ถึงวันนี้แม้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะประกาศคลายล็อกและไฟเขียวให้บรรดาศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง รวมถึง “ตลาดนัดสวนจตุจักร” กลับมาเปิดได้อีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากทางการได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกือบ 2 เดือนเต็ม

แต่การกลับมาเปิดใหม่ในวันนี้ “ตลาดนัดสวนจตุจักร” แทบจะไม่หลงเหลือภาพความคึกคักให้เห็นเหมือนเมื่อในอดีต ตรงกันข้ามกลับมีความเงียบเหงาเข้ามาแทนที่ ภาพการปิดร้าน ภาพการปิดป้ายประกาศให้เช่าให้เซ้งมีให้เห็นไม่น้อย

“จตุจักร” ซบเซาปิดป้ายเซ้งร้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานบรรยากาศการค้าตลาดนัดสวนจตุจักรในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา ค่อนข้างซบเซา ร้านค้าตามโซนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโซนเสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องตกแต่ง เครื่องประดับสินค้าของฝาก ฯลฯ มีเจ้าของร้านที่เปิดขายไม่มากนัก ส่วนใหญ่ปิดแผงปิดร้าน มีร้านจำนวนไม่น้อยที่มีการปิดป้ายประกาศให้เช่าร้าน พร้อมเบอร์โทร.

จากการสอบถามเจ้าของร้านค้าหลายรายให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า โดยภาพรวมตลาดค่อนซบเซามาก ขายของไม่ได้ ช่วงเสาร์-อาทิตย์ แม้จะมีลูกค้าเข้ามาเดินบ้าง แต่ส่วนใหญ่มาเดินดูเดินเล่น แต่ไม่ซื้อ ชาวต่างประเทศก็ไม่มี ตอนนี้ผู้เช่ากว่า 8,000-10,000 แผง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าช่วงหลายรายแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ต้องปิดร้านปิดแผงและติดป้ายประกาศปล่อยเช่าต่อ

เจ้าของร้านค้ารายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ไม่เพียงเฉพาะตลาดนัดสวนจตุจักรเท่านั้นที่เงียบเหงา แต่ตอนนี้ภาพรวมของตลาดค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งโบ๊เบ๊ แพลทินัม ใบหยก อินทรา ประตูน้ำ ฯลฯ เงียบเหงามาก

การค้าขายไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน หลังจากเกิดโควิด-19 ลูกค้าต่างประเทศที่เคยวอล์กอินเข้ามาหายหมด ลูกค้าคนไทยก็เดินน้อยลงซื้อน้อยลง เพราะเศรษฐกิจไม่ดีและกลัวโควิดหลายร้านจึงไม่เปิดขายปิดร้าน เพราะหากเปิดร้านขึ้นมาก็เท่ากับต้องมีต้นทุน ต้องมีค่าใช้จ่าย

“ตอนนี้ยอดขายหน้าร้านลดลงมาก บางวันขายไม่ได้เลยก็มี ยอดหายไป 70-80% เห็นจะได้”

แพลทินัม-ประตูน้ำ เงียบเหงา

นอกจากนี้ จากการสำรวจบรรยากาศการค้าขายของศูนย์ค้าปลีกกลางกรุง “เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์” ศูนย์ค้าส่งและค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นขนาดใหญ่ ย่านประตูน้ำ ภายในโครงการได้มีการจัดโซนสินค้าหรือร้านค้าอย่างเป็นหมวดหมู่ ทั้งเสื้อผ้าบุรุษ เสื้อผ้าสตรี กระเป๋า เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องประดับ ฯลฯ ที่มีร้านค้าราว ๆ 2,300 ร้านค้า พบว่า บรรยากาศไม่ต่างจากตลาดนัดสวนจตุจักร ลูกค้าที่ไปเดินจับจ่ายค่อนข้างบางตา และร้านปิดไม่ต่ำกว่า 30-40% นอกจากนี้ยังมีภาพของการติดป้ายประกาศให้เช่าเป็นจำนวนมากไม่ต่างจากจตุจักร

