คนโบราณเชื่อว่าครอบครัวใดที่ปลูกบัวเอาไว้ประจำบ้าน จะช่วยให้คนในครอบครัวมีจิตใจที่บริสุทธิ์ สะอาด และเบิกบานแจ่มใส อีกทั้งสายใยของบัวที่ยืดยาวยังจะช่วยให้ทุกคนในครอบครัวมีความรักใคร่ความห่วงใย และผูกพันซึ่งกันและกันอย่างแนบแน่น ครอบครัวนั้นก็มีความสุขความเจริญ และที่สำคัญส่วนต่างๆ ของบัวไม่ว่าจะเป็น ดอก ใบ ลำต้น และรากบัว ยังสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารต่างๆ ได้ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน แถมยังมีประโยชน์ช่วยบำรุงร่างกายได้อีกด้วย

สรรพคุณบัวหลวง เริ่มจากรากและเม็ดบัวที่มีรสหวานเย็น และมันเล็กน้อย มีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง ใช้เป็นยาชูกำลัง เม็ดบัวมีคุณค่าทางอาหารสูง ช่วยเพิ่มพลังงานและไขมันในร่างกาย จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งหายป่วยใหม่ๆ ที่ยังมีอาการอ่อนเพลียอยู่

  • ใช้เป็นอาหารบำรุงกำลังของหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้อง มีอาการอ่อนเพลีย หรืออาเจียน ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย
  • ใช้รากต้มเป็นน้ำกระสายดื่มแก้อาการอ่อนเพลีย แก้อาการไอ เม็ดบัว ดีบัว และดอกบัว ยังช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี รักษาอาการท้องร่วงและบิดเรื้อรัง
  • ช่วยบำรุงไต ม้าม และตับ ส่วนในกลีบดอกชั้นในและก้านใบ ใช้เป็นยาแก้อาการท้องร่วง
  • ใบบัว ช่วยระงับอาการหวัดคัดจมูก ลดเสมหะ ด้วยการใช้ใบบัวมาหั่นเป็นฝอยแล้วผึ่งแดดให้แห้ง ใช้ทำเป็นมวนสูบเพื่อช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก
  • บัวทั้งต้นนั้นสามารถใช้แก้พิษจากการรับประทานเห็ดพิษ และอาการเป็นพิษจากพิษสุราเรื้อรัง ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มรับประทาน และช่วยแก้เสมหะได้อีกด้วยเช่นกัน

ที่มา : แม่บ้าน

จากหนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้ในวิถี…ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
บัวเป็นพืชที่คนอาเซียนรู้จักใช้ รู้จักกินร่วมกัน ไม่มีชาติไหนในอาเซียนที่ไม่รู้จักบัว คนอาเซียนรู้ดีว่าทุกส่วนของบัวเป็นอาหารได้และเป็นยาได้เช่นเดียวกัน และมีการใช้ประโยชน์จากบัวคล้ายๆ กันทุกประเทศ โดยเฉพาะสรรพคุณเด่นๆ คือ การใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ สงบประสาท เป็นยาเย็นลดความร้อน แก้ไข้ แก้ร้อนใน รักษาแผลภายในท้อง แก้อาเจียนเป็นเลือด หยุดเลือด ริดสีดวง รักษาบิดและท้องเสีย รักษาอาการปัสสาวะบ่อย การหลั่งอสุจิกลางคืน แก่เร็ว เป็นต้น

ปัจจุบันมีงานวิจัยสนับสนุนสรรพคุณของบัวในการบำรุงหัวใจ สงบประสาท รักษาอาการทางท้องไส้ โดยพบว่าทุกส่วนของบัวมีคุณสมบัติในการสงบประสาท ช่วยในการนอนหลับ คลายเครียด ทำให้บัวได้รับการคัดเลือกให้เป็นยานอนหลับในบัญชียาสาธารณสุขมูลฐานของกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ยังมีสารช่วยลดการเต้นผิดปกติของหัวใจ สารช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย ช่วยหยุดเลือด ต้านการอักเสบและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

เนื่องจากเซลล์ประสาทกว่าครึ่งหนึ่งของร่างกายอยู่ในระบบทางเดินอาหาร จึงเปรียบเสมือนมีสมองที่สองของร่างกายอยู่ในท้องไส้ ทำให้ระบบอาหารโดยเฉพาะกระเพาะจะไวต่ออารมณ์ความรู้สึก ดังนั้น เมื่อเกิดความเครียด จึงเกิดอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ปวดท้อง หรือมีกรดในกระเพาะตามมา การที่บัวช่วยคลายเครียดจึงมีประโยชน์ต่อท้องไส้อย่างยิ่ง

ใบบัว เกสรบัว รากบัว อาหารสุขภาพ

ใบบัวอ่อนเป็นอาหารที่คนปราจีนกินป็นหลัก จะเป็นผักสดหรือลวกจิ้มน้ำพริกก็ได้ รวมทั้งนำไปใส่แกงคั่ว ใบบัวอ่อนมีสาร nelumbine, nornucuferine, nuciferine ที่มีคุณสมบัติทำให้หลับสบายคลายเครียด สารดังกล่าวมีในเกสรบัวและดีบัวด้วยเช่นเดียวกัน เกสรบัวนั้นจัดอยู่ในเกสรทั้ง 5 ในตำรายาไทย ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้อาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ สำหรับดีบัวไม่ค่อยใช้แพร่หลายในหมู่คนไทย แต่ในเวียดนามนิยมใช้เป็นชาชงเพื่อช่วยให้คลายเครียดและนอนหลับ

ส่วนรากบัวช่วยแก้ร้อนในอันเป็นสรรพคุณที่คนไทยและคนจีนรู้จักกันดี ในสรรพคุณยาไทยกล่าวว่า รากบัวเป็นยาเย็น แก้พิษอักเสบ จึงเหมาะกับการเป็นอาหารของผู้ป่วยโรคกระพาะ เพราะเป็นโรคที่มีความร้อนภายใน ต้องใช้สมุนไพรที่มีคุณสมบัติเย็น ในรากบัวยังอุดมไปด้วยใยอาหารที่จะเป็นประโยชน์ต่อโปรไบโอติกส์และช่วยในการขับถ่าย

ในระยะหลังรากบัวได้รับความสนใจใช้เป็นอาหารสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินบีรวม และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย เช่น ทองแดง เหล็ก สังกะสี มีรายงานการศึกษาพบว่าสารสกัดจากรากบัวช่วยบำรุงสมอง ลดน้ำตาลในเลือด ต้านสภาวะน้ำหนักเกิน รวมทั้งมีสารพวกโพลีฟีนอล ซึ่งช่วยลดการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้สาร liensinine ในรากบัวยังมีคุณสมบัติในการรักษาลมแดด ท้องเสีย วิงเวียน และปัญหาของระบบทางเดินอาหาร

มาถึงยุคนี้คนรุ่นใหม่รู้แต่ว่าบัวเป็นดอกไม้ไหว้พระ แต่ไม่คุ้นกับบัวในฐานะที่เป็นอาหารและยา บัดนี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันคุณค่าของบัวแล้ว คนไทยควรหันมารื้อฟื้นการใช้บัวให้สมกับคุณค่า อย่าให้น้อยหน้าเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา