เรื่องเริ่มจาก เจมส์ ไฮแมน หนุ่มอังกฤษจากยุค 70 ผู้รักหรือให้ถูกต้องคือ หลงใหลในความเป็น “สิ่งพิมพ์” โดยเฉพาะ “นิตยสาร”

เขาสะสมนิตยสารไว้มากมาย หลายคนก็สะสมนิตยสารเก็บไว้ตามใต้เตียง ตู้หนังสือ ตู้เก็บของมากมาย แต่ไฮแมนหลงใหลและทำมันมากกว่านั้น เพราะเขาเก็บนิตยสารไว้มากถึง 120,000 เล่ม มีนิตยสารกว่า 4,500 หัว

กว่าแสนเล่มนี้คือ “คอลเลคชั่น” ส่วนตัวของผู้หลงใหลในป๊อปคัลเจอร์นี้

นิตยสารเล่มเก่าแก่ที่มี ใน The Hyman Archieve มีตั้งแต่นิตยสารปี 1850 จนถึงปัจจุบัน และหลายเล่มกว่า 55% จะหาอ่านไม่ได้ตามห้องสมุด เขาเป็นผู้หนึ่งที่รวบรวม ป๊อปคัลเจอร์ วัฒนธรรมแห่งยุคสมัยไว้ผ่านนิตยสาร

เมื่อปี 2012 กินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด ประกาศให้ ที่นี่ เป็นแหล่งเก็บนิตยสารที่ใหญ่ที่สุด ขณะที่เคยมีนักลงทุนที่ยื่นมือมาช่วยให้มีการนำคอลเลคชั่นเหล่นี้เข้าไปเก็บในรูปแบบดิจิทัล และนำไปใช้เชิงพาณิชย์สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าค้นข้อมูล แต่ก็ไม่ได้คืบหน้าอะไร
เขาบอก มันน่าเศร้าที่นิตยสารแบบเล่มกำลังจะหายไป ผมจึงอยากที่จะเก็บสงวนมันไว้ ท่ามกลางความยากของยุคสมัยดิจิทัล

เจมส์ ไฮแมน เก็บนิตยสารเหล่านี้มานานกว่า 30 ปี เป็นนักสะสม สิ่งพิมพ์จากยุครุ่งเรือง สู่ยุคที่ปัจจุบันแมกาซีนย้ายฐานขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์เป็นส่วนมาก

นิตยสารมากขนาดนี้เขาเก็บไว้ที่โรงหล่อปืนย่านวูลวิช อาร์เซนอล ในลอนดอน ในชื่อ The Hyman Archieve ที่ช่วง 2 ปีมานี้ เป็นอีกแหล่งที่เราจะสามารถเข้ามาหาแรงบันดาลใจหรือวิจัยค้นคว้าได้ ผ่านการจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าชม ซึ่งเขาก็แยกแยะจัดหมวดหมู่ไว้

ปรากฎว่ากลุ่มผู้เข้ามาใช้บริการนั้นส่วนใหญ่เป็นคนยุคมิลเลนเนียล ที่ชอบเรื่องราวนิตยสารในแบบคล้ายๆกับการหลงใหลแผ่นเสียงไวนิล นอกจากนี้ คือกลุ่มคนจากแวดวงวิชาการและงานสร้างสรรค์
แต่การหาเงินผ่านค่าธรรมเนียมก็ไม่เพียงพอที่จะดูแลนิตยสารเหล่านี้ไว้ได้

The Hyman Archieve ประสบปัญหาทางการเงินและเข้าขั้นจะล้มละลาย

ส่วนการเก็บนิตยสารของ เจมส์ ไฮแมนนั้นพอกพูนเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีนึงเพิ่มขึ้น 30%

“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมก็จะเดินหน้าทำสิ่งนี้ต่อ”ไฮแมนประกาศไว้ “ผมวางแผนที่จะขายทรัพย์สิน หรือเริ่มต้นเปิดบริษัทใหม่”

ในฐานะเจ้าของนิตยสารนับแสนเล่ม เขาไม่อยากให้มันต้องสูญหายไป หรือถูกทำลาย ซึ่งเขามองว่ามันเหมือนการทำลายเรื่องราวและวัฒนธรรมจากนิตยสารไปด้วย

ขณะที่ เจมส์และทีมงาน ยังง่วนอยู่กับการพยายามผลักดันแผนการเปิดพิพิธภัณฑ์นิตยสารหรือ แมกาซีน มิวเซียม เป็นเหมือนฮับด้านวัฒนธรรมที่ผู้คนเข้ามาร่วมพูดคุย ค้นคว้า จัดแสดงงานคอนเทนต์ต่างๆ

เป็นเรื่องที่ต้องหวังกันต่อไปว่า กองนิตยสารหลายเล่มเหล่านี้จะได้ “บ้านใหม่” ในอนาคตหรือไม่ ท่ามกลางยุคที่ผู้คนอาจจะไม่ได้ “อิน” กับนิตยสารแล้ว

แต่การมีผู้ที่หลงใหลและพยายามจะรวบรวมเก็บมันไว้ นับเป็นเรื่องดีที่แม้เราจะเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล แต่ก็ไม่ได้หลงลืมรากเหง้าประวัติศาสตร์ระหว่างเส้นทางที่ผ่านมา