เจ้าของร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า “ตอนนี้คนน้อยลงไปมาก บางวันไม่ได้เปิดบิลเลย ร้านที่เคยมีต่างชาติมาซื้อเยอะ ๆ ก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้อยู่ไม่ได้ คนที่รับไม่ไหวก็ยอมปิดร้านไปเลย ยกเลิกสัญญา แม้ว่าศูนย์จะลดค่าเช่าให้ 60%แต่ลดก็เหมือนไม่ลด เพราะลูกค้าไม่มีเลย ไม่มียอด ก็ไม่รู้จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน” เจ้าของร้านระบายความในใจ

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ร้านที่ปิด หรือติดป้ายประกาศให้เช่า ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณชั้นบน อาทิ ชั้น 4-6 ที่ขายสินค้าพวกเครื่องประดับ แอ็กเซสเซอรี่ต่างๆ มากกว่าชั้นล่าง 1-2-3 ที่ขายสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่น เนื่องจากเป็นชั้นที่มีทราฟฟิกดีกว่า

เช่นเดียวกับบรรยากาศการค้าขายในย่านตลาดประตูน้ำ เรื่อยเลยไปถึงตึกใบหยก-1 ใบหยก-2 พบว่า ซบเซา ไม่ต่างจากแพลทินัม ถนนในย่านนี้จากที่เคยมีการจราจรหนาแน่น มีรถที่เข้ามาซื้อสินค้าไปขายต่อเป็นจำนวนมาก แต่ล่าสุด การจราจร ถนนหนทางค่อนข้างโล่ง นอกจากนี้ยังพบว่าศูนย์ค้าส่งอินทราสแควร์อยู่ระหว่างการปิดปรับปรุง

เช่นเดียวกับเจ้าของร้านค้าเสื้อผ้าเด็กรายใหญ่ ในตลาดโบ๊เบ๊ ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ลูกค้าวอล์กอินของโบ๊เบ๊ ซึ่งหลัก ๆ เป็นกลุ่มลูกค้าคนไทยลดลง และมีร้านค้าที่ทยอยปิดตัวไปประมาณ 20-30% ส่วนยอดขายลดลงมาก หรือประมาณ70-80% แต่ก็ยังมีการซื้อขายผ่านออนไลน์ แต่ก็เป็นตัวเลขเพียงเล็กน้อย

“จริง ๆ แล้ว ตลาดค้าส่งซบเซา และอยู่ในช่วงขาลงมาสักระยะหนึ่งแล้ว เริ่มจากช่วงที่มีชาวจีนเข้ามาขายแข่ง แต่มาเริ่มหนักขึ้นเมื่อสัก 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจและการขายออนไลน์ที่มาแย่งลูกค้าจากหน้าร้านไป แต่ล่าสุดโควิด-19 มีผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ลูกค้าหายหมด”

ย้อนอดีตยุคเฟื่องฟู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาตลาดค้าปลีกค้าส่งของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี เฉลี่ยปีละ 15-20% แม้จะไม่มีการเก็บตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ก็คาดการณ์กันว่าแต่ละปีจะมีเม็ดเงินสะพัดมากถึง 1 แสนล้านบาท และอาจจะกล่าวได้ว่าช่วงปี 2554-2557 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของธุรกิจ นอกจากประตูน้ำ จตุจักร โบ๊เบ๊ สำเพ็ง ที่เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดแล้ว ช่วงดังกล่าวยังมีนักลงทุนจากทั่วสารทิศหอบเงินก้อนโตมาลงทุนเปิดศูนย์ค้าส่งแห่งใหม่เป็นระยะ ๆ แต่ละแห่งจะมีร้านค้าตั้งแต่ 300-500-1,000 ยูนิต

อาทิ กลุ่มใบหยก ที่เปิดศูนย์ค้าส่งเทรนด์ใหม่ สไตล์หรูหรา “บี แกลอรี่” ด้วยจำนวนร้านค้า 300 ยูนิต เพื่อเสริมใบหยก-1 และใบหยก-2, กลุ่มโอเวอร์ซีส์ คอนสตรัคชั่น ลงทุนเปิดวอเตอร์เกต พาวิลเลียน ศูนย์ค้าส่งครบวงจร ในย่านประตูน้้ำ, กลุ่มบำรุงเมือง พลาซ่า ควักกระเป๋ากว่า 2 พันล้าน เปิดศูนย์ค้าส่ง “โซโห” ใกล้ ๆ กับตลาดโบ๊เบ๊ (ปัจจุบันปิดแล้ว และล่าสุดมีโรงพยาบาลมาเปิดให้บริการแทนที่) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนอสังหาฯ เจ.เอส.พี.กรุ๊ป ลงทุนหลายพันล้าน เปิด “ไชน่า เซ็นเตอร์” บนถนนกัลปพฤกษ์-กาญจนาภิเษก, บี โฮม คอร์ปอเรชั่น ที่เปิดโครงการสำเพ็งท่าดินแดง เป็นต้น

