน้ำดอกไม้สายพันธุ์ใหม่ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและทางเลือกใหม่ให้ตลาด เนื่องจากปัจจุบันประเทศเปรูถือเป็นประเทศคู่แข่งของไทยในตลาดเกาหลี ซึ่งผลผลิตมีราคาถูกกว่าของไทย” นายเจริญกล่าว
ด้านนายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า อำเภอที่อยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของเชียงใหม่ เช่น พร้าว แม่แตง เชียงดาว ฯลฯ เป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ขณะที่พื้นที่ทางตอนใต้เกษตรกรได้เปลี่ยนจากการปลูกลำไยหันมาปลูกมะม่วง เช่น อำเภอดอยหล่อ ดอยเต่า จะปลูกมะม่วงพันธุ์อาร์ทูอีทู, พันธุ์แดงจักรพรรดิและพันธุ์จีนหวง เพื่อส่งออกไปยังตลาดจีน มาเลเซีย เป็นต้น
โดยขณะนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่อยู่ระหว่างการพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะม่วงปลอดสารพิษ ไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี ด้วยการส่งเสริมให้ใช้วิธีการห่อมะม่วงเพื่อป้องกันแมลงวันทอง เพื่อรองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการบริโภคผลไม้ออร์แกนิกหรืออินทรีย์มากขึ้น
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