นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบันพ่อครัวแม่ครัวไทย ยังคงเป็นที่ต้องการของร้านอาหารไทย โรงแรม สถานประกอบกิจการท่องเที่ยวและบริการในต่างประเทศ จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในปี 2560 มีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ตำแหน่งคนครัว จำนวน 3,224 คน ส่วนในปี 2561 (1 มกราคม-30 เมษายน 2561) จำนวน 1,101 คน มีรายได้เฉลียประมาณ 40,000-90,000 บาทต่อเดือน ประเทศที่พ่อครัวแม่ครัวไทยนิยมเดินทางไปทำงาน ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อิสราเอล สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือ เพิ่มขีดความสามารถของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศให้เป็นแรงงานทักษะ (Skilled labour) ตามนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ของกระทรวงแรงงาน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบนโยบายให้ กพร. กระทรวงแรงงาน ดำเนินการฝึกอบรมผู้ประกอบอาหารไทยรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก ดำเนินการแล้ว 3,318 คน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7,740 คน
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า การฝึกอบรมดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ มีฝึกอบรมกว่า 60 หลักสูตร เช่น การประกอบอาหารไทยยอดนิยมในต่างประเทศ การประกอบอาหารเชิงธุรกิจ การบริการอาหารและเครื่องดื่มสู่ความเป็นเลิศ ศิลปะ การตกแต่งอาหาร การแปรรูปอาหารทะเล รวมถึงเมนูอาหารไทยดั้งเดิม แกงมัสมั่น แกงจืดฟักไก่ หมู ลอดช่อง ข้าวเหนียวมูน ข้าวคลุกกะปิสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น การฝึกอบรมเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีทักษะสร้างความโดดเด่น เอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งในด้านรสชาติ ความพิถีพิถัน ความประณีต คุณค่าของสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สร้างมาตรฐานอาหารไทยให้เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติมากขึ้น เพิ่มช่องทางในการมีงานทำในต่างประเทศ พร้อมทั้ง กพร. ยังมีการจัดคอร์สฝึกอบรมภาษาต่างประเทศทั้งอังกฤษ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลี หรือสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทาง www.dsd.go.th หัวข้อ It’s Your Choice
“สำหรับคนที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศในตำแหน่งคนครัว นอกจากจะเข้ารับการฝึกอบรมแล้ว อยากเชิญชวนให้เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกับทาง กพร. ด้วย เนื่องจากในแต่ละประเทศมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันในการรับเข้าทำงาน เช่น ญี่ปุ่นต้องมีประสบการณ์ 10 ปีขึ้นไป หรือผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 สิงคโปร์ต้องขอใบอนุญาตประเภท S-pass ซึ่งเป็นใบอนุญาตทำงานสำหรับคนต่างชาติ ที่มีทักษะฝีมือในระดับกลาง เป็นต้น และหากเดินทางกลับมาทำงานในประเทศก็ยังได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างวันละ 400 บาท ระดับ 2 ได้รับค่าจ้าง วันละ 510 บาท นอกจากนี้ กพร. ยังมีการทดสอบฯ สาขาผู้ประกอบอาหารไทยในต่างประเทศ สำหรับผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมและทดสอบฯ สามารถสอบถาม และดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th หัวข้อ กำหนดการฝึกอบรม หรือ โทร 1506 กด 4” อธิบดี กพร. กล่าว