นี่ยังไม่นับรวมถึงศูนย์ค้าส่งอีก 2-3 แห่ง ที่ทยอยเปิดตัวรอบ ๆ ตลาดนัดจตุจักร อาทิ จตุจักร กรีน, ทาวน์สแควร์, อินสแควร์ รวมพื้นที่ขายไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ยูนิต ล่าสุด เพิ่งตัดริบบิ้นไปหมาด ๆ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา คือ มิกซ์ จตุจักร

ไม่เพียงเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯเท่านั้น ความร้อนแรงของธุรกิจค้าส่งยังลามไปหัวเมืองในต่างจังหวัดด้วยอีกหลาย ๆ จังหวัด เช่น ศูนย์ค้าส่งแฟชั่น “168 แพลตินั่ม” จังหวัดอุดรธานี, ประตูน้ำขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

แต่จากนี้ไปภาพความคึกคัก ความรุ่งเรืองของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่เคยได้ชื่อว่าเป็น “ฮับ” ของภูมิภาค คงไม่กลับมาเหมือนเดิม

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

กลับมารีสตาร์ตเปิดขายอีกครั้ง “ตลาดนัดจตุจักร” หลังตลาดถูกสั่งปิดกว่า 1 เดือนหนีการระบาดโควิด-19เป็นการกลับมาภายใต้รูปแบบการขายที่ไม่เหมือนเดิม เป็น “การขาย-ช็อปปิ้ง” วิถีใหม่

จะว่าไปแล้ว “ตลาดนัดจตุจักร” เป็นตลาดนัดขวัญใจนักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติ แต่ช่วงหลัง ๆ ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจทำให้การค้าขายไม่คึกคักเหมือนเก่า

ยิ่งเจอ “โควิด-19” ยิ่งทำให้ซบหนัก เพราะรายได้ที่หล่อเลี้ยง “พ่อค้า-แม่ขาย” คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีน-ฮ่องกง-สิงคโปร์

เมื่อประเทศไทยยังไม่คลายล็อกมาตรการต่าง ๆ จึงเป็นไปได้ยากที่ “ตลาดนัด” ที่รู้จักไปทั่วโลก จะกลับมาเหมือนเดิมในเร็ววันนี้

ท่ามกลางบรรยากาศตลาดที่ซบเซา ทำให้เจ้าของแผงค้าที่ตีทะเบียนไว้กับ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” กว่า 10,000 แผง ที่ปัจจุบันผู้เช่าช่วงหลายรายแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ถอดใจติดป้ายปล่อยเช่าให้รายใหม่

ซึ่งราคาตั้งถึงจะปรับลดลงมาบ้างแล้ว แต่ยังแพงลิ่วสวนทางกับเศรษฐกิจขาลง-ค่าเช่าตามจริงที่จ่ายให้ กทม.เพียง 1,800 บาท/แผง/เดือน

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจราคาเช่าในปัจจุบัน พบว่าแผงค้าบริเวณโครงการ 24 แผงที่ 5 ติดกับสถานี MRT กำแพงเพชร คิดค่าเช่าเดือนละ 7,000 บาท หากจะเข้าเช่าตอนนี้ต้องจ่ายล่วงหน้า 2 เดือน ซึ่งระบุว่าลดลงมาจากราคาปกติ 8,000-9,000 บาท จากภาวะไวรัสโควิด-19 ระบาด

ขณะที่เจ้าของอีกแผงอยู่ที่โครงการ 25 ตรงข้ามกรมการขนส่งทางบก มีอยู่ 2 แผง ปกติราคาเช่าช่วงก่อนเชื้อโควิด-19 อยู่ที่ 40,000 บาท/เดือน ตกแต่งภายในเรียบร้อย มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น แอร์ ราวแขวนไว้ให้ แต่พอมีภาวะโควิด ค่าเช่าตอนนี้จึงลดลงอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท

