สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเสนอนายกต่อลมหายใจเอสเอ็มอี ลดเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งทุน เยียวยาแรงงานในระบบ

ประชาสัมพันธ์

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ถนนประชาชื่น กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังความเดือดร้อน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะจากสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย  โดยมีนางสาวโชนรังสี  เฉลิมชัยกิจ  ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย พร้อมด้วยนายณพพงศ์  ธีระวร  ประธานกิตติมศักดิ์  สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย  นายแสงชัย  ธีรกุลวานิช  เลขาธิการและประธานกรรมการส่วนภูมิภาค สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย  นายอุดมธิปก  ไพรเกษตร  ประธานสถาบันส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย (ISME)  นายรักติ ญวนกระโทก  ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และนายณัฐพล  ประดิษฐ์ผลเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเอสเอ็มอีไทย

นางสาวโชนรังสี  เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย  เปิดเผยว่า  นายกรัฐมนตรีได้ให้สมาพันธ์ เอสเอ็มอีไทยเตรียมข้อมูล 3 ข้อ ได้แก่  1. ปัญหาที่เดือดร้อนที่สุดของภาคธุรกิจของเอสเอ็มอี คืออะไร  ซึ่งปัญหาที่เอสเอ็มอีเดือดร้อนที่สุดในขณะนี้  คือ  การขาดสภาพคล่องอย่างหนัก  2. มีข้อเสนอแนะอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ ในระยะสั้น อย่างไรบ้าง ไม่เกิน 3 ข้อ  และ  3. มาตรการที่ภาครัฐทำอยู่ มาตรการใดดีอยู่แล้ว และมาตรการใดที่น่าจะปรับให้ดีขึ้น

สำหรับคำถามข้อ 2. ทางสมาพันธ์ SME ไทย  มีข้อเสนอแนะที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ ในระยะสั้น ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย  ได้เสนอไป 3 เรื่อง เพื่อต่อลมหายใจ ให้เอสเอ็มอีได้เริ่มต้นใหม่ และใส่วิตามินให้กับเอสเอ็มอี  ได้แก่ เรื่องที่ 1  ต่อลมหายใจ  เสริมสภาพคล่อง อย่างเร่งด่วนได้แก่   หนึ่ง  ควรจัดสรรเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อการจ้างงาน ให้แรงงานในระบบรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือนซึ่งมีผู้ประกอบการในระบบไม่น้อยกว่า 7-8 แสนราย  โดยจ่ายผ่านนายจ้าง  สอง  ผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ ด้วยการตั้งกองทุนพิเศษเพื่อเอสเอ็มอี  สาม  ลดค่าใช้จ่ายของเอสเอ็มอีด้วยระบบภาษี หรือการจัดเก็บของภาครัฐทั้งหมด ทั้งด้านสาธารณูปโภค  ค่าโสหุ้ยการต่ออายุต่างๆ เช่น อย. ภาษีโรงเรือน  ลดค่าน้ำ ค่าไฟ 30%

เรื่องที่ 2  เริ่มต้นใหม่ และการส่งเสริมตลาด  ได้แก่  หนึ่ง การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  เสนอให้ซื้อสินค้าไทย ใช้ของไทย จากเอสเอ็มอีไม่น้อย 50%  ซึ่งเดิมระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้จัดซื้ออยู่แล้ว 40 % ของงบประมาณ  เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้ mSME  โดยปรับหลักเกณฑ์ ให้สามารถแข่งขันได้โดยซื้อจาก  เอสเอ็มอีในประเทศหรือผู้ประกอบการในพื้นที่  สอง ส่งเสริมการตลาดในประเทศ  อยากให้พัฒนาอี-คอมเมิร์ชเพื่อเปิดตลาดทั่วประเทศให้เอสเอ็มอี  สาม ตลาดชุมชน ควรปรับปรุงถนนคนเดิน ตลาดประจำอำเภอ  และตลาดท้องถิ่น สี่ ตลาดต่างประเทศ  อยากให้รัฐบาลพัฒนากลไกการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเรามีทูตพาณิชย์ในต่างประเทศมากมาย น่าจะใช้กลไกนี้มาช่วยผู้ประกอบการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพ รวมถึงกลไกการค้าขายชายแดนควรจะมีการผ่อยปรนให้เอสเอ็มอีค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้น

สำหรับเรื่องที่ 3  คือ การใส่วิตามินให้กับเอสเอ็มอี  โดยยกระดับความเชี่ยวชาญแรงงาน และเทคโนโลยี  ได้แก่  หนึ่ง  การสร้างผู้ประกอบการใหม่ รัฐควรจัดหาแหล่งทุน การพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และการขาย การตลาดสำหรับแรงงานให้กับกลุ่มคนตกงาน และนักศึกษาที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา  สอง  ยกระดับแรงงาน และผู้ประกอบการเดิม สอนแรงงานในระบบ SME ให้เก่ง อย่างรวดเร็ว  ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการ Turnaroundผู้ประกอบการรายเล็ก  สาม  ควรพัฒนาเอสเอ็มอีให้ก้าวสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชัน (Digital Transformation) ได้ในต้นทุนที่ต่ำไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ และเทคโนโลยี

“สำหรับคำถามข้อ 3 ที่ สมาพันธ์ฯ ได้ตอบท่านนายกรัฐมนตรี  เรื่อง มาตรการที่ภาครัฐทำอยู่ มาตรการใดดีอยู่แล้ว และมาตรการใดที่น่าจะปรับให้ดีขึ้นได้  คณะกรรมการสมาพันธ์ฯ ที่เข้าร่วมประชุมก็ได้กล่าวชื่นชมคณะรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่สามารถจัดการโรคระบาดครั้งนี้ได้ดี รวดเร็ว และปลดล็อคในบางกิจการให้ประชาชนได้ทำมาค้าขายได้เร็วกว่าที่คิด  และขอขอบคุณที่ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาได้หลากหลายและครอบคลุมเอสเอ็มอีหลายกลุ่มเพียงแต่มีอุปสรรคอยู่บ้างทำให้ บางเรื่องเกิดความล่าช้า บางเรื่องเข้าไม่ถึง  บางเรื่องให้ไม่สุด”  นางสาวโชนรังสี  เฉลิมชัยกิจ  ประธานสมาพันธ์ฯ กล่าวในตอนท้าย