แพ็กเกจจิ้งสำหรับบรรจุน้ำดื่มที่เห็นกันโดยทั่วไป คือ ขวดพลาสติก ซึ่งสามารถนำขวดมาใช้ซ้ำหรือเติมน้ำใหม่ รวมถึงสามารถนำมารีไซเคิลได้ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าการใช้ขวดพลาสติกซ้ำจะเป็นทางออกที่แท้จริงของการลดปริมาณขยะพลาสติก ในเมื่อแต่ละปีมีพลาสติกถึง 8 ล้านตัน ที่เป็นขยะจมอยู่ในท้องทะเล

ในประเทศอังกฤษ มีน้ำดื่มแบรนด์ “CanO Water” ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ปฏิวัติวงการน้ำดื่ม ด้วยแพ็กเกจจิ้งแปลกใหม่ไม่เหมือนกับแบรนด์อื่น เพราะน้ำดื่มของแบรนด์นี้ถูกบรรจุไว้ในกระป๋องอะลูมิเนียม

ไอเดียนี้ถูกพัฒนาผ่าน 3 สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ คือ Ariel Booker, Perry Alexander Fielding และ Josh White โดยมีจุดเริ่มต้นจาก Ariel Booker ซึ่งมาเที่ยวทะเลที่ประเทศไทย แล้วเห็นว่าบนเกาะเต็มไปด้วยขวดพลาสติก ขยะ และตาข่ายที่ไม่ใช้แล้ว จนนำไปสู่การหาข้อมูลมากมายเกี่ยวกับแพ็กเกจจิ้ง ก่อนได้ข้อสรุปว่ากระป๋องอะลูมิเนียมจะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และเป็นทางรอดให้กับโลกใบนี้

เพราะหากมองถึงแง่ดีของการนำอะลูมิเนียมมาเป็นวัสดุในการผลิตนั้นมีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพที่ไม่ลดลง แม้จะถูกรีไซเคิลหลายครั้ง อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่อยู่ได้ยาวนาน โดย 75% ของอะลูมิเนียมที่เคยผลิตเมื่อปี 1888 ยังสามารถใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน รวมถึงกระป๋องอะลูมิเนียมยังสามารถป้องกันน้ำจากแสงและอากาศได้เป็นอย่างดี และยังสะดวกต่อการขนส่ง ไม่แตกหัก หรือบุบได้ง่าย

จุดเด่นสำคัญอีกอย่างของ CanO Water คือห่วงกระป๋อง โดยมีให้เลือกทั้งห่วงกระป๋องอะลูมิเนียมแบบที่เคยเห็นทั่วไป กับเป็นรูปแบบฝาปิด (resealable lid) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเติมน้ำได้ตลอด และสามารถปกป้องน้ำดื่มได้เป็นอย่างดี

 

ไม่เพียงแต่ความโดดเด่นด้านแพ็กเกจจิ้ง แต่ “น้ำ” ของแบรนด์นี้ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เพราะเป็นน้ำแร่จากเทือกเขาแอลป์ ประเทศออสเตรีย อันประกอบด้วยแร่ธาตุสำคัญ และมีค่า pH 7.9 หรือมีความเป็นด่าง ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เมื่อดื่มแล้วจะมีทั้งความสดชื่นและร่างกายดูดีไปพร้อมกัน

CanO Water มีราคาขายอยู่ที่ 99 เพนนี วางจำหน่ายใน 320 แห่งทั่วประเทศอังกฤษ โดยเข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่าง Selfridges, Fenwick และ Whole Foods Market รวมถึงโรงยิม โรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย และกำลังอยู่ระหว่างการ pitching สำหรับวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าต่าง ๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้ ได้ส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเช็กอีกด้วย

นับเป็นการเติบโตที่น่าสนใจของสินค้าซึ่งมาจาก passion ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการต่อสู้กับปัญหาพลาสติกล้นโลก ผ่านการให้คำมั่นสัญญาว่า จะดำเนินธุรกิจเพื่อโลก เพื่อแบรนด์ และเพื่อลูกค้า รวมถึงจะพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ในทุกขั้นตอนของสินค้าเกิดคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

 


คอลัมน์ Eco Tech : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่ม ประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี มีการใช้แคปซีล (พลาสติกหุ้มฝาขวด) ร้อยละ 60 หรือประมาณ 2,600 ล้านขวด ก่อให้เกิดขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตัน แคปซีลผลิตจากพลาสติกพีวีซี มีขนาดชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา ง่ายต่อการทิ้งกระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อม แต่ยากต่อการรวบรวมและจัดเก็บเพื่อนำกลับมารีไซเคิลและไม่คุ้มทุนในการดำเนินการ หากไม่มีการรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกต้อง แคปซีลจะเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อมบนบก บางส่วนไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง และท้องทะเล จากข้อมูลการผ่าซากสัตว์ทะเลที่ตายจะพบว่ามีสาเหตุจากการกินแคปซีลซึ่งรวมอยู่กับพลาสติกอื่นๆ

นางสุณีกล่าวต่อว่า ขณะที่หลายๆ ประเทศไม่มีการใช้แคปซีล เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ จีน เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ สำหรับประเทศไทยน้ำดื่มบรรจุขวดมีทั้งที่ใช้และไม่ใช้แคปซีล ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก คพ.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สถาบันพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดยมีบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 5 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มสิงห์ 2.บริษัท เสริมสุข จำกัด มหาชน (จำกัด) ผู้ผลิตน้ำดื่มคริสตัล 3.บริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มช้าง 4.บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ และ 5.บริษัท คาราบาวกรุ๊ฟ จำกัด (มหาชน ) ผู้ผลิตน้ำดื่มคาราบาว เป็นผู้นำในการเลิกใช้แคปซีลในการผลิตน้ำดื่ม โดยดีเดย์ในวันที่ 1 เมษายนนี้

อธิบดีคพ. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ คพ.ได้ขยายผลส่งเสริมการยกเลิกใช้แคปซีล ขอความร่วมมือไปยังทุกกระทรวง เช่น การประชุมที่มีการบริการน้ำดื่มที่ไม่ใช้แคปซีล เป็นต้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจในประเด็น “น้ำสะอาดไม่ต้องมีแคปซีล”ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรวมทั้งประชาชนทั่วไปทางช่องทางสื่อต่างๆ ขณะที่การจรวจสอบน้ำดื่มบรรจุขวดหลากหลายยี่ห้อที่ไม่ใช้แคปซีลที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาเก็ตในห้างสรรพสินค้า พบมีน้ำดื่มหลายยี่ห้อที่ไม่ใช้แคปซีลแล้ว อาทิ น้ำทิพย์ ออร่า สปริงเคิล น้ำแร่มิเนเร่ น้ำแร่เอเวียง น้ำแร่มองต์เฟลอ อควาฟิน่า เซเว่น โลตัส

ทั้งนี้เป้าหมายภายในปี 2562 ประเทศไทยจะไม่มีการใช้แคปซีลในขวดน้ำดื่มทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก โดยสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเลได้ถึง 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือ 520 ตันต่อปี