“การค้าขายย่านนี้ยังย่ำแย่อยู่ แม้ว่า กทม.จะให้กลับมาค้าขายได้แล้วก็ตาม โดยลูกค้าของโซนนี้เป็นชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ แต่การกลับมาเปิดอีกครั้งในขณะนี้มีแต่ลูกค้าคนไทย ทำให้รายได้ที่เข้ามายังจำกัดอยู่” เจ้าของแผงระบุ

ส่วนอีกรายบอกว่า พื้นที่แผงอยู่โครงการ 2 ค่าเช่าปกติอยู่ที่ 25,000 บาท/เดือน แต่พอมีโควิด-19 ค่าเช่าจึงปรับลดลงเหลือ 15,000-20,000 บาทแล้วแต่ตกลง พร้อมยอมรับว่า ช่วงนี้หาลูกค้าซื้อของจับจ่ายยาก เพราะลูกค้าต่างประเทศยังไม่มา ลูกค้าคนไทยซื้อจำกัด ส่วนใหญ่ถูกผลกระทบโควิดกันหมด คงต้องทำใจไปอีกสักพัก

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเปิดให้ทำการค้าภายในตลาดนัดจตุจักรว่า สำนักงานตลาด กทม.ได้เปิดตลาดนัดจตุจักรให้ผู้ค้าทำการค้าตามปกติแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 63 ที่ผ่านมาโดยผู้ค้าตลาดต้นไม้ สามารถเปิดทำการวันอังคาร เวลา 12.00 – 18.00 น. วันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 05.00-18.00 น.

สำหรับร้านค้าประเภทอื่นๆ ที่จำหน่ายสินค้าในวันเสาร์และอาทิตย์ จะเริ่มเปิดตั้งแต่วันเสาร์และอาทิตย์ที่ 9-10 พ.ค. 63 ระหว่างเวลา 05.00-18.00 น. โดยจะไม่มีตลาดนัดกลางคืนและลานผู้ค้าเร่ในวันเสาร์-อาทิตย์ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเคอร์ฟิว

ทั้งนี้ สำนักงานตลาด กทม.ได้ดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในการเปิดให้บริการตลาดนัดเพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยของประชาชน

อาทิ ขีดสีตีเส้นเพื่อกำหนดระยะห่างระหว่างบุคคล (Physical Distancing) ภายในตลาดอย่างชัดเจน ตั้งจุดคัดกรองผู้มาใช้บริการทุกประตูทางเข้า-ออกของตลาด มีบริการแอลกอฮอล์ล้างมือและอ่างล้างมือ กำหนดให้ผู้ค้าและผู้ที่มาใช้บริการตลาดนัดต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกคน รวมทั้งตรวจสอบและทำความสะอาดห้องสุขาทุก 2 ชั่วโมง

สำหรับร้านค้าที่จำหน่ายอาหาร ได้ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลภายในร้านอย่างเคร่งครัด โดยเน้นให้ซื้อกลับไปทานที่บ้านหรือที่อื่น หากร้านค้าใดมีที่นั่งทานให้เว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร หรือมีฉากกั้นเพื่อความปลอดภัย

ส่วนร้านค้าจำหน่ายประเภทอื่นๆ อาทิ เสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เว้นระยะห่าง และกำหนดจำนวนบุคคลเข้าภายในร้าน อาทิ ร้านค้าขนาดเล็ก ให้เข้าครั้งละ 5 คน ร้านค้าขนาดใหญ่ เข้าครั้งละไม่เกิน 10 คน เป็นต้น รวมทั้งงดเว้นการจัดกิจกรรมที่มีการชุมนุมภายในตลาดนัด

ทั้งนี้ สำนักงานตลาด กทม.จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ทุกสัปดาห์ จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการและผู้มาใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

