กรุงไทยนำนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นดินดี เพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ประชาสัมพันธ์

กรุงไทยผลักดันและสร้าง Social Innovation ใช้นวัตกรรม Inno Waste ลดปริมาณขยะที่เป็นเศษอาหารจากห้องอาหารธนาคารปีละ 28 ตัน โดยแปรรูปเป็นดินคุณภาพดี แจกให้กับพนักงาน โรงเรียน ชุมชน ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ระบุเป็นหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี

ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากพันธกิจของธนาคารที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานและลดผลกระทบที่เกิดกับสภาพแวดล้อม  เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี  และความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนนั้น  ธนาคารได้สนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมเพื่อสังคมหรือ Social Innovation อย่างต่อเนื่อง  ผ่านโครงการ Krungthai Young Enterprise Awards เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ซึ่งมีแนวคิดที่ดีได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมให้สามารถใช้งานได้จริง สร้าง Social  Start-Up และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม  ซึ่งธนาคารได้ต่อยอดโครงการนี้ โดยนำไอเดียและนวัตกรรมของทีม Inno Waste มาบริหารทรัพยากรภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด  และตั้งเป้าลดปริมาณขยะภายในองค์กร ผ่านโครงการ กรุงไทยรักสิ่งแวดล้อม  ภายใต้แคมเปญ “กรุงไทย RELIFE เปลี่ยนคืน ฟื้นชีวิต” ด้วยการรณรงค์และเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานให้รู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อมและมีส่วนในการช่วยดูแล

เครื่อง Inno Waste
Relife เปลี่ยนคืน ฟื้นชีวิต

“นวัตกรรม Inno Waste ชนะการประกวดจากโครงการ Krungthai Young Enterprise Awards 2017  โดยทีมได้นำเงินรางวัลที่ได้จากธนาคารไปต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเครื่องแปรรูปเศษอาหาร ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  โดยใช้เวลาแปรรูปเศษอาหารจำนวน 15 กิโลกรัม เป็นดินประมาณ 5 กิโลกรัม ภายในเวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที  ซึ่งเร็วกว่าเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่าตัว   และสามารถแปรรูปเศษอาหารในห้องอาหารธนาคารที่มีวันละกว่า 120 กิโลกรัม หรือเกือบ 28 ตันต่อปี  ให้เป็นดินที่มีคุณภาพ 100% เฉลี่ยวันละกว่า 40 กิโลกรัม หรือเกือบ 9 ตันต่อปี  ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก  70,084 กิโลกรัมคาร์บอน  หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 70 ไร่”

ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันธนาคารได้นำดินที่ได้จากการแปรรูปเศษอาหารแจกให้กับพนักงาน โรงเรียนและชุมชน เพื่อนำไปปลูกต้นไม้ พืชผักสวนครัวช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งในการบูรณาการดำเนินธุรกิจ ที่นอกจากจะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมแล้วยังเป็นแนวทางสู่ Sustainable Bank หรือ ธนาคารเพื่อความยั่งยืน ภายใต้โครงการ กรุงไทยรักชุมชน ตามนโยบายของธนาคาร ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย  โดยไม่ได้คำนึงถึงกำไรสูงสุด แต่มุ่งมั่นทำกำไรที่ดีที่สุดและคืนกลับไปยังชุมชน