คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ หนุนงานวิสาหกิจชุมชน คว้าแชมป์ ในอาเซียน

ประชาสัมพันธ์

คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ส่ง“ธรรมศาสตร์โมเดล”  เสริมแกร่งเข้มข้น ให้นักศึกษาลงพื้นที่จริงพัฒนาวิสาหกิจชุมชนด้านบริหารธุรกิจ ประกาศชัย คว้าที่ 1 ในอาเซียน รางวัล Silver Award ด้าน “Best Lifelong Learning Initiative 2021” จาก Association of MBAs (AMBA) องค์กรรับรองคุณภาพระดับสากลจากสหราชอาณาจักร

รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เปิดเผยว่า นโยบายสำคัญของคณะฯ มุ่งเน้นส่งเสริมสร้างศักยภาพ พัฒนาองค์ความรู้จากการทำงานจริง ควบคู่กับทฤษฎี เพื่อจะได้ให้นักศึกษาได้มีพัฒนาการที่ดีในด้านการตลาดและบริหารธุรกิจ จึงเป็นที่มาของธรรมศาสตร์โมเดล ที่จะไปช่วยพัฒนาองค์ความรู้ สร้างประโยชน์ทางธุรกิจด้านต่างๆ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน

ซึ่งทุกปีคณะพาณิชย์ฯ จะมีโครงการนำนักศึกษาลงพื้นที่เพื่อทำงานเชิงรุกและเชิงลึกร่วมกับวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถทำการตลาดเป็น ขายสินค้าได้ และมีการพัฒนาต่อยอดสร้างการรับรู้ให้เป็นที่รู้จักแบรนด์  เหล่านี้ นอกเหนือจากเป็นข้อกำหนดของวิชาการรณรงค์ทางธุรกิจเพื่อสังคมแล้ว ยังเป็นพยายามที่จะปลูกฝังให้นักศึกษาตระหนักว่า เมื่อมีความรู้ต้องแบ่งปันและทำประโยชน์ให้สังคมให้สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาของธรรมศาสตร์

ล่าสุดกับกรณีศึกษาต้นแบบความสำเร็จที่ได้รับรางวัลอันดับ 1 ในอาเซียน พาคณะพาณิชย์ฯ คว้ารางวัล Silver Award ด้าน “Best Lifelong Learning Initiative 2021” จาก Association of MBAs (AMBA) องค์กรรับรองคุณภาพระดับสากลจากสหราชอาณาจักร สำหรับหลักสูตรบริหารธุรกิจระดับบัณฑิตศึกษา และ Business Graduates Association (BGA) องค์กรรับรองคุณภาพระดับสากลจากสหราชอาณาจักร ซึ่งเราได้รับการคัดเลือก ได้แสดงให้เห็นถึงการพลิกโฉมนวัตกรรมการเรียนการสอนที่แผ่ขยายประสิทธิผลไปมากกว่าเพียงแค่นักศึกษา แต่รวมไปถึงในระดับคณะ องค์กร และชุมชนภายนอกอีกด้วย

วิสาหกิจชุมชนดังกล่าว คือ กลุ่ม วิสาหกิจชุมชนคลองน้ำหูผ้าหมักน้ำนมข้าว อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดที่ต้องการสืบสานและสร้างมูลค่าให้แก่ผ้าไทย จึงนำมาสู่กระบวนการหมักผ้าด้วยน้ำนมข้าว โดยผ้าที่ได้จะมีความนุ่มและลื่นเป็นพิเศษ ทั้งยังเหมาะกับผู้ที่ผิวแพ้ง่ายและผู้ป่วยติดเตียง และยังมีลักษณะพิเศษคือมีกลิ่นหอมของน้ำนมข้าว

“นักศึกษาใช้ระยะเวลา 6 เดือนในการเริ่มโครงการกับชุมชน โดยได้ทำการวิเคราะห์ถึงปัญหา สร้างแบรนด์และแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เพื่อขยายฐานลูกค้ารุ่นใหม่ รวมถึงสร้างช่องทางการจัดจำหน่าย และสอนชุมชนให้คำนวณต้นทุนและวางระบบบัญชี รวมทั้งการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินกิจการด้วยต้นเองต่อไปได้แม้จบโครงการ” คณบดี กล่าว พร้อมกับเพิ่มเติมว่า

นักศึกษาได้ทำการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของชุมชน ภายใต้แบรนด์ “สานเส้นฝ้าย Sansenfay” และได้แตกไลน์ผลิตภัณฑ์เป็น กระเป๋าผ้า หน้ากากอนามัย และเซ็ตหน้ากากผ้ามัลสินคู่กับผ้าผูกผมที่เข้าคู่กัน ภายใต้แบรนด์ลูก “I’m sew sew” เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้านักเรียน นักศึกษา และวัยเริ่มทำงาน โดยขยายช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ผ่านทาง Instagram

ทั้งนี้ Sansenfay ได้มีการส่งหน้ากากผ้าเพื่อไปขายที่ประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศส ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศด้วย เหล่านี้เองที่มาจากหลักสูตรการศึกษาที่เข้มข้น เพื่อสร้างระบบการเรียนรู้ด้านบริหารธุรกิจ อันช่วยส่งเสริมและยกระดับอาชีพของชุมชนอย่างยั่งยืน ทำให้ธรรมศาสตร์โมเดล ก้าวสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่จะช่วยวิสาหกิจชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์ความรู้ในทุกด้านของธุรกิจแบบองค์รวมให้กับนักศึกษานั่นเอง