แสงแดดบนฟ้าสาดกระจายไอร้อนจนแสบผิวหนัง หลังลงรถแท็กซี่ได้ไม่ทันไร  เหงื่อเม็ดเป้งผุดขึ้นเต็มหน้า แขน และกลางหลัง เสียงร้องในใจ  “ไม่ไหวๆ แล้ว..”   ขณะที่ตามองหาที่เย็นๆ หลบไอร้อนก่อนดีกว่า  ซ้าย ขวา หน้า หลัง มองเห็นอาคารหลังใหญ่อยู่ข้างหน้า ตกแต่งด้วยสีแดง ข้างในเห็นได้เลยว่า “ติดแอร์”  ความคิดและสองเท้าไวพอๆ กัน รีบสาวเท้ามุ่งหน้าทางเข้าสู่ตึกใหญ่แดงหลังนั้น  เมื่อเดินผ่านหน้าประตูทางเข้า แผงขายของเก่าเรียงรายสองข้างทาง แว่บแรกอาจไม่ได้สนใจ แต่พอพินิจดูแล้วของเก่าเหล่านี้น่าสนใจมากทีเดียว  แผงขายของเก่าพวกนี้มาเปิดขายตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะ

ปากไวหันขวับไปสอบถามจากพ่อค้าแม่ค้า เขาบอกว่าเปิดขายกันมาได้หลายเดือนแล้ว โดยทุกๆ วันศุกร์ เสาร์และวันอาทิตย์ พ่อค้าแม่ค้าจะมาเปิดแผงขายกันตั้งแต่สิบเอ็ดโมงเช้า ส่วนมากแล้วพวกมาเช้าๆ จะเป็นกลุ่มที่ขายเฟอร์นิเจอร์เก่ามากกว่าอย่างอื่น พวกโต๊ะ ตู้ ตั่ง เตียง ทั้งหลาย  นอกนั้น ถ้าเป็นของเก่าอย่างอื่น ก็เป็นจำพวกถ้วยโถโอชาม เครื่องประดับเงินเก่า  ตุ๊กตาของแต่งบ้านย้อนยุค  เครื่องดนตรีสมัยโบราณ  กระถางต้นไม้  เครื่องลายคราม กังไส จานโบราณ ของสะสมแอนทีค มีทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ หรือเป็นของใหม่ที่ทำเลียนแบบของเก่าก็มี  ของแต่งบ้านพวกตุ๊กตาปั้นจากจีน เก่าแท้หรือไม่ต้องอาศัยความรู้และความชำนาญ ทำนองว่าตาดีได้ ตาร้ายเสียนั่นแหละ แต่ต้องบอกว่าสินค้าของเก่าทั้งหลายนั้นมีมากมายละลานตาจริงๆ  เดินดูกันทั้งวันก็ไม่หมด

5

เดินดูไปเช็ดเหงื่อไป เผลอแป๊บเดียวได้แก้วจากสวีเดนมาครึ่งโหล ราคาเบาๆใบละ 40 บาท ตามด้วยเฟอร์นิเจอร์ทำจากไม้ขนไก่ ซึ่งเป็นเรื่องอธิบายยากพอสมควรว่า “ไม้ขนไก่” คือไม้อะไร ที่แน่ๆไม่ใช่ไม้ขนไก่ที่ใช้ปัดฝุ่น  พยายามสอบถามเอากับคนขาย ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน เลยเป็นปริศนาว่า “ไม้ขนไก่” คือไม้อะไรกันแน่ แต่จากที่ดูลายเสี้ยนไม้ ต้องบอกว่า “สวยจริง” แถมราคาสูงด้วย คนขายบอกว่าเป็นไม้หายากและยังเป็นไม้มงคลอีกด้วย ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร คงต้องไปหาคำตอบด้วยตัวเอง

ตลาดนัดขายของเก่าจตุจักรบริเวณนี้ เรียก “ตึกแดงบางซื่อจังชั่น” นับได้ว่าเป็นแหล่งขายของสะสมของเก่าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ  ถ้ามารถไฟฟ้าใต้ดิน ออกสถานีกำแพงเพชร หาทางออกไปตึกเเดงบางซื่อ จังชั่น  หาไม่ยาก แต่ถ้ารถแท็กซี่บอกทางได้เลยว่าไปตลาดของเก่าตึกแดงบางซื่อจังชั่น บางคนอาจไม่ต้องการซื้อของ แต่แค่เดินดูของที่เขาวางขายก็เพลินดี  แถมได้ความรู้จากคนขายถึงแหล่งที่มา  หรือประวัติของเก่าแต่ละชิ้น  ฟังสนุกดีอยู่เหมือนกัน