ขนมไข่เหี้ย เป็นคำเรียกขนมเก่าแก่ ก่อนจะนิยมเรียกกันในชื่อขนมไข่หงส์ในปัจจุบัน

ย้อนไปสมัยก่อนมีตำนานเล่าว่า เจ้าจอมแว่นหรือที่เรียกกันว่า คุณเสือ เป็นต้นคิดทำขนมไข่เหี้ยขึ้นเป็นครั้งแรก คือครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระประสงค์จะเสวยไข่เหี้ย ซึ่งในสมัยนั้นกินกับมังคุด แต่ว่าไข่เหี้ยในระยะนั้นหายาก เจ้าจอมแว่นจึงได้ประดิษฐ์ขนมไข่เหี้ยขึ้นถวายแทน เล่ากันมาอย่างนี้

ขนมไข่เหี้ยฟังดูไม่เพราะ คนที่รังเกียจชื่อเขาก็เอามาเรียกกันใหม่ว่า “ไข่สวรรค์” บ้าง “ไข่หงส์” บ้าง แล้วแต่จะนึกชื่ออะไรที่ดีๆกว่านั้นได้ แต่คนส่วนมากก็ยังเรียกไข่เหี้ยอยู่ เพราะเป็นชื่อที่เรียกขานกันมานานแล้ว

เมื่อพูดถึงขนมไข่เหี้ย มีนักภาษาคนหนึ่งออกความเห็นว่าน่าจะเรียกว่า “ขนมฟองแลน” ความจริงฟองแลนก็หมายถึงไข่เหี้ยนั่นเอง ภาษาถิ่นใต้เรียกเหี้ยและตะกวดว่าแลน ส่วนทางอีสานเรียกเฉพาะตะกวดว่าแลน เรียกเหี้ยว่าเหี่ย ถึงกระนั้นก็แทนกันไม่ได้อยู่ดี เพราะขนมฟองแลนตัวจริงเขามีอยู่แล้ว ไส้ทำด้วยถั่วเขียวอย่างเดียวกับไส้ขนมไข่นกกระสา หุ้มด้วยแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งข้าวเหนียวมีฟักทองนวดผสมอีกอย่างหนึ่ง ปั้นเป็นรูปไข่ ทอดสุกแล้วจึงฉาบด้วยน้ำตาลมะพร้าวเคี่ยวกับหัวกะทิ ดูก็คล้ายๆกับขนมไข่เหี้ยเหมือนกัน


Source : หนังสือขนมแม่เอ๊ย โดย ส.พลายน้อย สำนักพิมพ์รวมสาส์น